Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ศิลปะการทอผ้าพื้นเมืองของไทยในปัจจุบัน

Posted By Plookpedia | 23 ธ.ค. 59
8,898 Views

  Favorite
ดูรายละเอียดเพิ่มเติม
ดูรายละเอียดเพิ่มเติม
เหรียญทองโบโรพุทโธ ด้านหน้าและด้านหลัง

 

ศิลปะการทอผ้าพื้นเมืองของไทยในปัจจุบัน

การส่งเสริมผ้าพื้นเมืองในอดีตและปัจจุบัน

ดังที่กล่าวแล้วข้างต้นว่า ในประเทศไทยมีประวัติการทอผ้าใช้กันในหมู่บ้าน และในเมืองโดยทั่วไป มาตั้งแต่โบราณกาล แต่การทอผ้าด้วยมือตามแบบดั้งเดิมนั้น ก็เกือบจะสูญหายไปโดยสิ้นเชิง หากไม่ได้มีการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาได้ทันกาล ทั้งนี้ เพราะประเทศไทยเป็นประเทศเปิด มีการค้าขายกับต่างประเทศมาเป็นเวลานาน สามารถซื้อผ้านอก ที่สวยงามแปลกใหม่ และราคาถูกได้ง่าย มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ 

หลังจากที่มีการทำสนธิสัญญาบาวริงกับอังกฤษ ในปี พ.ศ. ๒๓๙๘ ไทยก็สั่งสินค้าผ้าจาก ต่างประเทศมาใช้มากขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งในสมัย รัชกาลที่ ๕ ได้มีการสำรวจพบว่า ไทยสั่งผ้าจากต่างประเทศเข้ามาเป็นจำนวนมากขึ้นทุกปี ทำให้สิ้นเปลืองเงินตราปีละมากๆ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ริเริ่มฟื้นฟูส่งเสริมการเลี้ยงไหม และทอผ้าไทยกันอย่างจริงจัง ในพ.ศ. ๒๔๕๒ โปรดฯ ให้ สถาปนากรมช่างไหมขึ้น และโปรดฯ ให้ตั้งโรงเรียนช่างไหมที่วังสระปทุม ซึ่งต่อมาขยายสาขาออกไปยังจังหวัดนครราชสีมา และบุรีรัมย์ ทรงจ้างครูชาวญี่ปุ่นมาสอนชาวบ้าน แต่การส่งเสริมได้ผลไม่คุ้มทุน ต่อมาจึงเลิกจ้างครูญี่ปุ่น และชาวบ้านก็หันมาทอผ้าตามวิธีพื้นบ้านเช่นเดิม 

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนับเป็นโชคอันประเสริฐอย่างหนึ่งสำหรับผ้าพื้นเมืองของไทย ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงสนพระราชหฤทัยผ้าพื้นเมืองเกือบทุกประเภทอย่างแท้จริง ต่อเนื่องมากว่า ๒๐ ปี ทรงตั้งมูลนิธิศิลปาชีพ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ขึ้น เพื่อส่งเสริมการทอผ้าของชาวบ้านในชนบท ทรงเป็นผู้นำในการใช้สอยผ้าพื้นเมืองของไทย ในชีวิตประจำวัน และในงานพระราชพิธีต่างๆ ทรงนำผ้าไทยไปเผยแพร่ในต่างประเทศ ลวดลายที่ชาวบ้านได้สืบทอดกันมาแต่โบราณนั้น ก็ได้ทรงเก็บตัวอย่างไว้ เพื่ออนุรักษ์ และเพื่อศึกษา สืบทอดต่อไป ดังนั้นในเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๓๕ องค์การยูเนสโกจึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทอง โบโรพุทโธ และประกาศพระเกียรติคุณ ในฐานะ ที่ทรงเป็นผู้นำในการส่งเสริมศิลปหัตถกรรมการทอผ้าพื้นเมืองไทยเป็นตัวอย่างที่ดีในโลก 

หน่วยงานของรัฐบาลหลายแห่ง เช่น กองอุตสาหกรรมสิ่งทอ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ก็ได้ส่งนักวิชาการออกไปศึกษา ค้นคว้าศิลปะการทอผ้าพื้นบ้านของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รูปแบบ และลวดลายผ้า จากจังหวัดต่างๆ นำมาพิมพ์เป็นเอกสารเผยแพร่หลายครั้ง 

มหาวิทยาลัยในท้องถิ่น และศูนย์วัฒนธรรม ในบางจังหวัดบางแห่ง เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถาบันทักษิณคดีศึกษาที่สงขลา ฯลฯ ได้ทำการ ศึกษาค้นคว้าเรื่องผ้าในท้องถิ่น และจัดนิทรรศการ รวมทั้งพิมพ์เอกสารเกี่ยวกับผ้าในภูมิภาคออกเผยแพร่ด้วย 

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เช่น ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดน่าน รวมทั้งศูนย์วัฒนธรรมในต่างจังหวัดหลายแห่ง ต่างก็มีการจัดนิทรรศการถาวร เกี่ยวกับผ้าพื้นเมืองของท้องถิ่นนั้นๆ กันอยู่บ้างแล้ว 

ในเรื่องการยกย่องเชิดชูเกียรติช่างทอผ้านั้น สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ก็ได้เล็งเห็นคุณค่าของศิลปินผู้ทอผ้าพื้นเมือง และได้ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติช่างทอผ้าฝีมือเอก ๒ คน ให้เป็นศิลปินแห่งชาติ คือ นางแสงดา บัณสิทธิ์ จังหวัดเชียงใหม่ กับนางพยอม ลีนวัฒน์ จังหวัดร้อยเอ็ด นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ยังได้จัดประชุมสัมมนาทางวิชาการ ส่งเสริมด้านวิจัย และผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าใจขบวนการผลิต และลวดลายต่างๆ ของผ้าพื้นเมืองไทย 

เห็นได้ว่าในปัจจุบันนี้ ผ้าพื้นเมืองของไทย ในภาคต่างๆ กำลังได้รับการอนุรักษ์ฟื้นฟู และพัฒนา รวมทั้งได้รับการส่งเสริมให้นำมาใช้สอยในชีวิตประจำวันกันอย่างกว้างขวางมาก ดังนั้น จึงเกิดมีการผลิตผ้าพื้นเมืองในลักษณะอุตสาหกรรมโรงงาน โดยมีบริษัทจ้างช่างทอ ทำหน้าที่ทอผ้าด้วยมือ ตามลวดลายที่กำหนดให้ โรงงาน หรือบริษัทจัดเส้นไหม หรือเส้นด้าย ที่ย้อมสีเสร็จแล้ว มาให้ทอ เพื่อเป็นการควบคุมคุณภาพ บางแห่งจะมีคนกลางรับซื้อผ้าจากช่างทออิสระ ซึ่งเป็นผู้ปั่นด้าย ย้อมสี และทอตามลวดลายที่ต้องการเองที่บ้าน แต่คนกลางเป็นผู้กำหนดราคา ตามคุณภาพ และลวดลายของผ้า ที่ตลาดต้องการ ในบางจังหวัดมีกลุ่มแม่บ้านช่างทอผ้าที่รวมตัวกันทอผ้าเป็นอาชีพเสริม และนำออกขายในลักษณะสหกรณ์ เช่น กลุ่มทอผ้าของศิลปาชีพ อย่างไรก็ตามในสภาพที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น เป็นการทอ เพื่อขายเป็นหลัก ดังนั้นจึงได้มีการปรับปรุงพัฒนาสีสัน คุณภาพ และลวดลาย ให้เข้ากับรสนิยมของตลาด

ตัวอย่างผ้าที่ทอเป็นลวดลายด้วยเทคนิคขิตเรียกว่า ผ้าขิต
ดูรายละเอียดเพิ่มเติม
ผ้าเกาะยอทอด้วยลวดลายและเทคนิคโบราณ แต่ใช้วัสดุใยสังเคราะห์และสีเคมี

 

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม


การทอผ้าแบบพื้นบ้านพื้นเมือง ในภูมิภาคต่างๆ

ในปัจจุบันการทอผ้าพื้นบ้านพื้นเมืองหลายแห่งยังทอลวดลายสัญลักษณ์ดั้งเดิม โดยเฉพาะในชุมชน ที่มีเชื้อสายชาติพันธุ์บางกลุ่มที่กระจายตัวกันอยู่ในภาคต่างๆ ของประเทศไทย ศิลปะการทอผ้าของกลุ่มชนเหล่านี้ จึงนับว่าเป็นเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่มอยู่จนถึงทุกวันนี้ หากจะแบ่งผ้าพื้นเมืองของกลุ่มชนเหล่านี้ ตามภาคต่างๆ เพื่อให้ เห็นภาพชัดเจนขึ้น ก็อาจจะแบ่งคร่าวๆ ได้ดังนี้ 

๑. การทอผ้าในภาคเหนือแถบล้านนาไทย 

(จังหวัดเชียงราย พะเยา ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน) โดยเฉพาะในกลุ่มชาวไทยโยนก หรือไทยยวน และชาวไทยลื้อ ซึ่งเป็นกลุ่มชนดั้งเดิมของล้านนาไทย มีความเชื่อเรื่องการตั้งถิ่นฐาน ในสภาพแวดล้อมที่เป็นภูเขา และมีทางน้ำไหล ผู้หญิงไทยยวน และไทยลื้อในปัจจุบันนี้ ยังรักษาวัฒนธรรมการทอผ้า ในรูปแบบ และลวดลายที่สืบทอดกันมา โดยเฉพาะการทอ ซิ่นตีนจก ผ้าขิต และผ้าที่ใช้เทคนิค "เกาะ" เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีชนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่ไม่ใช่กลุ่มที่พูดภาษาตระกูลไท อาศัยอยู่ในแถบภาคเหนือบริเวณล้านนาไทย เช่น ลื้อ ลัวะ กะเหรี่ยง ไทยใหญ่ มอญ และไทยภูเขาเผ่าต่างๆ เช่น แม้ว มูเซอ อีก้อ เย้า ลีซอ เป็นต้น ชนกลุ่มน้อย เหล่านี้ ต่างก็มีวัฒนธรรมการทอผ้าซึ่งส่วนใหญ่ เป็นผ้าฝ้าย และตกแต่งเป็นลวดลายสัญลักษณ์ที่แสดงเอกลักษณ์เผ่าพันธุ์ของกลุ่มชนของตนเอง ทั้งสิ้น 

การทอผ้าไหมยกดอก และการทอซิ่นไหม ต่อตีนจก ยกดิ้นเงินดิ้นทองนั้น รู้จักกันในหมู่เจ้านายชั้นสูงในภาคเหนือ ซึ่งได้ฝึกอบรมให้หญิงชาวบ้านตามหมู่บ้านหลายแห่ง เช่น ในจังหวัดเชียงใหม่ และลำพูน รู้จักทอ จนทำกันเป็นอุตสาหกรรมในหมู่บ้านหลายแห่ง จนถึงทุกวันนี้ 

เป็นที่น่าสังเกตว่าผ้าที่ทอโดยกลุ่มชนต่างๆ ในภาคเหนือนี้ ต่างกลุ่มต่างก็มีเอกลักษณ์ของตนเอง จนผู้ที่คุ้นเคย ก็สามารถจะแยกออก และชี้ให้เห็นความแตกต่างจากกันได้ 

๒. การทอผ้าในภาคกลาง 

ในภาคกลางตอนบน (จังหวัดพิษณุโลก พิจิตร อุตรดิตถ์ และ สุโขทัย) และภาคกลางตอนล่าง (จังหวัดอุทัยธานี ชัยนาท สุพรรณบุรี สระบุรี ลพบุรี นครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี ฯลฯ) มีกลุ่มชนชาวไทยยวนและชาว ไทยลาว อพยพไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในช่วงต่างๆ ของประวัติศาสตร์ไทย พวกไทยลาวนั้น มีหลายเผ่า เช่น พวน โซ่ง ผู้ไท ครั่ง ฯลฯ ซึ่งอพยพย้ายถิ่นเข้ามา เพราะสงคราม หรือสาเหตุอื่นๆ คนไทยพวกนี้ยังรักษาวัฒนธรรม และเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นไว้ได้ โดยเฉพาะวัฒนธรรมการทอผ้าของผู้หญิงที่ใช้เทคนิคการทำตีนจก และขิต เพื่อตกแต่งเป็น ลวดลายบนผ้าที่ใช้นุ่งในเทศกาลต่างๆ หรือ ใช้ทำที่นอน หมอน ผ้าห่ม ผ้าเช็ดหน้า ผ้าขาวม้า ฯลฯ แม้ว่าในปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจและสังคม เปลี่ยนไปมาก คนไทยเหล่านี้ก็ยังยึดอาชีพทอผ้า เป็นอาชีพรองต่อจากการทำนาซึ่งเป็นอาชีพหลัก และเช่นเดียวกันกับผ้าในภาคเหนือ ลวดลายที่ ตกแต่งบนผืนผ้าที่ทอโดยกลุ่มชนต่างเผ่ากันใน ภาคกลางนี้ ก็มีลักษณะและสีสันแตกต่างกัน จนผู้ที่ศึกษาคุ้นเคย สามารถจะระบุแหล่งที่ผลิตผ้าได้จากลวดลายและสี

๓. การทอผ้าในภาคอีสาน 

ในภาคอีสานมีชุมชนตั้งถิ่นฐานโดยอาศัยบริเวณที่มีความอุดมสมบูรณ์จากลำห้วย หนองบึง หรือแม่น้ำ กลุ่มคนไทยเชื้อสายลาวเป็นชนกลุ่มใหญ่ของภาคอีสาน กระจายกันอยู่ตามจังหวัดต่างๆ และมีวัฒนธรรมการทอผ้า อันเป็นประเพณีของผู้หญิง ที่สืบทอดกันมาช้านานเกือบทุกชุมชน แต่ละกลุ่มแต่ละเผ่า ก็จะมีลักษณะและลวดลายการทอผ้า ที่แปลกเป็น ของตัวเองอย่างชัดเจน โดยเฉพาะผ้ามัดหมี่ ผ้าขิต และผ้าไหมหางกระรอก กลุ่มคนไทยเชื้อสายลาว ในอีสานอาจแบ่งคร่าวๆ ได้ดังนี้ 

ก. กลุ่มจังหวัดเลย นครราชสีมา ชัยภูมิ (ส่วนใหญ่เป็นลาวหลวงพระบาง) 
ข. กลุ่มจังหวัดหนองคาย อุดรธานี ขอนแก่น (ส่วนใหญ่เป็นลาวเวียงจันทน์) 
ค. กลุ่มจังหวัดนครพนม สกลนคร กาฬสินธุ์ (ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ไท) 
ง. กลุ่มจังหวัดอุบลราชธานี ยโสธร ร้อยเอ็ด มุกดาหาร มหาสารคาม (ส่วนใหญ่เป็น ลาวจำปาศักดิ์) 

นอกจากกลุ่มคนไทยเชื้อสายลาวแล้ว ในภาคอีสานยังมีชนกลุ่มอื่นๆ เช่น ข่า กระโซ้ กะเลิง ส่วย และเขมรสูง โดยเฉพาะคนไทยเชื้อสายเขมรนั้น กระจายกันอยู่ในบริเวณจังหวัดศรีสะเกษ สุรินทร์ และบุรีรัมย์ และมีประเพณีการทอผ้าที่สวยงามสืบทอดกันมาช้านาน โดยเฉพาะในจังหวัดสุรินทร์มีหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงหลายหมู่บ้านทอผ้าชนิดต่างๆ เช่น ผ้าปูมแบบเขมร ผ้าหมี่โฮล ผ้าอัมปรม ผ้าลายสาคู เป็นต้น 

๔. การทอผ้าในภาคใต้ 

ภาคใต้มีแหล่งทอผ้าที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง โดยเฉพาะแหล่งทอผ้ายกดิ้นเงินดิ้นทอง ซึ่งสันนิษฐานว่า ได้รับอิทธิพลจากชาวมุสลิม ชาวอาหรับ ที่มาค้าขายตั้งแต่สมัยโบราณ และต่อมาผ้ายกเงินยกทอง ได้กลายเป็นที่นิยมในหมู่ชนชั้นสูงของอาณาจักรไทย ในภาคกลาง บรรดาพวกเจ้าเมือง และข้าราชการหัวเมืองภาคใต้ จึงต่างสนับสนุนให้ลูกหลาน และชาวบ้านทอกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน โดยเฉพาะที่เมืองนครศรีธรรมราช เมืองสงขลา และที่ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ล้วนเคยเป็นแหล่งทอผ้ายก ที่มีชื่อเสียงมากในอดีต เป็นที่กล่าวขวัญถึง และนิยมกันมากในหมู่ขุนนาง สมัยอยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ ปัจจุบันผ้ายกเมืองนคร มีผู้บริจาคให้แก่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช และจัดแสดงให้ประชาชนชมอยู่ในห้องผ้าของพิพิธภัณฑ์จำนวนมาก แต่ช่างทอที่มีชื่อเสียงเสียชีวิตไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ และมีผู้สืบทอดความรู้ไว้น้อยมาก จึงไม่มีการทอกันเป็นล่ำเป็นสันเหมือน สมัยโบราณ

นอกจากผ้ายกดิ้นเงินดิ้นทองแล้ว ก็มีการทอผ้าพื้นบ้านพื้นเมืองใช้กันหลายแห่งในภาคใต้ เช่น ทอผ้าขาวม้า ผ้าฝ้ายยกดอก ผ้าหางกระรอก ผ้าโสร่ง ผ้าตาเล็ดงา เป็นต้น ปัจจุบันนี้ก็ได้มีการฟื้นฟ ูส่งเสริม และทอผ้า สำหรับใช้สอยในชีวิตประจำวันอยู่หลายแห่ง เช่น ที่เกาะยอ จังหวัดสงขลา และที่ตำบลพุมเรียง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นต้น 
 

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม
ลายเส้นตรง ลายซิกแซก ลายตะขอ
ลายฝนตก :ลวดลายผ้ามัดหมี่พื้นบ้านที่มีลักษณะเหมือนฝนตกหรือกองฟาง

 

ลายต้นไผ่ :ผ้าหมี่โฮลลายต้นไผ่
ลายต้นไผ่ :ผ้าหมี่โฮลลายต้นไผ่
ลายพญานาคหรืองู และปราสาท :ผ้าขิตลายนาคและปราสาท

 

ผ้าขิตลายกากบาท
ผ้าขิตลายขนมเปียกปูน
ผ้าขิตลายนกฮูก
ลายนาคและปราสาท
ผ้าตีนจก ลายกากบาท (พระอาทิตย์) พระจันทร์ และนก
หมอนขิตลายพระอาทิตย์ ลายปราสาท ลายตากบ
ผ้าลายน้ำไหล
ผ้ามัดหมี่สุรินทร์


 ลวดลายและสัญลักษณ์ในผ้าไทย 

ผ้าพื้นบ้านพื้นเมืองของไทยที่ทอกันตามท้องถิ่นต่างๆ ในปัจจุบันนี้เต็มไปด้วยลวดลาย และสัญลักษณ์ต่างๆ มากมาย ซึ่งผู้ใช้ผ้าในยุคปัจจุบันอาจไม่เข้าใจความหมาย และมองไม่เห็นคุณค่า 

ลวดลายและสัญลักษณ์เหล่านี้ บางลายก็มีชื่อเรียกสืบต่อกันมาหลายชั่วคน บางชื่อก็เป็นภาษาท้องถิ่น ไม่เป็นที่เข้าใจของคนไทยในภาคอื่นๆ เช่น ลายเอี้ย ลายบักจัน ฯลฯ บางชื่อก็เรียกกันมาโดยไม่รู้ประวัติ เช่น ลายแมงมุม ลายปลาหมึก ซึ่งแม้แต่ผู้ทอก็อธิบายไม่ได้ว่าทำไมจึงเรืยกชื่อนั้น บางลวดลายก็มีผู้ตั้งชื่อให้ใหม่ เช่น ลาย "ขอพระเทพ" เป็นต้น สัญลักษณ์ และลวดลายบางอย่าง ก็เชือมโยงกับคติและความเชื่อของคนไทยพื้นบ้าน ที่นับถือสืบต่อกันมาหลายๆ ชั่วอายุคน และยังสามารถเชื่อมโยงกับลวดลายที่ปรากฏอยู่ในศิลปะอื่นๆ เช่น บนจิตรกรรมฝาผนัง และสถาปัตยกรรม หรือบางทีก็มีกล่าวถึงในตำนานพื้นบ้าน และในวรรณคดี เป็นต้น 

บางลวดลายก็เป็นคติร่วมกับความเชื่อสากล และปรากฏอยู่ในศิลปะของหลายชาติ เช่น ลายขอ หรือลายก้นหอย เป็นต้น ซึ่งนับว่าเป็นลายเก่าแก่แต่โบราณของหลายๆ ประเทศทั่วโลก หากเรารู้จักสังเกต และศึกษาเปรียบเทียบแล้ว ก็จะเข้าใจลวดลาย และสัญลักษณ์ในผ้าพื้นเมืองของไทยได้มากขึ้น และมองเห็นคุณค่าได้ลึกซึ้งขึ้น

เพื่อง่ายต่อการทำความเข้าใจ เราอาจจะแบ่งลวดลายต่างๆ ได้ดังนี้ 

ก. ลวดลายต้นแบบ 

ผ้าพื้นเมืองของไทยเกือบทุกผืนจะปรากฏลวดลายพื้นฐานบางลายอย่างซ้ำแล้วซ้ำเล่า ลวดลายเหล่านี้ เป็นลายง่ายๆ ซึ่งปรากฏอยู่บนศิลปะพื้นบ้านประเภทอื่นๆ เช่น เครื่องปั้นดินเผา เครื่อง จักสาน ฯลฯ ทั้งในประเทศไทย และในประเทศอื่นๆ 

ลายที่ปรากฏอยู่บนผืนผ้าพื้นเมืองของไทย อาจจะแยกได้ดังนี้ 

๑. ลายเส้นตรง หรือเส้นขาด ในทางตรงยาว หรือทางขวาง เส้นเดียว หรือหลายๆ เส้น ขนานกัน 

ลายเส้นตรงทางขวางเป็นลายผ้าที่ใช้กันทั่วไปในแถบล้านนาไทยมาแล้วแต่โบราณ จะเห็นได้จากจิตรกรรมวัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน และวิหารลายคำ วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ 

ลายเส้นตรงทางยาวมักพบในผ้านุ่งของคนไทยกลุ่มลาวโซ่ง ลาวพวน เป็นต้น ในภาคอีสาน ลายเส้นตรงยาวสลับกับลายอื่นๆ จะปรากฏอยู่ในผ้ามัดหมี่ ทั้งไหมและฝ้าย และบ่อยครั้งเราจะพบผ้ามัดหมี่อีสาน เป็นลายเส้นต่อที่มีลักษณะเหมือนฝนตกเป็นทางยาวลงมา หรือที่ประดับอยู่ ในผ้าตีนจก เป็นเส้นขาดเหมือนฝนตก หรือลายเส้นขาดขวางเหมือนเป็นทางเดินของน้ำ เป็นต้น

ลายเส้นตรงทั้งเส้นขวางและเส้นดิ่งนั้น ยังเป็นลวดลายที่พบในผ้าของพวกลัวะ และพวกกะเหรี่ยงอีกด้วย 

๒. ลายฟันปลา ลายนี้ปรากฏอยู่ตามเชิงผ้าของตีนจกและ ผ้าขิต ตลอดจนเป็นลายเชิงของซิ่นมัดหมี่ของผ้า ที่ทอในทุกๆ ภาคของประเทศไทย ชาวบ้านทาง ภาคอีสานเรียกว่า "ลายเอี้ย" ลายฟันปลา อาจจะปรากฏในลักษณะทางขวาง หรือทางยาวก็ได้ บางครั้งจะพบผ้ามัดหมี่ที่ตกแต่งด้วยลายฟันปลา ทั้งผืนก็มี นอกจากนี้ผ้าของชาวเขาเผ่าม้งทาง ภาคเหนือ จะใช้ลายฟันปลาประดับผ้าอยู่บ่อยๆ 

๓. ลายสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน หรือลายกากบาท เกิดจากการขีดเส้นตรงทางเฉียงหลายๆ เส้นตัดกัน ทำให้เกิดกากบาท หรือตารางสี่เหลี่ยม ขนมเปียกปูนหลายๆ รูปติดต่อกัน ลายนี้พบอยู่บนผ้าจก ผ้าขิต และผ้ามัดหมี่ โดยทั่วไปทุกภาคของไทย ในลาวและอินโดนีเซีย และบนพรมตะวันออกกลาง ยังพบบนลวดลายผ้าของชาวเขา เผ่าม้ง กะเหรี่ยง ในประเทศไทย และสาธารณรัฐประชาชนจีนด้วย

๔. ลายขดเป็นวงเหมือนก้นหอย หรือตะขอ ลายนี้พบอยู่ทั่วไปเช่นกัน บนผ้าจก ผ้าขิต และผ้ามัดหมี่ของทุกภาค ชาวบ้านภาคเหนือ และภาคอีสานเรียกว่า "ลายผักกูด" ซึ่งเป็นชื่อของพืชตระกูลเฟิร์นชนิดหนึ่ง ในซาราวักของประเทศมาเลเซีย ก็เรียกว่าลาย "ผักกูด" เช่นกัน 

ลวดลายต้นแบบทั้ง ๔ ลายที่กล่าวมาข้างต้นนั้น เป็นลวดลายที่มีในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ และยังพบว่าเป็นลวดลายที่ตกแต่งอยู่บนภาชนะเครื่องปั้นดินเผาโบราณ ที่ขุดพบ ที่โคกพนม และที่บ้านเชียงอีกด้วย 

ลายก้นหอย (spiral) และลายตัวขอ (hook) เป็นลวดลาย และสัญลักษณ์ที่เก่าแก่มากในเอเชีย พบในบอเนียว และหมู่เกาะต่างๆ ในประเทศอินโดนีเซีย และพบในศิลปะของพวกเมารี ในประเทศนิวซีแลนด์อีกด้วย 

สำหรับที่บ้านเชียงก็พบหลักฐานสำคัญเป็นแม่พิมพ์ดินเผา เข้าใจว่าใช้กลิ้งพิมพ์ลายผ้า ซึ่งมีลายเป็นเส้นขวาง เส้นยาว และเส้นฟันปลาด้วย 

ข. ลวดลายที่พัฒนาจากต้นแบบจนเป็นภาพที่สื่อความหมายได้ 

จากลวดลายต้นแบบข้างต้น ซึ่งเป็นลายง่ายๆ ที่มนุษย์อาจจะคิดขึ้นโดยธรรมชาติ ได้มีการพัฒนาประดิษฐ์เสริมต่อจนเป็นรูปร่างที่ชัดเจนขึ้น จนผู้ดูสามารถเข้าใจความหมายได้ ลวดลายที่พัฒนา จนสื่อความหมายได้ มีปรากฏอยู่ในผ้าพื้นเมืองของไทยอย่างมากมาย 

๑. จากเส้นตรง/เส้นขาด ได้มีการพัฒนาขึ้นมาเป็นลายที่เกี่ยวกับน้ำและความอุดมสมบูรณ์ต่างๆ ในชุมชนเกษตรกรรม

๒. ลายฟันปลา ได้มีการพัฒนาเป็นรูปต่างๆ

๓. กากบาทและขนมเปียกปูน ได้มีการพัฒนาเป็นรูปลายต่างๆ

รูปขนมเปียกปูนภายในบรรจุรูปดาว ๘ เหลี่ยม และภายในของดาว ๘ เหลี่ยม มักจะมีกากบาทเส้นตรงอยู่ หรือบางทีก็ย่อลงเหลือขนมเปียกปูน กากบาทนั้นเป็นลายที่พัฒนาที่พบเห็นบ่อยๆ ในตีนจก และขิตของล้านนา และในมัดหมี่ของภาคอีสาน นอกจากนี้ ยังพบในผ้าของหลายประเทศ เชื่อกันว่า ลวดลายดังกล่าวเป็นสัญลักษณ์ของดวงอาทิตย์ หรือโคมไฟ ในภาค อีสานเรียกลายนี้ในผ้ามัดหมี่ว่า ลายโคม 

ลายนี้มีลักษณะขนมเปียกปูนผสมกับลายขอ หรือขนมเปียก มีขายื่นออกมา ๘ ขา พบในผ้าตีนจกหรือขิต และมัดหมี่ เรียกชื่อกันต่างๆ เช่น ลายแมงมุม หรือลายปลาหมึก บางทีลายนี้ อาจจะมีขาเพียง ๔ ขา เรียกว่า ลายปู 

ปรากฏบนผ้ายกดอก หรือผ้ามัดหมี่ ซึ่งบางแห่งนิยมเรียกว่า ลายดอกแก้ว หรือลายดอกพิกุล 

๔. จากลายตัวขอหรือก้นหอย ได้มีคนนำมาเป็นลายต่างๆ 

ลายนี้ปรากฏอยู่ทั่วไปบนผ้าจกและขิตของไทยลื้อในภาคเหนือ และบนลายมัดหมี่ของภาคอีสาน มักจะเรียกว่า ลายขอหรือขอนาค เพราะต่อๆ มาพัฒนาเป็นลายนาคเกี้ยว หรือลายนาคชูสน 

ลายนี้ปรากฏบนผ้าตีนจกของล้านนาเกือบทุกผืน มักจะเข้าใจว่า เป็นนกหรือหงส์หรือห่าน และมักจะปรากฏอยู่เป็นคู่ๆ โดยมีลายเหมือนฝนตกอยู่ข้างบน และมีลายภูเขา หรือลายน้ำไหลอยู่ข้างล่างด้วย ลายนกนี้ยังปรากฏบนผ้าของไทยลื้อ เช่น ผ้าเช็ดหน้า 

ลายนี้พบบ่อยๆ ตามเชิงผ้าตีนจกของภาคเหนือ และผ้าของชาวเขา และยังพบบ่อยๆ บนผ้า และพรมของประเทศอื่นๆ ในประเทศไทยยังไม่ มีใครอธิบายลายนี้ไว้ชัดเจน นอกจากว่าเป็นลาย ที่พัฒนามาจากลายขอ หรือลายก้นหอย บางคนเห็นว่าเป็นสัญลักษณ์ของกบและลูกอ๊อด

ค. ลวดลายที่เชื่อมโยงกับคติความเชื่อของคนไทย 

ลวดลายและสัญลักษณ์ต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ ในศิลปะผ้าทอไทยนั้น เชื่อกันว่า มีความเชื่อมโยงกับคติความเชื่อของคนไทย ที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ เราอาจศึกษาเปรียบเทียบลวดลายสัญลักษณ์เหล่านี้ กับสัญลักษณ์อย่างเดียวกันที่ปรากฏอยู่ในศิลปะประเภทอื่นๆ เช่น ในจิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม และแม้แต่ใน ตำนานพื้นบ้านที่เล่าขานสืบต่อกันมา หรือใน วรรณกรรมต่างๆ ลวดลายที่เชื่อมโยงกับความ เชื่อพื้นบ้านไทยอย่างเห็นได้ชัด มีดังนี้ 

สัญลักษณ์งูหรือนาค งูหรือนาคปรากฏอยู่ในลายผ้าพื้นเมืองของคนไทยกลุ่มต่างๆ เกือบทุกภูมิภาคของประเทศ โดยเฉพาะในล้านนา และในอีสาน นอกจากนี้ยังพบในศิลปะของกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลไท ที่อาศัยอยู่นอกดินแดนของไทยในปัจจุบัน เช่น ในสิบสองปันนา ในลาว อีกด้วย 

นักวิชาการหลายคนเชื่อว่า งูหรือนาคเป็นสัญลักษณ์สำคัญร่วมกันของสังคมที่มีวัฒนธรรมน้ำ ดังนั้นงูหรือนาค จึงปรากฏอยู่ในศิลปะ และคติความเชื่อของหลายๆ ประเทศมาแต่โบราณกาล

ในศิลปะการทอผ้าของชาวไทยในล้านนา และในอีสาน แม้ในสิบสองปันนาของสาธารณรัฐประชาชนจีน ในรัฐฉานของพม่า และในลาว ก็มักจะเต็มไปด้วยสัญลักษณ์งูหรือนาคประดับประดาในที่ต่างๆ เช่น ในผ้าขิตของชาวไทยลื้อ ในจังหวัดน่าน และจังหวัดเชียงราย มักจะมีลายที่เรียกกันมากมายหลายชื่อ เช่น ลายงูลอย ลาย นาคปราสาท ลายขอนาค ลายนาคกระโจม ในผ้า มัดหมี่ของอีสานก็มักจะมีงูและลายนาคในชื่อ ต่างๆ กันอีก เช่น ลายนาคปีก ลายนาคเกี้ยว ลายนาคชูสน ฯลฯ 

ในแถบลุ่มแม่น้ำโขง คนไท ยและคนลาว ต่างมีความเชื่อสืบทอดกันมาเรื่องพญานาค ซึ่งอาศัยอยู่ที่เมืองบาดาล ใต้แม่น้ำโขง จนกระทั่งทุกวันนี้ผู้คนในแถบนั้นก็ยังเชื่อว่า เวลามีงานบุญประเพณี เช่น งานไหลเรือไฟ พญานาคก็จะขึ้นมาเล่นลูกไฟด้วย ดังที่มีผู้เห็นลูกไฟขึ้นจากลำน้ำ ในช่วงเทศกาลงานไหลเรือไฟเป็นประจำเกือบทุกปี 

สัญลักษณ์นกหรือห่านหรือหงส์ นกหรือหงส์เป็นสัญลักษณ์สำคัญที่ปรากฏอยู่ในศิลปะผ้าทอพื้นบ้าน ในภาคเหนือของไทยเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ก็มีปรากฏมากในผ้าทอมือของลาวสิบสองปันนา และในหมู่พวกคนไทในเวียดนาม 

ในสถาปัตยกรรมล้านนา และล้านช้าง จะพบนกหรือหงส์เป็นองค์ประกอบที่สำคัญประดับอยู่บนหลังคาโบสถ์ คู่กับสัญลักษณ์นาค หรือบางแห่งก็มีแต่หงส์ประดับอยู่ตามจุดต่างๆ ในวัด 

ในสิบสองปันนา สัญลักษณ์นกหรือหงส์หรือนกยูง จะปรากฏอยู่ทั่วไปทั้งในจิตรกรรม สถาปัตยกรรม และบนผืนผ้า นกยูงเป็น สัญลักษณ์ที่รัฐบาลจีนปัจจุบันได้นำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของยูนาน และได้มีการประดิษฐ์นาฏลีลาสมัยใหม่ ซึ่งใช้แสดงเป็นสัญลักษณ์ของชาวไทลื้อในสิบสองปันนา เรียกว่า ระบำนกยูง

ในพม่า หงส์เป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญ พบในศาสนสถาน และในโบราณวัตถุที่เกี่ยวเนื่องกับราชวงศ์พม่า 

ในผ้าตีนจกที่ทำด้วยฝ้ายจากหาดเสี้ยว ในอำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย จากอำเภอ น้ำอ่าง จังหวัดอุตรดิตถ์ จากอำเภอคูบัว จังหวัด ราชบุรี และซิ่นตีนจกทั้งไหมและฝ้ายของจังหวัด เชียงใหม่ รวมทั้งซิ่นที่มีตีนจกดิ้นเงินดิ้นทอง ล้วนแต่เต็มไปด้วยสัญลักษณ์ นกคู่ หรือ หงส์คู่ กินน้ำรวมกัน เป็นองค์ประกอบเล็กๆ ของตีนจกแทบจะทุกชิ้น 

นอกจากนี้ในตุงหรือธงที่ชาวไทยพื้นเมือง แถบจังหวัดน่าน และเชียงราย ถวายวัดในงานบุญ มักจะมีลายปราสาท ลายต้นไม้ ฯลฯ ประดับอยู่ เป็นลายใหญ่ๆ แต่ก็จะต้องมีองค์ประกอบเป็นนกหรือหงส์อยู่เป็นจำนวนมากเช่นกัน 

หงส์นี้ตามคติไทย และคติฮินดู-พุทธ ถือว่าเป็นสัตว์ที่เกี่ยวข้องกับตำนานในศาสนา เช่น หงส์ เป็นพาหนะของพระพรหม เป็นต้น และในศิลปะไทยก็ถือว่าหงส์เป็นของสูง จึงได้เชิญมาเป็นสัญลักษณ์ของเรือพระราชพิธี คือ เรือสุพรรณหงส์ ซึ่งใช้ในพระราชพิธีพยุหยาตราชลมารค จวบจนทุกวันนี้ 

ศิลปะการทอผ้าของไทยในภาคต่างๆ ที่ยังมีผู้สืบทอดเทคนิคการทอ อนุรักษ์ และพัฒนากันอยู่ ได้แก่ 

การทอลายขิต คือ การคัดเก็บยกเส้นด้าย ยืนพิเศษ ให้เกิดเป็นลวดลาย แล้วสอดเส้นด้ายพุ่งไปตลอดแนวของความกว้างของหน้าผ้า ทำให้เกิดลายขิตในแต่ละแถวเป็นลายขิตสีเดียวกัน

การยก เป็นเทคนิคการทอยกลายให้เห็นเด่นชัด มีลักษณะคล้ายกับการทอลายขิต แต่ใช้เส้นพุ่งพิเศษ เช่น ไหม ดิ้นเงิน ดิ้นทอง มีชาย มีเชิง ซึ่งขั้นตอนยุ่งยากกว่าผ้าทอลายขิตมาก 

การจก เป็นเทคนิคการทอลวดลายบนผืนผ้า ด้วยวิธีการเพิ่มด้ายพุ่งพิเศษเข้าไป ขณะที่ทอเป็นช่วงๆ ไปติดต่อกันตลอดหน้ากว้างของผ้า กระทำโดยใช้ไม้หรือขนเม่นหรือนิ้วมือ ยกหรือจกด้วยเส้นยืนขึ้น แล้วสอดเส้นพุ่งพิเศษต่อไป ตามจังหวะของลวดลาย สามารถสลับสีได้หลากหลายสี 

การทอลายน้ำไหล เป็นเทคนิคการทอ แบบลายขัดธรรมดา แต่ใช้ด้ายหลากสีพุ่งเกาะ เกี่ยวกันเป็นช่วงๆ ให้เกิดจังหวะของลายน้ำไหล เป็นลักษณะเฉพาะของชาวเมืองน่าน เรียกกรรมวิธี การทอนี้ว่า "ล้วง" แต่ชาวไทลื้อ อำเภอเชียงของ และเชียงคำ จังหวัดเชียงราย เรียกว่า"เกาะ" เทคนิคนี้อาจดัดแปลงพัฒนาเป็นลายอื่นๆ เรียกว่า ลายผักแว่น ลายจรวด ฯลฯ เป็นต้น 

การยกมุก เป็นเทคนิคการทอ โดยใช้เส้นยืนพิเศษเพิ่มบนกี่ทอผ้า ลายยกบนผ้าเกิดจากการใช้ตะกอ ลอยยกด้ายยืนพิเศษ ลวดลายที่เกิดจากเทคนิคนี้คล้ายกันมากกับลวดลายที่เกิดจากเทคนิค ขิต จก แทบจะแยกไม่ได้เลยสำหรับผู้ที่ไม่เข้าใจเรื่องเทคนิคการทอผ้าที่ลึกซึ้ง ชาวไทยพวนที่ตำบลหาดเสี้ยว จังหวัดสุโขทัย และที่ อำเภอ ลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ใช้เทคนิคนี้ในการทอ ส่วนที่เป็นตัวซิ่น บางครั้งอาจจะนำเชิงซิ่นมาต่อ เป็นตีนจกเรียกว่า ซิ่นมุก 

การมัดหมี่ เป็นเทคนิคการมัดเส้นพุ่ง หรือเส้นยืน ให้เป็นลวดลายด้วยเชือกกล้วย หรือเชือกฟาง ก่อนนำไปย้อมสี แล้วกรอด้ายให้เรียงตามลวดลาย ร้อยใส่เชือก แล้วนำมาทอ จะได้ลายมัดหมี่ที่เป็นทางกว้างของผ้า เรียกว่า มัดหมี่ ลเส้นพุ่ง ซึ่งเป็นที่นิยมในบ้านเรา มีการทำผ้ามัดหมี่เส้นยืนบ้างในบางจังหวัดเช่นจังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ราชบุรี เพชรบุรี ส่วนใหญ่เป็นผ้า ชาวเขา บางผืนใช้การทอสลับกับลายขิต ซึ่งช่วย เพิ่มความวิจิตรงดงามให้แก่ผืนผ้า

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow