สายตาผิดปกติ
มี ๔ ชนิด คือ
๑. สายตายาว (hypermetropia)
๒. สายตาสั้น (myopia)
๓. สายตาพร่าต่างแนว (astigmatism)
๔. สายตาผิดปกติชนิดอื่นๆ เช่น สายตาสองข้างผิดปกติคนละชนิด สายตาของผู้ที่ไม่มีแก้วตา เป็นต้น
สายตายาว
ในคนสายตายาวนั้น แสงขนานผ่านเข้าลูกตาไปรวมแสงเลยชั้นประสาท ขณะที่ตาไม่ใช้กำลังเพ่งมอง ภาพที่มองเห็นจะพร่ามัว เมื่อเลื่อนวัตถุออกไปไกล แสงมารวมกันทางด้านหน้ามากกว่าเดิม ทำให้มองเห็นวัตถุในระยะไกลได้ชัดกว่าวัตถุในระยะใกล้ อาการของคนสายตายาวคือ มองของไกลเห็นไม่ชัด สายตาพร่าที่มักเป็นหลังจากทำงานใกล้ตาอยู่นานๆ อาการเมื่อยลูกตา ปวดศีรษะ ผู้ที่มีสายตายาวมากจะมีอาการมาก เพราะมองเห็นไม่ชัดทั้งระยะไกล และระยะใกล้ สายตายาวขนาดไม่มาก และถ้าเป็นในผู้ที่มีกำลังเพ่งมอง (accomodation) ดี เช่น ในวัยเด็กกำลังเพ่งมอง สามารถช่วยแก้การมองเห็นภาพไม่ชัดให้เป็นภาพชัดได้ พวกนี้จึงไม่ค่อยมีอาการ หรือไม่มีอาการเลย
สาเหตุส่วนใหญ่ เนื่องมาจากขนาดของลูกตาจากด้านหน้าไปด้านหลังสั้นกว่าปกติ ซึ่งเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หรืออาจเกิด เพราะมีโรคภายในลูกตา
นอกจากนี้อาจมีสาเหตุมาจากกำลังหักแสงของลูกตาน้อยลง เช่น เป็นโรคของกระจกตา ทำให้กระจกตาแบนลงกว่าเดิม หรือแก้วตาหักแสงได้น้อยลง เช่น ในคนสูงอายุ โรคเบาหวานระยะที่ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำลงมาก แก้วตาเคลื่อนจากที่เกาะ หลังผ่าตัดเอาแก้วตาออก เป็นต้น
การแก้ไขเรื่องสายตายาวทำโดยสวมแว่นเลนส์นูน
สายตาสั้น
ในคนสายตาสั้นนั้น แสงขนานผ่านเข้าลูกตา ไปรวมแสงก่อนถึงชั้นประสาทจอตาขณะที่ตาไม่ได้ใช้กำลังเพ่งมอง ทำให้มีอาการมองไกลเห็นไม่ชัด แต่มองของใกล้เห็นได้ชัด เพราะจุดรวมแสงจะถอยห่างออกไปจนไปรวมแสงที่จอตา เมื่อเลื่อนมามองใกล้
สายตาสั้นมีสองแบบ คือ แบบธรรมดา และแบบที่เป็นคืบหน้า ชนิดธรรมดานั้นมักเริ่มเป็นเมื่ออายุ ๓-๔ ปี และสายตาจะสั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยจนถึงวัยหนุ่มสาวไปแล้ว สายตาก็ยังคนสั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งส่วนมากจะมีความเสื่อมที่ชั้นประสาท และชั้นหลอดเลือดของลูกตาด้วย
สาเหตุส่วนใหญ่เกิดขึ้น เนื่องจากขนาดของลูกตาจากด้านหน้าไป ด้านหลังยาวกว่าปกติ ซึ่งเป็นเองตามธรรมชาติ หรือเป็นจากกรรมพันธุ์ หรือจากสาเหตุอื่นหลังคลอด เช่น ร่างกายอ่อนแอ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากกำลังหักแสงของลูกตาเพิ่มมากกว่าปกติ เช่น กระจกตาโค้งมากไป แก้วตาโค้งมากไป ในผู้ป่วยโรคเบาหวานระยะที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ผู้ป่วยโรคต้อแก้วตาระยะเริ่มเป็น สาเหตุนี้พบน้อยกว่าสาเหตุแรก
การแก้ไขสายตาสั้นทำได้ โดยใส่แว่นเลนส์เว้าให้กระจายแสงออกไปรวมแสงตรงชั้นจอพอดี ไม่มีการรักษาด้วยยา การออกกำลังกาย การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย อากาศบริสุทธิ์ รวมทั้งการเลือกงานให้พอเหมาะสำหรับผู้ที่สายตาสั้นมากๆ ก็เป็นการบำบัดอีกทางหนึ่ง
สายตาพร่าต่างแนว
สายตาพร่าต่างแนวเกิดขึ้น เพราะแสงขนานที่ผ่านเข้าลูกตาในแนวตั้ง และแนวนอน หรือในแนวอื่นๆ นั้น มีการหักของแสงไม่เท่ากัน แสงจึงไม่รวมที่จุดเดียว คนสายตาพร่าต่างแนวมองเห็นภาพไม่ชัด ตัวหนังสือพร่ามีอาการเมื่อยตา ปวดลูกตา ปวดศีรษะ เวียนศีรษะตาลาย
สาเหตุเกิดจากกระจกตา หรือแก้วตามีความโค้ง ในแนวตั้งไม่เท่ากับความโค้งในแนวนอน หรือความโค้งในแนวต่างๆ ไม่เท่ากัน อาจเป็นมาแต่กำเนิด หรือเป็นภายหลัง เพราะเกิดโรค โรคที่กระจกตา ได้แก่ กระจกตาเป็นแผล กระจกตาอักเสบ ได้รับอันตราย ก้อนเนื้องอกที่หนังตากด โรคที่แก้วตา ซึ่งพบน้อย ได้แก่ แก้วตาเคลื่อนจากที่เกาะ แก้วตาเริ่มเป็นต้อ แก้วตา ในคนปกติ กระจกตาในแนวตั้งโค้งมากกว่าแนวนอนเล็กน้อย ทำให้การหักแสงจากทั้งสองแนวต่างกันบ้างไม่มากนัก จนทำให้ไม่เกิดอาการผิดปกติ
สายตาพร่าต่างแนวจะเกิดในแนวใดก็ได้ เช่น แนว ๙๐ องศา ๑๘๐ องศา ๔๕ องศา ๑๓๕ องศา สายตาพร่าต่างแนวแนวเดียว ส่วนอีกแนวหนึ่งเป็นปกติก็มี ชนิดที่พร่าต่างแนวทั้งสองแนวก็มี และมีได้ทั้งชนิดสายตายาว และสายตาสั้น
แก้ไขเรื่องสายตาพร่าต่างแนว โดยใช้แว่นสายตาชนิดเป็นแว่น รูปทรงกระบอกตามชนิดของสายตาพร่าต่างแนว หรือใช้เลนส์สัมผัส (contact lens)
สายตาผู้สูงอายุ
เป็นการเปลี่ยนแปลงของสายตาเมื่อเข้าสู่วัยสูง อายุซึ่งจะต้องประสบทุกคน สายตาของผู้สูงอายุ (pres- byopia) จะมองของใกล้เห็นไม่ชัดในระยะที่เคยมองเห็น เช่น การอ่านหนังสือตัวเล็ก การเย็บเสื้อผ้าและการทำ งานใกล้ในระยะเดิม (ประมาณ ๒๒ เซนติเมตร หรือ ๙ นิ้ว) จะเห็นไม่ชัด ต้องยืดระยะให้ห่างออกไปจึงจะ เห็นได้ชัด ทั้งนี้เป็นเพราะระยะมองใกล้ ของลูกตาในคนสูงอายุ เลื่อนห่างออกไปจากระยะปกติเพราะแก้วตาขาด ความยืดหยุ่นไปตามวัย และกล้ามเนื้อซิเลียรีอ่อนกำลัง ลง จึงเพ่งมองของในระยะที่เคยทำได้ไม่ได้ ในต่าง ประเทศ อายุที่เริ่มมีสายตาชนิดนี้อยู่ระหว่างอายุ ๔๐-๔๕ ปี ในประเทศไทยเริ่มเร็วกว่า คือ เริ่มเมื่ออายุ เกิน ๓๖ ปีไปแล้ว อาการมองของใกล้เห็นไม่ชัดอาจ เห็นดีขึ้นถ้าใช้แสงสว่างเพิ่ม เพราะรูม่านตาหดตัวในที่ที่มี แสงสว่างมากจึงลดอาการตาพร่าได้ เมื่อเป็นอยู่นานๆ มีอาการปวดเมื่อยลูกตา อ่านหนังสือได้ไม่ทน น้ำตา ไหล สายตามัว จะมีอาการมากเมื่ออยู่ในที่ที่มีแสง สว่างน้อย การแก้ไขทำได้โดยให้ใส่แว่นสายตาชนิดแว่น เลนส์นูน อาจทำเป็นแว่นตา ๒ ชั้น เพื่อให้ดูได้ทั้งใกล้ และไกล
สายตากลับ
คนที่สายตาสั้นมาตั้งแต่วัยหนุ่มสาวต้องใส่แว่น สายตา เมื่ออายุมากขึ้นเวลามองใกล้สายตาเริ่มยาว ซึ่งถ้าเป็นขนาดเดียวกับที่สายตาเคยสั้น จะทำให้สายตาในวัยนั้นเป็นเหมือนสายตาปกติ ไม่ต้องใส่แว่นตาเวลามองใกล้ที่เรียกว่า สายตากลับ