Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

รู้จัก โรคเจ้าหญิงนิทรา สาเหตุ อาการ การรักษา

Posted By Plook Creator | 20 ก.พ. 66
6,170 Views

  Favorite

การนอนหลับอย่างเพียงพอและมีคุณภาพจะทำให้สุขภาพกายแข็งแรง สุขภาพจิตแจ่มใส ซึ่งที่ทราบกันมาตลอดว่า ชั่วโมงการนอนที่สมบูรณ์ควรนอนให้ได้ 7-8 ชั่วโมง แต่ที่จริงแล้วแต่ละวัยมีชั่วโมงการนอนที่เหมาะสมแตกต่างกันไป อย่างไรก็ตามหากมีอาการง่วงอย่างรุนแรง นอนนานมากขึ้น บางครั้งอาจนอนหลับนานถึง 20 ชั่วโมงต่อวัน ลักษณะนี้อาการแบบนี้อาจเสี่ยงเป็นโรคเจ้าหญิงนิทรา
 

ภาพ: BDLook - shutterstock


โรคเจ้าหญิงนิทราคืออะไร?

โรคเจ้าหญิงนิทรา (Sleeping Beauty Syndrome) มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Kleine-Levin Syndrome (KLS) เป็นความผิดปกติทางระบบประสาทที่หายาก นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่าพบผู้ป่วยโรคนี้ 1-5 รายจากทุกหนึ่งล้านคน แม้จะเรียกชื่อโรคว่า เจ้าหญิงนิทรา แต่ร้อยละ 70 ของผู้ป่วยเป็นผู้ชายและมักเกิดในช่วงวัยรุ่น ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของโรค

อะไรเป็นสาเหตุของโรคเจ้าหญิงนิทรา?

ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของโรคเจ้าหญิงนิทรา แต่มีบางการศึกษาเชื่อว่ามีปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรคมาจาก
- ความเจ็บป่วยหรือการบาดเจ็บที่สมองส่วนไฮโปทาลามัส ซึ่งเป็นส่วนของสมองที่ควบคุมการนอนหลับ ความอยากอาหาร และอุณหภูมิของร่างกาย เช่น หกล้มศีรษะกระแทก
- เกิดจากหลังจากเจ็บป่วยคล้ายไข้หวัดหรือติดเชื้อ เช่น ไข้หวัดใหญ่ ทำให้ภูมิต้านทานผิดปกติ ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าโรคเจ้าหญิงนิทราอาจเป็นโรคภูมิต้านตนเองชนิดหนึ่ง
- อาจเป็นกรรมพันธุ์ โดยสังเกตจากในครอบครัวอาจมีผู้ป่วยโรคนี้มากกว่าหนึ่งคน

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เป็นโรคเจ้าหญิงนิทรา

- อาการไข้หรือเป็นไข้หวัดใหญ่
- บาดเจ็บที่ศีรษะ
- อดนอน
- มีความเครียดอย่างรุนแรง
- ออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่ใช้แรงมากเกินไป
- การฉีดวัคซีน
- การดื่มแอลกอฮอล์และใช้เสพติด รวมถึงการใช้กัญชาด้วย
 

ภาพ : Rawpixel.com - shutterstock


อาการที่บ่งบอกว่าเป็นโรคเจ้าหญิงนิทรามีอะไรบ้าง?

อาการเบื้องต้นคือ ง่วงนอนอย่างรุนแรง นอนหลับเป็นเวลานาน บางรายอาจนอนนานถึง 20 ชั่วโมงต่อวัน ส่งผลให้มีความเปลี่ยนแปลงด้านการรับรู้และพฤติกรรมที่มาพร้อมกับความต้องการนอนมากเกินไป
- มีความอยากอาหารเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอาหารรสหวาน บางรายอาจรับประทานอาหารมากถึง 6-8 มื้อต่อวัน
- มีความต้องการทางเพศสูงกว่าปกติ ผู้ป่วยโรคเจ้าหญิงนิทรา หรือ KLS มักมีอาการไฮเปอร์เซ็กส์ช่วล (Hypersexual) หรือเสพติดเซ็กส์ อย่างไรก็ตามอาการนี้จะพบได้บ่อยในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง ซึ่งภาวะไฮเปอร์เซ็กส์ช่วลอาจรวมถึงความคิดเห็นทางเพศ การช่วยตัวเองบ่อยๆ และการล่วงละเมิดทางเพศ
- การรับรู้บกพร่อง มีอาการประสาทหลอน ระหว่าง episodes ผู้ป่วยอาจประสบกับภาวะครึ่งหลับครึ่งตื่น (ภาวะความจริงวิปลาส Derealization) หรือมีภาวะ dissociative เช่น จำอะไรไม่ได้ชั่วคราว ตัดขาดตัวเองจากโลกความเป็นจริง
- พฤติกรรมผิดปกติ มีอารมณ์หงุดหงิด บางครั้งมีความก้าวร้าวอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อถูกปฏิเสธเรื่องอาหาร นอกจากนี้อาจพูดจาหยาบคาย หรือหยาบโลนน่ารังเกียจไปในเรื่องทางเพศ
- วิตกกังวลหรือหดหู่ ปลีกตัวออกจากสิ่งรอบตัว ไม่สามารถเข้าสังคมได้ตามปกติ ตามรายงานกล่าวว่าประมาณ 15% ของผู้ป่วยโรคเจ้าหญิงนิทรามีความคิดฆ่าตัวตาย
- สับสนและความจำเสื่อม บางรายอาจจำเหตุการณ์ทั้งหมดระหว่างป่วยเป็นโรคเจ้าหญิงนิทราไม่ได้

การวินิจฉัยโรคเจ้าหญิงนิทราทำอย่างไร?

โรคเจ้าหญิงนิทราเป็นความผิดปกติที่วินิจฉัยได้ยาก เนื่องจากมีอาการคาบเกี่ยวกับอาการทางจิตเวช ทำให้บางครั้งมีการวินิจฉัยผิดพลาดว่าเป็นโรคทางจิตเวช ดังนั้นแพทย์จำเป็นต้องทดสอบหลายอย่าง เช่น ตรวจเลือด ศึกษาการนอนหลับ ทำ CT สแกน หรือ MRI ศีรษะ

โรคเจ้าหญิงนิทรามักเกิดกับใคร?

โรคเจ้าหญิงนิทราเป็นโรคเกี่ยวกับการนอนหลับที่ส่งผลกับวัยรุ่นเป็นหลัก โดยเฉพาะเด็กผู้ชายมีแนวโน้มว่าจะเป็นโรคนี้มากกว่าเด็กผู้หญิง

การรักษาโรคเจ้าหญิงนิทราทำอย่างไร?

การรักษาโรคเจ้าหญิงนิทราไม่ได้มีประสิทธิผลอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการดูแลแบบประคับประคองอาการจากพ่อแม่หรือผู้ปกครองจะช่วยให้มั่นใจได้ว่าอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยในระหว่าง episodes ของโรค สำหรับการใช้ยารักษาจะเป็นการให้ยาเพื่อลดอาการบางอย่างมากกว่ากำจัดโรค ทั้งนี้การใช้ยาต้องได้รับคำแนะนำหรือคำวินิจฉัยจากแพทย์เท่านั้น

 

แหล่งที่มาข้อมูล
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์, เจ้าหญิงนิทรา...โรคหลับมาราธอน, สืบค้นเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2566 จากเว็บไซต์: https://www.cra.ac.th/th/home
National Institutes of Health (NIH), Kleine-Levin Syndrome, สืบค้นเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2566 จากเว็บไซต์: https://www.ninds.nih.gov/
Sleep Foundation, Kleine-Levin Syndrome, สืบค้นเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2566 จากเว็บไซต์: https://www.sleepfoundation.org/

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Creator
  • 44 Followers
  • Follow