ภาวะหัวใจสลาย (Broken heart syndrome) คือ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงจากความเครียดอย่างรุนแรง (Stress Cardiomyopathy) พบครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่น เมื่อทำการตรวจสวนหัวใจและฉีดสารทึบแสงทำให้เห็นภาพหัวใจโป่งมีลักษณะคล้าย Takotsubo ไหที่ชาวญี่ปุ่นใช้จับปลาหมึก ดังนั้นจึงเรียกชื่อภาวะนี้ว่า Takotsubo Cardiomyopathy
สาเหตุการเกิดภาวะหัวใจสลายยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่ทางการแพทย์ส่วนใหญ่เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนต่างๆ จากความเครียดรุนแรง เมื่อตกอยู่ในความเศร้า เสียใจ ผิดหวัง หรือเกิดความเครียดอย่างรุนแรง เช่น การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักอย่างกระทันหัน หรือความเครียดจากการเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ ระดับฮอร์โมนความเครียดจะหลั่งออกมาสูงมาก ส่งผลให้ความสามารถในการบีบตัวของหัวใจบางส่วนลดลงอย่างเฉียบพลัน การไหลเวียนเลือดมาไม่เพียงพอทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง
ภาวะหัวใจสลายพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยมักเกิดขึ้นกับผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนและช่วงอายุเฉลี่ยที่พบบ่อย 58-77 ปี นอกจากนี้ยังอาจเกิดขึ้นกับผู้มีประวัติผิดปกติทางจิต เช่น มีความวิตกกังวล โรคซึมเศร้า รวมถึงผู้มีประวัติเป็นโรคเกี่ยวกับระบบประสาท เช่น อาการชักจากโรคลมชัก โรคหลอดเลือดสมอง ด้วยเช่นกัน
อาการทั่วไปที่พบคือ เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก หอบเหนื่อย หัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันเลือดต่ำ หน้ามืด วูบ
ปกติแล้วภาวะหัวใจสลายเป็นอาการที่เกิดขึ้นชั่วคราว และค่อยๆ หายได้เอง การรักษาจึงเป็นแบบประคับประคองด้วยการให้ยา แต่ถ้าอาการรุนแรงมีภาวะหัวใจล้มเหลวอาจต้องใส่ท่อและเครื่องช่วยหายใจ ดังนั้นหากสังเกตว่าตัวเองหรือคนใกล้ชิดมีอาการผิดปกติเข้าข่ายของภาวะหัวใจสลายควรรีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยทันที และที่สำคัญด้วยสาเหตุหลักของการเกิดภาวะหัวใจสลายมาจากสภาพจิตใจ จึงจำเป็นต้องดูแลสุขภาพจิตของผู้ป่วยด้วยการร่วมปรึกษากับครอบครัว คนใกล้ชิด และจิตแพทย์ เพื่อหาวิธีรับมือและจัดการกับความเครียด
1. ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย ปรับทัศนคติ เปลี่ยนมุมมอง ฝึกสติ ทำสมาธิ
2. พูดคุยกับคนในครอบครัว เพื่อนสนิท คนใกล้ชิด แบ่งปันเรื่องราวและปัญหา อย่าแบกความเครียดไว้คนเดียว
3. สนุกกับชีวิต หากิจกรรมที่สนใจทำ เช่น ปลูกต้นไม้ ทำอาหาร เลี้ยงสัตว์ ท่องเที่ยว เป็นต้น การใช้เวลาไปกับการทำกิจกรรมต่างๆ จะช่วยให้ไม่หมกหมุ่นอยู่กับความเศร้าหรือความเครียดได้
4. ดูแลร่างกายให้แข็งแรง ทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ
5. ตรวจสุขภาพหัวใจ ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี และควรตรวจสุขภาพหัวใจตามคำแนะนำของแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจ
แหล่งที่มาข้อมูล
Bangkok Heart Hospital, นพ. เกรียงไกร เฮงรัศมี, Broken Heart Syndrome เครียดเกินไปกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง, สืบค้นเมื่อ 26 มกราคม 2566 จากเว็บไซต์: https://www.bangkokhearthospital.com/
โรงพยาบาลวิชัยยุทธ, นพ. พิรุณ จุฬาโรจน์มนตรี, โรคหัวใจสลาย โรคทางใจที่ส่งผลต่อร่างกาย, สืบค้นเมื่อ 26 มกราคม 2566 จากเว็บไซต์: https://www.vichaiyut.com/th/
โรงพยาบาลสมิติเวช, นพ. ไพฑูรย์ จองวิริยะวงศ์, เราไม่อยากให้ใคร “หัวใจสลาย”, สืบค้นเมื่อ 26 มกราคม 2566 จากเว็บไซต์: https://www.samitivejhospitals.com/th
MedPark Hospital, นพ.ไพศาล บุญศิริคำชัย, ภาวะหัวใจสลาย (กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงเฉียบพลัน), สืบค้นเมื่อ 26 มกราคม 2566 จากเว็บไซต์: https://www.medparkhospital.com/
MAYO CLINIC, Mayo Clinic Staff, Broken heart syndrome, สืบค้นเมื่อ 26 มกราคม 2566 จากเว็บไซต์: https://www.mayoclinic.org/