Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

วิธีช่วยเหลือและปฐมพยาบาลเบื้องต้นแผลไฟไหม้-น้ำร้อนลวก

Posted By Plook Creator | 29 พ.ค. 66
5,695 Views

  Favorite

บาดแผลไฟไหม้ เป็นการทำลายเนื้อเยื่อจากความร้อน เช่น เปลวไฟ ไฟฟ้าช็อต ถูกสารเคมี วัตถุร้อน น้ำร้อนลวก แผลไฟไหม้มีหลายระดับซึ่งต้องใช้การปฐมพยาบาลที่เหมาะสม หากแผลไฟไหม้ขนาดใหญ่ต้องได้รับความช่วยเหลือทางการแพทย์โดยเร็ว สำหรับแผลไฟไหม้เล็กน้อยสามารถปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้เพื่อรักษาแผลไฟไหม้โดยเร็วที่สุด เพราะทุกวินาทีมีค่าเพื่อจำกัดความเสียหายและฟื้นฟูผิวหนัง

 

ภาพ : Designsells - shutterstock

 


ระดับความรุนแรงของแผลไฟไหม้

ระดับความรุนแรงของแผลไฟไหม้ขึ้นอยู่กับความร้อนทะลุผ่านผิวหนังได้ลึกและรุนแรงแค่ไหน โดยแบ่งเป็นระดับที่หนึ่ง สอง สาม และสี่ แต่เราไม่สามารถแบ่งระดับความรุนแรงได้ทันที แผลไฟไหม้สามารถลุกลามรุนแรงขึ้นได้ จึงไม่อาจทราบขอบเขตทั้งหมดได้ในวันหรือสองวัน

แผลไฟไหม้ระดับที่ 1 : แผลไฟไหม้ระดับแรกส่งผลต่อผิวหนังชั้นนอกหรือชั้นหนังกำพร้าเท่านั้น แผลมีลักษณะผิวหนังแดง แห้ง เจ็บปวด หรือแสบร้อน ไม่มีตุ่มพุพอง เช่น การไหม้จากแสงแดด น้ำร้อนลวก หรือถูกวัตถุร้อนเฉียดๆ  

แผลไฟไหม้ระดับที่ 2 : แผลไฟไหม้ระดับที่ 2 เกิดการไหม้ที่ผิวหนังกำพร้าทั้งผิวชั้นนอกและชั้นในสุด และผิวหนังแท้ แผลมีลักษณะผิวหนังเป็นสีแดง มีตุ่มพุพอง อาจบวมและรู้สึกปวดแสบปวดร้อน  

แผลไฟไหม้ระดับที่ 3 : แผลไฟไหม้ระดับที่ 3 จะทำลายผิวหนังชั้นนอกและชั้นหนังแท้ อาจลามเข้าไปถึงผิวหนังชั้นในสุดซึ่งเป็นเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง แผลมีลักษณะผิวหนังดูเป็นสีขาวหรือดำคล้ำ และดำเกรียมเป็นตอตะโก

แผลไฟไหม้ระดับที่ 4 : แผลไฟไหม้ระดับที่ 4 ผิวไหม้เกรียมลึกถึงผิวหนังทั้งสองชั้นและเนื้อเยื่อที่อยู่ลึกลงไป ซึ่งอาจลามไปถึงกล้ามเนื้อและกระดูก ทำให้บริเวณนั้นไม่มีความรู้สึกเนื่องจากประสาทถูกทำลาย

 

ภาพ : Greenni - shutterstock

 


วิธีช่วยเหลือและปฐมพยาบาลแผลไฟไหม้

วิธีปฐมพยายาบาลแผลไฟไหม้ระดับไม่รุนแรง (ระดับ 1-2)
- ทำแผลไหม้ให้เย็น ใช้น้ำสะอาดอุณหภูมิห้องไหลผ่านแผลประมาณ 15-20 นาที ถ้าแผลไหม้บนใบหน้าใช้ผ้าชุบน้ำประคบจนกว่าอาการจะทุเลา
ห้าม!! ใช้น้ำแข็ง น้ำแช่น้ำแข็ง ครีมหรือสารที่มีความมัน เช่น เนย ทาที่แผลไหม้
- ถอดเครื่องประดับ เช่น แหวน นาฬิกา หรือของที่รัดแน่นบริเวณแผลไฟไหม้ออก ควรทำอย่างรวดเร็วและเบามือ ก่อนที่บริเวณนั้นจะบวม
- หากแผลไหม้มีตุ่มพุพอง ห้ามเจาะตุ่มพุพอง เพราะจะทำให้ติดเชื้อ แต่หากตุ่มพุพองแตกให้ใช้น้ำสะอาดเช็ดทำความสะอาด
- ใช้ผ้าก็อตหรือผ้าสะอาดพันแผลไว้อย่างหลวมๆ เพื่อหลีกเลี่ยงแรงกดบนผิวที่ไหม้
- หากจำเป็น ให้ผู้บาดเจ็บทานยาพาราเซตามอลหรือไอบูโพรเฟนเพื่อบรรเทาอาการปวด
- รีบนำผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาล

 การปฐมพยาบาลแผลไฟไหม้ระดับรุนแรง (ระดับ 3-4)
- ถอดเสื้อผ้าหรือเครื่องประดับที่ใกล้กับบริเวณที่ถูกไฟไหม้ หากผู้บาดเจ็บเป็นเด็กทารกให้ถอดผ้าอ้อมเด็กออกด้วย แต่อย่าพยายามเอาเสื้อผ้าหรือสิ่งที่ติดอยู่ในแผลไหม้ออก
- ตรวจสอบว่าผู้บาดเจ็บยังหายใจหรือไม่ หากผู้บาดเจ็บไม่หายใจให้ทำ CPR
- ใช้ผ้าก็อตหรือผ้าสะอาดปิดแผลไหม้
- หากเป็นไปได้ให้ยกบริเวณแผลไหม้ให้สูงกว่าระดับหัวใจ ซึ่งจะช่วยลดอาการบวมได้
- รักษาความอบอุ่นของร่างกายผู้บาดเจ็บ อย่าให้ร่างกายมีอุณหภูมิต่ำกว่า 35 องศาเซลเซียส โดยใช้ผ้าห่มหรือเสื้อผ้าหลายชั้น แต่อย่าวางทับไปบนแผลไหม้
- สังเกตอาการช็อก ได้แก่ ปลายมือเท้าเย็น ชีพจรอ่อน หายใจเร็วตื้น
- รีบนำผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาล


 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Creator
  • 44 Followers
  • Follow