หลายคนอาจจะรู้สึกว่าไขมันน่าจะเป็นตัวการของความอ้วน แต่จริง ๆ แล้วน้ำตาลนี่ล่ะตัวแสบกว่า จัดเป็นตัวอันตรายมาก โดยส่วนใหญ่น้ำตาลจะอยู่ในเครื่องดื่มรสหวาน เช่น น้ำเชื่อม ชาเขียว กาแฟน้ำอัดลม น้ำชงทั้งหลาย น้ำผลไม้กล่อง นมเปรี้ยว รวมไปถึงขนมปัง ขนมหวาน เค้ก เบเกอรี่ ขนมขบเคี้ยว และถ้าเหล่ามนุษย์สายหวานคนไหนที่ยังสงสัยว่า ก็แค่ความหวาน จะเป็นตัวการทำให้อ้วนได้อย่างไร วันนี้มาเคลียร์กันให้ชัด เอาให้ขยาดความหวานกันไปเลยทีเดียว
1. น้ำตาลคือตัวการที่ทำให้เกิดไขมันพอกตับ
ความจริงข้อหนึ่งที่คนกลัวอ้วนทุกคนควรจะต้องรู้คือ ร่างกายไม่สามารถดูดซึมน้ำตาลไปใช้งานได้ทันที ต้องเปลี่ยนเป็นกลูโคสที่ตับก่อน แล้วจากนั้นตับจะเปลี่ยนน้ำตาลเหล่านี้ให้เป็นไขมันจำนวนหนึ่งด้วย ซึ่งตรงนี้ล่ะคือเหตุผลที่ทำให้เกิดไขมันพอกตับ พอสะสมมากขึ้น ก็ทำให้เรากลายเป็นคนอ้วน เท่านั้นยังไม่พอ น้ำตาลยังเป็นตัวการชักนำให้ตัวร้ายอีกตัวออกฤทธิ์ได้เต็มที่ ตัวร้ายที่ว่านี้ มีชื่อว่า LDL คอเลสเตอรอล ทำให้เกิดคอเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้น นำไปสู่โรคเบาหวาน หัวใจ หลอดเลือด ภาวะไขมันพอกหัวใจ ความดันโลหิตสูง เห็นมั้ยว่า นอกจากความอ้วน ยังได้ของแถมร้าย ๆ ตามมาด้วยมากมาย และของแถมพวกนี้ไม่นิยมมาแบบเดี่ยว ๆ โรคเดียวซะด้วย แต่นิยมมากันเป็นแพคเก็จ ป่วยทีก็มักจะป่วยร่วมกันหลายโรค
2. ภาวะติดหวานจากน้ำตาล ทำให้หิวบ่อย กินจุขึ้น
การกินน้ำตาลบ่อย ๆ จะทำให้เรามีพฤติกรรมการกินแบบติดหวาน ปรุงอาหารอะไรก็รสหวานนำชีวิตขาดเครื่องดื่มชงไม่ได้ บางรายหนักถึงขนาดไม่ดื่มน้ำเปล่าเลยด้วยซ้ำ หรือบางคนอาจจะไปถึงขั้นเสพติดน้ำตาล ที่เรียกว่า “Sugar Blues” อาการที่พบคือ ร่างกายรู้สึกโหยหาน้ำตาล โดยเฉพาะช่วงเวลาประมาณสิบโมงเช้า และบ่ายสามโมง ถ้าไม่ได้กินน้ำตาลจะทำให้หดหู่หรือซึมเศร้าผิดปกติ ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะเกิดจากภาวะน้ำตาลในเลือดตํ่า แล้วถ้ายังปล่อยให้ร่างกายเป็นแบบนี้ต่อไป จะยิ่งส่งผลเสียกับร่างกาย ทำให้อารมณ์แปรปรวน ขี้โมโหง่าย สมาธิสั้น เป็นภูมิแพ้ และความดันโลหิตตํ่า
นอกจากนี้ เมื่อเรากินน้ำตาลเข้าไป สมองจะหลั่งสารโดปามีนออกมา ทำให้เกิดความสุข สดชื่น แต่ แต่ แต่ มันเป็นความรู้สึกเพียงแค่ชั่วครู่เท่านั้น! เรียกกว่าโดนน้ำตาลแกงเข้าให้แล้ว เพราะมันไม่ได้อิ่มจริง คือพอระดับของโดปามีนลดต่ำลง สมองก็จะสั่งการให้เราออกล่าหาของหวานมากินเพิ่ม นอกจากนี้การกินน้ำตาลมากเกินไป จะทำให้รู้สึกหิวมากกว่าเดิม เพราะน้ำตาลจะเข้าไปทำให้ฮอร์โมนเลปติน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่จะหลั่งออกมาเมื่อรู้สึกอิ่มลดน้อยลง เลยทำให้เรากินแล้วไม่อิ่มสักที จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เราได้รับพลังงานมากขึ้นเกินความต้องการของร่างกายที่แท้จริง
3. พื้นที่จัดเก็บพลังงานเต็ม ทำให้ไขมันล้น อ้วนหนัก
ในกระบวนการทำงานของร่างกาย มีความซับซ้อน แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินการทำความเข้าใจ โดยเฉพาะการจัดการกับน้ำตาล ร่างกายเราจะจัดเก็บน้ำตาลในรูปแบบน้ำตาลในเลือด ไกลโคเจนที่ตับ รวมทั้งในกล้ามเนื้อ แต่ถ้าเราไม่ค่อยได้ออกกำลังกายเป็นประจำ แบบเร็ว ๆ หรือหนัก ๆ ไกลโคเจนที่เก็บไว้ในร่างกายจะไม่ลดลงเลย แล้วทีนี้พอเรากินน้ำตาลเติมเข้าไปอีก ร่างกายจะไม่มีพื้นที่เก็บน้ำตาลที่เข้ามาใหม่ เมื่อของเก่าไม่ลด แล้วของใหม่จะไปอยู่ไหน ดันกินเข้ามาเพียบแล้วด้วย คำตอบคือ มันก็จะเปลี่ยนน้ำตาลไปเก็บอยู่ในรูปของไขมันทันที กระจายหาพื้นที่ซุกซ่อนตัวกันไป เช่น ไปสะสมตามแขน ขา สะโพก หน้าท้อง เหนียงที่คอ และไอ้ที่ที่ไขมันไปสะสมอยู่นั่นล่ะ ภาษาชาวบ้านก็เรียกแบบเข้าใจง่าย ๆ ว่า “อ้วน” นั่นเอง
จริงๆ แล้วถ้าเราสามารถกินน้ำตาลในระดับที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน ก็ยังถือว่าน้ำตาลมีประโยชน์กับเราอยู่มาก แต่คนส่วนใหญ่มักจัดเต็มจนเกินปริมาณที่ร่างกายต้องการ โดยกรมการอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดปริมาณน้ำตาลที่สามารถกินได้ในต่อวันสำหรับผู้ใหญ่หรือเด็ก ไม่ควรเกิน 6 ช้อนชา หรือ 24 กรัม ต่อวัน แต่ปัจจุบันคนบางคนกลับกินน้ำตาลเกินมาตรฐานสูงสุด 20 ช้อนชาต่อวัน OMG!!! เช่น อดใจไม่อยู่ซัดน้ำอัดลมไปแค่ 1 กระป๋อง แต่น้ำตาลที่วิ่งเข้าร่างพุ่งไปถึง 9 ช้อนชา แค่นี้ก็ได้รับปริมาณน้ำตาลเกินไปแล้ว นี่ยังไม่รวมน้ำตาลที่เป็นเครื่องปรุงอยู่ในอาหารที่กินตลอดทั้งวัน และเครื่องดื่มอื่น ๆ อีก
ดังนั้นควรจะคุมปริมาณน้ำตาลที่กินในแต่ละวันให้ไม่เกินตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนด ไม่อย่างนั้นไม่ใช่แค่ความอ้วนที่จะมาสิงเรา แต่เหล่าโรคร้ายต่าง ๆ จะวิ่งตามมาเป็นพรวน จากชีวิตรสหวาน คราวนี้ล่ะ ไม่หวานแน่ ๆ ถ้าต้องกลายเป็นคนเจ็บป่วยด้วยโรคที่มาจากน้ำตาล
1. ลดการปรุงหรือเติมน้ำตาลในอาหาร (เชื่อเถอะว่าแม่ครัวเขาสาดใส่มาให้แบบจัดเต็มแล้ว)
2. ลด ละ เลิก การดื่มน้ำหวานอื่น เช่น น้ำอัดลม น้ำผลไม้แบบไม่ได้คั้นสด เครื่องดื่มชงต่าง ๆ ทั้งชา กาแฟ โกโก้ ฯลฯ ให้เปลี่ยนมาดื่มน้ำเปล่าแทนในทุกกิจกรรมของชีวิต
3. ควบคุมปริมาณคาร์บที่มาจากน้ำตาลให้เหมาะสมในแต่ละวัน เช่น ผลไม้ที่มีรสหวานต่าง ๆ และเลี่ยงผลไม้แปรรูปแช่อิ่มหรือดอง
4. เพิ่มการกินผักใบเขียวให้มากขึ้น เพื่อช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาล ควบคุมน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้น
5. อ่านฉลากให้เป็นนิสัย เพื่อตรวจสอบปริมาณน้ำตาลจากผลิตภัณฑ์อาหาร
NEve Style
ข้อมูลประกอบบทความ
น้ำตาลหรือไขมัน อะไรทำให้เราอ้วนได้มากกว่ากัน https://www.thairath.co.th/lifestyle/woman/772946
'ไขมัน' กับ 'น้ำตาล' อะไรเป็นตัวการขยายรอบเอว https://www.posttoday.com/life/healthy/584759
SUGAR อันตรายร้ายแรง กว่าที่คิดจริงหรือ? https://www.sukumvithospital.com/healthcontent.php?id=3252