Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ภาวะน้ำเป็นพิษ ดื่มน้ำมากไป อันตรายถึงตายจริงหรือ

Posted By Plook Creator | 30 ม.ค. 66
3,151 Views

  Favorite

การดื่มน้ำเปล่ามีประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย ทั้งช่วยในการย่อยอาหาร ช่วยกระตุ้นระบบขับถ่าย ขจัดสารพิษในร่าง บำรุงผิวพรรณ ช่วยในการลดน้ำหนัก อย่างไรก็ตามการดื่มน้ำต้องอยู่ในปริมาณที่เหมาะสม หากน้อยไปจะเกิดภาวะขาดน้ำ แต่หากมากเกินไปก็จะทำให้เกิดภาวะน้ำเป็นพิษ ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้เช่นกัน

 

Ivanko80 - shutterstock / Plook Knowledge

 

ภาวะน้ำเป็นพิษคืออะไร?

ภาวะน้ำเป็นพิษ (Water intoxication) คือ ภาวะที่มีปริมาณน้ำสะสมในร่างกายมากจากการดื่มน้ำมากเกินไป ทำให้โซเดียมในเลือดต่ำ ส่งผลให้เกิดอาการปวดศีรษะ เป็นตะคริว ทรงตัวไม่ได้ คลื่นไส้ อาเจียน และอาจรุนแรงถึงขั้นชัก และเสียชีวิตได้

สาเหตุและกลุ่มเสี่ยงเกิดภาวะน้ำเป็นพิษ

สาเหตุหลักของการเกิดภาวะน้ำเป็นพิษ คือ การดื่มน้ำมากเกินความต้องการของร่างกาย หรือมีน้ำสะสมในร่างกายมากเกินไป และมีการกำจัดน้ำออกจากร่างกายทางปัสสาวะน้อยกว่าปกติ โดยกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดภาวะน้ำเป็นพิษ ได้แก่

เด็กทารก โดยเฉพาะเด็กอ่อนอายุต่ำกว่า 9 เดือนซึ่งจะมีมวลกายต่ำ ร่างกายทารกมีน้ำเป็นส่วนประกอบในปริมาณสูงประมาณ 75% อีกทั้งร่างกายเด็กยังเก็บโซเดียมได้น้อยมีความเสี่ยงที่โซเดียมในเลือดต่ำได้ง่าย จึงเสี่ยงเกิดภาวะน้ำเป็นพิษได้สูง  

ผู้ที่เสพติดการออกกำลังกายหรือนักกีฬาที่ใช้แรงมากๆ การออกกำลังกายอย่างหนักหรือเล่นกีฬาที่ใช้กำลังมากๆ เช่น วิ่งมาราธอน ไตรกรีฬา แข่งจักรยาน จะเสียเหงื่อเยอะทำให้กระหายน้ำมากจึงมักดื่มน้ำระหว่างการแข่งขันสูงเกินปกติ

ผู้ที่ทำกิจกรรมหรือทำงานที่เสียเหงื่อมาก เช่น การทำงานที่ใช้แรงมาก ทำกิจกรรมกลางแดดจัด การฝึกทหาร เมื่อเสียเหงื่อมากทำให้เสียโซเดียมทางเหงื่อมากขึ้นก็ยิ่งดื่มน้ำมากขึ้น

ผู้ป่วยทางจิตเวช เนื่องจากยาที่ใช้รักษาควบคุมอาการผู้ป่วยจิตเวชส่วนใหญ่มีผลข้างเคียงทำให้คอแห้ง กระหายน้ำ จึงเสี่ยงที่ผู้ป่วยจะดื่มน้ำมากเกินปกติจนเกิดภาวะน้ำเป็นพิษได้

ผู้ป่วยที่รับประทานอาหารทางปากไม่ได้ ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะได้รับอาหารและน้ำทางท่อให้อาหารหรือให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำร่วมด้วย ซึ่งอาหารประเภทนี้มีโซเดียมต่ำกว่าอาหารปกติทั่วไป ทำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้เสี่ยงเกิดภาวะโซเดียมต่ำได้ง่าย

ผู้มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต โรคเบาหวาน โรคต่างๆ เหล่านี้เป็นโรคที่ส่งผลให้มีการสะสมในร่างกายมากขึ้น

ผู้สูงอายุ เนื่องจากเป็นวัยที่มีโรคประจำตัวต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นที่ส่งผลให้มีการสะสมน้ำในร่างกายสูงเกินปกติ

 

Ivan Kruk - Shutterstock


อาการของภาวะน้ำเป็นพิษ

อาการบ่งชี้ว่าเกิดภาวะน้ำเป็นพิษสังเกตได้จาก ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ไปจนถึงกล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นตะคริว และอาจรุนแรงได้ถึงมีอาการทางสมอง เช่น สับสน ชัก จนถึงขั้นเกิดภาวะสมองบวมทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้นหากเริ่มมีอาการผิดปกตควรรีบไปพบแพทย์ทันที  


ดื่มน้ำแค่ไหนให้เหมาะสม

การดื่มน้ำน้อยไปก็ไม่ได้ มากไปก็ไม่ดี แต่จริงๆ แล้วไม่ได้มีจำนวนเจาะจงว่าต้องดื่มปริมาณเท่าไหร่ต่อวัน เพราะปริมาณการดื่มน้ำของแต่ละคนแตกต่างกันออกไปโดยพิจารณาจากน้ำหนักตัว ระดับการออกกำลังกาย และสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้สถาบันการแพทย์ (IOM) ได้แนะนำปริมาณน้ำที่เพียงพอต่อวันสำหรับผู้ชายคือ 3.7 ลิตรต่อวัน และของผู้หญิงอยู่ที่ 2.7 ลิตรต่อวัน อย่างไรก็ตามวิธีที่ง่ายที่สุดคือสังเกตร่างกายตัวเอง ดื่มน้ำเมื่อรู้สึกกระหายอย่างเพียงพอ สำหรับนักกีฬา ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย หญิงมีครรภ์ที่อาจต้องดื่มน้ำมากขึ้นในแต่ละวันควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ

 

 

แหล่งที่มาข้อมูล
หาหมอ.com, ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์, ภาวะน้ำเป็นพิษ (Water intoxication), สืบค้นเมื่อ 30 มกราคม 2566 จากเว็บไซต์: https://haamor.com/
กรมสุขภาพจิต, ดื่มน้ำเกิน 3 ลิตรต่อวัน เสี่ยงโรคน็อกน้ำ “ผู้ป่วยจิตเวช” กลุ่มเสี่ยงสูง, สืบค้นเมื่อ 30 มกราคม 2566 จากเว็บไซต์: https://dmh.go.th/main.asp
hello คุณหมอ, ดื่มน้ำมากเกินไป อาจเกิดภาวะน้ำเป็นพิษ ถึงตายจริงหรือ, สืบค้นเมื่อ 30 มกราคม 2566 จากเว็บไซต์: https://hellokhunmor.com/
medicalnewstoday, Adrienne Seitz, MS, RD, LDN, Nutrition, Arlene Semeco, MS, RD, What happens if you drink too much water?, สืบค้นเมื่อ 30 มกราคม 2566 จากเว็บไซต์: https://www.medicalnewstoday.com/

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Creator
  • 44 Followers
  • Follow