Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ทางเดินปัสสาวะอักเสบ โรคยอดฮิตของคนวัยทำงาน

Posted By Plook Magazine | 15 มี.ค. 66
3,327 Views

  Favorite

โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ ถือเป็นโรคยอดฮิตติดอันดับของคนวัยทำงาน หลายคนอาจคิดว่าโรคนี้ดูเหมือนไม่ร้ายแรงและไม่น่ากลัว แต่ในความเป็นจริงแล้ว โรคนี้ทั้งร้ายแรงและเรื้อรัง แถมยังอาจกระทบต่อสุขภาพส่วนตัวได้อีกด้วย มาทำความเข้าใจกันให้มากขึ้นว่า ‘โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ’ คืออะไร เกิดขึ้นได้ยังไง รักษาด้วยตัวเองได้ไหม  และวิธีการดูแลตัวเองเพื่อไม่ให้ป่วยเป็นโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ

 

 

โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ คือ โรคที่เกิดจากการติดเชื้อภายในท่อทางเดินปัสสาวะ ซึ่งอาจเป็นที่อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งหรือหลายส่วนร่วมกัน ได้แก่ 

- ติดเชื้อที่รูเปิดของปัสสาวะ (Urethra)

- ติดเชื้อที่กระเพาะปัสสาวะ (Bladder)

- ติดเชื้อที่ท่อไต (Ureter)

- ติดเชื้อที่ไต (Kidney)

 

สาเหตุของโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ

โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบมักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียตัวร้าย โดยเชื้อโรคได้รุกรานเข้าไปทางรูเปิดของปัสสาวะและเข้าไปอยู่ในกระเพาะในปัสสาวะ ในบางกรณีอาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัส เชื้อรา หรือเชื้อวัณโรคได้ด้วย ซึ่งเชื้อพวกนี้จะแบ่งตัวและรุกรานขึ้นไปที่ไต โดยมักจะพบการติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะส่วนล่างบ่อยกว่าการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะส่วนบน และพบการติดเชื้อที่กระเพาะปัสสาวะมากที่สุด 

 

โรคนี้ผู้หญิงมีโอกาสเป็นมากกว่าผู้ชาย เพราะท่อปัสสาวะในผู้หญิง เมื่อวัดจากรูเปิดปัสสาวะที่อยู่ใต้ปุ่มกระสันถึงรูเปิดเข้ากระเพาะปัสสาวะ จะมีความยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร ขณะที่ท่อปัสสาวะของผู้ชาย วัดจากรูเปิดปัสสาวะที่ปลายอวัยวะเพศถึงรูเปิดเข้ากระเพาะปัสสาวะ ยาวประมาณ 17.5 เซนติเมตร

 

 

5 ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ

 

1. มีสุขอนามัยไม่ดี 

เชื้อโรคที่ก่อให้เกิดโรคทางเดินปัสสาวะนั้น ส่วนใหญ่เป็นเชื้อโรคตัวร้ายที่มีอยู่ในร่างกายเรา เช่น เชื้อ Staphylococcus saprophticus คือเชื้อโรคตัวร้ายที่อยู่บริเวณผิวหนังรอบ ๆ อวัยวะเพศหรือทวารหนัก ดังนั้นหากเราไม่อาบน้ำ ไม่ทำความสะอาดให้ดี ปล่อยให้หมักหมมอับชื้น เชื้อโรคเหล่านี้ก็จะรุกรานเข้าไปในรูเปิดปัสสาวะ เกิดเป็นโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบขึ้นได้

 

2. ดื่มน้ำน้อย 

การดื่มน้ำน้อยจะทำให้ปัสสาวะข้น มีปริมาณปัสสาวะน้อย แบคทีเรียตัวร้ายที่รุกรานเข้าไปจะเพิ่มจำนวน ดังนั้นจึงควรดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอตามที่ร่างกายต้องการ

 

3. ชอบกลั้นปัสสาวะ 

การกลั้นปัสสาวะจะทำให้เชื้อโรคตัวร้ายปนเปื้อนเข้าไปภายในกระเพาะปัสสาวะ เกิดการแบ่งตัว และเจริญเติบโต รวมถึงไม่ควรเร่งรีบปัสสาวะ เพราะการปัสสาวะที่ออกมาไม่หมด มีน้ำปัสสาวะที่เหลือค้างสามารถเป็นที่เพาะเชื้อของเชื้อโรคตัวร้ายได้

 

4. ทำความสะอาดอวัยวะเพศหลังปัสสาวะไม่ถูกต้อง

หลายคนอาจเคยชินด้วยการใช้ทิชชู่เช็ดจากด้านหลังมาด้านหน้า วิธีทำความสะอาดแบบนี้คือผิด เพราะจะทำให้เชื้อโรคจากทวารหนักหรือผิวหนังรอบ ๆ ปนเปื้อนมาที่รูปัสสาวะได้ นอกจากนี้เวลาไปเข้าห้องน้ำสาธารณะก็ไม่จำเป็นต้องปัสสาวะแล้วล้างน้ำทุกครั้ง หากใช้น้ำไม่สะอาดล้างอวัยวะเพศก็อาจทำให้มีเชื้อโรคปนเปื้อนไปที่รูปัสสาวะได้ เวลาต้องเข้าห้องน้ำสาธารณะอาจใช้วิธีทำความสะอาดด้วยการใช้ทิชชู่ซับเบา ๆ ก็เพียงพอแล้ว 

 

5. ติดเชื้อโรคมาจากการมีเพศสัมพันธ์

หากคู่นอนมีเชื้อโรคที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น หนองในแท้ หนองในเทียม และเชื้อโรคตัวร้ายอื่น ๆ ที่สะสมอยู่ที่หนังหุ้มปลายก็อาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบได้

 

 

ความน่ากลัวของโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ

 

- โรคทางเดินนปัสสาวะอักเสบหากเป็นในผู้ชายและเด็ก ส่วนใหญ่เกิดจากโรคที่แอบซ่อนอยู่ เช่น นิ่ว โรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ โรคเกี่ยวกับต่อมลูกหมาก หรือท่อทางเดินปัสสาวะตีบ มีการอุดตัน อุดกั้น เป็นต้น

 

- หากหญิงตั้งครรภ์เป็นโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบอาการมักจะรุนแรง การอักเสบอาจลุกลากไปที่ไต มีไข้สูง ปวดหลัง และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนในการตั้งครรภ์ เช่น แท้งบุตร คลอดก่อนกำหนด เป็นต้น

 

- โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบที่เกิดจากเชื้อโรคที่รุนแรง เช่น หนองในแท้ หนองในเทียม อาจลุกลากเข้าไปทำลายอวัยวะภายในของผู้ชาย เช่น ลูกอัณฑะ ต่อมลูกหมาก และอวัยวะภายในของผู้หญิง เช่น ท่อนำไข่ โพรงมดลูก รังไข่ โดยสามารถทำให้เป็นหมันได้

 

- หากคนที่มีภูมิต้านทานต่ำ มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคภูมิแพ้ โรคติดเชื้อ ฯลฯ ถ้าเป็นโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ เชื้อโรคอาจเข้าไปในกระแสเลือดหรือลุกลามไปตามอวัยวะใกล้เคียง เกิดเป็นเลือดพิษ ทำให้เสียชีวิตได้

 

 

อาการของโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ

หากเป็นการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง มักจะมีอาการผิดปกติตามข้อใดข้อหนึ่ง หรือหลาย ๆ ข้อดังนี้

- ปัสสาวะบ่อย คือ ปัสสาวะเกิน 5 ครั้งในช่วงกลางวัน หรือปัสสาวะห่างกันไม่เกิน 2 ชั่วโมง และในตอนกลางคืนที่หลับไปแล้วจะลุกมาปัสสาวะเกิน 1 ครั้ง

- กลั้นปัสสาวะไม่ได้ คือ ปัสสาวะเล็ดเวลาหัวเราะ ไอ จาม หรือมีปัสสาวะราดเวลาปวดปัสสาวะ โดยไหลราดออกมาแบบควมคุมไม่ได้ 

- ปัสสาวะล้น คือ ปัสสาวะแล้วไม่รู้สึกสุดหรือหมด ที่รู้สึกแบบนั้นเพราะกระเพาะปัสสาวะไม่มีแรงบีบตัว ปัสสาวะที่ไหลออกมาจึงเป็นปัสสาวะที่ล้นมาจากกระเพาะปัสสาวะ

- ปัสสาวะไหล มีน้ำปัสสาวะไหลหรือปริบออกมาตลอด ไม่สามารถกลั้นได้ 

 

อาการกลั้นปัสสาวะไม่ได้ มักไม่ได้เป็นอาการที่แสดงว่าเป็นทางเดินปัสสาวะอักเสบโดยตรง แต่อาจเกิดร่วมกัน หรือเป็นผลต่อเนื่องจากการอักเสบในทางเดินปัสสาวะอย่างเรื้อรัง จนทำให้หน้าที่ของอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการขับถ่ายปัสสาวะผิดปกติไป คือ มีอาการปวดแสบลำกล้องหรือรูปัสสาวะเวลาปัสสาวะ ปัสสาวะสุดแล้วปวดหรือเสียว รู้สึกปวดท้องน้อย เจ็บปวดเมื่อมีเพศสัมพันธ์ หรือน้ำปัสสาวะมีสีขุ่น มีกลิ่นเหม็น

 

การรักษาโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบด้วยตัวเอง

หากติดเชื้อทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง ก็จะสามารถรักษาด้วยตัวเองเบื้องต้นได้ ทั้งนี้จะต้องมีร่างกายที่แข็งแรงดี ไม่มีไข้ ไม่อ่อนเพลีย ทานอาหารและน้ำได้ตามปกติ โดยปฏิบัติตามนี้

- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอหรือมากขึ้น เพื่อให้ร่างกายได้ฟื้นฟู

- ดื่มน้ำเปล่าให้มาก ๆ โดยควรดื่มอย่างน้อยวันละ 1.5-2 ลิตร

- ไม่กลั้นปัสสาวะ และควรลุกขึ้นยืดเส้นยืดสายทุก 1-2 ชั่วโมง อย่านั่งนานเกินไป

- งดกิจกรรมที่ต้องใช้แรง เช่น ยกของหนัก, มีเพศสัมพันธ์, การเดินทางไกล, ออกกำลังกาย เป็นต้น

- ใช้ยารักษาตามอาการ เช่น ยาแก้ปวดท้อง, ยาแก้ปัสสาวะบ่อย, ยาแก้ปวด เป็นต้น 

หากรักษาด้วยตัวเองครบสองวันแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์

 

 

วิธีดูแลตัวเองเพื่อลดการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ 

- ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ทานอาหารให้ถูกสุขลักษณะ ดื่มน้ำให้มาก ๆ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายเป็นประจำ

- ดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล โดยอาบน้ำวันละ 2 ครั้ง หากทำงานที่มีเหงื่อมากหรือหลังออกกำลังกายก็ควรอาบน้ำเพิ่ม

- ระวังการทำความสะอาดบริเวณอวัยะเพศ โดยเฉพาะเมื่อต้องใช้ห้องน้ำสาธารณะ ให้ระวังน้ำที่สกปรก หรือโถชักโครกที่ไม่สะอาด เพราะอาจนำเชื้อโรคมาปนเปื้อนบริเวณรูปัสสาวะได้

- ระวังการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ควรสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเวลามีเพศสัมพันธ์เพื่อป้องกันการติดเชื้อโรค

- เลิกกลั้นปัสสาวะ อุจจาระ และไม่ควรนั่งอยู่กับที่นานเกิน 2 ชั่วโมง 

 

 

แหล่งข้อมูล

พญ.ชัญวลี ศรีสุโข. (2565). 7 โรคร้ายวัยทำงาน. กรุงเทพฯ: เพชรประกาย

 
 
 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow