Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ทำความเข้าใจ ค่าความดันโลหิต ความดันสูง ความดันต่ำ รู้ทันเรื่องสุขภาพ

Posted By Plook Creator | 05 เม.ย. 66
3,547 Views

  Favorite

ความดันโลหิตคืออะไร? มีความสำคัญต่อสุขภาพอย่างไร? ทุกครั้งในการตรวจสุขภาพต้องมีการวัดความดัน บางคนความดันสูง บางคนความดันต่ำ ค่าเลขความดันเท่าไหร่ถึงเรียกว่าปกติหรือผิดปกติ มาทำความเข้าใจเรื่องความดันโลหิตดังนี้

 

ภาพ : Lesterman - shutterstock

 


ความดันโลหิตคืออะไร?

ความดันโลหิต (Blood Pressure : BP) คือ แรงดันภายในหลอดเลือดแดง ที่เกิดจากหัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย ประกอบด้วยเลข 2 ค่า ได้แก่

ความดันโลหิตค่าบน (Systolic Blood Pressure) คือ แรงดันโลหิตขณะที่หัวใจบีบตัวเต็มที่
ความดันโลหิตค่าล่าง (Diastolic Blood Pressure) คือ แรงดันโลหิตขณะที่หัวใจคลายตัวเต็มที่
 

ภาพ : IhorL - shutterstock

 


ความดันโลหิตมีความสำคัญอย่างไร?

การอ่านค่าความดันโลหิตที่ถูกต้องแม่นยำเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เห็นแนวโน้มของสุขภาพชัดเจนขึ้นว่ามีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดหรือไม่

ค่าเลขความดันโลหิตเท่าไหร่คือปกติ?

ตารางค่าความดันโลหิต (BP)

ประเภท

ความดันโลหิตตัวบน
(มม.ปรอท)

ความดันโลหิตตัวล่าง
(มม.ปรอท)

ความดันโลหิตปกติ

90-119

60-79

ความดันโลหิตเริ่มสูง

120-139

80-89

ความดันโลหิตสูงเล็กน้อย (ระยะที่ 1)

140-159

90-99

ความดันโลหิตสูงปานกลาง (ระยะที่ 2)

160-179

100-109

ความดันโลหิตสูงมาก (ระยะที่ 3)

ตั้งแต่ 180 ขึ้นไป

ตั้งแต่ 120 ขึ้นไป



ความดันโลหิตปกติ ค่าความดันโลหิตที่เหมาะสมของคนปกติต้องไม่เกิน 120/80 มม.ปรอท หากค่าความดันของเราอยู่ในระดับนี้ให้ปฏิบัติตามกิจวัตรที่ดีต่อสุขภาพหัวใจต่อไป เช่น รับประทานอาหารอย่างได้สัดส่วนสมดุล และออกกำลังกายเป็นประจำ

ความดันโลหิตค่อนข้างสูง หากอ่านค่าความดันโลหิตได้ 120-139/80-89 มม.ปรอท แสดงว่ามีแนวโน้มที่จะเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้ ดังนั้นควรเริ่มควบคุมตนเองดูและดูแลสุขภาพให้มากขึ้น

ความดันโลหิตสูงระยะที่ 1 หากวัดค่าความดันโลหิตได้สูงระดับนี้ แพทย์มักแนะนำให้เปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต และอาจเพิ่มยาความดันโลหิตตามความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เช่น หัวใจวายหรือโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)

ความดันโลหิตสูงระยะที่ 2 หากวัดค่าความดันในระดับนี้ แพทย์จะสั่งยาความดันโลหิตให้ร่วมกับแนะนำให้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิต

ความดันโลหิตสูงระยะที่ 3 หากค่าความดันโลหิตเกิน 180/120 ให้นั่งพักรอประมาณ 5 นาที แล้ววัดความดันใหม่อีกครั้ง หากค่าความดันยังสูงผิดปกติ ให้ติดต่อแพทย์ทันที เนื่องจากเข้าสู่ภาวะวิกฤตความดันโลหิตสูง
 

ภาพ : Lighthunter - shutterstock

 


ความดันโลหิตสูง (High blood pressure)
ความดันโลหิตสูงมักเกี่ยวข้องกับรูปแบบการใช้ชีวิตที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป น้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน และออกกำลังกายไม่เพียงพอ ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงแล้วไม่ได้รับการรักษาจะมีความเสี่ยงเกิดภาวะสุขภาพที่ร้ายแรงในระยะยาว รวมถึงโรคหลอดเลือดหัวใจ นอกจากนี้ยังเสี่ยงที่หลอดเลือดในไตหรือดวงตาจะถูกทำลายอีกด้วย

ความดันโลหิตต่ำ (Low blood pressure)
ภาวะความดันโลหิตต่ำมีโอกาสพบได้น้อยและไม่น่าเป็นห่วงเท่ากับความดันโลหิตสูง อย่างไรก็ตาม ความดันโลหิตต่ำสามารถบ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพได้ ผู้ที่มีความดันโลหิตต่ำกว่า 90/60 มม.ปรอท ถือว่ามีภาวะความดันโลหิตต่ำ แต่แพทย์ยังไม่นับว่าเป็นปัญหาเว้นแต่ว่าจะมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ภาวะเลือดออกภายใน โรคหัวใจ ภาวะหัวใจล้มเหลว ตั้งครรภ์ ภาวะขาดน้ำ รวมถึงการใช้ยาบางชนิดที่มีผลข้างเคียงทำให้ความดันโลหิตต่ำได้

วิธีควบคุมดูแลความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติ

1. ออกกำลังกายเป็นประจำ ไม่เพียงจะช่วยควบคุมความดันโลหิตสูง แต่ยังช่วยควบคุมน้ำหนัก ทำให้หัวใจแข็งแรง และลดความเครียดได้
2. หลีกเลี่ยงหรือลดอหารรสเค็ม ใน 1 วัน ไม่ควรบริโภคโซเดียมเกิน 2,000 มิลลิกรัม (เกลือไม่เกิน 1 ช้อนชา)
3. ลดน้ำหนัก หากมีน้ำหนักเกิน
4. เพิ่มโพแทสเซียมในอาหาร โพแทสเซียมช่วยควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจ และยังช่วยลดผลกระทบของโซเดียมในร่างกายด้วย อาหารที่อุดมไปด้วยโพแทสเซียม ได้แก่ กล้วย แตงโม ส้ม อะโวคาโด มะเขือเทศ นม โยเกิร์ต ผักใบเขียว ปลาทูน่า ปลาแซลมอน เป็นต้น
5. ลดหรือเลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์
6. ลดหรือเลิกสูบบุหรี่
7. ลดความเครียด


 

แหล่งที่มาข้อมูล
Penn Medicine, 5 Natural Ways to Lower Blood Pressure, สืบค้นเมื่อ 5 เมษายน 2566 จากเว็บไซต์: https://www.pennmedicine.org/
Harvard Health Publishing, 6 simple tips to reduce your blood pressure, สืบค้นเมื่อ 5 เมษายน 2566 จากเว็บไซต์: https://www.health.harvard.edu/
MEDICAL NEWS TODAY, Deborah Weatherspoon, Ph.D., MSN, What is a normal blood pressure reading?, สืบค้นเมื่อ 5 เมษายน 2566 จากเว็บไซต์: https://www.medicalnewstoday.com/
Heart.Org, Understanding Blood Pressure Readings, สืบค้นเมื่อ 5 เมษายน 2566 จากเว็บไซต์: https://www.heart.org/en/
โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์, คุณเป็นความดันโลหิตสูงรึเปล่า?, สืบค้นเมื่อ 5 เมษายน 2566 จากเว็บไซต์: https://www.siphhospital.com/th/home
โรงพยาบาลศิครินทร์, วัดความดันโลหิตที่บ้าน ทำอย่างไร?, สืบค้นเมื่อ 5 เมษายน 2566 จากเว็บไซต์: https://www.sikarin.com/

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Creator
  • 44 Followers
  • Follow