มะเร็งเต้านม (Breast cancer) เป็นมะเร็งชนิดหนึ่งที่พัฒนาในเนื้อเยื่อเต้านม เกิดขึ้นเมื่อเซลล์ในเนื้อเยื่อเต้านมเริ่มเติบโตอย่างควบคุมไม่ได้ และก่อตัวเป็นเนื้องอกซึ่งอาจเป็นชนิดไม่ร้ายแรง (ไม่ใช่มะเร็ง) หรือเป็นเนื้อร้ายที่กลายเป็นมะเร็ง
มะเร็งเต้านมชนิดที่พบบ่อยที่สุดคือ
มะเร็งเต้านมแบบลุกลามออกนอกท่อน้ำนม (Invasive ductal carcinoma; IDC) เป็นมะเร็งเต้านมแบบลุกลามที่พบบ่อยที่สุด มะเร็งเริ่มจากท่อน้ำนมทะลุผ่านผนังท่อน้ำนมทำให้มีการลุกลามไปยังเนื้อเยื่อใกล้เคียง และอาจลุกลามผ่านทางต่อมน้ำเหลืองหรือกระแสเลือดได้
มะเร็งต่อมน้ำนมแบบลุกลาม (Invasive lobular carcinoma; ILC) เกิดจากต่อมผลิตน้ำนมที่เรียกว่า lobules สามารถแพร่ไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้เช่นเดียวกับ IDC
มะเร็งเต้านมอาจไม่แสดงอาการในระยะแรกเสมอไป และบางครั้งอาจตรวจพบระหว่างตรวจคัดกรองตามปกติ อย่างไรก็ตาม มีอาการและสัญญาณบางอย่างที่อาจบ่งชี้ถึงการเป็นมะเร็งเต้านมดังนี้
1. คลำพบก้อนบริเวณเต้านมหรือรักแร้
2. มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่าง ขนาด หรือลักษณะของเต้านม
3. ผิวหนังบริเวณเต้านมมีรอยบุ๋ม รอยย่น ผิวหนังบวมหนาคล้ายผิวส้ม
4. มีรอยย่น ผื่นคัน หรือผิวลอกบริเวณรอบหัวนม
5. หัวนมบุ๋มเข้าไปในเต้านม
6. มีของเหลว (นอกเหนือจากน้ำนมแม่) ไหลออกจากหัวนม เช่น เลือด , discharge
7. มีอาการแดงหรือบวมที่เต้านม
8. มีอาการเจ็บผิดปกติบริเวณเต้านมหรือรักแร้
หากพบก้อนเนื้อหรือมีความเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ที่เต้านม แม้ว่าการตรวจแมมโมแกรมครั้งล่าสุดจะออกมาปกติก็ตาม ก็ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยทันที
ปัจจัยเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม
1. เพศ ผู้หญิงมีแนวโน้มจะเป็นมะเร็งเต้านมได้มากกว่าผู้ชาย
2. อายุ เมื่อายุมากขึ้นก็เสี่ยงจะเป็นมะเร็งเต้านมมากขึ้น โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป
3. มีประวัติเคยตรวจพบก้อนเนื้อ หรือเต้านมโตผิดปกติ มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะเป็นมะเร็งเต้านม
4. มีประวัติเคยเป็นมะเร็งเต้านมข้างใดข้างหนึ่งแล้ว จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะเป็นอีกข้าง
5. มีประวัติคนในครอบครัวเคยเป็นมะเร็งมาก่อน
6. อ้วน หรือการเป็นโรคอ้วนจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม
7. วัยหมดประจำเดือน มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมมากขึ้น
8. ไม่เคยตั้งครรภ์ หรือหญิงที่คลอดลูกคนแรกหลังอายุ 30 ปี
9. การใช้ฮอร์โมนเพศหญิงนานเกินไป
10. ดื่มแอลกอฮอลล์
ผู้ชายสามารถเป็นมะเร็งเต้านมได้เช่นกัน มีสาเหตุคล้ายกับการเกิดมะเร็งเต้านมในผู้หญิง อย่างไรก็ตามพบเมื่อเทียบจำนวนผู้หญิงที่เป็นมะเร็งเต้านม 100 คน ผู้ชายมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมประมาณ 0.5-1% เท่านั้น นับว่าพบได้น้อยมากๆ
ยังไม่มีวัคซีนป้องกันมะเร็งเต้านม ดังนั้นต้องหมั่นตรวจเต้านมด้วยตัวเองอยู่เสมอหรือไปตรวจแมมโมแกรม
คุณผู้หญิงควรหมั่นตรวจเต้านมของตนเองอยู่เสมอ โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมในการตรวจคือ หลังจากประจำเดือนหมด 7-10 วัน เพราะเป็นช่วงที่เต้านมไม่บวมและนิ่ม สำหรับผู้หญิงที่หมดประจำเดือนควรตรวจเต้านมด้วยตนเองเดือนละครั้ง โดยทำได้ดังนี้
1. ตรวจด้วยการใช้มือและนิ้วคลำเต้านม
1.1 คลำเต้านมในแนวก้นหอย โดยเริ่มคลำจากส่วนบนของเต้านมเคลื่อนที่วนตามแนวก้นหอยไปจนถึงฐานนมบริเวณรอบรักแร้
1.2 คลำเต้านมในแนวรูปลิ่ม เริ่มจากส่วนบนของเต้านมจนถึงฐาน แล้วกลับสู่ยอด ทำไปเรื่อยๆ จนทั่วทั้งเต้านม
1.3 คลำเต้านมในแนวขึ้นลงจากใต้เต้านม เริ่มคลำจากใต้เต้านมจนถึงกระดูกไหปลาร้าแล้วขยับนิ้วทั้งสามนิ้ว คลำในแนวขึ้นลงสลับกันไปเรื่อยๆ จนทั่วทั้งเต้านม
2. ตรวจด้วยการยืนหน้ากระจก และสังเกตเต้านมของตนเอง
2.1 ยืนตัวตรงแขนแนบลำตัว จากนั้นยกแขนขึ้นเหนือศีรษะ สังเกตความเปลี่ยนแปลงของเต้านม เช่น รูปร่าง รอยบุ๋มของผิวหนัง อาการบวม หรือความเปลี่ยนแปลงของหัวนม
2.2 วางฝ่ามือทั้งสองข้างที่สะโพกแล้วกดแรงๆ ไม่ให้กล้ามเนื้อเกร็งและหดตัว สังเกตความผิดปกติที่เต้านม เช่น มีรอยบุ๋ม หรือความเปลี่ยนแปลงต่างๆ หรือไม่
3. ตรวจในท่านอนราบ
3.1 นอนราบ วางแขนข้างหนึ่งไว้ใต้หลังศีรษะ ใช้มืออีกข้างตรวจคลำเต้านม
3.2 คลำจากส่วนนอกและหนือเต้านม เวียนไปรอบเต้านมและเคลื่อนเป็นวงแคบจนถึงเต้านมให้ทั่วทุกส่วน
3.3 ใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้บีบหัวนม สังเกตว่ามีสิ่งผิดปกติไหลออกมาหรือไม่
3.4 สลับทำซ้ำขั้นตอนต่างๆ ในเต้านมอีกข้างหนึ่ง