Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เจ็บคอเรื้อรังอย่ามองข้าม เป็นสัญญาณบอกโรค

Posted By Plook Creator | 20 มี.ค. 66
7,800 Views

  Favorite

เจ็บคอ เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เป็นอาการที่สามารถรักษาให้หายเองได้ และอาการมักบรรเทาลงภายใน 3-5 วัน แต่หากมีอาการเจ็บคอเรื้อรังอย่ามองข้าม เพราะนี่อาจเป็นสัญญาณบอกโรคต่างๆ ได้เช่นกัน
 

ภาพ: Prostock-studio - shutterstock



อาการเจ็บคอ คือ ความเจ็บ หรือการระคายเคืองคอ ซึ่งอาการมักแย่งลงเมื่อกลืนอะไรลงคอ สาเหตุที่พบบ่อยของอาการเจ็บคอ (คออักเสบ) มาจากการติดเชื้อไวรัส เช่น ไข้หวัด หรือไข้หวัดใหญ่ โดยอาการเจ็บคอที่เกิดจากไวรัสจะสามารถหายได้เอง แต่หากอาการเจ็บคอเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียต้องได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวินะเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน

สาเหตุของอาการเจ็บคอเรื้อรัง และเป็นสัญญาณบอกโรคต่างๆ

โดยทั่วไปอาการเจ็บคอจะค่อยๆ บรรเทาลงใน 3-5 วัน แต่หากมีอาการเจ็บคอเรื้อรังอาจมีสาเหตุมาจากโรคต่างๆ ดังนี้

1. โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ และโรคจมูกอักเสบชนิดไม่แพ้ เมื่อเยื่อบุจมูกสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ทำให้เยื่อจมูกบวม คัดจมูกเรื้อรังต้องอ้าปากหายใจ น้ำมูกไหลลงคอ ระคายคอตลอดเวลา ทำให้มีอาการเจ็บคอเรื้อรังได้

2. โรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง ทำให้เยื่อบุจมูกบวม คัดจมูกทำให้ต้องหายใจทางปาก นอกจากนี้สารคัดหลั่งจากไซนัสและจมูกอักเสบไหลลงคอทำให้เกิดการระคายเคืองของผนังคอ ทำให้มีอาการเจ็บคอเรื้อรังได้

3. การติดเชื้อของลำคอและต่อมทอมซิลเรื้อรัง อาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือมีแหล่งเชื้อโรคในช่องปาก เช่น ฟันผุ โรคเหงือก นอกจากนี้การติดเชื้อราบางชนิด เชื้อวัณโรค เชื้อโรคเรื้อน หรือเชื้อซิฟิลิส ก็เป็นสาเหตุทำให้เจ็บคอเรื้อรังได้ แต่การติดเชื้อดังกล่าวพบได้น้อย

4. โรคผนังช่อคอ และสายเสียงอักเสบเรื้อรัง เกิดจากการระคายเคืองที่สัมผัสกับฝุ่น ควันบุหรี่ อาหารรสจัด หรือการใช้เสียงผิดวิธีทำให้เกิดการกระแทกของสายเสียง และใช้กล้ามเนื้อผนังคอมากเกินไป

5. โรคกรดไหลย้อน เกิดจากกรดไหลย้อนขึ้นมาที่ผนังคอทำให้เยื่อบุและกล้ามเนื้อผนังคออักเสบ ทำมีอาการเจ็บคอเป็นๆ หายๆ และอาจมีอาการเสียงแหบ กลืนลำบาก มีเสมหะในลำคอ ระคายเคืองคอร่วมด้วย

6. โรคเนื้องอกของคอและกล่องเสียง เนื้องอกจะไปกดเบียดเส้นประสาททำให้มีอาการเจ็บคอเรื้อรัง กลืนลำบาก น้ำหนักลด และอาจมีเสมหะปนเลือด หรือปวดร้าวไปที่หูได้

 

ภาพ: G-Stock Studio - shutterstock

 

เจ็บคอแค่ไหน เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์

- เจ็บคอติดต่อต่อกันนานเกิน 2 สัปดาห์
- เจ็บคอบ่อยๆ กินยาแก้อักเสบแล้วไม่หาย
- เจ็บคอพร้อมมีไข้ติดต่อกันนานเกิน 2 สัปดาห์
- เจ็บคอจนเริ่มหายใจลำบาก
- เจ็บคอจนกลืนลำบาก แม้แต่กลืนน้ำลายก็เจ็บ
- เจ็บคอพร้อมมีเลือดปนในน้ำลายหรือเสมหะ
- เจ็บคอพร้อมเสียงแหบเป็นเวลานานกว่า 2 สัปดาห์
- เจ็บคอพร้อมกับมีอาการบวมที่คอและใบหน้า

วิธีป้องกันและรักษาอาการเจ็บคอเรื้อรัง

วิธีรักษาอาการเจ็บคอเรื้อรังจะรักษาตามสาเหตุ และปฏิบัติตนให้ถูกต้องเหมาะสม เช่น รับประทานอาหารอ่อนๆ หลีกเลี้ยงอาหารรสเผ็ดหรือรสจัด หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงการใช้เสียงชั่วคราว หมั่นทำความสะอาดบ่อยๆ เช่น แปรงฟัน กลั้วคอด้วยน้ำยาบ้วนปาก น้ำเกลืออุ่นๆ หรือน้ำเปล่าหลังรับประทานอาหารทุกมื้อ นอกจากนี้วิธีป้องกันอาการเจ็บคอที่ดีที่สุดคือการหลีกเลี่ยงเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการเจ็บคอโดยปฏิบัติตนให้ถูกสุขลักษณะ

- ล้างมือให้สะอาดบ่อยๆ โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหาร หลังใช้ห้องน้ำ หลังจามหรือไอ
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า ดวงตา จมูก หรือปาก
- หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของและภาชนะร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ ช้อนส้อม ผ้าขนหนู ผ้าเช็ดหน้า
- ใช้กระดาษทิชชู่ปิดปากเวลาไอหรือจามแล้วทิ้งลงถังขยะ และล้างมือให้เรียบร้อย
- ใช้เจลแอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือแทนการล้างมือเมื่อไม่มีน้ำและสบู่
- หมั่นทำความสะอาดและฆ่าเชื้ออุปกรณ์เครื่องใช้ โทรศัพท์ ลูกปิดประตู สวิตช์ไฟ คีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

 


แหล่งที่มาข้อมูล
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน, เจ็บคอเรื้อรัง, สืบค้นเมื่อ 20 มีนาคม 2566 จากเว็บไซต์: https://www.si.mahidol.ac.th/th/index.asp
โรงพยาบาลศิครินทร์, พญ.ปิยมาภรณ์ อิทธิโสภณพิศาล, เจ็บคอนาน...อาจไม่ใช่แค่หวัด!!, สืบค้นเมื่อ 20 มีนาคม 2566 จากเว็บไซต์: https://www.sikarin.com/
MAYO CLINIC, Sore throat, สืบค้นเมื่อ 20 มีนาคม 2566 จากเว็บไซต์: https://www.mayoclinic.org/

 

 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Creator
  • 44 Followers
  • Follow