Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การเลือกสินค้าและการผลิตเพื่อการส่งออก

Posted By Plookpedia | 27 ธ.ค. 59
3,649 Views

  Favorite

การเลือกสินค้าและการผลิตเพื่อการส่งออก

การที่จะตัดสินใจเลือกสินค้าชนิดหนึ่งชนิดใด เพื่อทำการผลิตและส่งออก จะต้องศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับรายละเอียดของสินค้านั้นๆ ในการผลิตสินค้า เช่น จะจ้างเขาผลิต หรือผลิตเอง ปัญหาการผลิต การตั้งราคา การควบคุมคุณภาพ ความพร้อมในการออกแบบ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เป็นต้น

ห้องแสดงสินค้าเพื่อส่งเสริมการส่งออก

  การเลือกตลาดส่งออก 

การเลือกตลาด อาจกระทำได้ ๒ วิธี 

วิธีแรก 

คือ การศึกษาข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ที่มีเอกสารทางการค้าระหว่างประเทศเป็นจำนวนมาก เช่น ที่กรมส่งเสริมการส่งออก สำนักงานคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคม สำหรับเอเชีย และแปซิฟิก (UNITED NATIONS ECONOMIC AND SOCIAL COMMISSION FOR ASIA AND THE PACIFIC - ESCAP) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมการค้า กลุ่มหรือชมรมผู้ส่งออก ธนาคารพาณิชย์ บริษัทการค้าระหว่างประเทศ บริษัทขนส่งระหว่างประเทศ สำนักงานพาณิชย์ต่างประเทศ หน่วยงานดังกล่าว มีเอกสารข้อมูลการค้าระหว่างประเทศเป็นจำนวนมาก

ข้อมูลที่ควรศึกษา ได้แก่ กฎระเบียบ และข้อกำหนดการนำเข้า สถิติการค้าของประเทศต่างๆ ปริมาณความต้องการของตลาด วิธีการนำส่ง การแข่งขันของประเทศต่างๆ และรสนิยมของผู้บริโภค

วิธีที่สอง

คือ การเดินทางไปศึกษาข้อมูลด้วยตนเอง ในตลาดต่างประเทศ ซึ่งต้องใช้เงินทุนเป็นจำนวนมาก ผู้ที่จะไปศึกษาวิจัยต้องมีประสบการณ์ และความรู้ด้านการตลาดเป็นอย่างดี วิธีนี้จะเป็นโอกาสให้ทราบถึงภาวะตลาดที่แท้จริง ถึงความต้องการ รสนิยมของผู้บริโภคเกี่ยวกับสินค้า รวมทั้งมีโอกาสได้ติดต่อโดยตรงกับผู้นำเข้าในต่างประเทศ และสร้างความสัมพันธ์ส่วนบุคคลอีกด้วย

การศึกษาข้อมูลจะทำให้ทราบว่า ควรจะเลือกตลาดใด เมื่อเลือกตลาดได้แล้ว ก็ต้องหาวิธีเข้าสู่ตลาดให้ได้เป็นผลสำเร็จ ขั้นแรก จะต้องหารายชื่อผู้นำเข้าจากรายชื่อผู้นำเข้าที่มีอยู่ของกรมส่งเสริมการส่งออก สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นต้น เมื่อได้รายชื่อผู้นำเข้าแล้ว ก็สามารถส่งจดหมายติดต่อกับผู้นำเข้าโดยตรง เป็นการแนะนำตนเองให้ผู้นำเข้าในต่างประเทศรู้จัก ในการส่งจดหมาย จำเป็นต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับตนเอง เช่น จะต้องมีหัวจดหมาย แจ้งให้ผู้รับ ทราบข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับผู้ผลิต เช่น สถานที่ ติดต่อ รหัสโทรพิมพ์ โทรสาร โทรศัพท์ หากมีรายการสินค้า และราคาเสนอขายด้วย ก็จะทำให้ผู้รับสามารถตัดสินใจได้รวดเร็วยิ่งขึ้น นอกจากการติดต่อโดยตรงทางจดหมายแล้ว ผู้ผลิตส่งออก ก็สามารถเดินทางไปหาลูกค้าด้วยตนเองได้ เพราะนอกจากจะไปหาลูกค้าใหม่แล้ว ยังเป็นการไปเยี่ยมลูกค้าเก่าอีกด้วย

เครื่องประดับ (Jewelry)
เครื่องประดับ (Jewelry)
เครื่องประดับ (Jewelry)
เครื่องประดับ (Jewelry)
ดอกไม้และผลไม้ประดิษฐ์
ดอกไม้และผลไม้ประดิษฐ์


   การส่งออกสินค้าหัตถกรรม 

สินค้าหัตถกรรมเป็นสินค้าประเภทหนึ่ง ที่สามารถทำรายได้แก่ประเทศเป็นมูลค่าสูง ผลิตภัณฑ์หัตถกรรมที่สามารถส่งออกได้เป็นมูลค่าสูง และมีแนวโน้มการส่งออกสูงขึ้นมีอยู่มากชนิดด้วยกัน ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างให้เห็นเพียง ๑๐ รายการ ดังนี้ 

๑. เพชรพลอยเจียระไนหรือเพชรพลอยร่วง 

เป็นสินค้าหัตถกรรมส่งออกชั้นแนวหน้าของไทยประเภทหนึ่ง เพราะมีมูลค่าการส่งออกสูงขึ้นเป็นลำดับ กล่าวคือ จากมูลค่าในพ.ศ. ๒๕๓๕ เพิ่มขึ้นถึง ๒๖,๒๖๗.๙ ล้านบาท ในพ.ศ. ๒๕๓๗ ตลาดส่งออกที่สำคัญคือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เบลเยี่ยม สวิตเซอร์แลนด์ และฮ่องกง

๒. เครื่องประดับ 

เป็นสินค้าหัตถกรรม ที่มีความสำคัญอันดับสอง รองจากเพชรพลอยเจียระไน สินค้าเครื่องประดับที่ส่งออกของไทยประกอบด้วย เครื่องประดับทอง เครื่องประดับเงิน และเครื่องประดับจากโลหะมีค่าชนิดอื่นๆ เช่น ทองคำขาว เป็นต้น มูลค่าการส่งออกเครื่องประดับมีมูลค่าสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ จากมูลค่า ๑๖,๐๓๘.๙ ล้านบาท ในพ.ศ. ๒๕๓๕ เพิ่มขึ้นถึง ๑๘,๕๐๒.๑ ล้านบาท ในพ.ศ. ๒๕๓๗ ตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เยอรมัน และสวิตเซอร์แลนด์ 

๓. ดอกไม้ใบไม้ประดิษฐ์ และต้นไม้ประดิษฐ์ 

ที่ผลิต เพื่อการส่งออกของไทย ประกอบด้วย ดอกไม้ประดิษฐ์จากผ้าพอลิเอสเตอร์ ผ้าไหม ผ้าซาติน และอื่นๆ มีผู้ผลิต ทั้งที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน และไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน เป็นจำนวนมาก ทำการผลิต ทั้งในรูปอุตสาหกรรมครัวเรือน และโรงงานอุตสาหกรรม มูลค่าการส่งออกในอดีตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องคือ จากมูลค่า ๒,๓๙๖.๕ ล้านบาท ในพ.ศ. ๒๕๓๘ เพิ่มขึ้น เป็น ๒,๕๑๑.๕ ล้านบาท ในพ.ศ. ๒๕๓๗ ผู้ผลิตของไทยก็ได้พยายามปรับปรุงวิธีการผลิต และพัฒนารูปแบบ และคุณภาพ ให้ดีขึ้นอยู่เสมอ ตลาดส่งออกที่สำคัญคือ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ญี่ปุ่น แคนาดา และฝรั่งเศส เป็นต้น 

๔. ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ในครัวเรือนทำด้วยไม้ 

เช่น จาน ชาม ถาด เขียง ช้อนส้อม เป็นต้น ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ในครัวเรือนทำด้วยไม้ นับเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมสูงประเภทหนึ่ง ในต่างประเทศ การผลิตสินค้าประเภทนี้โดยทั่วไป จะมีทั้งการผลิต ในรูปอุตสาหกรรมครัวเรือน และอุตสาหกรรมโรงงาน มีแหล่งผลิตที่สำคัญใน ภาคเหนือ และภาคกลาง แต่ก่อนผลิตภัณฑ์ ประเภทนี้จะผลิตจากไม้สัก แต่ในระยะหลังเมื่อ ไม้สักขาดแคลน ผู้ผลิตก็หันมาใช้ไม้ชนิดอื่น ทดแทนกันมากขึ้น ในด้านการส่งออกสูงขึ้นเป็น ลำดับ กล่าวคือ จากมูลค่า ๑,๘๗๓.๒ ล้านบาท ในพ.ศ. ๒๕๓๕ เพิ่มขึ้นเป็น ๒,๔๕๘.๓ ล้าน บาท ในพ.ศ. ๒๕๓๗ ตลาดส่งออกที่สำคัญคือ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และอิตาลี 

๕. เครื่องใช้ในการเดินทางทำด้วยหนังแท้ หนังเทียม ผ้าและอื่นๆ 

สินค้าในกลุ่มนี้ประกอบด้วย กระเป๋าถือ กระเป๋าเดินทาง กระเป๋าใส่เอกสาร เป็นต้น การผลิตสินค้าประเภทนี้มีทั้งการผลิตในรูปอุตสาหกรรมในครัวเรือน และอุตสาหกรรมโรงงาน การส่งออกสินค้าประเภทนี้ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องกล่าวคือ จากมูลค่า ๗,๗๘๒.๒ ล้านบาท ในพ.ศ. ๒๕๓๕ เพิ่มขึ้นเป็น ๑๐,๕๔๗.๒ ล้านบาท ในพ.ศ. ๒๕๓๗ ตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ และฝรั่งเศส

๖. เครื่องปั้นดินเผาประเภทเครื่องใช้ในครัวเรือน และเครื่องประดับ 

การผลิตเครื่องใช้ในครัวเรือน และเครื่องประดับชนิดต่างๆ มีลักษณะการผลิต ทั้งในรูปอุตสาหกรรมในครัวเรือน และโรงงาน อุตสาหกรรมที่มีการใช้แรงงานเป็นจำนวนมาก แหล่งผลิตที่สำคัญอยู่ที่จังหวัดลำปาง เชียงใหม่ นครราชสีมา นครปฐม ราชบุรี และกรุงเทพฯ ลักษณะของสินค้าที่ผลิตกันแต่ละจังหวัดจะไม่ เหมือนกัน เพราะศิลปวัฒนธรรมและจินตนาการ ของผู้ผลิตแต่ละภาคจะไม่เหมือนกัน การผลิต เพื่อการส่งออกส่วนใหญ่จะผลิตตามรูปแบบของ ผู้สั่งซื้อเป็นหลัก มูลค่าการส่งออกมีอัตราการขยายตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ จากมูลค่า ๓,๒๓๖.๙ ล้านบาท ในพ.ศ. ๒๕๓๕ เพิ่ม ขึ้นเป็น ๔,๗๒๖.๔ ล้านบาท ในพ.ศ. ๒๕๓๗ ตลาดส่งออกที่สำคัญคือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ และอิตาลี เป็นต้น

๗. ตุ๊กตาผ้า 

ตุ๊กตาผ้า ที่ผลิตเพื่อการส่งออกของไทย มีหลายชนิดด้วยกัน เช่น ตุ๊กตารูปสัตว์ ตุ๊กตารูปคน ตุ๊กตารำไทย ตุ๊กตาพื้นเมืองอื่นๆ เป็นต้น การผลิตมีทั้งการผลิตในรูปอุตสาหกรรมในครัวเรือน และโรงงานอุตสาหกรรม มีแหล่งผลิตกระจายอยู่ในทุกภาคของประเทศ ด้านการส่งออกมีอัตราการขยายตัวลดลง คือ จากมูลค่า ๑,๑๐๕.๗ ล้านบาท ในพ.ศ. ๒๕๓๕ เป็น ๑,๐๗๗.๗ ล้านบาท ในพ.ศ. ๒๕๓๗ ตลาดส่งออกที่สำคัญคือ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร และนอร์เวย์ เป็นต้น 

๘.เครื่องจักสาน 

เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตกระจัดกระจายอยู่ทุกภาคของประเทศ ในลักษณะอุตสาหกรรมครัวเรือน แหล่งผลิต เพื่อการส่งออกที่มีชื่อเสียง จะอยู่ที่จังหวัดอ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ชลบุรี เป็นต้น มูลค่าการส่งออกไม่ค่อยสม่ำเสมอ ทั้งนี้เพราะต้องแข่งขันกับประเทศผู้ผลิตอื่น โดยเฉพาะประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และฟิลิปปินส์ ทั้งในด้านราคา และคุณภาพ การส่งออกในพ.ศ. ๒๕๓๕ มีมูลค่า ๙๗.๐ ล้านบาท และในพ.ศ. ๒๕๓๗ มีมูลค่าการส่งออกลดลงเป็น ๖๘.๕ ล้านบาท ตลาดส่งออกที่สำคัญคือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เยอรมนี ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร และซาอุดีอาระเบีย เป็นต้น

๙. กรอบรูปไม้ 

ที่ผลิตเพื่อการส่งออก ส่วนใหญ่เป็นกรอบรูปสำเร็จรูป พร้อมนำไปใส่รูปได้ทันที โดยผลิตจากไม้ชนิดต่างๆ เช่น ไม้สัก ไม้ทุเรียน ไม้แดง ไม้ยางพารา มีทั้งชนิด บุผ้าไหม ผ้ากำมะหยี่ และชนิดแบบเรียบ แหล่งผลิตจะอยู่ที่กรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง มูลค่าการส่งออกสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในพ.ศ. ๒๕๓๕ ส่งออก ๑,๑๐๔.๑ ล้านบาท เพิ่มขึ้น ๑,๗๓๘.๐ ล้านบาท ในพ.ศ. ๒๕๓๗ ตลาดส่งออกที่สำคัญคือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น แคนาดา สเปน และสหราชอาณาจักร เป็นต้น

๑๐. เครื่องทองลงหินและทองเหลือง 

ประกอบด้วยเครื่องใช้ในครัวเรือน และเครื่องประดับตกแต่ง เช่น ถาด จาน กระจาด ช้อนส้อม มีด แจกัน เชิงเทียน เป็นต้น (ช้อนส้อม มีด จะทำด้วยทอง ลงหินเท่านั้น) การผลิตกระทำในรูปอุตสาหกรรม ครัวเรือน มีแหล่งผลิตอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง การส่งออกในปัจจุบันมีมูลค่าเพิ่มขึ้น โดยในพ.ศ. ๒๕๓๕ มีมูลค่าการส่งออก ๒๘๓.๙ ล้านบาท และในพ.ศ. ๒๕๓๗ ส่งออกเพิ่มขึ้นเป็น ๓๓๔.๕ ล้านบาท ตลาดส่งออกที่สำคัญคือ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และสิงคโปร์ เป็นต้น 

นอกจากที่กล่าวมาแล้ว ยังมีผลิตภัณฑ์ หัตถกรรมของไทยอีกหลายชนิด ที่สามารถส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศได้เป็นมูลค่าสูง เช่น ผ้าไหม ผลิตภัณฑ์ผ้าไหม ผ้าฝ้าย ผลิตภัณฑ์ไม้ แกะสลัก และผลิตภัณฑ์พื้นเมืองอื่นๆ เป็นต้น
การแข่งขัน 

การส่งออกสินค้าหัตถกรรมไปยังตลาดต่าง- ประเทศจะต้องแข่งขันกับประเทศผู้ผลิตอื่นๆ เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน และฟิลิปปินส์ ฯลฯ ทั้งในด้านราคา คุณภาพ และรูปแบบของสินค้า ในเรื่องราคาหากเป็นสินค้าประเภทเดียวกันจะ ต้องมีราคาที่ใกล้เคียงกัน หรือราคาเดียวกันกับ ประเทศผู้ผลิตอื่น คุณภาพจะต้องทัดเทียมและ สม่ำเสมอเป็นที่ยอมรับของตลาด รูปแบบจะ ต้องมีเอกลักษณ์และมีความหลากหลายสามารถ ดึงดูดความสนใจผู้ซื้อทั่วไป นอกจากนี้ระยะเวลา ส่งมอบสินค้าแก่คู่ค้าจะต้องรวดเร็วและตรงต่อเวลา เพราะหากมีการผิดนัดกับลูกค้าแล้ว ก็จะทำให้ ผู้ซื้อขาดความเชื่อถือ และไม่อยากจะติดต่อค้า ขายกับเราด้วย

การพัฒนาผลิตภัณฑ์ 

การพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ต่อการขายสินค้าผลิตภัณฑ์หัตถกรรม เพราะผู้ซื้อมักจะไม่ชอบความจำเจ การพัฒนาคุณภาพสินค้าหัตถกรรมแต่ละชนิด ย่อมจะมีความแตกต่างกันไป ตามลักษณะเฉพาะตัวสินค้า เช่น สินค้าที่มีประโยชน์ทางด้านการใช้สอย นอกจากจะต้องมีรูปแบบใหม่สวยงามแล้ว จะต้องมีความคงทนด้วย ส่วนสินค้าที่เป็นของที่ระลึก ก็จะต้องเน้นถึงวัสดุใช้สอยในท้องถิ่นนั้นๆ ให้เห็นถึงเอกลักษณ์เฉพาะตัว และสิ่งที่ขาดไม่ได้คือ ความประณีต พิถีพิถันในการผลิต ส่วนสินค้าประเภทที่ใช้ในด้านการตกแต่ง และเครื่องประดับชนิดต่างๆ จะต้องเน้นทั้งในด้านความงดงามของศิลปะ และรูปแบบ ซึ่งจะต้องเปลี่ยนแปลงไปตามสมัยนิยม นอกจากการพัฒนารูปแบบให้มีความแปลกใหม่แล้ว สิ่งที่ควรทำอย่างยิ่งคือ การนำเอาเทคนิคการผลิตสมัยใหม่ รวมทั้งเครื่องมือสมัยใหม่เข้ามาช่วย เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพดี และต้นทุนการผลิตที่ไม่สูงจนเกินไป

การส่งเสริมการผลิต 

มีหน่วยงานทั้งภาครัฐบาล และเอกชน ให้การส่งเสริมการผลิตอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กองส่งเสริมหัตถกรรมไทย ในส่วนกลาง รวมทั้งศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่น ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคใต้ จังหวัดสงขลา และสำนักเงินทุนหมุนเวียน เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม ในครอบครัวและหัตถกรรมไทย สำนักงานคณะ กรรมการส่งเสริมการลงทุน กรมพัฒนาชุมชน กรมศิลปากร กรมอาชีวศึกษา เกษตรจังหวัด หอ การค้าจังหวัด เป็นต้น ได้ดำเนินการส่งเสริมการ ผลิตสินค้าหัตถกรรม ด้วยการให้คำแนะนำ ฝึก อบรมวิธีการผลิต การพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ตลอดจนการให้กู้ยืมเงินของสำนักงานเงินทุน หมุนเวียนเพื่อนำไปลงทุนในด้านผลิตสินค้า ผลิตภัณฑ์พื้นบ้านออกจำหน่าย เป็นต้น

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ให้การส่งเสริมการลงทุน แก่ผู้ขอรับการส่งเสริมการลงทุน ผลิตเพื่อการส่งออก โดยผู้ประกอบการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน จะได้รับสิทธิประโยชน์ภายใต้ขอบเขตของพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน เช่น สิทธิประโยชน์ด้านภาษี สิทธิและประโยชน์เพิ่มเติมสำหรับการผลิตเพื่อ การส่งออก เป็นต้น มีหัตถอุตสาหกรรมหลายประเภทด้วยกัน ได้รับการส่งเสริมการลงทุน เช่น อุตสาหกรรมการเจียระไนพลอย การผลิตเครื่องประดับมีค่า และเครื่องประดับเทียม การผลิตเครื่องปั้นดินเผา เป็นต้น

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow