Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ขั้นตอนที่ ๓ การดูแลและอารักขาพืช

Posted By Plookpedia | 25 ธ.ค. 59
4,070 Views

  Favorite
ท่อสูบน้ำพญานาค
เครื่องพ่นสารเคมีแบบสูบชัก
เครื่องพ่นสารเคมีแบบสูบโยก
เครื่องพ่นสารเคมีชนิดใช้เครื่องยนต์แบบสะพานหลัง
เครื่องพ่นละอองหมอก

ขั้นตอนที่ ๓ การดูแลและอารักขาพืช

เครื่องมือชลประทาน 

ในอดีตการสูบน้ำจะใช้เครื่องสูบน้ำแทนระหัดไม้ ภายหลังจากการประสบความสำเร็จ ในการประดิษฐ์ท่อสูบน้ำเทพฤทธิ์ของหม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล เมื่อประมาณ ๔๐ ปี ก่อน เป็นต้นมา จึงมีการใช้ท่อเทพฤทธิ์อย่างแพร่หลาย ระหัดไม้ที่ใช้สูบน้ำ จึงลดน้อยลงไป เกษตรกรส่วนใหญ่จะใช้ท่อสูบน้ำที่เรียกกันว่า ท่อพญานาคหรือท่อเทพฤทธิ์ โดยมีการใช้เครื่อง สูบน้ำแบบหอยโข่งขนาดเล็กบ้างเล็กน้อย ท่อสูบ น้ำหรือเครื่องสูบน้ำแบบหอยโข่งเกือบทั้งหมด ผลิตภายในประเทศ 

ปัจจุบันนี้ได้มีโรงงานหลายแห่งได้พัฒนาเครื่องสูบน้ำแบบใหม่ โดยการปรับปรุงจากท่อเทพฤทธิ์ โดยปรับปรุงใบพัดเป็นแบบสองใบพัด สามารถสูบน้ำได้เร็วกว่าแบบเดิม ซึ่งมีใบพัดเพียงใบเดียวเกือบเท่าตัว โดยใช้กำลังเครื่องยนต์เท่าเดิม และราคาก็ไม่สูงกว่าแบบเดิมเท่าใดนัก 

เครื่องมือดูแลและอารักขาพืช 

เครื่องมือในการดูแลอารักขาในที่นี้หมายถึง เฉพาะเครื่องมือที่ใช้ในการปราบปราม และป้องกันศัตรูพืช แบ่งออกเป็นสองแบบคือ เครื่องมือกล และเครื่องพ่นสารเคมี 

๑. วิธีกำจัดวัชพืชด้วยเครื่องมือกล 

วัชพืชเป็นศัตรูที่สำคัญของพืช เพราะวัชพืชมีการเจริญเติบโตเร็ว และสามารถทนต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมได้ดี วัชพืชจะแย่งน้ำ แสงแดด และธาตุอาหาร ฯลฯ ทำให้ต้นพืชเจริญเติบโตไม่เต็มที่ และเป็นผลให้ผลิตผลลดลง วิธีกำจัดวัชพืชของเกษตรกรส่วนใหญ่มักจะใช้จอบเสียมในการกำจัดวัชพืช เพราะราคาถูก และยังใช้ประโยชน์ได้อีกหลายอย่าง เช่น ใช้ในการ ขุดหลุม ถางหญ้า เป็นต้น

คราดซี่ 

ใช้คราดซี่ซึ่งเกษตรกรประดิษฐ์ขึ้นเองลากเข้าไปในระหว่างแถว คราดให้วัชพืชหลุดจากดิน วิธีนี้จะใช้ได้ดีในสภาพดินค่อนข้างแห้ง ร่วน และวัชพืชยังเล็กอยู่ 

เครื่องกำจัดวัชพืชแบบใบล้อเข็น 

กองเกษตรวิศวกรรมได้ดำเนินการวิจัยพัฒนา ทดสอบ และปรับปรุง จนได้แบบเครื่องมือกำจัดวัชพืชแบบง่ายๆ หลายแบบ ตั้งแต่ใช้แรงคน จนถึงใช้เครื่องยนต์เป็นต้นกำลัง แบบที่ได้เผยแพร่สู่เกษตรกร และโรงงานผู้ผลิต ได้แก่ แบบล้อเข็น 

เครื่องมือกำจัดวัชพืชแบบล้อเข็น ใช้งานได้เฉพาะในการถากกำจัดวัชพืชเท่านั้น การทำงานคล่องตัว น้ำหนักเบา เหมาะสำหรับวัชพืชที่ยังเล็กอยู่ เครื่องกำจัดวัชพืชแบบล้อข็นนั้น สามารถถอดเปลี่ยนอุปกรณ์สำหรับกำจัดวัชพืชแบบถาก แบบพูนโคน แบบไถหัวหมู และแบบยกร่อง ได้ตามความต้องการ 

๒. เครื่องพ่นสารเคมี

เครื่องพ่นสารเคมีประเภทใช้แรงคน แบ่ง ออกได้ดังนี้ 

๒.๑ เครื่องพ่นสารเคมีแบบสูบชัก 

เครื่องพ่นสารเคมีชนิดนี้ เป็นเครื่องที่ใช้งานง่าย ราคาถูก และมีจำหน่ายทั่วไปในท้องตลาด เครื่องพ่นสารเคมีชนิดนี้ ไม่มีถังบรรจุสารเคมี เกษตรกรจะจัดหาถังบรรจุสารเคมีเอง โดยอาจจะใช้ถังแกลลอนบรรจุน้ำมัน หรือถังพลาสติก เมื่อนำสายดูดสารเคมีต่อเข้ากับถังบรรจุสารเคมีแล้ว ดึงก้านฉีดเข้าออก สารเคมีจะพ่นออกทางหัวฉีด เพื่อพ่นยาฆ่าแมลง ต่อไป เครื่องพ่นสารเคมีชนิดนี้เหมาะกับพื้นที่ ที่ทำการเพาะปลูกขนาดเล็ก และเหมาะสำหรับ พืชเตี้ยๆ เช่น กะหล่ำปลี หอม คะน้า เป็นต้น มีความสามารถพ่นสารเคมีฆ่าแมลงประมาณ ๓-๕ ไร่ต่อวัน และต้นพืชต้องไม่สูงเกินไป อายุ การใช้งานของเครื่องถ้าดูแลรักษาดีๆ ประมาณ ๒ ปี 

๒.๒ เครื่องพ่นสารเคมีแบบอัดลม 

เครื่องพ่นสารเคมีแบบนี้ โดยปกติจะมีขนาดบรรจุประมาณ ๕-๑๑ ลิตร เหมาะสำหรับพ่นสารเคมีในนาข้าว และพืชผลที่ไม่สูงเกินไปนัก สามารถพ่นสารเคมี ในเนื้อที่ประมาณ ๓-๕ ไร่ต่อวัน และพ่นได้ไกล ประมาณ ๑๕ ฟุต หรือประมาณ ๔-๕ เมตร อายุการใช้งานประมาณ ๓ ปี ถ้าดูแลรักษาดี

เครื่องพ่นสารเคมีแบบนี้มีถังรูปทรงกระบอก โดยมีกระบอกสูบอัดอากาศอยู่ด้านล่างของถัง ตัวถังสารเคมีปิดสนิท สำหรับเก็บอากาศ และทำหน้าที่เป็นห้องเก็บแรงดัน ใส่สารเคมีที่ผสมแล้วประมาณ ๗๐% ของปริมาตรถัง การที่ใส่สารเคมีไม่เต็มถัง ก็เพราะต้องการให้มีที่ว่างสำหรับอัดอากาศ ก่อนพ่นสารเคมีจะต้องสูบน้ำ และอัดลมเสียก่อน โดยปกติจะอัดลมให้เต็มถังเพียงครั้งเดียวเท่านั้นจึง จะสามารถพ่นน้ำสารเคมีได้หมดถัง แต่ในทาง ปฏิบัติแล้วไม่ได้เป็นอย่างนั้น คือ ผู้ใช้จะต้องปั๊ม ลมเพื่อเพิ่มแรงดันภายในถังอีก 

๒.๓ เครื่องพ่นสารเคมีแบบสูบโยก 

เครื่องพ่นสารเคมีชนิดนี้ทำด้วยโลหะไม่เป็นสนิม และมีอายุการใช้งานนานกว่า ๓ ปี ถังบรรจุน้ำยา โดยทั่วไปที่มีใช้กันแพร่หลายนั้น มีขนาดบรรจุ ประมาณ ๑๗ ลิตร มีสายสะพาย ๒ เส้น เหมือนกับสายสะพายทั่วๆ ไป ปั๊มทำงานโดยโยกขึ้นโยกลง เหมาะสำหรับพ่นสารเคมีในนาข้าว ไร่ฝ้าย ไร่ ข้าวโพด ฯลฯ และพืชไม่สูงมากนัก สามารถพ่น สารเคมีในเนื้อที่ประมาณ ๘-๑๒ ไร่ต่อวัน และ พ่นสารเคมีได้ไกลประมาณ ๒-๔ เมตร 

๒.๔ เครื่องพ่นสารเคมีแบบสะพายไหล่ 

มีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอกวงรี มีสายสะพาย สำหรับสะพายไหล่ และมีความจุประมาณ ๘-๑๐ ลิตร 

เครื่องพ่นสารเคมีชนิดนี้ จะมีชุดปั๊ม และห้องอัดลมอยู่ชุดหนึ่ง ซึ่งแยกจากก้นถัง และตัวถังบรรจุสารเคมี ฉะนั้นถังบรรจุสารเคมี ไม่จำเป็นจะต้องปิดสนิทเหมือนกับเครื่องพ่นสารเคมีแบบอัดลม หลักการทำงานของเครื่องจะสูบสารเคมี เข้าไปอัดอากาศในห้องเก็บแรงดัน ทำให้อากาศ ภายในห้องเก็บแรงดันสูงขึ้น จนสามารถดันสาร เคมีที่สูบเข้าไปให้ไหลออกไปยังก้านฉีด และหัว ฉีดได้

๒.๕ เครื่องพ่นสารเคมีชนิดใช้เครื่องยนต์แบบสะพายหลัง 

เป็นเครื่องพ่นสารเคมีที่ใช้กันแพร่หลายมาก เกษตรกรส่วนใหญ่นิยมใช้ปฏิบัติงานในไร่นา เนื่องจากสามารถทำงานเร็ว การทำงานของเครื่องพ่นสารเคมีชนิดนี้ ทำงานโดยพ่นละอองสารเคมีให้เป็นฝอยละเอียด โดยอาศัยพลังงานกล จากเครื่องยนต์ พัดลมออกไปกระทบกับสารเคมีที่ไหลออกสู่ปลายหัวฉีด เครื่องยนต์ที่จะใช้ เป็นเครื่องยนต์ชนิด ๒ จังหวะ ระบายความร้อนด้วยอากาศ ฉะนั้นเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง ที่เกษตรกรผู้ใช้จะต้องมีความรู้ในเชิงปฏิบัติเกี่ยวกับเครื่องพ่นสารเคมีชนิดนี้พอสมควร 

หัวฉีด 

หัวฉีดเป็นชิ้นส่วนที่สำคัญที่สุดของเครื่องพ่นสารเคมี ทำหน้าที่หลายอย่างพร้อมๆ กัน ได้แก่ บังคับให้สารเคมีที่ใช้แตกตัวเป็นละอองให้กระจายตัวอย่างสม่ำเสมอ และบังคับอัตราการไหลของสารเคมีให้มากหรือน้อย หัวฉีดที่ใช้กับเครื่องพ่นสารเคมี มีหลายชนิด ขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งาน ตามรายละเอียดข้างล่างนี้ 

หัวฉีดใช้แรงดันของเหลว หัวฉีดชนิดนี้ใช้กันมากในเครื่องพ่นสารเคมีชนิดต่างๆ ทั้งขนาดเล็ก ที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ และขนาดใหญ่ มีหลักการง่ายๆ คือ ใช้ความดัน บังคับให้ของเหลวไหลผ่านรูฉีดขนาดเล็ก ของเหลวที่หลุดพ้นจากรูฉีดออกไป จะแตกตัวเป็นละอองขนาดต่างๆ กัน มีทั้งขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ ที่แตกต่างกันมาก ขนาดของละอองเล็ก หรือใหญ่ขึ้นอยู่กับแรงดัน และขนาดของรูฉีด ถ้าความดันสูง ละอองสารจะละเอียด ถ้าความดันต่ำ ละอองสารจะหยาบ ขนาดของรูฉีดก็เช่นกัน รูฉีดขนาดเล็ก ผลิตละอองสารที่ละเอียด และขนาดใหญ่ผลิตละอองสารที่หยาบ 

หัวฉีดกลุ่มนี้แบ่งออกเป็น ๓ แบบ คือ แบบแรงปะทะ แบบรูปพัด และแบบรูปกรวย 

๑. หัวฉีดแบบแรงปะทะ 

เป็นหัวฉีดสำหรับใช้พ่นสารกำจัดวัชพืชโดยเฉพาะ ทำด้วยโลหะ หรือพลาสติกแข็ง เป็นชิ้นเดียวกัน มีรูขนาดเล็ก ตรงกลางของเหลวที่ไหลผ่านรูนี้ จะปะทะกับ ผ่นกั้น แล้วกระจายตัวออกเป็นละอองสาร ในลักษณะรูปพัด มีมุมระหว่าง ๒๕-๑๘๐ องศา ขึ้นอยู่กับความดันที่ใช้ แต่โดยทั่วๆ ไปหัวฉีดแบบนี้ใช้ความดันต่ำประมาณ ๕-๑๕ ปอนด์/ ตารางนิ้ว เพื่อละอองสารที่หยาบจะได้ไม่ปลิวไปถูกพืชชนิดอื่น ที่อยู่ข้างเคียง พื้นที่ที่ละอองสารตกลงไป จะเป็นรูปวงรีแคบๆ บริเวณปลายทั้ง ๒ ข้างจะโตเล็กน้อย 

๒. หัวฉีดแบบรูปพัด 

หัวฉีดแบบนี้ทำด้วยวัตถุชิ้นเดียว มีลักษณะกลม แบน ตรงกลางเจาะ เป็นรูปวงรีเล็กๆ ให้ของเหลวไหลผ่าน ของเหลวที่ไหลผ่านรูฉีดด้วยความดันสูง จะแผ่เป็นรูปพัด มีความกว้างของมุมที่ของเหลวออกมาต่างๆ กัน ระหว่าง ๖๕ องศา ถึง ๘๐ องศา อัตราการไหลจะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับขนาดของรูฉีด และความดัน หัวฉีดชนิดนี้ใช้ในงานป้องกันกำจัด วัชพืชด้วยความดันต่ำประมาณ ๑๕ ปอนด์/ ตารางนิ้ว เพื่อบังคับให้ละอองโตจะได้ไม่ปลิวไป ถูกพืชข้างเคียง นอกจากนั้นยังใช้พ่นสารป้องกัน กำจัดโรคและแมลง หรือใช้ในงานทางสาธารณสุข เพื่อพ่นสารกำจัดยุงด้วยความดันสูงประมาณ ๔๐-๖๐ ปอนด์/ตารางนิ้ว เพื่อให้ได้ละอองสารที่ละเอียด 

๓. หัวฉีดแบบรูปกรวย

เป็นหัวฉีดที่ใช้กันมากในการกำจัดศัตรูพืช ประกอบด้วยชิ้นส่วน สำคัญ ๒ ชิ้นคือ รูฉีด ทำด้วยโลหะบางๆ มีรูขนาดเล็กตรงกลางและแผ่น ทำให้เกิดกระแสวน ทำด้วยโลหะ หรือวัสดุแข็งเป็นแผ่นบางๆ หรือเป็นแท่งกลม มีรูหรือร่องเอียงให้ของเหลวผ่าน เพื่อเกิดการหมุนวนด้านหลังของรูฉีด และผ่านออกไปเป็นรูปกรวยกลม ถ้าพื้นที่ตรงกลางของ รูปกรวยนั้นว่างเรียกว่า หัวฉีดแบบกรวยกลวง แต่ถ้ารูปกรวยนั้นมีละอองสารเต็มเรียกว่า หัวฉีด แบบกรวยทึบ โดยทั่วๆ ไปนิยมใช้หัวฉีดแบบ กรวยกลวงมากกว่ากรวยทึบ เนื่องจากสิ้นเปลือง สารที่ใช้พ่นน้อยกว่า หัวฉีดแบบนี้มีขนาดของ รูฉีดและแผ่นซึ่งทำให้เกิดกระแสวนให้เลือก หลายขนาด เพื่อให้ได้อัตราการไหล และขนาดของละอองสารที่ต้องการ มักจะใช้ความดันสูง ตั้งแต่ ๕๐ ปอนด์/ตารางนิ้วขึ้นไป

เครื่องพ่นยาแบบน้ำน้อย

เป็นเครื่องมือที่ออกแบบมา เพื่อใช้ฉีดพ่นกำจัดวัชพืชแบบใช้ปริมาณน้ำยาต่อไร่น้อย (๒-๕ ลิตร/ไร่) เครื่องพ่นยาแบบนี้ไม่ต้องโยกปั๊มลมเข้าไปในถัง แต่ใช้วิธีการสลัดน้ำยาออกมา โดยการเหวี่ยงของจาน 

ลักษณะการออกของสารละลายเคมีเป็นรูปวงกลม ซึ่งเมื่อยกให้อยู่สูงจากผิวดิน หรือวัชพืช ตามกำหนด จะได้ความกว้างของน้ำยาตามที่ต้องการ 

เครื่องพ่นในไร่

ส่วนมากแล้วจะเป็นชนิดที่ติดท้ายรถแทรกเตอร์ และทดกำลังจากเพลาอำนวยกำลังของรถแทรกเตอร์ มาขับปั๊ม และชิ้นส่วนต่างๆ บางชนิด จะมีเครื่องยนต์อิสระติดตั้งต่างหากโดยเฉพาะ เครื่องพ่นชนิดนี้จะมีแขนยาวแยกออกเป็น ๓ ตอน กางออก ๒ ข้าง ตอนกลาง ๑ ข้าง สำหรับเป็นที่ ยึดท่อยางและหัวฉีด 

เครื่องพ่นละอองหมอก 

เป็นเครื่องพ่นสารเคมีสำหรับสวนผลไม้ และไม้ยืนต้น จะมีพัดลมขนาดใหญ่ที่ถูกขับ ด้วยความเร็วรอบสูง เพื่อให้เกิดกระแสลมแรงและเร็ว ความเร็วเริ่มแรกของกระแสลมสูงถึง ๒๐๐ กิโลเมตร/ชั่วโมง เพื่อพัดสารเคมีที่ฉีดออกมาจากหัวฉีด และปล่อยออกตรงบริเวณปล่องทางออก ของทางลม น้ำละลายสารเคมีที่ถูกฉีดพ่นออก มานี้จะถูกลมพัดให้แตกเป็นฝอยละอองเล็กๆ ปลิวขึ้นไปครอบคลุมบริเวณส่วนบนของต้นไม้ ละอองจะมีขนาดประมาณ ๕๐-๖๐ ไมครอน ถ้าเป็นการพ่นสารเคมีชนิดเข้มข้น จะพ่นในปริมาณที่น้อยกว่า แต่ขนาดของละอองจะเล็กลง และจะครอบคลุมต้นพืชได้ทั่วถึงกว่า 

รถขนย้ายผลิตผลการเกษตร 

การนำผลิตผลทางการเกษตรสู่ตลาดเป็นเรื่องสำคัญ ในอดีตถนนหนทางยังไม่ดี และเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ไว้ใช้งาน เช่น โค กระบือ จึง ใช้สัตว์นี้เทียมเกวียน ขนผลิตผลจากไร่นามาสู่ตลาดในเมือง 

ในปัจจุบันนี้ถนนหนทางได้พัฒนาดีขึ้น และผลิตผลจากไร่นามีจำนวนมาก ทำให้เกษตรกรจำเป็นต้องใช้รถพ่วง และรถเกษตรกร ในการขนย้ายผลิตผลทางการเกษตร รถเหล่านี้ผลิตภายในประเทศ 

กองเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร จึงได้คิดพัฒนารถพ่วง ให้สามารถบรรทุกของหนักๆ ได้มากกว่ารถพ่วงที่ใช้ในปัจจุบัน รถพ่วงบรรทุกน้ำหนักได้เพียง ๕๐๐ กิโลกรัม และระบบเบรกที่ ใช้นั้นคุณภาพต่ำ จึงทำให้ไม่ปลอดภัยแก่ผู้ใช้ รถ ที่ได้วิจัยและพัฒนานี้สามารถบรรทุกได้ถึง ๑,๐๐๐ กิโลกรัม โครงสร้างแข็งแรง การเลี้ยวคล่องตัว มี ระบบเบรคที่ล้อรถพ่วง ทำให้หยุดได้ตามความ ต้องการ ซึ่งจะปลอดภัยต่อผู้ใช้ นอกจากนั้นได้ ออกแบบกระบะให้สามารถเทได้ ทำให้ขนส่งได้ รวดเร็ว ปัจจุบันรถที่ได้รับการพัฒนานี้เป็นที่ยอม รับของเกษตรกรและมีการใช้งานอย่างกว้างขวาง ในกิจกรรมต่างๆ เช่น ขนย้ายผลิตผลปาล์มน้ำมัน หัวมัน ขนอาหารสัตว์ ใช้ในสวนผลไม้ เป็นต้น 

นอกจากนี้ยังมีโรงงานผลิตรถเกษตรกร หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่ารถ "อีแต๋น" สามารถบรรทุกได้ ๒,๐๐๐ กิโลกรัม กระบะสามารถยกเทได้ ด้วยระบบไฮดรอลิก ซึ่งใช้กันแพร่หลายในปัจจุบัน

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow