ปัญหาในการอนุรักษ์และสืบทอดศิลปะผ้าไทย
ศิลปะผ้าทอไทยอันมีประวัติยาวนาน และมีความมั่งคั่งหลากหลาย ซึ่งสืบทอดมาแต่โบราณ จนทุกวันนี้ ตกอยู่ในมือของคนรุ่นเรา และรุ่นหลัง จะรักษาต่อไป หน่วยงานหลายๆ หน่วยงาน ทั้งของรัฐบาล และเอกชน ต่างก็ช่วยกันดำเนินการรับสนองพระราชดำริของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในเรื่องการศึกษา ส่งเสริม และพัฒนาศิลปะผ้าทอของไทย อย่างไรก็ตาม เท่าที่ได้มีการศึกษา สำรวจปัญหาต่างๆ พบว่า ยังมีปัญหาในการส่งเสริมและพัฒนาศิลปะการ ทอผ้าไทยอยู่ดังนี้
๑. ศิลปหัตถกรรมในหลายๆ ท้องถิ่นยังถูกละเลย การผลิตศิลปหัตถกรรมกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ไม่มีแหล่งรวมในบางท้องถิ่น
๒. ขาดการกระตุ้นหรือประกวดให้ผลิตผลงานที่มีคุณภาพมากๆ ขึ้น
๓. ผู้มีฝีมือเปลี่ยนไปประกอบอาชีพอย่างอื่น
๔. ไม่รักษาคุณภาพให้สม่ำเสมอ เมื่อผ้าทอมือขายดีจะผลิตผ้าที่ด้อยฝีมือมาขายแทน ช่างทอก็มีคุณภาพด้อยลง และมีจำนวนน้อยลงเรื่อยๆ
๕. ช่างฝีมือคุณภาพดีมักทำงานได้ช้าขายยาก เพราะต้องขายราคาแพงให้คุ้มกับเวลา หมดกำลังใจ ขาดการส่งเสริม ช่างทอฝีมือดีหลายคนยังไม่มีคนรู้จัก และเห็นคุณค่า
๖. ช่างฝีมือขาดการแข่งขันทางความคิด
๗. การถ่ายทอดทำกันในวงจำกัด ขาดตัวผู้สืบทอดอย่างจริงจังและกว้างขวาง
กล่าวโดยสรุปคือ การทอตามแบบศิลปะการทอของไทยนั้น ก็เช่นเดียวกับศิลปหัตถกรรม
ประเภทอื่นๆ คือ ต้องมีการส่งเสริมให้ใช้สอยเป็นประโยชน์ในชีวิตปัจจุบันของสังคม ที่มีการผลิตขึ้นเองให้มากขึ้น เพราะหากผู้คนในสังคมไม่นิยมใช้ผ้าทอ ตามแบบศิลปะของไทย หรือขาดความรู้ในศิลปะการทอไทย ขาดความนิยมยกย่องในฝีมือช่างทอที่มีคุณภาพแล้ว ศิลปะการทอของไทยก็ยากที่จะสืบทอดต่อไปถึงลูกหลานของเราได้