ห้องสมุดในประเทศไทยในปัจจุบัน
ห้องสมุดประชาชนในประเทศไทยที่ดำเนินการโดยรัฐบาลนั้น ตั้งขึ้นครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๔๕๙ ห้องสมุดประชาชนในระยะแรก ดำเนินการอยู่ได้ประมาณ ๑๐ ปี ก็หยุดลง เพราะไม่มีงบประมาณ ครั้นต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๘๓ รัฐบาลตั้งกองการศึกษาผู้ใหญ่ขึ้น กำหนดให้แผนกองค์การในกองการศึกษาผู้ใหญ่ มีหน้าที่ดำเนินการห้องสมุดประชาชนด้วย แต่การจัดตั้งห้องสมุดประชาชนได้เริ่มใน พ.ศ. ๒๔๙๒ จัดขึ้นในจังหวัดต่างๆ รวม ๑๗ แห่ง โดยใช้เงินงบประมาณจำนวนหนึ่ง ของกองการศึกษาผู้ใหญ่ ในปัจจุบันนี้ ห้องสมุดประชาชนมีอยู่ทุกจังหวัด และในอำเภอบางอำเภอ กองปฏิบัติการในกรมการศึกษานอกโรงเรียนเป็นผู้บริหารงาน เทศบาลบางจังหวัด เช่น กรุงเทพมหานคร ก็ได้จัดห้องสมุดประชาชนภายในเขตของเทศบาลด้วย
ห้องสมุดมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยต่างๆ ขณะนี้มีอยู่ในสถานอุดมศึกษาทุกแห่ง ทั้งที่เป็นของรัฐและเอกชน ส่วนมากเป็นห้องสมุดขนาดใหญ่ มีสถานภาพเทียบเท่ากับคณะวิชาในมหาวิทยาลัย หลายแห่งมีบริการพิเศษสำหรับอาจารย์ เช่น จัดส่งรายชื่อหนังสือ และวารสารที่ได้รับใหม่ ให้แต่ละคนเป็นประจำ สำหรับนักศึกษาก็มีบริการ ทำสำเนาเอกสาร แนะนำการใช้ห้องสมุด และการใช้เครื่องมือค้นเรื่องแบบสมัยใหม่ มีการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในการดำเนินงาน และให้บริการทางการค้นคว้าวิจัย ห้องสมุดมหาวิทยาลัยบาง แห่ง เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยมหิดล ได้เข้าร่วมในการดำเนินงานเครือข่ายสารนิเทศทางวิชาการในระดับโลกทางเกษตรศาสตร์และทางการแพทย์ สามารถรับข้อมูล เกี่ยวกับสื่อความรู้ในสาขาวิชาทั้งสองนี้จากห้องสมุดทั่วโลก ที่เป็นสมาชิกในเครือข่าย
ห้องสมุดโรงเรียนมัธยมศึกษา และห้องสมุดโรงเรียนประถมศึกษา มีอยู่ในโรงเรียนหลายแห่ง หลักสูตรการศึกษาพุทธศักราช ๒๕๒๑ กำหนดให้นักเรียนรู้จักใช้หนังสือ และใช้ห้องสมุดให้เป็นประโยชน์ ในการศึกษา พัฒนาตนเอง ให้รู้จักแสวงหาความรู้ ด้วยตนเอง มีการสอนเรื่องการใช้ห้องสมุดทั้งในระดับประถมและมัธยมศึกษา แต่ในทางปฏิบัติ ห้องสมุดโรงเรียนยังดำเนินการได้โดยจำกัด เพราะขาดแคลนสถานที่ หนังสือ และงบประมาณ สำหรับซื้อหนังสือ จากรัฐบาล เงินค่าซื้อหนังสือในโรงเรียนมัธยมศึกษา ได้จากเงินบำรุง ที่เก็บจากนักเรียนเป็นรายหัว ส่วนโรงเรียน ประถมศึกษาของรัฐนั้น รัฐบาลจัดงบประมาณ ให้ส่วนหนึ่ง สำหรับซื้อหนังสือ ใช้หมุนเวียนไปตามกลุ่มโรงเรียน
ห้องสมุดเฉพาะที่มีอยู่ในหน่วยราชการต่างๆ มักเป็นห้องสมุดขนาดเล็ก ห้องสมุดขนาดใหญ่ ที่มีหนังสือมาก และบริการโดยกว้างขวางนั้น มีน้อยแห่ง เช่น ห้องสมุดของธนาคารแห่งประเทศไทย ห้องสมุดวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ของกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการพลังงาน ห้องสมุดแห่งนี้มีฐานะเป็นส่วนราชการระดับกอง เรียกชื่อเป็นทางการว่า กองสนเทศทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ห้องสมุดของศูนย์ประมงน้ำจืด กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีหนังสือเกี่ยวกับการประมงน้ำจืดโดยเฉพาะ และทำหน้าที่เป็นศูนย์ข่าวสารการประมงของประเทศ และเป็นส่วนหนึ่งในเครือข่ายสารนิเทศการประมง ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ศูนย์บริการเอกสารการวิจัยแห่งประเทศไทย ในสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย มีบริการจัดหา และทำสำเนาเอกสารการวิจัย ให้แก่ผู้ที่ต้องการแปลเอกสารทางวิชาการ และจัดทำดัชนีค้นเรื่องทางวิชาการโดยเฉพาะ ทางด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี