ตัวร้อน เป็นอาการที่สัมผัสได้ทางผิวหนัง มักเกิดจากการส่งผ่านความร้อนจากภายในร่างกาย แต่บางครั้งอาจเป็นความร้อนที่อยู่บริเวณชั้นผิวหนังที่ทำให้รู้สึกร้อน
มีไข้ เป็นอาการที่อุณหภูมิในร่างกายสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด โดยปกติอุณหภูมิร่างกายของคนเราจะอยู่ที่ประมาณ 37.5 องศาเซลเซียส แต่หากมีไข้เมื่อวัดด้วยเครื่องวัดอุณหภูมิทางปาก รักแร้ หรือรูหู จะมีอุณหภูมิประมาณ 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป หรือวัดทางทวารหนักอุณหภูมิจะสูงกว่า 38 องศาเซลเซียส
อาการมีไข้มักทำให้รู้สึกตัวร้อน แต่ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม รูปแบบการใช้ชีวิต ยา อายุ ฮอร์โมน และสภาวะทางอารมณ์บางอย่างสามารถทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นได้โดยไม่มีไข้
ภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษ
ต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป โดยจะหลั่งฮอร์โมนออกมามากเกินความจำเป็น ทำให้มีอาการทนอากาศร้อนไม่ได้ เหงื่อออกมาก หัวใจเต้นเร็วและแรง อุจจาระบ่อยขึ้น ท้องเสีย นอนหลับยาก รู้สึกเหนื่อยล้า
โรคเบาหวาน
ผู้ป่วยโรคเบาหวานจะไวต่อความร้อนได้มากกว่า เมื่ออากาศร้อนร่างกายจะสูญเสียน้ำอย่างรวดเร็ว หากดื่มน้ำไม่เพียงพออาจทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นแม้จะไม่มีไข้ก็ตาม
การติดเชื้อ COVID-19
อาการเริ่มต้นเมื่อติดเชื้อโควิดของแต่ละคนไม่เหมือนกัน หลายคนติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ บางรายอาจตัวร้อนแต่ไม่มีไข้ จึงไม่ควรมองข้ามอาการป่วยแม้เพียงเล็กน้อย
ความเครียดและวิตกกังวล
ความเครียดหรือวิตกกังวลทำให้การสูบฉีดเลือดเร็วขึ้น อัตราการเต้นหัวใจเพิ่มขึ้น ใจสั่น ร่างกายรู้สึกร้อนและอาจมีอาการหน้าแดงและเหงื่อออกด้วย
การตั้งครรภ์
การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนขณะตั้งครรภ์ทำให้ร่างกายของหญิงตั้งครรภ์มีอุณหภูมิสูงขึ้น มักมีอาการตัวร้อนแต่ไม่มีไข้ เวียนหัว หน้ามืด
การเข้าสู่วัยทอง
ผู้หญิงที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนร่างกายจะมีอาการร้อนวูบวาบ เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเอจสโตรเจน สมองส่วนที่ควบคุมอุณหภูมิร่างกายจึงทำงานไวกว่าปกติและรู้สึกตัวร้อนได้ง่ายขึ้น
การใช้ยาบางชนิด
ยาบางชนิดส่งผลข้างเคียงทำให้รู้สึกร้อนหรือเหงื่อออก เช่น ยาแก้ปวดบางชนิด, ยารักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด, ยารักษาไทรอยด์และฮอร์โมนเพศชาย, ยารักษาระบบทางเดินอาหาร, ยารักษาอาการจิตเวช ยาปฏิชีวนะและยาต้านไวรัสบางชนิด
การออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมหนักๆ
ทำให้ความร้อนในร่างกายเพิ่มขึ้นได้ โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หรือทำกิจกรรมหนักๆ ในสภาพแวดล้อมที่ร้อนและชื้น ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมหนักๆ ในช่วงที่อากาศร้อนจัด และดื่มน้ำอย่างเพียงพอ
การรับประทานอาหารและเครื่องดื่มบางประเภท
อาหารและเครื่องดื่มบางชนิดสามารถทำให้อุณหภูมิในร่างกายเพิ่มขึ้นได้ เช่น อาหารรสเผ็ด สมุนไพรที่มีฤทธิ์ร้อนอย่างขิงหรือข่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
การสวมเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่รัดแน่นเกินไป
เสื้อผ้าที่แน่นเกินไปหรือมีสีเข้ม อาจเพิ่มความร้อนในร่างกายและขัดขวางการไหลเวียนอากาศบริเวณผิวหนัง เส้นใยสังเคราะห์อาจเก็บความร้อนและกันเหงื่อไม่ให้ระเหยออกไป ทำให้ร้อนและเหงื่อออกมากขึ้น
การรักษาอาการตัวร้อนแต่ไม่มีไข้จะรักษาตามสาเหตุที่แท้จริง หากเกิดจากปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมและรูปแบบการใช้ชีวิต เพียงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง เช่น สวมเสื้อผ้าหลวมๆ สีอ่อนๆ อยู่ในสถานที่อากาศถ่ายเทไม่ร้อนเกินไป ดื่มน้ำมากๆ หลีกเลี่ยงอาหารรสจัดและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีน เป็นต้น
หากมีอาการตัวร้อนบ่อยๆ โดยไม่มีไข้ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย เช่น ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง หากพบคนเป็นลมแดดหรือมีอาการอ่อนเพลียจากความร้อนและอาการไม่ดีขึ้นภายในหนึ่งชั่วโมงควรรีบขอความช่วยเหลือฉุกเฉินหรือพาไปโรงพยาบาลทันที
แหล่งที่มาข้อมูล
Medical News Today, Shilpa Amin, M.D., CAQ, FAAFP, Why do I feel hot but have no fever?, สืบค้นเมื่อ 30 มีนาคม 2566 จากเว็บไซต์: https://www.medicalnewstoday.com/
Healthline, Meredith Goodwin, MD, FAAFP, What Does It Mean if You Are Feeling Feverish but Have No Fever?, สืบค้นเมื่อ 30 มีนาคม 2566 จากเว็บไซต์: https://www.healthline.com/
Hugs Insurance, ตัวร้อนแต่ไม่มีไข้ เกิดจากสาเหตุอะไร, สืบค้นเมื่อ 30 มีนาคม 2566 จากเว็บไซต์: https://www.hugsinsurance.com/