การกรน (Snoring) เกิดจากกล้ามเนื้อคอคลายตัวขณะหลับทำให้ช่องคอแคบลง ลมหายใจผ่านไปยังหลอดลมได้ไม่สะดวก ส่งผลให้ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ และเมื่อช่องลมถูกปิดกั้นจนแคบลงจึงทำให้เกิดเสียงกรนขึ้น
การกรนเป็นเรื่องปกติทั่วไปสำหรับคนจำนวนมาก ในความเป็นจริงแทบทุกคนรวมถึงทารกและเด็กเล็กมีอาการกรนขณะนอนหลับด้วยกันทั้งนั้น หากนอนกรนเพียงอย่างเดียวไม่ส่งผลต่อสุขภาพมากนัก
แต่การกรนมีความสัมพันธ์โดยตรงกับภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หากการกรนเกิดขึ้นร่วมกับภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ส่งผลให้คุณภาพการนอนไม่ดี นอนหลับไม่ต่อเนื่อง ทำให้เกิดปัญหาทั้งสุขภาพกายและใจ เช่น ร่างกายเหนื่อยล้า สุขภาพจิตเสีย อีกทั้งยังรวมถึงการเกิดโรคต่างๆ ที่เกี่ยวกับสมองและหลอดเลือดหัวใจ เช่น โรคความดันโลหิตสูง ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน โรคหลอดเลือดสมอง ดังนั้นเมื่อมีการกรนร่วมกับภาวะหยุดหายใจขณะหลับควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและรักษา
การกรน เกิดจากกล้ามเนื้อคอคลายตัวขณะหลับทำให้ช่องคอแคบลง ลมหายใจผ่านไปยังหลอดลมได้ไม่สะดวก เมื่อช่องลมถูกปิดกั้นจนแคบลง ทางเดินหายใจอุดตันจึงทำให้เกิดเสียงกรนขึ้น อีกทั้งยังมีปัจจัยหลายประการที่ทำให้เกิดการอุดตันทางเดินหายใจ
อายุ เมื่ออายุมากขึ้น ความตึงตัวของกล้ามเนื้อลดลง แรงหดตัวน้อย ทำให้ทางเดินหายใจตีบตัน
ดื่มแอลกอฮอล์และยาระงับประสาท เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาบางชนิดช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ปิดกั้นการไหลเวียนของอากาศผ่านไปยังจมูก ปาก และคอ
กายภาพ ต่อมอะดีนอยด์โต ต่อมทอมซิลโต หรือลิ้นใหญ่ ทำให้อากาศไหลผ่านจมูก ปาก และคอได้ยาก เยื่อบุโพรงจมูกผิดรูปก็ทำให้ปิดกั้นการไหลของอากาศได้เช่นกัน
เพศ การกรนพบได้บ่อยในเพศชาย
ประวัติครอบครัว หากในครอบครัวพ่อแม่นอนกรน มีแนวโน้มว่าลูกจะนอนกรนด้วยเช่นกัน
สุขภาพโดยรวม อาการคัดจมูกจากภูมิแพ้และโรคหวัด ทำให้อากาศไหลเวียนผ่านปากและจมูกไม่ได้ รวมถึงคนท้องก็มีแนวโน้มจะนอนกรนได้เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน
น้ำหนัก การกรนและความผิดปกติของการหายใจขณะนอนหลับพบได้บ่อยในผู้ที่มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน
การกรนแผ่วเบาไม่รุนแรงอาจเป็นแค่ปัญหากวนใจของคนนอนเคียงข้าง แต่หากกรนรุนแรงร่วมกับภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับเป็นผลร้ายต่อสุขภาพ เสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายได้ เช่น
โรคหัวใจ การกรนเกิดจากทางเดินหายใจแคบลง ทำให้ออกซิเจนไม่เพียงพอ แต่คาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดคราบพลัค (ไขมัน) เกาะที่ผนังของหลอดเลือด หากหลอดเลือดตีบอุดตัน ส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันได้
โรคสมองเสื่อม เมื่อเลือดนำออกซิเจนไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ คุณภาพการนอนไม่ได้ประสิทธิภาพที่ดี หลังตื่นนอนจึงรู้สึกนอนไม่เต็มอิ่ม สมองตื้อ และหากนอนกรนไปนานๆ จะส่งผลให้สมองเสื่อม เสี่ยงเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้
โรคมะเร็ง การกรนกับโรคมะเร็งมีความเชื่อมโยงกัน เนื่องจากการขาดออกซิเจนทำให้มีการกระตุ้นเนื้องอกให้เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และเสี่ยงเกิดเลือดคั่งบริเวณเนื้องอก หากมีเลือดคั่งปริมาณมากก็จะกลายเป็นเซลล์มะเร็งในที่สุด
การเปลี่ยนวิธีการดำเนินชีวิตบางอย่างอาจช่วยให้หยุดกรนได้ เช่น
- หลีกเลี่ยงการกินยาระงับประสาท หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ก่อนนอน
- เมื่อมีอาการคัดจมูก ให้สอบถามเภสัชกรเกี่ยวกับยาบรรเทาอาการ
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่ดีต่อสุขภาพ
- หนุนหมอนให้ศีรษะยกขึ้นระหว่างนอนหลับเพื่อปรับการไหลเวียนของอากาศให้ดีขึ้น
- ลองเปลี่ยนมาเป็นท่านอนตะแคงแทนการนอนหงาย
- หากมีอาการกรนรุนแรงร่วมกับภาวะหยุดหายใจขณะหลับให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย