ผื่นคันที่ผิวหนังเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัยจัย ได้แก่
1. อาการภูมิแพ้ เช่น แพ้ยา แพ้อาหาร
2. การสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ในสิ่งแวดล้อม เช่น แพ้อากาศ ละอองเกสร ขนสัตว์
3. การสัมผัสสารระคายเคือง เช่น ผงซักฟอก สบู่ น้ำหอม สารเคมี
4. การติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น คออักเสบ
5. การติดเชื้อไวรัส เช่น อีสุกอีใส หัด
อาการผื่นคันที่ผิวหนังแตกต่างกันไปตามประเภทและสาเหตุ ผื่นคันเกิดขึ้นบริเวณใดบริเวณหนึ่งของร่างกายหรือเกิดได้ทั่วร่างกาย ผื่นผิวหนังอาจมีลักษณะดังนี้
1. ผิวแห้ง เป็นผื่นแดง
2. เป็นตุ่มใสพุพอง
3. เป็นตุ่มผดเล็กๆ
4. มีอาการแสบร้อนบริเวณผื่นคัน
5. ผิวหนังเป็นขุย
6. ผิวหนังมีลักษณะเหมือนรังผึ้ง
7. มีอาการคัน
โดยทั่วไปอาการผื่นคันสามารถบรรเทาได้โดยการทายา และหายได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง แต่หากมีอาการรุนแรง ลุกลามอย่างรวดเร็ว เป็นตุ่มพุพองหรือมีแผลเปิด ดูเหมือนติดเชื้อ มีลักษณะ บวมแดงหรือเป็นสีองุ่น มีหนอง มีไข้ หายใจรุนแรงหรือติดขัด ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
ผื่นคันเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เช่น ความร้อน, การติดเชื้อ, ยา และปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม โดยลักษณะอาการของผื่นคันที่พบบ่อย ได้แก่
ผื่นระคายสัมผัส (Contact Dermatitis)
ผื่นระคายสัมผัส เป็นอาการผื่นแดงที่มักทำให้รู้สึกคันและไม่สบายตัว ไม่ใช่โรคติดต่อและไม่อันตรายถึงชีวิต
อาการ : เมื่อผิวหนังสัมผัสกับสารก่อเกิดการระคายเคืองหรือทำให้แพ้โดยตรง ส่วนใหญ่จะเกิดผื่นแดง คัน ผิวแห้งแตกหรือเป็นขุย ผิวบวมแดงหรือมีสีคล้ำกว่าปกติ เกิดตุ่มพุพอง รู้สึกแสบร้อนหรือกดเจ็บบริเวณผิวหนังที่มีอาการ ปกติแล้วผื่นระคายสัมผัสจะเป็นอยู่ประมาณ 2-4 สัปดาห์ อย่างไรก็ตามหากอาการรุนแรงขึ้น ลุกลาม ภายใน 3 สัปดาห์ ควรรีบไปพบแพทย์
สาเหตุ : เกิดจากผิวหนังหรือร่างกายสัมผัสสารก่อภูมิแพ้หรือสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง เช่น น้ำหอม ผงซักฟอก สบู่ สารกัดบูด สารเคมี นิกเกิล (ธาตุโลหะที่มักพบในเครื่องประดับเครื่องแต่งกาย) และไม้เลื้อยมีพิษต่างๆ เป็นต้น
ผื่นผิวหนังอักเสบ (Eczema, Atopic dermatitis)
ผื่นผิวหนังอักเสบ หรือ ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง เป็นผื่นที่พบได้บ่อยที่สุด เกิดขึ้นได้กับทุกส่วนของร่างกาย
อาการ : ผิวเป็นปื้นสีแดงหรือน้ำตาลอ่อนปนเทา คัน หากเกาอาจมีการติดเชื้อร่วมด้วย
สาเหตุ : ปัจจุบันยังไม่มีการระบุถึงสาเหตุที่ชัดเจน แต่เกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น กรรมพันธุ์ มีคนในครอบครัวเป็นโรคภูมิแพ้ ความเครียดสะสม ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม เช่น สัมผัสกับสารก่อการระคายเคืองหรือสารก่ออาการแพ้ ไรฝุ่น ละอองเกสร เชื้อรา อากาศเปลี่ยนแปลง
ผื่นลมพิษ (Hives)
ลมพิษ เป็นกลุ่มอาการที่ไม่ใช่โรค ที่ผิวหนังจะมีลักษณะเป็นผื่นบวมนูนแดงออกขาว ล้อมด้วยผื่นสีแดง และมีอาการคัน ถ้าเป็นมากอาจรู้สึกแสบร้อน และโดยส่วนใหญ่จะหายได้เองภายใน 24 ชั่วโมง
อาการ : อาการมักเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ผื่นมีลักษณะเป็นวงนูนแดง ล้อมด้วยผื่นสีแดง อาจเกิดขึ้นได้ที่ใบหน้า ลำตัว แขนขา หรือส่วนอื่นของร่างกาย และจะมีอาการคันถึงคันมาก
สาเหตุ : เกิดจากร่างกายมีปฏิกิริยาต่อสิ่งที่แพ้ เช่น แพ้อาหาร แพ้ยา แพ้ฝุ่น ละอองเกสร ขนสัตว์ สัมผัสสารเคมีหรือสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ แมลงสัตว์กัดต่อย บางรายอาจเกิดจากการติดเชื้อบางชนิด เช่น ฟันผุ ทอมซิลอักเสบ โรคเชื้อรา เชื้อไวรัส โรคพยาธิ นอกจากนี้ยังอาจเป็นร่วมกับโรคอื่นๆ เช่น โรคมะเร็ง โรคต่อมไทรอยด์ โรคเอสแอลดี ระบบภูมิคุ้มกันต่อต้านตัวเอง
ผื่นโรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis)
โรคสะเก็ดเงิน เป็นโรคผิวหนังอักเสบที่จะเป็นตลอดชีวิต และสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ มีลักษณะเป็นผื่นหนาและสะเก็ด มักเกิดบริเวณข้อศอก หัวเข่า หลังส่วนล่าง หนังศีรษะ และอวัยวะเพศ
อาการ : ผิวเป็นสีแดงมีรอยขุยสีขาว ผิวแห้งอาจแห้งจนแตกเป็นเลือด และมีอาการปวดแสบปวดร้อน อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เล็บมีลักษณะผิดรูปและหนามากขึ้น ข้ออักเสบ หากปล่อยไว้นานไม่ได้รับการรักษา อาจถึงพิการได้
สาเหตุ : แม้จะยังไม่พบสาเหตุที่ชัดเจน แต่แพทย์เชื่อว่าเป็นความบกพร่องของภูมิคุ้มกันของร่างกายในส่วนเม็ดเลือดขาว พันธุกรรม หากคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคทางผิวหนังก็ทำให้ความเสี่ยงมากขึ้น รวมถึงปัจจัยอื่นๆ เช่น ผลข้างเคียงจากการติดเชื้อ HIV, ผลข้างเคียงจากการใช้ยารักษาอาการความดันสูง ยาโรคหัวใจ มีความเครียดสูง ผิวหนังเสียหายจากการเกาจนเป็นแผล
ผื่นผิวหนังจากไวรัส (Viral Exanthem)
ผื่นผิวหนังจากไวรัส เป็นผื่นที่เกิดจากเชื้อไวร้สหลายชนิดที่เป็นสาเหตุของโรคต่างๆ เช่น อีสุกอีใส หัด หูดข้าวสุก ซึ่งติดต่อกันได้แค่เพียงสัมผัส มักพบในเด็กอายุน้อยกว่า 20 ปี
อาการ : มีผื่นแดงที่ผิวหนัง ลักษณะเป็นได้ทั้งราบหรือนูน มีตุ่มน้ำใส หรือเป็นจ้ำเลือดได้ นอกจากนี้ยังมีอาการไข้ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยเนื้อตัว คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ร่วมด้วย
สาเหตุ : เกิดจากการติดเชื้อไวรัสต่างๆ
1. หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดผื่นคัน เช่น สารก่อภูมิแพ้และสารระคายเคือง
2. อย่าใช้เสื้อผ้าหรือของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เนื่องจากผู้นั้นอาจมีเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของการเกิดผื่นคันได้
3. ใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ไม่มีส่วนผสมของน้ำหอม สารก่อภูมิแพ้ และอ่อนโยนต่อผิว
4. ล้างทำความสะอาดทันทีหลังจากสัมผัสสารก่อภูมแพ้หรือสารระคายเคือง