ระบบสารนิเทศทางวิชาการแห่งชาติ
เนื่องจากในปัจจุบัน การผลิตสิ่งพิมพ์ทางวิชาการ มีปริมาณมากเกินที่ห้องสมุดแห่งหนึ่งแห่งใด จะสามารถรวบรวมมาไว้ได้ครบถ้วน เพราะงบประมาณ และบุคลากรที่จะดำเนินงานทางด้านเทคนิคมีจำกัด ในขณะเดียวกันความต้องการของผู้ใช้ความรู้ ข้อมูลข่าวสารก็มีมากขึ้น ยากที่ห้องสมุดแห่งใดแห่งหนึ่ง จะสนองความต้องการได้ครบถ้วน จึงมีการจัดระบบและบริการ ของห้องสมุดต่างๆ ให้สามารถร่วมมือกัน และประสานงานกันทั้งในด้านการรวบรวมหนังสือสิ่งพิมพ์ และสื่อความรู้อื่นๆ วิเคราะห์จัดหมวดหมู่ จัดทำเครื่องมือค้นหาเนื้อหาความรู้ ที่มีอยู่ในสื่อความรู้ต่างๆ จัดทำสำเนาเอกสารที่ต้องการ จัดพิมพ์ดัชนี บรรณานุกรม และสารสังเขปเรื่อง แจกจ่ายให้ถึงผู้ใช้บริการในทุกแห่ง การจัดให้มีความร่วมมือ และประสานงานกัน เข้าเป็นระบบเดียวกัน การจัดให้มีความเกื้อกูลกัน และใช้มาตรฐานทางเทคนิค และใช้เทคโนโลยีในการจัดการกับเนื้อหาสาระ ของสื่อความรู้ต่างๆ แบบเดียวกัน หรือคล้ายคลึงกัน เพื่อให้สามารถให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพนี้ เรียกว่า ระบบสารนิเทศแห่งชาติ
คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติ ให้มีระบบสารนิเทศทางวิชาการแห่งชาติเมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๒๙
มีการกำหนดนโยบายสารนิเทศแห่งชาติ กำหนดให้มีคณะกรรมการอำนวยการ และประสานงานสารนิเทศแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วย ปลัดกระทรวง และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน แทนนายกรัฐมนตรี