1. ปริมาณเลือดที่ออก ปกติเลือดประจำเดือนจะออกมาไม่มากนัก แต่หากประจำเดือนมามากผิดปกติจนต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยทุก 1-2 ชั่วโมง ควรรีบไปพบแพทย์ด้านสูตินารีเวชเพื่อตรวจวินิจฉัย
2. ระยะเวลาของรอบเดือน ปกติผู้หญิงจะมีประจำเดือนสม่ำเสมอทุก 28 วัน (บวกลบ 7 วัน) แต่ละรอบเป็นประมาณ 3-7 วัน แต่หากประจำเดือนขาดๆ หายๆ หรือเป็นนานเกิน 7 วัน ควรปรึกษาแพทย์ด้านสูตินารีเวช
3. ลักษณะของเลือดประจำเดือน ถ้ามีลิ่มเลือดสีแดงสดหรือแดงเข้มก้อนใหญ่กว่า 1 นิ้วบ่อยครั้ง ควรรีบพบแพทย์ด้านสูตินารีเวช
ตามปกติสีของประจำเดือนจะเปลี่ยนไปในแต่ละครั้งของรอบเดือนขึ้นอยู่กับความเก่าใหม่ของเลือด ในช่วงต้นของการมีประจำเดือนเลือดเป็นสีแดงสด เมื่อเข้าสู่ช่วงท้ายของประจำเดือนสีเลือดก็เข้มขึ้นได้ เนื่องจากการไหลของเลือดลดลง รวมถึงการมีเลือดตกค้างอยู่ในโพรงมดลูดเมื่อเลือดสัมผัสอากาศ (ออกซิเจน) ก็ทำให้เลือดประจำเดือนเปลี่ยนเป็นสีคล้ำหรือดำขึ้นได้ อย่างไรก็ตามสาวๆ อาจสังเกตสีของประจำเดือนร่วมกับอาการผิดปกติอื่นๆ ด้วย เพื่อประเมินสภาวะสุขภาพของตนเอง เมื่อพบความผิดปกติจะได้รีบพบแพทย์ด้านสูตินารีเวชตรวจและรักษาได้ทันท่วงที
เลือดประจำเดือนสีชมพู
เลือดประจำเดือนสีชมพูเกิดจากเลือดไหลมาผสมกับตกขาวบริเวณช่องคลอดทำให้เลือดเจือจางเป็นสีชมพู แต่ก็เป็นสัญญาณบอกถึงปัญหาสุขภาพได้ เช่น ภาวะเอสโตรเจนในร่างกายต่ำ โลหิตจาง น้ำหนักลดผิดปกติ นอกจากนี้หากออกกำลังกายหนักเกินไป มีภาวะเครียด ก็เป็นสาเหตุทำให้เลือดประจำเดือนเป็นสีชมพูได้
เลือดประจำเดือนสีส้ม
เลือดประจำเดือนสีส้มเกิดจากเลือดไหลมาผสมกับตกขาวบริเวณช่องคลอดเช่นเดียวกับสีชมพู หากเลือดประจำเดือนมีสีส้มร่วมกับอาการผิดปกติอื่นเช่น มีกลิ่นเหม็น คันในช่องคลอด อาจเป็นสัญญาณบอกว่าเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด
เลือดประจำเดือนสีแดงสด
เลือดประจำเดือนสีแดงสดบ่งบอกว่ามีสุขภาพดี มักพบในช่วงวันแรกๆ ของการมีประจำเดือน อาจมีอาการปวดท้องร่วมด้วยเนื่องจากมดลูกมีการหดตัว แต่หากประจำเดือนมาในปริมาณมากกว่าปกติและเป็นนานเกินกว่า 7 วัน รวมถึงมีอาการผิดปกติอื่นร่วมด้วยเช่น ปวดท้องมากจนรบกวนชีวิตประจำวัน มีไข้ มีตกขาวผิดปกติ มีกลิ่นเหม็น เจ็บและแสบขณะปัสสาวะหรือมีเพศสัมพันธ์ เป็นสัญญาณเตือนของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เนื้องอกในมดลูก
เลือดประจำเดือนสีแดงเข้ม
เลือดประจำเดือนสีแดงเข้มเกิดจากที่เลือดประจำเดือนค้างอยู่ในร่างกายเป็นเวลานานและทำปฏิกิริยากับออกซิเจน ยิ่งตกค้างอยู่ในร่างกายนานมากเท่าไหร่สีประจำเดือนก็ยิ่งเข้มขึ้น โดยเฉพาะหลังจากนั่งและนอนเป็นเวลานานเลือดก็ยิ่งทำให้เลือดตกค้างในร่างกายมาก นอกจากนี้เลือดที่ตกค้างอยู่ในมดลูกจับตัวกันเป็นก้อนทำให้มีลิ่มเลือดออกมาพร้อมกับเลือดประจำเดือนได้ แต่หากพบว่ามีลิ่มเลือดขนาดใหญ่กว่าหนึ่งนิ้วออกมาบ่อยครั้งควรรีบไปพบแพทย์
สีประจำเดือนสีดำ
เลือดประจำเดือนสีคล้ำหรือสีดำไม่ใช่เรื่องผิดปกติ ไม่ได้มีปัญหาสุขภาพ มักพบในช่วงเริ่มต้นหรือสิ้นสุดของการมีประจำเดือน เป็นเลือดที่ตกค้างอยู่ในโพรงมดลูกหรือช่องคลอดนานเกินไปและทำปฏิกริยากับออกซิเจนทำให้เลือดสีแดงเปลี่ยนเป็นสีดำ อย่างไรก็ตามบางครั้งเลือดประจำเดือนสีดำก็เป็นสัญญาณบงบอกว่าเกิดการอุดตันที่ช่องคลอดหรือมีสิ่งแปลกปลอมตกค้างอยู่ที่ช่องคลอด เช่น ผ้าอนามัยแบบสอด ถุงยางอนามัย โดยมักพบอาการอื่นร่วมด้วย คือ มีตกขาวผิดปกติ คันหรือบวมภายในหรือรอบๆ บริเวณช่องคลอด มีผื่นขึ้น ปัสสาวะลำบาก มีกลิ่นเหม็นบริเวณช่องคลอด และมีไข้
เลือดประจำเดือนสีน้ำตาล
ไม่ใช่เรื่องผิดปกติหรือไม่ได้มีปัญหาสุขภาพเช่นเดียวกับเลือดสีดำ เป็นเลือดเก่าตกค้างมักพบในช่วงเริ่มต้นหรือสิ้นสุดของการมีประจำเดือน แต่เลือดประจำเดือนสีน้ำตาลอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงอาการของการมีถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ หรืออยู่ในช่วงวัยหมดประจำเดือนทำให้ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง
เลือดประจำเดือนสีเทา
เลือดประจำเดือนสีเทา สีปนเขียว เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงอาการติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์บางชนิด โดยมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ตกขาวผิดปกติ มีกลิ่นเหม็น เจ็บและแสบเวลาปัสสาวะหรือเพศสัมพันธ์ ดังนั้นหากประจำเดือนมีสีเทาควรรีบไปพบแพทย์ด้านสูตินารีเวช
แหล่งที่มาข้อมูล
Medical News Today, Valinda Riggins Nwadike, MD, MPH, Jamie Eske, What does the color of period blood mean?, สืบค้นเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2566 จากเว็บไซต์: https://www.medicalnewstoday.com/
RAMA Channel, อ. พญ.แสงศุลี ธรรมไกรสร, ประจำเดือนไม่ใช่เลือดเสีย และสีของประจำเดือนสามารถเปลี่ยนแปลงได้, สืบค้นเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2566 จากเว็บไซต์: https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/
POBPAD, สีประจำเดือนเตือนปัญหาสุขภาพ สีไหนเข้าข่ายผิดปกติ, สืบค้นเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2566 จากเว็บไซต์: https://www.pobpad.com/
Vejthani Hospital, พญ. จุฑาธิป พูนศรัทธา, สีประจำเดือนบอกโรค, สืบค้นเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2566 จากเว็บไซต์: https://www.vejthani.com/th/
Interpharma Group, เช็กตัวเอง! สีประจำเดือนบอกสุขภาพในตัวคุณได้มากกว่าที่คุณคิด, สืบค้นเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2566 จากเว็บไซต์: https://www.interpharma.co.th/