Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

สารานุกรมเล่มอื่นๆ ในประเทศไทย

Posted By Plookpedia | 21 ธ.ค. 59
3,587 Views

  Favorite

สารานุกรมเล่มอื่นๆ ในประเทศไทย

ความคิดที่จะจัดทำหนังสือรวมวิชาต่างๆ เพื่อการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนไทย ได้มีมาประมาณ ๑๒๐ ปีแล้ว คือ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๐ เจ้าพระยาทิพากรวงษ์มหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) ได้จัดพิมพ์หนังสือรวมความรู้สำหรับเด็กขึ้นเล่มหนึ่ง ให้ชื่อว่า แสดงกิจจานุกิต เขียนเป็นทำนองถาม-ตอบ มีเรื่องความรู้ต่างๆ ในสมัยนั้น เช่น ดาราศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ศาสนาเปรียบเทียบ ตอนนั้น ประเทศไทยเพิ่งมีการพิมพ์ด้วยเครื่องจักร มีโรงพิมพ์อยู่ ๒-๓ โรง เช่น โรงพิมพ์ของคณะผู้เผยแพร่ศาสนาคริสต์ และโรงพิมพ์หลวง ในพระบรมมหาราชวังเท่านั้น หนังสือแสดงกิจจานุกิต ฉบับพิมพ์ครั้งแรก พิมพ์ด้วยวิธีพิมพ์หิน คือ สลักตัวอักษรลงบนแผ่นหินอ่อน ใช้หมึกทา แล้วพิมพ์ทีละแผ่น

สารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน

ราชบัณฑิตยสถานเริ่มจัดทำสารานุกรมฉบับนี้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๖ แต่ได้หยุดชะงักลง มาฟื้นฟูจัดทำใหม่ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๗

สารานุกรมฉบับนี้รวมเรื่องทุกเรื่อง ทั้งที่เป็นสากล และที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย โดยเรียงลำดับคำตามอักษรตัวแรก พิมพ์เผยแพร่ตามลำดับตัวอักษรเป็นเล่มๆ ไป เพื่อให้สารานุกรมออกสู่ประชาชน โดยเร็วที่สุด จะมีฉบับปกอ่อน เป็นเล่มเล็ก มีความยาวประมาณ ๑๖ หน้า ออกเดือนละ ๒ เล่ม แล้วมีฉบับรวมพิมพ์เป็นเล่ม ปกแข็ง ฉบับปกแข็ง แต่ละเล่ม จะมีดัชนีค้นเรื่อง ซึ่งเรียกว่า สารบัญคำและเรื่องอยู่ท้ายเล่ม ใน พ.ศ. ๒๕๓๑ ได้จัดพิมพ์แล้วถึงเล่มที่ ๒๑ หมวด อักษร พ-ภ

สารานุกรมประเภทต่างๆ


สารานุกรมเฉพาะวิชาหรือเฉพาะเรื่อง

สารานุกรมเฉพาะวิชาที่จัดทำขึ้นในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นสารานุกรมเล่มเดียว หรือสองเล่มจบ จัดทำโดยบุคคล หรือคณะบุคคล ผู้เชี่ยวชาญในวิชา หรือเรื่องนั้นๆ สารานุกรมที่แปลจากภาษาต่างประเทศก็มี เช่น สารานุกรม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สารานุกรมพระยาอนุมานราชธน สารานุกรมวรรณคดีไทย สารานุกรมการบริหาร และสารานุกรมวิทยาศาสตร์ ซึ่งสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย แปลจากฉบับภาษาอังกฤษ

อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน

หนังสือเล่มนี้ แม้จะเรียกชื่อว่า อักขรานุกรม แต่ก็มีลักษณะของสารานุกรมเฉพาะวิชา คือ รวมเรื่องทุกเรื่องเกี่ยวกับภูมิศาสตร์ ของประเทศไทย มีการจัดเรียงลำดับเรื่องตามลักษณะทั่วไปของภูมิศาสตร์ แล้วเรียงลำดับตัวอักษรตัวแรกของคำ แทนเรื่องราวทางภูมิศาสตร์ของประเทศไทย มีดัชนีท้ายเล่มสำหรับค้นเรื่อง เรียกว่า สารบัญคำ

อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย จะให้ข้อมูลรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง และที่ควรทราบเกือบครบถ้วน เช่น จังหวัด จะบอกว่า อยู่ในภาคใด อาณาเขตติดต่อจังหวัดใดบ้าง มีเส้นทางคมนาคมจากกรุงเทพมหานครอย่างไร ลักษณะภูมิประเทศ จำนวน และอาชีพของพลเมือง ประวัติย่อ และตำนานสถานที่ เป็นต้น

สารานุกรมประเภทต่าง ๆ


สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ พ.ศ. ๒๕๒๙

สารานุกรมนี้เป็นสารานุกรมเฉพาะ เรื่องวัฒนธรรมของภาคใต้ของประเทศไทย ดังที่แจ้งไว้ในชื่อหนังสือ เป็นผลงานทางวิชาการ ของสถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา และมูลนิธิทักษิณคดีศึกษา ได้รับการสนับสนุนทางการเงิน จากมูลนิธิโตโยต้า ประเทศญี่ปุ่น มีนักวิชาการที่เป็นผู้เรียบเรียงเรื่องราวต่างๆ รวม ๒๒๑ คน ศาสตราจารย์สุทธิวงศ์  พงศ์ไพบูลย์ เป็นผู้อำนวยการโครงการ ผู้จัดทำได้เริ่มงานนี้ตั้งแต่พ.ศ. ๒๕๒๕ จนถึง พ.ศ. ๒๕๒๗ ตีพิมพ์เผยแพร่เสร็จเรียบร้อย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๙ เป็นหนังสือรวม ๑๐ เล่ม เรียงลำดับคำแทนเรื่อง ตามตัวอักษรตัวแรก ก-ฮ ตามแบบพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ท้ายเรื่องแต่ละเรื่องจะลงอักษรย่อของชื่อผู้เรียบเรียง ชื่อเต็มจะมีบอกไว้ในหน้าคำชี้แจงในเล่มที่ ๑ 

    นักเรียนค้นคว้าหาความรู้จากสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

สารานุกรมชุดนี้ มีขอบข่ายเนื้อเรื่องอย่างกว้างขวาง มีคำ ซึ่งบอกความเชื่อถือ ความคิดเห็นอันเป็นรูปธรรม มีคำซึ่งบอกกล่าวให้ทราบ ถึงสิ่งของ สถานที่ ซึ่งเป็นนามธรรม อันเป็นผลปรากฏของความคิด มีเรื่องราวเกี่ยวกับบุคคล ผู้สร้างสรรค์ผลงานด้านต่างๆ ทั้งในอดีต และปัจจุบัน มีนิยาย นิทาน ตำนาน ซึ่งถูกลืม และกำลังจะถูกลืม มีลักษณะเด่นชัด ของภาคใต้ อันเป็นเอกลักษณ์ของภาค และแต่ละจังหวัด ในขณะเดียวกัน มีเรื่องราวที่ชี้ให้เห็นสายสัมพันธ์กับส่วนอื่นๆ ของประเทศไทย โดยเฉพาะส่วนกลาง

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow