Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ระวัง! ภัยสุขภาพและโรคที่มากับฤดูร้อน

Posted By Plook Creator | 13 มี.ค. 66
4,670 Views

  Favorite

ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการ นอกจากระวังไม่ให้ร่างกายขาดน้ำแล้ว ต้องเฝ้าระวังหลายโรคยอดฮิตที่มักมากับฤดูร้อน โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินทางอาหาร และโรคระบบทางเดินหายใจ รวมถึงภัยสุขภาพต่างๆ ดังนี้
 

ภาพ : Madua - shutterstock



1. โรคอาหารเป็นพิษ
เกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย อาหารสุกๆ ดิบๆ ผู้ป่วยมักมีอาการคลื่นไส้ ปวดท้อง ท้องร่วง ลำไส้อักเสบ และอาจมีไข้ ปวดศีรษะร่วมด้วย

2. โรคอุจจาระร่วง
เกิดจากเชื้อโรคต่างๆ เช่น แบคทีเรีย ไวรัส กลุ่มเชื้อโปรโตซัว และหนอนพยาธิ ที่ปนเปื้อนในอาหารและน้ำดื่ม ผู้ป่วยจะมีอาการท้องร่วงอย่างรุนแรง ถ่ายเหลวมากกว่า 3 ครั้งต่อวัน ขาดน้ำ สูญเสียเกลือแร่ ถ้าอาการไม่รุนแรงสามารถรักษาเบื้องต้นเองได้ด้วยการดื่มน้ำผสมผงเกลือแร่ หากอาการหนักควรรีบไปพบแพทย์ ไม่ควรซื้อยาปฏิชีวนะมากินเอง

3. โรคบิด
เกิดจากจากการรับประทานอาหารหรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียหรืออะมิบา ผู้ป่วยจะมีอาการถ่ายอุจจาระเป็นมูกเลือดบ่อยครั้ง ปวดเบ่งที่ทวารหนักคล้ายถ่ายไม่สุด และอาจมีไข้ร่วมด้วย

4. อหิวาตกโรค
เกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย อาหารสุกๆ ดิบๆ ผู้ป่วยจะมีอาการท้องร่วงอย่างรุนแรง อุจจาระมีสีน้ำซาวข้าว หากได้รับการรักษาไม่ทันท่วงทีอาจทำให้เสียชีวิตได้

5. โรคไข้ไทฟอยด์ หรือไข้รากสาดน้อย
เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ปนเปื้อนมากับอาหารและน้ำดื่ม ในสัปดาห์แรกผู้ป่วยมักมีไข้ไม่สูงนัก ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยตามตัว หนาวสั่นและอาจซึมลงได้

6. โรคไวรัสตับอักเสบเอ
เกิดจากเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดเอที่ปนเปื้อนในอาหารและน้ำดื่ม การใช้เข็มฉีดยาและมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อ อาการของผู้ป่วยมีตั้งแต่ไม่แสดงอาการ มีอาการตับอักเสบเล็กน้อยไปจนถึงตับอักเสบขั้นรุนแรง อาการโดยทั่วไปจะมีไข้อ่อนๆ ปวดศีรษะ เหนื่อยล้า ท้องผูก ปวดบริเวณท้องขวาบน ปวดกล้ามเนื้อและข้อ ปัสสาวะสีเข้ม ตาและตัวเหลือง อย่างไรก็ตามไวรัสตับอักเสบเอเป็นแล้วสามารถหายขาดได้

7. ลมแดด หรือฮิทสโตรก
เกิดจากร่างกายได้รับความร้อนมากเกินไป ร่างกายจะมีอุณหภูมิสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส และระบายความร้อนไม่ทัน เนื่องจากสูญเสียน้ำจากร่างกายไปทางเหงื่อเป็นจำนวนมาก ผู้ป่วยจะมีอาการซึม ชัก เซลล์ของอวัยะทำงานผิดปกติ

8. โรคพิษสุนัขบ้า หรือโรคกลัวน้ำ
เป็นโรคติดต่อร้ายแรงที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคนี้ทุกปี มีสุนัขและแมวเป็นพาหะ เมื่อมีอาการของโรคจะเสียชีวิตทุกราย แต่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคสุนัขบ้า และควรพาสุนัขไปฉีดวัคซีนป้องโรคสุนัขบ้าทุกปี

9. โรคระบบทางเดินหายใจ
โรคระบบทางเดินหายใจ มีสาเหตุจากอากาศเปลี่ยนไปมาหรืออยู่ในสถานที่ที่อากาศไม่ถ่ายเท หมอกควัน ฝุ่น PM2.5 ผู้ป่วยอาจมีอาการภูมิแพ้ ไอ จาม แสบจมูก เป็นหวัด ไข้หวัดใหญ่ และอาจถึงขั้นปอดอักเสบ เมื่อรู้สึกว่าเป็นหวัดควรพักผ่อน ดื่มน้ำอุ่น หากอาการไม่ดีขึ้นควรรีบไปพบแพทย์

10. ภัยจากการจมน้ำ
มักเกิดขึ้นกับเด็กๆ ที่ชวนกันไปเล่นน้ำตามลำพัง ดังนั้นผู้ปกครองควรดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด


วิธีป้องกันโรคที่มากับฤดูร้อน

1. ระมัดระวังเรื่องความสะอาดของอาหาร น้ำดื่ม ห้องน้ำที่ถูกสุขลักษณะ
2. รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ และดื่มน้ำที่สะอาด
3. ไม่ใช้ภาชนะรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น ใช้ช้อนกลางในการรับประทานอาหาร
4. ล้างมือบ่อยๆ ล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร หลังใช้ห้องน้ำ
5. อยู่ในสถานที่ถ่ายเทอากาศได้สะดวก ไม่อยู่กลางแดดจัด สวมเสื้อผ้าที่ระบายเหงื่อได้ดี ดื่มน้ำให้พอเพียงเพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ  
6. ดูแลบุตรหลานไม่ให้ไปเล่นน้ำตามแหล่งน้ำเพียงลำพัง จัดการแหล่งน้ำเพื่อให้เกิดความปลอดภัย เช่น สร้างรั้วกั้น ติดป้ายเตือน จัดอุปกรณ์ช่วยเหลือคนตกน้ำไว้ในบริเวณเสี่ยง
7. พาสัตว์สุนัขไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า


 

แหล่งที่มาข้อมูล
กรมสุขภาพจิต, เปิด 5 โรคฤดูร้อน และ 3 ภัยสุขภาพที่ควรระวัง, สืบค้นเมื่อ 13 มีนาคม 2566 จากเว็บไซต์: https://dmh.go.th/main.asp
โรงพยาบาลลาดพร้าว, 6 โรคในฤดูร้อน ที่ป้องกันได้, สืบค้นเมื่อ 13 มีนาคม 2566 จากเว็บไซต์: https://ladpraohospital.com/th/
โรงพยาบาลศิครินทร์, 8 โรคยอดฮิตที่มากับฤดูร้อน, สืบค้นเมื่อ 13 มีนาคม 2566 จากเว็บไซต์: https://www.sikarin.com/
โรงพยาบาลวิภาวดี, หน้าร้อน กับ 9 โรคร้ายที่ต้องระวัง, สืบค้นเมื่อ 13 มีนาคม 2566 จากเว็บไซต์: https://www.vibhavadi.com/

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Creator
  • 44 Followers
  • Follow