Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

โรคสำเนียงต่างประเทศเฉียบพลัน โรคแปลกหายาก จู่ๆ ลืมภาษาตัวเอง แต่พูดภาษาอื่นคล่อง

Posted By Plook Creator | 28 ก.พ. 66
1,791 Views

  Favorite

จะเป็นอย่างไรเมื่อจู่ๆ ตื่นขึ้นมาแล้วพูดภาษาอื่นได้ทั้งที่ไม่เคยเรียนรู้ภาษานั้นมาก่อน แม้จะดูเหมือนเป็นไปไม่ได้แต่มันเป็นไปได้ เรื่องแปลกแต่จริงมีหลายกรณีเกิดขึ้นที่ต่างประเทศเมื่อหลายปีก่อนทั้งเด็กชายชาวอเมริกันเกิดอุบัติศีรษะกระแทกโคม่าอยู่หลายวันก่อนจะฟื้นขึ้นมาแล้วพูดภาษาสเปนได้คล่อง หรืออีกเคสเป็นครูชาวจีนป่วยเส้นเลือดในสมองตีบ ฟื้นขึ้นมาอีกทีกลับพูดได้แต่ภาษาอังกฤษ จากทั้งสองเคสนี้แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นอาการของ โรคสำเนียงต่างประเทศเฉียบพลัน
 

ภาพ : lassedesignen - shutterstock



โรคสำเนียงต่างประเทศเฉียบพลันคืออะไร?

โรคสำเนียงต่างประเทศเฉียบพลัน (Foreign Accent Syndrome : FAS) เป็นอาการผิดปกติทางสมอง มักเกิดหลังสมองได้รับความกระทบกระเทือนอย่างหนัก หรือเส้นเลือดในสมองแตก นับว่าเป็นโรคหายากชนิดหนึ่ง ตามรายงานมีเพียงประมาณ 100 คนที่ป่วยด้วยโรคนี้นับตั้งแต่พบผู้ป่วยรายแรกในปี 1907


สาเหตุของโรคสำเนียงต่างประเทศเฉียบพลัน

โรคสำเนียงต่างประเทศเฉียบพลันเกี่ยวข้องกับโรคที่ส่งผลกระทบและทำลายสมองซีกซ้ายส่วนที่เป็นศูนย์กลางในการสั่งการด้านการพูดและการสื่อสาร ทำให้ไม่สามารถควบคุมการออกเสียงได้ สิ่งที่พูดออกมาจึงต่างไปจากเดิม บางครั้งไปคล้ายกับสำเนียงภาษาอื่นๆ ซึ่งโรคที่ส่งผลกระทบต่อสมองส่วนนี้ได้แก่

- โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) เป็นภาวะสมองขาดเลือดที่เกิดจากหลอดเลือดสมองตีบ อุดตัน หรือแตก ทำให้เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงสมองได้
- เนื้องอกในสมอง, เส้นเลือดสมองโป่งพอง เมื่อหลอดเลือดอ่อนตัวและแตกทำให้เลือดออกในสมอง
- โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง เป็นภาวะของระบบประสาทส่วนกลาง
- การบาดเจ็บที่สมอง โดยเฉพาะบาดเจ็บจากศีรษะกระแทกอย่างรุนแรง


อาการของโรคสำเนียงต่างประเทศเฉียบพลัน

เนื่องจากสมองซีกซ้ายบริเวณที่ควบคุมภาษาและการสื่อสารได้รับความเสียหายหรือถูกทำลาย ส่งผลให้ไม่สามารถควบคุมการออกเสียงได้ ทำให้รูปแบบและสำเนียงของภาษาแม่หรือภาษาที่ใช้มาตลอดชีวิตเปลี่ยนแปลงไปไม่ว่าจะเป็นภาษาเขียนหรือภาษาพูด รวมถึงทักษะการฟังก็สูญเสียไปด้วย จังหวะและโทนเสียงสูงต่ำ เสียงสั้นเสียงยาวจะเปลี่ยนไปคล้ายกับสำเนียงภาษาอื่นที่ผู้ป่วยไม่เคยได้ยินมาก่อน ความเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอุปนิสัยและบุคลิกภาพเปลี่ยนไป ไม่สามารถสื่อสารกับผู้อื่นได้เหมือนเดิม ได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจเพราะอาจถูกมองว่าผิดปกติ อย่างไรก็ตามโรคสำเนียงต่างประเทศเฉียบพลันจะไม่กระทบกับการใช้ภาษาที่สองหรือภาษาอื่นๆ ที่ได้เรียนรู้หลังผ่านวัยเด็กมาแล้ว เนื่องจากทักษะนี้บรรจุอยู่ในสมองซีกขวา


การรักษาโรคสำเนียงต่างประเทศเฉียบพลัน

ปัจจุบันยังไม่ค้นพบวิธีการรักษาให้หายขาด ทำให้ผู้ป่วยต้องอยู่กับอาการของโรคนี้ไปตลอดชีวิต ซึ่งบางรายอาจเป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น สิ่งที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยโรคนี้ได้คือ เอาใจใส่และให้ความเข้าใจ เนื่องจากโรคนี้ไม่มีความเจ็บป่วยทางกายแต่อาจส่งผลกระทบกระเทือนจิตใจ ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเป็นปมด้อย หงุดหงิด และรู้สึกสูญเสียความเป็นตัวเองได้  

 


แหล่งที่มาข้อมูล
WebMD, Shishira Sreenivas, What Is Foreign Accent Syndrome?, สืบค้นเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2566 จากเว็บไซต์: https://www.webmd.com/
healthline, Timothy J. Legg, PhD, PsyD, Tim Jewell, Foreign Accent Syndrome: What Is It?, สืบค้นเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2566 จากเว็บไซต์: https://www.healthline.com/

 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Creator
  • 44 Followers
  • Follow