Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

แว่นตา

Posted By Plookpedia | 27 ธ.ค. 59
1,358 Views

  Favorite

แว่นตา

แว่นตาเป็นกระจกแว่นที่ใส่ไว้ในกรอบสำหรับสวมบนใบหน้า โดยมีแท่นรองรับบนสันจมูก และก้านแว่นเกี่ยวที่ใบหู ในสมัยโบราณ มีแว่นตาบางชนิด ที่ใช้วางอยู่หน้าตาข้างใดข้างหนึ่ง สำหรับผู้สูงอายุ เมื่อต้องการดูของใกล้ เมื่อไม่ต้องการดูก็ถอดออก

กระจกแว่นตาอาจทำด้วยแก้วธรรมดา หรือทำจากวัสดุใสพวกพลาสติก พลาสติกดีกว่าแก้ว เพราะเบากว่า และไม่แตกง่าย แต่มีข้อเสียตรงที่มีรอยขูดขีดได้ง่ายกว่าแก้ว แว่นตาเป็นของจำเป็นมีประโยชน์ทั้งในด้านการป้องกัน และการรักษา แว่นตามีหลายชนิดดังนี้ 

๑. แว่นตาสวมกันแดด เพื่อไม่ให้แสงแดดเข้าตามากเกินไป ได้แก่ แว่นตาสีดำ หรือสีชา หรือใช้สีอื่น เช่น สีฟ้าอ่อน สีเขียวอ่อน แว่นตาชนิดนี้ป้องกันไม่ให้แสงแดด หรือฝุ่นละอองปลิวเข้าตา แว่นตากันแดดสมัยก่อนไม่ใช่ของจำเป็น แต่ในสมัยปัจจุบัน กลายเป็นของจำเป็น ในที่ที่สิ่งแวดล้อมมีฝุ่นละออง แสงแดดจ้า ระคายเคืองตาอยู่ตลอดเวลา

แว่นตากันแดด


๒. แว่นตาที่ใช้ในงานอุตสาหกรรม เป็นแว่นขนาดใหญ่ ทนทานไม่แตกง่าย ใช้ใส่เวลาทำงานเกี่ยวกับของที่กระเด็นออกมา เช่น ในการกลึง การกะเทาะหิน กาต้มน้ำกรด น้ำด่าง กันไม่ให้สารเหล่านั้นกระเด็นเข้าตา นอกจากนี้ยังใช้แว่นสีดำมืดสำหรับกรองแสง ขณะเชื่อมเหล็กด้วยไฟฟ้า ใช้แก๊สตัดโลหะทำโซ่ ทำแก้ว หรือตีเหล็ก เป็นต้น 

๓. แว่นตาสำหรับนักกีฬาที่ต้องการมองให้เห็นชัดขณะเล่นกีฬา แว่นที่ใช้เป็นแว่นตาสีเดียว ซึ่งส่วนมากจะใช้สีที่อยู่ส่วนกลาง ของสีในสเปกตรัม คือ สีเหลืองเป็นสีที่ประสาทตารับความรู้สึกได้ดี และเห็นชัด เช่น ใช้ใส่ขณะยิงปืน ดำน้ำ เมื่อลืมตาดูของในน้ำ มีสายตามัวเป็นชนิดสายตายาว จึงต้องใส่แว่นที่ทำพิเศษ หรือใช้เลนส์สัมผัส 

แว่นตาสำหรับนักกีฬา


๔. แว่นสายตา เป็นแว่นที่มีกำลังหักแสง เพื่อให้มองเห็นภาพชัด ใช้กับผู้ที่มีสายตาผิดปกติได้แก่ แว่นเลนส์เว้าสำหรับคนสายตาสั้น แว่นเลนส์นูนสำหรับคนสายตายาว และแว่นเลนส์รูปทรงกระบอก หรือทรงกาบกล้วยสำหรับคนสายตาพร่าต่างแนว

แว่นแบบเลนส์สัมผัส

   ๕. แว่นแบบเลนส์สัมผัส เป็นแว่นสำหรับผู้มีสายตาผิดปกติ แต่แทนที่จะใช้แว่นตาสวมบนใบหน้า กลับใช้เลนส์วางบนกระจกตา เลนส์ทำด้วยวัสดุพลาสติกค่อนข้างแข็ง (polymethyl methacrylate) ปัจจุบัน ได้ดัดแปลงใช้เลนส์ชนิดนุ่มกว่า และดูดน้ำได้ และสามารถให้อากาศและน้ำซึมผ่านได้ เลนส์สัมผัสมีทั้งข้อดี และข้อเสีย ข้อดีคือ ไม่ต้องสวมบนใบหน้า ใส่เล่นกีฬาได้สะดวก ผู้ที่สายตาสั้นมากๆ ใส่เลนส์แล้วไม่ต้องใสแว่นที่หนามาก ใช้กับรายที่ลอกต้อแก้วตาข้างเดียว ซึ่งถ้าใส่แว่นตา จะปรับภาพจากตาสองข้างให้เป็นภาพเดียวไม่ได้ เพราะขนาดของภาพต่างกัน แต่เมื่อใส่เลนส์สัมผัส ภาพไม่ต่างกันมากจะปรับได้ ผู้ที่กระจกตาเป็นรูปกรวยแหลม หรือกระจกตาขรุขระ ซึ่งใช้แว่นตาช่วยให้เห็นขัดขึ้นไม่ได้ แต่เลนส์สัมผัสช่วยได้ สายตาพร่าต่างแนวชนิดที่แนวไม่ตั้งฉากกัน เลนส์ชนิดเป็นสีใช้ปิดบังแผลเป็นสีขาว ที่กระจกตา ทำให้ดูสวยงาม ข้อเสียคือ ราคาแพง หายได้ง่าย ใส่ไม่ได้ตลอดวัน ต้องถอดออกบางเวลา ผู้ที่ทนได้นานใส่ได้ครั้งละ ๖-๘ ชั่วโมง โดยไม่ต้องถอดออก ปัจจุบัน มีเลนส์สัมผัสชนิดที่ใส่ได้นานหลายวันโดยไม่ต้องถอด ผู้สูงอายุใส่และถอดเลนส์ได้ไม่สะดวก ถ้ารักษาความสะอาดไม่ดีอาจเกิดแผลที่กระจกตา เลนส์ชนิดนุ่ม หรือชนิดอ่อน อาจดูดน้ำยาที่แช่เลนส์ เพื่อฆ่าเชื้อ หรือดูดยาหยอดตาบางชนิดเข้าไป มีอันตรายต่อกระจกตา
๖. แว่นที่ใส่ภายในลูกตา (intraocular lens) ทำด้วยวัสดุพวกอะครีลิก (acrylic lens) แพทย์ผู้ผ่าตัดเป็นผู้ใส่ให้ขณะผ่าตัด มักทำในรายที่เป็นต้อแก้วตาข้างเดียว โดยใส่เลนส์นี้แทนแก้วตา ต้อแก้วตาที่ผ่าตัดไม่ต้องสวมแว่นตา การใส่เลนส์ชนิดนี้ทำกันมากในปัจจุบัน จักษุแพทย์ และผู้ป่วยนิยมการผ่าตัดแบบใส่แว่นที่ใส่ภายในลูกตา เพราะได้รับความสะดวก และไม่ต้องสวมแว่นตาตลอดจนไม่ใคร่เกิดปฏิกิริยาต่อต้านจากร่างกาย

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow