โรคเบาหวาน (Diabetes) เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของการทำงานของฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) ซึ่งโดยปกติร่างกายของคนเราจำเป็นต้องมีอินซูลินเพื่อนำน้ำตาลในกระแสเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะสมองและกล้ามเนื้อ ดังนั้นเมื่ออินซูลินมีความผิดปกติไม่ว่าจะมีปริมาณลดลง หรือร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินลดลง ทำให้ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลในเลือดไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้คงเหลือปริมาณน้ำตาลในเลือดมากกว่าปกติ
เบาหวานแบ่งเป็น 4 ประเภทได้แก่
1. เบาหวานชนิดที่ 1 เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันทำลายเซลล์สร้างอินซูลินในตับอ่อน ทำให้สร้างอินซูลินไม่ได้อีกต่อไป ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 จึงต้องรักษาด้วยอินซูลินทุกวัน เบาหวานชนิดนี้มักพบในเด็กและวัยรุ่นหรือผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 30
2. เบาหวานชนิดที่ 2 เกิดจากภาวะดื้ออินซูลิน ทำให้อินซูลินที่มีหน้าที่ลดระดับน้ำตาลในเลือดทำงานได้ไม่ดี ร่างกายจึงไม่สามารถนำอินซูลินมาใช้ได้อย่างที่ควรและไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติ มักตรวจเจอในวัยผู้ใหญ่ อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีแนวโน้มเกิดกับคนอายุน้อยมากขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมการกินกินและขาดการออกกำลังกายที่นำไปสู่ภาวะน้ำหนักเกิน
3. เบาหวานขณะตั้งครรภ์ เกิดขึ้นในขณะตั้งครรภ์ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนระหว่างตั้งครรภ์ที่ส่งผลให้เซลล์ร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินน้อยลง เบาหวานขณะตั้งครรภ์มักหายไปได้หลังคลอด แต่ก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคอ้วนและเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ภายหลังเช่นกัน
4. ภาวะก่อนเบาหวาน คือ ระยะก่อนเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 โดยมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ แต่ยังไม่สูงที่จะวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 สามารถแก้ไขได้ด้วยการปรับพฤติกรรมที่จะช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดกลับสู่ภาวะปกติ เช่น ควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย ลดน้ำหนัก
นอกจากนี้ยังมีเบาหวานชนิดพิเศษที่เกิดจากสาเหตุเฉพาะอื่นๆ ได้แก่ ความผิดปกติทางพันธุกรรม โรคของตับอ่อน โรคเกี่ยวกับการทำงานผิดปกติของอินซูลินแต่กำเนิด ความผิดปกติของฮอร์โมน การได้รับยาบางชนิด เช่น สเตียรอยด์ หรือสารเคมี อีกด้วย
สาเหตุที่แท้จริงของโรคหวานส่วนใหญ่ยังไม่รู้แน่ชัด แต่ในผู้ป่วยเบาหวานทุกเคสจะมีการสะสมของน้ำตาลในกระแสเลือด เนื่องจากตับอ่อนผลิตอินซูลินได้ไม่เพียงพอ
อินซูลิน (Insulin) เป็นฮอร์โมนที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติโดยผลิตจากตับอ่อน ช่วยให้ร่างกายใช้น้ำตาลเป็นพลังงาน หากตับอ่อนไม่ทำงานตามที่ควรหรือไม่สร้างหรือปล่อยอินซูลินที่ต้องการเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลจะส่งผลให้เกิดโรคเบาหวานได้
อาการและสัญญาณบอกว่าเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 และ 2 หากมีอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจระดับน้ำตาล
1. กระหายน้ำมากกว่าปกติ
2. หิวมากกว่าปกติ
3. ปัสสาวะบ่อยในตอนกลางคืน
4. น้ำหนักลด (โดยไม่ได้พยายามลด)
5. รู้สึกเหนื่อยมาก
6. หงุดหงิดง่าย หรือมีความเปลี่ยนแปลงด้านอารมณ์
7. มีปัญหาด้านการมองเห็น มองไม่ชัด
8. เมื่อเป็นแผลจะหายช้า
9. ผิวแห้งมาก ผิวหนังบริเวณคอ รักแร้ ขาหนีบเปลี่ยนเป็นสีคล้ำและผิวหน้ากว่าปกติ
10. ติดเชื้อได้ง่าย เช่น ที่เหงือก ผิวหนัง และการติดเชื้อในช่องคลอด
โรคเบาหวานชนิดที่ 1 ไม่สามารถป้องกันได้ แต่เลือกใช้ชีวิตที่ดีต่อสุขภาพเพื่อช่วยรักษาภาวะก่อนเป็นเบาหวานได้ เบาหวานชนิดที่ 2 และเบาหวานขณะตั้งครรภ์สามารถป้องกันได้ ดังนี้
- รับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ เลือกอาหารไขมันและแคลอรี่ต่ำ มีไฟเบอร์สูง เน้นผัก ผลไม้ และธัญพืชไม่ขัดสี รับประทานอาหารให้หลากหลาย
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ออกกำลังกายแบบแอโรบิกประมาณ 30 นาทีให้ได้เกือบทุกวันต่อสัปดาห์ หรือตั้งเป้าหมายออกกำลังกายให้ได้อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ เช่น เดินเร็วทุกวัน หากไม่สามารถออกกำลังกายเป็นเวลานานได้ ให้แบ่งช่วงย่อยๆ ทำตลอดทั้งวัน
- ลดน้ำหนักส่วนเกิน หากมีน้ำหนักเกิน ให้ลดน้ำหนักลงประมาณ 7% ของน้ำหนักตัวจะสามารถช่วยลดความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานได้ อย่างไรก็ตาม อย่าพยายามลดน้ำหนักระหว่างตั้งครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับน้ำหนักตัวระหว่างตั้งครรภ์