Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การผลิตผลิตภัณฑ์หัตถกรรมในประเทศไทย

Posted By Plookpedia | 27 ธ.ค. 59
12,536 Views

  Favorite

การผลิตผลิตภัณฑ์หัตถกรรมในประเทศไทย

ในประเทศไทยการผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ด้วยฝีมือ ซึ่งเป็นงานหัตถกรรม มีอยู่มากมายหลายชนิด ทำด้วยวัสดุ และวัตถุดิบ ที่สามารถหาได้ในท้องถิ่นนั้นๆ นอกจากจะมุ่ง เพื่อประโยชน์ใช้สอยเป็นหลักแล้ว ยังสอดใส่ศิลปะในการประดิษฐ์ลงไปในสิ่งประดิษฐ์ให้ดูสวยงาม ทำให้ชิ้นงานต่างๆ ดูมีคุณค่า และความงามอย่างโดดเด่น ทางศิลปวัฒนธรรมของชนชาวไทยตลอดมา ไม่แพ้ชนชาติอื่นๆ 

ผลิตภัณฑ์หัตถกรรม ที่ผลิตในประเทศไทย มีอยู่เป็นจำนวนมาก เกินกว่าจะนำมากล่าวได้หมดในที่นี้ หัตถกรรมของไทยแต่ละชนิดจะมีรูปแบบ แหล่งผลิต และประวัติความเป็นมา ที่แตกต่างกันไป ดังจะยกมากล่าวเพียง ๓ ประเภท ที่สำคัญมาก ดังนี้

การผลิตเครื่องจักสาน
การสานปลาตะเพียนจากใบลาน เป็นศิลปหัตถกรรมของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
กระเป๋าสานจากไม้ไผ่และหวาย
กระเป๋าสานจากเถาย่านลิเภา


๑. เครื่องจักสาน 

การผลิตเครื่องจักสานในประเทศไทย มีมาแต่โบราณ นับตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เห็นได้จากหลักฐานด้านโบราณคดี คือ การขุดค้นพบเครื่องปั้นดินเผาสมัยหินใหม่ ที่มีลักษณะรูปทรงคล้ายคลึงกับเครื่องจักสาน ทำขึ้นด้วยวิธียาดินเหนียวภายในภาชนะเครื่องจักสานให้หนาพอ แล้วนำไปเผา เมื่อเผาเสร็จแล้วภาชนะเครื่อง จักสานจะถูกไฟไหม้หมดไป เหลือแต่ลวดลายจัก สานปรากฏอยู่บนภาชนะเครื่องปั้นดินเผานั้น นอกจากนี้ยังมีตำนานเกี่ยวกับบุญญาธิการของ พระร่วงเจ้าแห่งอาณาจักรสุโขทัย ซึ่งเล่ากันต่อมา ว่า สมัยหนึ่งอาณาจักรนี้ตกเป็นเมืองขึ้นของขอม และจะต้องส่งส่วยน้ำศักดิ์สิทธิ์ไปถวาย พระร่วงฯ ได้ให้สานกระออมครุหรือครุ เพื่อบรรจุน้ำส่งไป ถวาย โดยน้ำมิได้รั่วไหลแม้แต่น้อย ตัวอย่างนี้ชี้ ให้เห็นได้ว่าเครื่องจักสานอยู่คู่กับชีวิตคนไทยมา เป็นเวลาช้านาน 

แม้จะมีการจัดทำเครื่องจักสานในประเทศไทยมาเป็นเวลานานแล้ว แต่จากการศึกษาของผู้ช่วยศาสตราจารย์มาโนช กงกะนันทน์ ผู้ศึกษาวิจัยเรื่อง "เครื่องจักสานราชบุรี" ได้สรุปไว้ว่า กรรมวิธีในการจัดทำเครื่องจักสานในปัจจุบัน ก็ยังคงไม่แตกต่างไปจากกรรมวิธีการผลิตในอดีตมากนัก คือ จัก ถัก เย็บ สาน และทอ 

เครื่องจักสานในประเทศไทยมีอยู่มากมายหลายชนิด แต่ก็สามารถแบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ 

๑. เครื่องจักสานสำหรับใช้สอยในชีวิตประจำวันคือ
๑.๑ ภาชนะต่างๆ เช่น กระบุง ตะกร้า กระจาด ตะแกรง กระเช้า กระติบข้าว เข่ง กระชุ และกระเป๋า เป็นต้น
๑.๒ เครื่องสำหรับดักจับสัตว์น้ำ เช่น ลอบ ไซ ข้อง อีจู้ สุ่ม เป็นต้น๑.๓ เครื่องสำหรับปูลาด ได้แก่ เสื่อชนิดต่างๆ เป็นต้น
๑.๓ เครื่องสำหรับปูลาด ได้แก่ เสื่อชนิดต่างๆ เป็นต้น
๑.๔ เครื่องที่เป็นเครื่องสวมศีรษะ เช่น งอบ หมวก เป็นต้น
๑.๕ เครื่องที่เป็นสิ่งประดับตกแต่ง เช่น ปลาตะเพียนสานด้วยใบลาน ตัวสัตว์ต่างๆ ที่สานจากไม้ไผ่และวัสดุอื่นๆ เป็นต้น

๒. เครื่องจักสานที่เป็นส่วนประกอบของอาคารบ้านเรือน เช่น ฝาเรือนที่สานด้วยตอกไม้ไผ่ ได้แก่ เสื่อลำแพน ฝาไม้ขัดแตะ เป็นต้น

ลักษณะรูปแบบของเครื่องจักสานในภาคต่างๆ

รูปแบบของเครื่องจักสานที่ผลิตในแต่ละภาคหรือท้องถิ่นต่างๆ จะมีรูปแบบลักษณะเด่น ที่ไม่เหมือนกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม ความนิยม วัสดุที่หาได้ในแต่ละท้องถิ่น และจุดประสงค์ในการใช้สอย เป็นตัวกำหนด ซึ่งจะขอยกตัวอย่างให้เห็นลักษณะรูปแบบเครื่องจักสานในแต่ละภาคดังนี้ 

ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 

เครื่องจักสานที่ผลิตในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีลักษณะคล้ายคลึงกัน คือ มีผลิตหวด ก่องข้าว กระติบข้าว และโตก เป็นต้น ทั้งนี้เพราะมีวัฒนธรรมการบริโภคข้าวเหนียวเหมือนกัน แต่เครื่องจักสานที่มีลักษณะเด่นเป็น เอกลักษณ์ของภาคเหนือ คือ เครื่องจักสานที่สาน อย่างละเอียดจนแทบไม่มีช่องว่างเลย แล้วเคลือบ ด้วยน้ำยางรัก และมีการวาดลวดลายสวยงามลง บนเครื่องจักสานนั้นๆ ซึ่งเรียกว่า "เครื่องเขิน" เครื่องเขินที่นิยมทำกันมากคือ ภาชนะ กล่องต่างๆ เช่น กล่องเก็บเมล็ดพันธุ์พืชต่างๆ มีฝาครอบ และหูหิ้ว สำหรับแขวนหีบหรือกล่องสำหรับเก็บเสื้อผ้า เป็นต้น เครื่องจักสานชนิดนี้ ตามแบบเดิมหาดูได้ยาก เพราะปัจจุบันไม่เป็นที่นิยมกันแล้ว 

เครื่องจักสานที่มีลักษณะเด่นของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ กระเป๋าลายขิต ซึ่งมีการประยุกต์จากลายผ้าพื้นเมือง ขณะนี้การผลิตมีอยู่น้อยมาก เพราะไม่ค่อยนิยมกัน 

ภาคกลางและภาคตะวันออก 

เครื่องจักสานที่ผลิตในภาคกลาง และภาคตะวันออก ส่วนใหญ่ ได้แก่ เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน และอุปกรณ์ในการประกอบอาชีพ เช่น กระบุง ตะกร้า งอบ และเสื่อ เป็นต้น ลักษณะเด่นของเครื่องจักสานจากไม้ไผ่ในภาคกลาง อยู่ที่สีสันของเนื้อไม้ไผ่ ซึ่งมีสีเหลืองสุกโดยธรรมชาติ และหากมีการลงเชลแล็ก และรมควัน ก็จะมีสีน้ำตาลไหม้สวยงาม แตกต่างจากเครื่องจักสานของภาคอื่นๆ 

ภาคใต้ 

เครื่องจักสานของภาคใต้เป็นเครื่องจักสาน ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่เหมือนภาคอื่น เพราะวัสดุที่ใช้ในการผลิต นอกจากไม้ไผ่แล้ว ยังมีพืชอื่นๆ เช่น เถาย่านลิเภา เครื่องจักสานที่ผลิตจากย่านลิเภา ได้แก่ กระเป๋า ที่ใส่ปากกา ดินสอ และกล่องต่างๆ เป็นต้น นอกจากนี้ยังนำต้น กระจูด และใบลำเจียก หรือปาหนัน มาใช้สานเสื่ออีกด้วย

วิธีปั้น เครื่องปั้นดินเผา
ผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาชนิดต่างๆ
ลูกถ้วยไฟฟ้าจากเครื่องปั้นดินเผา

 

    ๒. เครื่องปั้นดินเผา 

การผลิตเครื่องปั้นดินเผาของไทย มีการผลิตกันมานาน จากประวัติศาสตร์สมัยสุโขทัย ทุกคนคงเคยได้ยินถึงการผลิต "เครื่องสังคโลก หรือถ้วยชามสังคโลก" ได้แก่ เครื่องปั้นดินเผา ทั้งชนิดเคลือบและไม่เคลือบ มีรูปทรงลวดลาย สีสันสวยงาม มีคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรม และได้การพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน 

เครื่องปั้นดินเผาที่ผลิตในประเทศไทยมีอยู่หลายชนิดด้วยกัน ซึ่งสามารถแบ่งออกได้ ๕ ประเภท ตามลักษณะของเนื้อดิน ดังนี้ 

ก. เทร์ราคอตตา (TERRA COTTA) 

เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเนื้อหยาบสีออกแดงน้ำตาล มีทั้งชนิดเคลือบและไม่เคลือบ เช่น กระถางต้นไม้ แจกันดิน โอ่งมังกร เป็นต้น 

ข. เอิร์ทเทนแวร์ (EARTHENWARE) 

เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเนื้อดินแน่น ทึบแสง เคลือบมัน ส่วนใหญ่ผลิตเป็นเครื่องถ้วยชาม 

ค. สโตนแวร์ (STONEWARE) 

เป็น ผลิตภัณฑ์ที่มีเนื้อแข็งทึบแสง มีเนื้อดินผสมมาก ผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ ได้แก่ เครื่องใช้ และเครื่องประดับบ้าน

ง. พอร์ซเลน (PORCELAIN) 

เป็นผลิตภัณฑ์ชั้นดี มีเนื้อแกร่ง โปร่งแสง เคลือบเป็นมัน เคาะดูมีเสียงกังวาน ไม่ดูดน้ำ ผลิตเป็นของใช้ประจำวัน งานแพทย์ วิทยาศาสตร์ และเครื่องประดับชนิดต่างๆ

จ. โบนไชนา (BONE CHINA) 

เป็นเครื่องปั้นดินเผาชนิดที่ดีที่สุด ราคาแพงที่สุด มีความขาวและวาวมาก เนื้อบางเบาแข็งแกร่ง มีการใช้เถ้าจากกระดูกสัตว์ผสม เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีความเบาและเงางาม ผลิตเป็นเครื่องใช้ และเครื่องประดับชนิดต่างๆ 

นอกจากจะแบ่งตามลักษณะเนื้อดินแล้ว ยังมีการแบ่งตามลักษณะการใช้งานอีกด้วยคือ 

ก. เครื่องใช้สำหรับการก่อสร้าง เช่น กระเบื้องปูพื้น บุผนัง และสุขภัณฑ์ 
ข. เครื่องใช้สำหรับใช้ในครัวเรือน เช่น ถ้วย จาน ชาม ต่างๆ 
ค. เครื่องใช้สำหรับใช้ประดับตกแต่ง และของชำร่วย ของที่ระลึกต่างๆ เช่น แจกัน ตุ๊กตา รูปคน รูปสัตว์ต่างๆ เป็นต้น 
ง. เครื่องปั้นดินเผาสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมอื่น เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนประกอบเครื่องจักรกล หรือเครื่องไฟฟ้า เช่น ลูกถ้วยไฟฟ้า เป็นต้น 

การผลิตเครื่องปั้นดินเผาในประเทศไทย ปัจจุบันได้พัฒนาจากการผลิต เพื่อใช้ภายในประเทศ และทดแทนการนำเข้า มาเป็นอุตสาหกรรมที่ผลิต เพื่อการส่งออก โดยรัฐบาลมีนโยบายในการส่งเสริมการลงทุน โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังส่งเสริม ให้มีการนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่จากต่างประเทศเข้ามาช่วย ด้วยการเชิญชวนนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาร่วมลงทุนกับผู้ผลิตของไทย เป็นต้น 

ข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนพ.ศ. ๒๕๓๕ แสดงให้ทราบว่า มีโรงงานเครื่องปั้นดินเผา ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนรวม ๙๓ ราย โดยแยกเป็นผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้าง และเครื่องสุขภัณฑ์ ๑๖ ราย มีกำลังการผลิตกระเบื้องโมเสก ๑๑๑,๓๐๐ ตันต่อปี กระเบื้องปูพื้นบุผนัง ๔๗๔,๕๐๐ ตันต่อปี เครื่องสุขภัณฑ์ ๖๔,๓๐๐ ตันต่อปี ผู้ผลิตเครื่องปั้นดินเผาสำหรับใช้ในครัวเรือน ของชำร่วย ของที่ระลึก เครื่องประดับบ้าน รวม ๗๗ ราย มีกำลังการผลิตรวม ๑๑๙,๕๕๓ ตัน และ ๘๔.๖ ล้านชิ้น เป็นต้น โดยโรงงานเหล่านี้มีการลงทุนค่อนข้างสูง และบางรายร่วมลงทุนกับชาวต่างประเทศ มีการใช้เทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่ นอกจากนี้ยังมีผู้ผลิต ที่ทำการผลิต ในรูปอุตสาหกรรมในครัวเรือนอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งไม่สามารถรวบรวมจำนวน และกำลังการผลิตได้ 

แหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่สำคัญของไทยคือ ภาคเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดลำปาง และจังหวัดใกล้เคียง นอกจากนี้ยังมีการผลิตในภาคกลางที่กรุงเทพมหานคร และจังหวัดใกล้เคียง เช่น สมุทรสาคร นครปฐม ราชบุรี เป็นต้น ส่วนภาคอีสานมีมาก ที่ตำบลด่านเกวียน จังหวัดนครราชสีมา เป็นต้น

เครื่องทองเหลืองที่ใช้ในครัวเรือน
เครื่องประดับบ้านทำด้วยทองเหลือง

 

    ๓. เครื่องทองลงหิน (BRONZE WARE)

หรือมีชื่อเรียกอีกอย่างในสมัยโบราณว่า "เครื่องม้าล่อ" (จากเอกสารเก่าในประวัติศาสตร์จะพบว่า มีการใช้คำ "ม้าฬ่อ" และระบุว่า ช่างทำเครื่องทองลงหิน สมัยรัชกาลที่ ๔ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ซื้อทองม้าฬ่อ (โล่โก๊ะแตก) จากประเทศจีน ประมาณกิโลกรัมละ ๒๕ บาท มาหล่อใหม่ ทำเป็นขันน้ำพานรอง ฆ้องกระแต ระนาดแก้ว ตลอดจนได้หล่อเป็นพระพุทธรูป และลำกล้องปืนใหญ่ ต่อมานิยมทำเป็นขันลงหินกันมาก จนกระทั่งนายเกลียว บุนนาค ที่กรมวิทยาศาสตร์ กระทรวงอุตสาหกรรม แยกธาตุดู ทราบว่า แร่ธาตุที่ผสมอยู่ มีทองแดง ดีบุก จึงได้เริ่มผสมขึ้นใช้เองในประเทศไทย ไม่ต้องซื้อจากต่างประเทศเหมือนแต่ก่อน ทำให้อุตสาหกรรมนี้ เจริญขึ้นมาก) เครื่องทองลงหินมีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีน และนำเข้ามาในประเทศไทย ตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยการนำเอาโลหะ ๒ ชนิด คือ ดีบุก และทองแดง ผสมกัน แล้วหล่อหลอมทำ เป็นเครื่องใช้ต่างๆ เช่น ขันลงหิน ทัพพีลงหิน มีดลงหิน เป็นต้น มีการประดิษฐ์ลวดลาย ต่างๆ ลงไปให้ดูสวยงาม ฝีมือประณีตมีคุณภาพดี เป็นที่รู้จักและนิยมอย่างแพร่หลายในยุค รัตนโกสินทร์ตอนต้น แต่ต่อมาความนิยมลดลง ไปมาก เนื่องจากดูแลรักษายากเพราะจะต้องคอย ขัดอยู่เสมอ มิฉะนั้นจะหมองและประกอบกับมี ผลิตภัณฑ์ชนิดอื่นที่สวยงามและง่ายต่อการดูแล รักษา รวมทั้งมีราคาถูกกว่าอีกด้วย จึงทำให้ความ นิยมใช้เครื่องทองลงหินน้อยลง

ในราวพ.ศ. ๒๔๙๐ ผู้ผลิตเครื่องทองลงหินบางคน ได้พยายามพัฒนาเครื่องทองลงหิน ด้วยการประดิษฐ์ และพัฒนาลวดลายไทยใหม่ๆ ลงบนเครื่องทองลงหิน รวมทั้งใช้เขาสัตว์และไม้ มาประกอบเป็นด้ามมีด ช้อน และทัพพี ให้ดูแปลกใหม่ แต่ตลาดรับซื้อก็ยังอยู่ในวงแคบ ต่อมาเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๗ มีชาวต่างประเทศเข้ามาท่องเที่ยวพักผ่อนในประเทศไทยมากขึ้น ในช่วงเวลานี้เองมีผู้ผลิตเครื่องทองลงหิน ผู้มีความคิดกว้างไกล ได้คิดประดิษฐ์เครื่องทองลงหิน ให้มีลักษณะเป็นของที่ระลึก เช่น พวงกุญแจ ที่เปิดขวด และอื่นๆ ที่เหมาะสำหรับนำไปเป็นของฝาก หรือของขวัญ จนกระทั่งเป็นที่นิยมแพร่หลายมากขึ้น จึงได้มีการพัฒนารูปแบบ ให้สอดคล้องกับรสนิยมของชาวต่างประเทศ จนสามารถส่งออกไปจำหน่ายยังตลาดต่างประเทศได้ เป็นมูลค่านับร้อยล้านบาทต่อปี แต่สินค้า ประเภทนี้ก็ไม่เจริญเติบโตมากนัก เพราะขึ้นอยู่ กับความนิยมของผู้ซื้อในต่างประเทศซึ่งมักจะไม่ สม่ำเสมอ แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังสามารถขายไปยัง ตลาดต่างประเทศได้บ้าง

แหล่งผลิตเครื่องทองลงหินโดยทั่วไปอยู่ในกรุงเทพฯ และธนบุรี ซึ่งปัจจุบันมีน้อยราย และมีลักษณะการผลิตในรูปอุตสาหกรรมครัวเรือน เพราะเป็นอาชีพที่ตกทอดกันมานาน
จากตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้นเห็นได้ว่า ผลิตภัณฑ์หัตถกรรมแต่ละประเภท ล้วนแต่มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานมาแต่สมัยโบราณ ทั้งก่อนประวัติศาสตร์ และสมัยประวัติศาสตร์ มาจนถึงปัจจุบัน บางชนิดก็ได้เลิกผลิตกันไปแล้ว เพราะหมดความจำเป็นด้านการใช้สอย แต่บาง ชนิดแม้จะเลิกผลิตไปแล้ว แต่ก็มีการฟื้นฟูให้มี การผลิตขึ้นใหม่เพื่อจรรโลงไว้ซึ่งศิลปะทาง วัฒนธรรม ก็สามารถขายได้แม้จะมีราคาแพง เพราะบางคนต้องการเพื่อเก็บสะสมไว้ บางคนก็ ซื้อเพื่อประดับบ้านเรือน หรือบางคนก็ซื้อเพื่อให้ เป็นของขวัญของกำนัล เป็นต้น

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow