Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

รู้จัก ภาวะ Dysania โรคเตียงดูด ลุกจากเตียงลำบาก นอนไม่อยากตื่น

Posted By Plook Creator | 02 มี.ค. 66
7,227 Views

  Favorite

หลายๆ คนมีความสุขกับการใช้เวลาสองสามชั่วโมงนอนเกลือกกลิ้งบนเตียงในเช้าวันหยุด แต่ถ้าเมื่อใดที่รู้สึกว่าอยากแต่จะนอนอยู่บนเตียง ไม่อยากตื่น ไม่อยากลุกไปทำอะไรทั้งนั้น อาการคล้ายกับเนื้อเพลง เรื่องบนเตียง ของคุณบอย พีชเมกเกอร์ “เช้าแล้วยังอยู่บนที่นอนเงียบๆ คนเดียว และไม่อยากตื่นขึ้นพบใคร........อยากหลับตาอยู่อย่างนั้น ทำอยู่อย่างนั้น....” แล้วล่ะก็ เป็นสัญญาณบอกว่าอาจจะกำลังตกอยู่ในภาวะ Dysania โรคเตียงดูด
 

ภาพ : fizkes - shutterstock


ภาวะ Dysania หรือ โรคเตียงดูด คืออะไร?

ภาวะ Dysania หรือ โรคเตียงดูด คือ ภาวะที่ลุกจากเตียงได้ยากในตอนเช้า ไม่อยากตื่น ทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย ทุกข์ทรมาน ง่วงเหงา บางครั้งลุกมาแล้วก็อยากกลับไปนอนอีก แม้จะยังไม่ถือเป็นการวินิจฉัยทางการแพทย์และจัดป็นโรคโดยตรง แต่ภาวะเช่นนี้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และอาจเสี่ยงทำให้เกิดโรคอื่นๆ ทั้งทางกายและจิตใจตามมา

นอนแค่ไหนเรียกว่ามากเกินไป?

ระยะเวลาการนอนที่เพียงพอของแต่ละคนแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับอายุและสุขภาพ แต่โดยทั่วไปผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดีมีควรนอนเฉลี่ย 7-9 ชั่วโมงต่อวัน แต่เมื่อใดที่รู้สึกว่าต้องการนอนมากกว่า 8-9 ชั่วโมงต่อวัน นั่นอาจเป็นสัญญาณบอกถึงปัญหาสุขภาพ

ระยะเวลาการนอนที่เพียงพอของแต่ละช่วงวัย
เด็กทารก ควรนอน 12 -16 ชั่วโมง/วัน
เด็ก 1-2 ปี ควรนอน 11 -14 ชั่วโมง/วัน
เด็ก 3-5 ปี ควรนอน 10 -13 ชั่วโมง/วัน
เด็ก 6-12 ปี ควรนอน 9 -12 ชั่วโมง/ วน
วัยรุ่น 13-18 ปี ควรนอน 8 -10 ชั่วโมง/วัน
วัยทำงาน ควรนอน 7 -9 ชั่วโมง/วัน
 

ภาพ : Just dance - shutterstock


สาเหตุของภาวะโรคเตียงดูด

ภาวะลุกจากเตียงยาก ไม่อยากตื่น อาจเป็นสัญญาณของโรคที่เป็นอยู่ เช่น
- โรคซึมเศร้า คือความผิดปกติของสารเคมีในสมองที่ส่งผลให้เกิดความผิดปกติทางอารมณ์ ทำให้พฤติกรรมของผู้ป่วยเปลี่ยนไป รวมถึงการนอนและความอ่อนล้าที่อาจนำไปสู่ความต้องการที่อยากแต่จะนอนบนเตียง ไม่อยากลุกไปไหน
- ภาวะง่วงนอนมากผิดปกติ (Hypersomnia) เป็นโรคหลับเกิดพอดี นอนเท่าไหร่ก็ไม่พอ นอนหลับแล้วตื่นตัวยาก รู้สึกง่วงนอนมากตลอดเวลาทั้งกลางกลางคืน
- อาการงัวเงีย (sleep inertia) หรือภาวะกึ่งหลับกึ่งตื่น เมื่อรู้สึกตื่นไม่เต็มที่จะมีผลต่อประสิทธิภาพการใช้ชีวิต การคิด การเรียนรู้
- ภาวะอ่อนเพลียเรื้อรัง (Chronic Fatigue Syndrome) เป็นความเจ็บป่วยเรื้อรังที่ส่งผลต่อระบบต่างๆ ในร่างกาย ทำให้อ่อนเพลียอย่างรุนแรง มีปัญหาการนอนหลับ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ปวดศีรษะ
- โรคไฟโบมัยอัลเจีย (Fibromyalgia) เป็นภาวะที่มีอาการปวดเรื้อรังตามกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น เนื้อเยื่ออ่อนทั่วร่างกาย ผู้ป่วยมักมีอาการปวดกล้ามเนื้อ ชา ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ซึมเศร้า วิตกกังวล ตื่นนอนแล้วไม่สดชื่นร่วมด้วย

อาการของโรคเตียงดูด

อาการหลักๆ ของภาวะ Dysania คือ ไม่อยากลุกจากเตียง อยากแต่จะนอนอยู่บนเตียงตลอดเวลา นอกจากนี้อาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วยขึ้นอยู่กับโรคประจำที่เป็นอยู่ ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นร่วมกันอาจรวมถึงความง่วงมากตลอดเวลาหรือเหนื่อยล้ามากๆ

ภาวะนอนมากเกินไปส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไร?

การนอนมากเกินไปอาจมีผลต่อการนอนหลับและร่างกาย โดยอาจทำให้นอนไม่หลับหรือหลับยากขึ้นในเวลากลางคืน การจำกัดระยะเวลาที่ใช้บนเตียงจะช่วยให้ปรับการนอนหลับของผู้ที่มีอาการนอนไม่หลับ (Insomnia) ได้ การนอนนิ่งๆ บนเตียงไม่ขยับเขยื้อนร่างกายนานๆ อาจนำไปสู่การเป็นแผลกดทับได้ ทำให้ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดลง กระดูกอ่อนแอ และส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน ดังนั้นออกกำลังกายจะช่วยแก้ไขอาการเหล่านี้ได้

 

ภาพ : fizkes - shutterstock


การรักษาโรคเตียงดูด

เนื่องจากสาเหตุของภาวะเตียงดูดส่วนหนึ่งมาจากโรคที่เป็นอยู่ ดังนั้นการรักษาโรคนั้นอาจเป็นประโยชน์ต่อการรักษาภาวะเตียงดูดไปด้วย เช่น การรับยาและทำจิตบำบัดของโรคซึมเศร้า นอกจากนี้การฝึกสุขอนามัยการนอนหลับจะช่วยปลูกฝังการนอนที่ดีต่อสุขภาพได้ด้วย  


สุขอนามัยการนอนหลับประกอบไปด้วย
1. เข้านอนและตื่นนอนให้ตรงเวลาสม่ำเสมอ และนอนหลับในระยะเวลาที่พอเพียง (ระยะเวลาการนอนที่พอเพียงแต่ละช่วงวัยตามที่กล่าวได้ด้านบน)
2. จัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม เพื่อการนอนหลับที่ดีมีคุณภาพ ห้องนอนควรเงียบไม่มีเสียงรบกวน ไม่มีแสงสว่างมากเกินไป มีอุณหภูมิที่พอดี นอกจากนี้ควรเลือกที่นอน หมอนที่เหมาะกับสรีระของตัวเอง
3. อยู่บนเตียงหรือที่นอนเมื่อง่วงนอน ไม่ทำกิจกรรมอื่นบนเตียงนอกจากการนอนหลับหรือกิจกรรมทางเพศ หากนอนไม่หลับหลังจากเข้านอนแล้วเกิน 30 นาที ให้ลุกจากเตียงไปทำกิจกรรมที่สงบและผ่อนคลายจนรู้สึกง่วงแล้วจึงเข้านอน
4. หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มทีมีคาเฟอีนปริมาณมากในช่วงเย็น รวมถึงหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ด้วย
5. หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ โดยเฉพาะช่วง 4-6 ชั่วโมงก่อนนอน
6. ไม่งีบหลับในเวลากลางวัน แต่หากมีความจำเป็น เช่น ต้องขับรถระยะทางไกลหรือทำงานที่มีความเสี่ยงสูงและง่วงมากให้งีบช่วงสั้นๆ ไม่เกิน 1 ชั่วโมง และไม่ควรงีบในช่วงหัวค่ำ
7. หลีกเลี่ยงการใช้ยานอนหลับ ยาคลายกล้ามเนื้อ หรือยาที่มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลางก่อนเข้านอน ยกเว้นภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์
8. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารจำนวนมาก หรืออาหารย่อยยาก 3-4 ชั่วโมงก่อนนอน
9. หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างหนักหรือทำงานที่มีความเครียดก่อนนอน

 


แหล่งที่มาข้อมูล
Sleep Foundation, Jay Summer, Dr. Nilong Vyas, Dysania, สืนค้นเมื่อ 2 มีนาคม 2566 จากเว็บไซต์: https://www.sleepfoundation.org/
profession sleep clinic, รองศาสตราจารย์นายแพทย์วิชญ์ บรรณหิรัญ, สุขอนามัยการนอนหลับ (Sleep Hygiene) ช่วยให้นอนหลับสนิท, สืนค้นเมื่อ 2 มีนาคม 2566 จากเว็บไซต์: https://www.professionsleepclinic.com/
มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก, พญ. ศิริลักษณ์ ผลศิริปฐม, สุขอนามัยการนอนหลับ (Sleep Hygiene), สืนค้นเมื่อ 2 มีนาคม 2566 จากเว็บไซต์: https://www.gj.mahidol.ac.th/main/
Bumrungrad International Hospital, นอนหลับกี่ชั่วโมงถึงจะเพียงพอ, สืนค้นเมื่อ 2 มีนาคม 2566 จากเว็บไซต์: https://www.bumrungrad.com/th

 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Creator
  • 44 Followers
  • Follow