Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เรื่องควรรู้เกี่ยวกับโรคพยาธิ

Posted By Plook Creator | 02 พ.ค. 66
3,572 Views

  Favorite

ใครชอบกินของดิบ เช่น ลาบเลือดดิบๆ ซอยจุ๊ ต้องระวัง เพราะคุณกำลังเชิญชวนพยาธิเข้าสู่ร่างกาย โดยเฉพาะพยาธิตัวตืด นอกจากนี้ยังมีพยาธิอีกหลายชนิดที่มีแหล่งที่มาต่างๆ ซึ่งหากเข้าสู่ร่างกายของคนเราแล้วจะทำให้เกิดโรคได้ ดังนั้นมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับพยาธิและโรคพยาธิกัน
 

ภาพ : New Africa - shutterstock

 

พยาธิคืออะไร?

พยาธิ หรือ ปรสิต คือ สิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในร่างกายของมนุษย์และสัตว์ คอยแย่งอาหารหรือดูดเลือดและมักทำให้เกิดอันตรายต่อคนหรือสัตว์ตามอวัยวะต่างๆ ของร่างกายที่มันอาศัยอยู่ ปรสิตที่มักทำให้เกิดโรคในมนุษย์หลักๆ ได้แก่

- โปรโตซัว (Protozoa) สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวขนาดเล็กที่จัดว่ามีความสำคัญมากในระบบนิเวศ อาศัยอยู่ได้ทั้งในน้ำจืดและน้ำเค็ม รวมทั้งบริเวณที่ชื้นแฉะ และยังพบว่าอาศัยอยู่ในร่างกายของสัตว์บกอีกหลายชนิด มีทั้งที่เป็นโทษและให้ประโยชน์

- หนอนพยาธิ (Helminths) สิ่งมีชีวิตที่อาติดมากับสัตว์ เช่น หมู วัว ปลา และสัตว์น้ำที่มีเปลือก

- ปรสิตภายนอกร่างกาย (Ectoparasites) เป็นปรสิตที่อาศัยและแพร่พันธุ์ตามผิวหนังภายนอก เช่น เหา เห็บ หมัด ไร โลน แมลงบางชนิด  

 

ภาพ : Jarun Ontakrai - shutterstock

 

ชนิดของพยาธิมีอะไรบ้าง?

พยาธิมีหลายชนิดแตกต่างกันไป และสามารถพบระยะต่างๆ ของพยาธิปะปนอยู่ในธรรมชาติ เช่น ดิน พื้นหญ้า ในน้ำ ในเนื้อสัตว์ต่างๆ พืชผัก น้ำดื่ม และในแมลงพาหะนำโรคหลายชนิด โดยทั่วไปพยาธิแบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ

1. พยาธิตัวกลม เช่น พยาธิเข็มหมุด พยาธิปากขอ พยาธิไส้เดือน พยาธิแส้ม้า พยาธิตัวจี๊ด และพยาธิเส้นด้าย
พยาธิตัวกลม เป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่อาศัยอยู่ในลำไส้สุนัขหรือแมว ไข่พยาธิอยู่ได้เป็นเวลานานตามพื้นดิน ทราย สนามหญ้า และเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ได้จากทางปากหรือการสัมผัสสิ่งปนเปื้อน ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดการติดเชื้อพยาธิได้

2. พยาธิตัวแบน เช่น พยาธิตัวตืด
พยาธิตัวแบน เป็นพยาธิที่พบได้ทั่วโลก ชนิดที่พบบ่อย คือ พยาธิตัวตืดหมูและพยาธิตืดวัว โดยพยาธิตืดวัวพบได้บ่อยกว่าพยาธิตืดหมู หากรับประทานเนื้อสัตว์ดิบๆ มีโอกาสที่จะเป็นโรคพยาธิตัวตืด

3. พยาธิใบไม้ เช่น พยาธิใบไม้ตับ
พยาธิใบไม้ เป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก ลักษณะคล้ายหนอนตัวแบนและยาว มีรูปร่างคล้ายใบไม้ หากรับเข้าสู่ร่างกายจะก่อให้เกิดโรค โดยโรคที่ส่วนใหญ่คุ้นเคยกันคือ โรคพยาธิใบไม้ในตับ เกิดจากการกินอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งไม่ได้ทำให้เกิดการติดเชื้อที่ตับเพียงอย่างเดียว แต่อาจทำให้ติดเชื้อและเกิดโรคพยาธิใบไม้ที่ร่างกายส่วนอื่นด้วย

 

ภาพ : Andrey_Popov - shutterstock

 


อาการที่บ่งชี้ว่าเป็นโรคพยาธิ

1. หิวบ่อยและรับทานอาหารมาก
2. น้ำหนักลด
3. ท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องเสีย
4. เจ็บและบวมตามผิวหนัง
5. เจ็บหน้าอก
6. ไอเป็นเลือด
7. แพ้ มีผื่นคันหรือแนวแดงบนผิวหนัง มีตุ่มนูนขึ้นตามผิวหนัง
8. เป็นไข้ ปวดเมื่อยตามร่างกาย
9. ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว

หากมีอาการผิดปกติข้างต้นควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย และควรนำอุจจาระหรือเสมหะหรือสิ่งที่สงสัยว่าเป็นพยาธิใส่ภาชนะสะอาดไปด้วย ไม่ควรใช้ยาถ่ายพยาธิโดยไม่จำเป็น แต่ควรรับประทานยาถ่ายพยาธิให้ตรงกับชนิดของพยาธิที่อยู่ในร่างกาย ตามคำแนะนำของแพทย์

 

ภาพ : Gravika - shutterstock

 

การป้องกันโรคพยาธิ

1. รับประทานอาหารปรุงสุก สะอาดถูกสุขลักษณะ
2. ดื่มน้ำสะอาด
3. เก็บอาหารในที่ปลอดภัยจากแมลงและสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรค
4. ล้างผักและผลให้สะอาดก่อนรับประทาน
5. ล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหาร และหลังจากเข้าห้องน้ำ หรือล้างมือบ่อยๆ
6. สวมรองเท้าทุกครั้งเมื่อออกจากบ้าน
7. รักษาความสะอาดบริเวณบ้านอยู่เสมอ
8. ป้องกันตนเองจากการถูกแมลงที่เป็นพาหะกัด

 


แหล่งที่มาข้อมูล
CDC, Diagnosis of Parasitic Diseases, สืบค้นเมื่อ 2 พฤษภาคม 2566 จากเว็บไซต์: https://www.cdc.gov/
โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน, สิ่งน่ารู้เกี่ยวกับโรคพยาธิ, สืบค้นเมื่อ 2 พฤษภาคม 2566 จากเว็บไซต์: https://www.tropmedhospital.com/
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, ศ. ดร. นพ.เผด็จ สิริยะเสถียร, ถ่ายพยาธิทุกปีจำเป็นหรือไม่, สืบค้นเมื่อ 2 พฤษภาคม 2566 จากเว็บไซต์: https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/
POBPAD, พยาธิใบไม้ คืออะไร ป้องกันอย่างไรดี, สืบค้นเมื่อ 2 พฤษภาคม 2566 จากเว็บไซต์: https://www.pobpad.com/

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Creator
  • 44 Followers
  • Follow