Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

วิธีบรรเทาอาการกรดไหลย้อนแบบไม่ต้องพึ่งยา

Posted By Plook Creator | 29 มี.ค. 66
1,564 Views

  Favorite

โรคกรดไหลย้อน เป็นภาวะที่น้ำย่อยจากกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นไปในหลอดอาหาร ทำให้เกิดอาการแสบร้อนบริเวณหน้าอกจนรบกวนต่อชีวิตประจำวันของผู้ป่วย และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้ เช่น การอักเสบของหลอดอาหาร

 

ภาพ: iced.espresso - shutterstock

 

สาเหตุของโรคกรดไหลย้อน

- ความผิดปกติของหูรูดส่วนปลายหลอดอาหารที่มีความดันลดต่ำกว่าปกติหรือ หรือกระเพาะอาหารเลื่อนเข้าไปในหลอดอาหาร
- ความผิดปกติของหลอดอหารส่วนปลายที่คลายตัวโดยยังไม่กลืนอาหาร
- ความผิดปกติของการบีบตัวของกระเพาะอาหารหรือหลอดอาหาร ทำให้อาหารค้างอยู่ในกระเพาะอาหารนานกว่าปกติ
- พฤติกรรมในการดำเนินชีวิต เช่น รับประทานอาหารเสร็จแล้วนอนทันที รับประทานอาหารในปริมาณมากในหนึ่งมื้อ สูบบุหรี่ ดื่มน้ำอัดลม ดื่มแอลกอฮอล์ หรือการรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาแก้โรคซึมเศร้า ยาลดความดันโลหิตสูงบางชนิด
- โรคอ้วน ทำให้แรงกดกระเพาะอาหารเพิ่มขึ้นทำให้กรดไหลย้อนกลับ
- การตั้งครรภ์ ฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นขณะตั้งครรภ์ทำให้หูรูดหลอดอาหารอ่อนแอลง มดลูกขยายตัวไปเพิ่มแรงกดต่อกระเพาะอาหาร
- ภาวะความเครียด ทำให้หลอดอาหารไวต่อสิ่งกระตุ้น อ่อนไหวต่อกรด เมื่อมีกรดไหลย้อนขึ้นมาเพียงเล็กน้อยจะแสดงอาการทันที

อาการของโรคกรดไหลย้อน

- แสบร้อนบริเวณลิ้นปี่ กลางหน้าอก มักเกิดหลังรับประทานอาหารเสร็จใหม่ๆ
- จุกเสียด ท้องอืด แน่นท้องบริเวณลิ้นปี่ คล้ายอาหารไม่ย่อน
- มีอาการเรอเปรี้ยว มีน้ำรสเปรี้ยวหรือขมไหลย้อนขึ้นมาในปาก
- เจ็บหน้าอก จุก คล้ายมีก้อนติดในลำคอ
- คลื่นไส้ อาเจียน หลังรับประทานอาหาร
- ไอแห้งๆ เสียงแหบ
- เจ็บคอเรื้อรัง

เมื่อไหร่ที่ควรไปพบแพทย์

อาการกรดไหลย้อนสามารถใช้ยาบรรเทาอาการได้โดยไม่ต้องใช้ใบสั่งแพทย์ แต่หากมีอาการรุนแรงบ่อยครั้งควรไปพบแพทย์ และหากมีอาการเจ็บหน้าอกร่วมกับอาการหายใจไม่อิ่ม ปวดบริเวณกรามหรือแขน ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เนื่องจากเป็นสัญญาณเตือนของอาการหัวใจวาย

 

ภาพ : Orawan Pattarawimonchai - shutterstock


การรักษาโรคกรดไหลย้อน

การรักษาโรคกรดไหลย้อนมีจุดประสงค์เพื่อลดปริมาณกรดหรือลดความเสียหายต่อเยื่อบุหลอดอาหารจากสิ่งที่ไหลย้อนขึ้นมา ดังนั้นการรักษาสามารถทำได้ด้วย
- ปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการใช้ชีวิต
- รับประทานยาตามแพทย์สั่ง
- การเย็บหูรูดหลอดอาหารทั้งด้วยวิธีที่ไม่ต้องผ่าตัด
- การตัดเย็บหูรูดหลอดอาหาร

วิธีบรรเทาอาการกรดไหลย้อนแบบไม่ต้องพึ่งยา

1. กินน้อยๆ แต่บ่อยครั้ง ยิ่งอิ่มท้องมากกรดยิ่งไหลย้อนขึ้นไปหลอดอาหารมากขึ้น ลองปรับเปลี่ยนการกินจาก 3 มื้อใหญ่ต่อวัน มาเป็นกินมื้อเล็กๆ กินน้อยๆ แต่ให้บ่อยครั้งขึ้น
2. หลีกเลี่ยงอาหารบางชนิดที่กระตุ้นกรดไหลย้อน เช่น อาหารรสจัด อาหารที่มีไขมันสูง ชา กาแฟ น้ำอัดลม
3. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์
4. ไม่ควรนอนทันทีหลังรับประทานอาหาร
5. รับประทานอาหารมื้อเย็นก่อนเข้านอนอย่างน้อย 3 ชั่วโมง และไม่ควรทานอาหารมื้อดึกหรือของว่างช่วงกลางดึก
6. รับประทานอาหารที่มีฤทธิ์เป็นด่าง เช่น กล้วยสุก มีโพแทสเซียมสูงทำให้มีความเป็นด่างพอสมควร ซึ่งอาจช่วยลดกรดในกระเพาะอาหารที่ระคายเคืองต่อหลอดอาหารได้ อย่างไรก็ตามกล้วยที่ยังไม่สุกมีความเป็นด่างน้อย มีแป้งมากและอาจเป็นตัวกระตุ้นกรดไหลย้อนได้
7. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ แต่ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างหนักสองสามชั่วโมงหลังรับประทานอาหาร
8. ลดน้ำหนักหากมีน้ำหนักเกินมาตรฐาน น้ำหนักเพิ่มขึ้นทำให้โครงสร้างกล้ามเนื้อที่รองรับกล้ามเนื้อหูรูดส่วนล่างหลอดอาหารยืดออกทำให้ความดันปิดหูรูดลดลง
9. ตรวจสอบยาที่กินอยู่ ยาบางชนิด เช่น ยารักษาอาการซึมเศร้า ยาแก้ปวดต้านการอักเสบ รวมถึงฮอร์โมนเอสโตรเจนในวัยหมดประจำเดือน ทำให้กล้ามเนื้อหูรูดอ่อนลงได้ หรือยาบางประเภทอาจทำให้หลอดอาหารระคายเคืองได้ ควรปรึกษาแพทย์
10. สวมเสื้อผ้าหลวมๆ ไม่รัดรูปเกินไป หากมีอาการจุกเสียดท้องได้ง่าย การสวมเสื้อผ้ารัดรูปหรือแน่นเกินไปจะส่งผลต่ออาการได้มาก
11. ลดความเครียด ความเครียดส่งผลเสียต่อร่างกายรวมถึงทำให้การย่อยอาหารทำงานช้าลง เมื่ออาหารอยู่ในกระเพาะอาหารเท่าไหร่ กรดในกระเพาะอาหารก็ไหลย้อนมากขึ้น

 

 

แหล่งที่มาของข้อมูล
โรงพยาบาลศิครินทร์, เช็กอาการแบบไหนใช่ “กรดไหลย้อน”, สืบค้นเมื่อ 29 มีนาคม 2566 จากเว็บไซต์: https://www.sikarin.com/
โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์, โรคกรดไหลย้อน, สืบค้นเมื่อ 29 มีนาคม 2566 จากเว็บไซต์: https://www.bumrungrad.com/th
Harvard Health Publishing, 9 ways to relieve acid reflux without medication, สืบค้นเมื่อ 29 มีนาคม 2566 จากเว็บไซต์: https://www.health.harvard.edu/
Houston Methodist, Home Remedies for Heartburn: 9 Ways to Get Rid of Acid Reflux, สืบค้นเมื่อ 29 มีนาคม 2566 จากเว็บไซต์: https://www.houstonmethodist.org/blog/

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Creator
  • 44 Followers
  • Follow