การประกันสุขภาพแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ คือ
1. การประกันภัยสุขภาพส่วนบุคคล (Individual Health Insurance)
ประกันภัยสุขภาพส่วนบุคคล คือ ประกันสุขภาพที่ซื้อมาเพื่อคุ้มครองผู้เอาประกันรายเดี่ยว โดยผู้เอาประกันสามารถเลือกและกำหนดความคุ้มครองได้ตามความต้องการเพื่อให้เหมาะกับความเสี่ยงของตนเอง ค่าเบี้ยประกันจะคำนวณตามอายุและเพศของผู้เอาประกันคนนั้นๆ
2. การประกันภัยสุขภาพกลุ่ม (Group Health Insurance)
ประกันภัยสุขภาพกลุ่ม คือ ประกันสุขภาพที่ให้ความคุ้มครองบุคคลจำนวนมากภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยฉบับเดียวกัน เป็นแบบประกันที่บริษัทหรือองค์กรต่างๆ นิยมทำให้กับพนักงานหรือบุคคลากรในองค์กรเพื่อเป็นสวัสดิการคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล ความคุ้มครองจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับความต้องการขององค์กรนั้นๆ
1. ประกันสุขภาพผู้ป่วยใน (In-patient department : IPD)
ประกันสุขภาพผู้ป่วยใน คือ แผนประกันสุขภาพที่ให้ความคุ้มครองในกรณีที่ผู้เอาประกันเจ็บป่วยและได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลติดต่อกันไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง รวมถึงกรณีที่โรงพยาบาลรับตัวผู้ป่วยไว้แต่เสียชีวิตก่อน 6 ชั่วโมงด้วย โดยให้ความคุ้มครองครอบคลุมค่าใช้จ่าย ดังนี้
- ค่าห้อง ค่าอาหาร และค่าบริการพยาบาล
- ค่าบริการใช้ห้องผ่าตัด
- ค่าธรรมเนียมแพทย์ผ่าตัด
- ค่าเอ็กซเรย์, ค่าตรวจทางชีวเคมี, ค่าเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ
- ค่าปรึกษาแพทย์
- ค่ารถพยาบาล, ค่าบริการทั่วไป
- ค่าชดเชยจากการนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล
2. ประกันสุขภาพผู้ป่วยนอก (Out-patient department : OPD)
ประกันสุขภาพผู้ป่วยนอก คือ แผนประกันสุขภาพที่ให้ความคุ้มในกรณีที่ผู้เอาประกันเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลด้วยอาการเจ็บป่วยที่ไม่รุนแรง และไม่ต้องนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล เช่น เกิดอุบัติเหตุเล็กน้อยอย่าง หกล้ม มีดบาด, ไข้หวัดธรรมดา, ผดผื่นคัน, อาการแพ้เล็กๆ น้อยๆ, การฉีดวัคซีน เป็นต้น โดยให้ความคุ้มครองค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่คลินิกหรือแผนกผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาล
3. เอกสารแนบท้าย หรือผลประโยชน์สัญญาเพิ่มเติม
นอกจากความคุ้มครองข้างต้นแล้ว กรมธรรม์ประกันสุขภาพได้กำหนดเอกสารแนบท้ายไว้เพื่อขยายความคุ้มครองเพิ่มเติมจากข้อตกลงคุ้มครองในกรมธรรม์ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้เอาประกัน ซึ่งสามารถซื้อเพิ่มเติมได้ ดังนี้
ประกันสุขภาพโรคร้ายแรง (Critical illness Rider : ECIR) เป็นแผนประกันสุขภาพที่ให้ความคุ้มครองในกรณีเข้ารักษาในกลุ่มโรคเฉพาะทางที่ใช้เวลารักษานานและมีค่าใช้จ่ายสูง เช่น โรคมะเร็ง, โรคหัวใจ, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคไตวาย เป็นต้น ประกันแผนนี้เหมาะกับผู้ที่คิดว่าตัวเองเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดโรคเหล่านั้น โดยเงื่อนไขและความคุ้มครองขึ้นอยู่กับสัญญาในกรมธรรม์ที่ตกลงไว้กับบริษัทประกัน
ประกันสุขภาพแบบชดเชยรายได้ (Hospital Income protection : HIP) เป็นแผนประกันสุขภาพที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับรายได้ของผู้เอาประกันระหว่างนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล ไม่สามารถออกไปทำงานได้ตามปกติ โดยบริษัทประกันจะชดเชยรายได้เป็นรายวันให้แก่ผู้เอาประกัน เช่น ชดเชยวันละ 300 บาท 500 บาท 1,000 บาท ตามแผนความคุ้มครองที่ผู้เอาประกันเลือก
ในปัจจุบันมีหลายปัจจัยที่ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคภัยไข้เจ็บ ทั้งสภาพแวดล้อม อากาศ อาหารการกิน การเกิดเชื้อโรคสายพันธุ์ใหม่ๆ พฤติกรรมการใช้ชีวิต และเมื่อใดที่เกิดเจ็บป่วยขึ้นมาย่อมส่งผลไปถึงสภาวะทางการเงิน บางครั้งอาจสูญเงินจำนวนมากไปกับค่ารักษา ดังนั้นการทำประกันสุขภาพจะเป็นตัวช่วยรองรับความเสี่ยงว่าเมื่อเกิดโรคภัยไข้เจ็บอย่างไม่คาดคิดขึ้นมา จะมีค่ารักษาพยาบาลโดยไม่กระทบหรือกระทบน้อยที่สุดต่อเงินเก็บของเรา จึงทำให้สามารถวางแผนทางการเงินได้ นอกจากนี้ยังสามารถนำประกันสุขภาพมาใช้ลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย
1. ตรวจสุขภาพก่อนทำประกัน ควรตรวจสุขภาพอย่างละเอียดก่อนทำประกันชีวิต และต้องแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพของตนเองตามความเป็นจริงต่อบริษัทประกัน เช่น โรคประจำตัว (ถ้ามี) หรือประวัติการรักษา เพื่อทางบริษัทประกันจะได้ประเมินความเสี่ยงของสุขภาพได้ หากปกปิดไม่แจ้งข้อมูลตามความเป็นจริง และมาตรวจพบภายหลัง ทางบริษัทประกันสามารถบอกเลิกสัญญาได้
2. ประกันสุขภาพซื้อแล้วไม่คุ้มครองทันที มีระยะเวลาที่รอคอย เพื่อที่บริษัทประกันต้องการดูว่าผู้เอาประกันป่วยเป็นโรคมาก่อนหรือไม่ กรมธรรม์จะกำหนดระยะเวลารอคอยตั้งแต่ 30-120 วัน ตามระดับของโรคและข้อกำหนดของตัวประกัน เช่น โรคเล็กๆ น้อยๆ อาจมีระยะเวลารอคอย 30 วัน ส่วนโรคเฉพาะหรือโรคร้ายแรง มีระยะเวลารอคอย 90 วัน หากเกิดกรณีเจ็บป่วยในระยะเวลารอคอยจะไม่ได้รับความคุ้มครองและต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง
3. เบี้ยประกันสุขภาพเพิ่มตามอายุและเพศ อายุมากเบี้ยประกันมาก เนื่องจากอายุมากขึ้นย่อมเสี่ยงต่อโรคภัยไข้เจ็บมากขึ้น เบี้ยประกันจึงเพิ่มตามอายุ ดังนั้นการทำประกันสุขภาพยิ่งทำเร็วยิ่งดี เริ่มทำตั้งแต่อายุยังน้อยวัยหนุ่มสาว เบี้ยประกันจะยังไม่มากนัก และเพศชายเบี้ยประกันต่ำกว่าเพศหญิง เพราะร่างกายของผู้หญิงมีความซับซ้อนกว่า และโดยปกติจะใช้เวลาฟื้นตัวจากการเจ็บป่วยนานกว่าผู้ชาย จึงทำให้เพศหญิงมีเบี้ยประกันสูงกว่าเพศชาย
4. ประกันสุขภาพไม่คุ้มครองบางโรค เช่น การรักษาเกี่ยวกับความงาม ประกันจะไม่คุ้มครองในกรณีที่เข้ารักษาจากสาเหตุการทำศัลยกรรมหรือเสริมความงาม เนื่องจากไม่ใช่การรักษาโรคตามปกติ รวมถึงไม่คุ้มครองค่าคลอดบุตร การรักษาเพื่อการมีบุตรยาก และการรักษาที่ไม่ใช่แพทย์แผนปัจจุบัน
แหล่งข้อมูล
สมาคมประกันวินาศภัยไทย (Thai General Insurance Association), การประกันสุขภาพ, สืบค้นข้อมูลเมื่อ 13 มกราคม 2566, จากเว็บไซต์: https://www.tgia.org/insurance/
ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง), ประกันภัยสุขภาพ, สืบค้นข้อมูลเมื่อ 13 มกราคม 2566, จากเว็บไซต์: https://www.1213.or.th/th/Pages/default.aspx
อาคเนย์ ประกันชีวิต, ประกันสุขภาพคืออะไร มีกี่แบบ คุ้มครองอะไรบ้าง, สืบค้นข้อมูลเมื่อ 13 มกราคม 2566, จากเว็บไซต์: https://www.southeastlife.co.th/
เมืองไทยประกันชีวิต, ความหมายประกันสุขภาพ OPD กับ IPD คืออะไร?, สืบค้นข้อมูลเมื่อ 13 มกราคม 2566, จากเว็บไซต์: https://www.muangthaiinsurance.com/th/home
finder, Thus Noumong, ประกันสุขภาพ คืออะไร มีกี่แบบ เหมาะกับใครบ้าง, สืบค้นข้อมูลเมื่อ 13 มกราคม 2566, จากเว็บไซต์: https://www.finder.com/th/
Krungsri กรุงศรี, Krungsri The COACH, ประกันสุขภาพคืออะไร มีความสำคัญมากน้อยแค่ไหนในปัจจุบัน, สืบค้นข้อมูลเมื่อ 13 มกราคม 2566, จากเว็บไซต์: https://www.krungsri.com/th/personal
ไทยพานิชย์ (SCB), นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP, ACC, 5 เรื่องต้องรู้ก่อนซื้อประกันสุขภาพ, สืบค้นข้อมูลเมื่อ 13 มกราคม 2566, จากเว็บไซต์: https://www.scb.co.th/th/personal-banking.html
iTAX, ประกันสุขภาพ มีกี่แบบ แบบไหน คุ้มครองอะไรบ้าง, สืบค้นข้อมูลเมื่อ 13 มกราคม 2566, จากเว็บไซต์: https://www.itax.in.th/media/
TISCO, TISCO Insure, อย่าพึ่งตัดสินใจซื้อประกันสุขภาพ ถ้ายังอ่าน5ดอกจัน (*) หรือเงื่อนไข ไม่เคลียร์, สืบค้นข้อมูลเมื่อ 13 มกราคม 2566, จากเว็บไซต์: https://www.tisco.co.th/th/personal.html