ประเภทของห้องสมุด
ห้องสมุดในปัจจุบันแบ่งออกไปตามหน้าที่เป็นประเภทต่างๆ คือ
๑. ห้องสมุดแห่งชาติ
นับเป็นห้องสมุดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ดำเนินการโดยรัฐบาล ทำหน้าที่หลักคือ รวบรวมหนังสือสิ่งพิมพ์ และสื่อความรู้ทุกอย่าง ที่ผลิตขึ้นในประเทศ และทุกอย่างที่เกี่ยวกับประเทศ ไม่ว่าจะจัดพิมพ์ในประเทศใด ภาษาใด ทั้งนี้เป็นการอนุรักษ์สื่อความรู้
ซึ่งเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของชาติ มิให้สูญไป และให้มีไว้ใช้ในอนาคต นอกจากรวบรวมสิ่งพิมพ์ในประเทศแล้ว ก็มีหน้าที่รวบรวมหนังสือที่มีคุณค่า ซึ่งพิมพ์ในประเทศอื่นไว้ เพื่อการค้นคว้าอ้างอิง ตลอดจน ทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมบรรณานุกรมต่างๆ และจัดทำบรรณานุกรมแห่งชาติ ออกเผยแพร่ให้ทราบทั่วกันว่า มีหนังสืออะไรบ้าง ที่ผลิตขึ้นในประเทศ ห้องสมุดแห่งชาติจึงเป็นแหล่งให้บริการทางความรู้ แก่คนทั้งประเทศ ช่วยเหลือการค้นคว้า วิจัย ตอบคำถาม และให้คำแนะนำปรึกษา เกี่ยวกับหนังสือ
๒. ห้องสมุดประชาชน
เช่นเดียวกับห้องสมุดแห่งชาติ ห้องสมุดประชาชนดำเนินการโดยรัฐ อาจจะเป็นรัฐบาลกลาง รัฐบาลท้องถิ่น หรือเทศบาล แล้วแต่ระบบการปกครองของแต่ละประเทศ ตามความหมายเดิม ห้องสมุดประชาชนเป็นห้องสมุดที่ประชาชนต้องการให้มีในชุมชน หรือเมืองที่เขาอาศัยอยู่ ประชาชนจะสนับสนุน โดยยินยอมให้รัฐบาลจ่ายเงินรายได้จากภาษีต่างๆ ในการจัดตั้ง และดำเนินการ ห้องสมุดประเภทนี้เป็นบริการของรัฐ จึงมิได้เรียกค่าตอบแทน เช่น ค่าบำรุงห้องสมุด หรือค่าเช่าหนังสือ ทั้งนี้เพราะถือว่า ประชาชนได้บำรุงล้ว โดยการเสียภาษีรายได้ให้แก่ประเทศ หน้าที่ของห้องสมุดประชาชนก็คือ ให้บริการหนังสือ เพื่อการศึกษาตลอดชีวิต บริการข่าวสารความเคลื่อนไหวทางวิชาการ และเหตุการณ์ต่างๆ ที่ ประชาชนควรทราบ ส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน และการรู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ให้ข่าวสารข้อมูลที่จำเป็นต้องใช้ในการปฏิบัติงาน และการพัฒนาด้านต่างๆ ของแต่ละคนและสังคม
๓. ห้องสมุดของมหาวิทยาลัยและวิทยาลัย
เป็นห้องสมุดที่ตั้งอยู่ในสถานศึกษาระดับอุดมศึกษา ทำหน้าที่ส่งเสริมการเรียนการสอนตามหลักสูตร โดยการจัดรวบรวมหนังสือ และสื่อความรู้อื่นๆ ในหมวดวิชาต่างๆ ตามหลักสูตร ช่วยเหลือในการค้นคว้าวิจัยของอาจารย์ และนักศึกษา ส่งเสริมพัฒนาการทางวิชาการของอาจารย์ และนักศึกษา โดยจัดให้มีแหล่งความรู้ และช่วยจัดทำบรรณานุกรม และดัชนี สำหรับค้นหาเรื่องราวที่ต้องการ แนะนำนักศึกษาในการใช้หนังสืออ้างอิง บัตรรายการ และคู่มือสำหรับการค้นเรื่อง
๔. ห้องสมุดโรงเรียน
เป็นห้องสมุดที่ตั้งอยู่ในโรงเรียนมัธยม และโรงเรียนประถมศึกษา มีหน้าที่ส่งเสริมการเรียนการสอนตามหลักสูตร โดยการรวบรวมหนังสือ และสื่อความรู้อื่นๆ ตามรายวิชา แนะนำสั่งสอนการใช้ห้องสมุดแก่นักเรียน จัดกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน แนะนำให้รู้จักหนังสือที่ควรอ่าน ให้รู้จักวิธีศึกษาค้นคว้า หาความรู้ด้วยตนเอง ให้รู้จักรัก และถนอมหนังสือ และเคารพสิทธิของผู้อื่นในการใช้ห้องสมุด และยืมหนังสือ ซึ่งเป็นสมบัติของทุกคนร่วมกัน ร่วมมือกับครูอาจารย์ ในการจัดชั่วโมงใช้ห้องสมุด จัดหนังสือ และสื่อการสอนอื่นๆ ตามรายวิชาให้แก่ครูอาจารย์
ห้องสมุดโรงเรียน โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยฝ่ายประถม
๕. ห้องสมุดเฉพาะ
คือ ห้องสมุด ซึ่งรวบรวมหนังสือในสาขาวิชาบางสาขาโดยเฉพาะ มักเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยราชการ องค์การ บริษัท เอกชน หรือธนาคาร ทำหน้าที่จัดหาหนังสือ และให้บริการความรู้ ข้อมูล และข่าวสารเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน ของหน่วยงานนั้นๆ ห้องสมุดเฉพาะจะเน้นการรวบรวมรายงาน การค้นคว้าวิจัย วารสารทางวิชาการ และเอกสารเฉพาะเรื่อง ที่ผลิตเพื่อการใช้ในกลุ่มนักวิชาการ บริการของห้องสมุดเฉพาะจะเน้นการช่วยค้นเรื่องราว ตอบคำถาม แปลบทความทางวิชาการ จัดทำสำเนาเอกสาร ค้นหาเอกสาร จัดทำบรรณานุกรม และดัชนีค้นเรื่องให้ตามต้องการ จัดพิมพ์ข่าวสาร เกี่ยวกับสิ่งพิมพ์เฉพาะเรื่องส่งให้ถึงผู้ใช้ จัดส่งเอกสาร และเรื่องย่อของเอกสารเฉพาะเรื่อง ให้ถึงผู้ใช้ตามความสนใจเป็นรายบุคคล
ในปัจจุบันนี้ เนื่องจากการผลิตหนังสือ และสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยเฉพาะวารสารทางวิชาการ รายงานการวิจัย และรายงานการประชุมทางวิชาการ มีปริมาณเพิ่มขึ้นมากมาย แต่ละสาขาวิชามีสาขาแยกย่อยเป็นรายละเอียดลึกซึ้ง จึงยากที่ห้องสมุดแห่งใดแห่งหนึ่ง จะรวบรวมเอกสารเหล่านี้ได้หมดทุกอย่าง และให้บริการได้ทุกอย่างครบถ้วน จึงเกิดมีหน่วยงานดำเนินการเฉพาะเรื่อง เช่น รวบรวมหนังสือ และสิ่งพิมพ์อื่นๆ เฉพาะสาขาวิชาย่อย วิเคราะห์เนื้อหา จัดทำเรื่องย่อ และดัชนีค้นเรื่องนั้นๆ แล้วพิมพ์ออกเผยแพร่ให้ถึงตัวผู้ต้องการเรื่องราวข่าวสาร และข้อมูล ตลอดจนเอกสารในเรื่องนั้น หน่วยงานที่ทำหน้าที่ประเภทนี้ จะมีชื่อเรียกว่า ศูนย์เอกสาร ศูนย์สารสนเทศ ศูนย์ข่าวสาร หรือศูนย์สารนิเทศ เช่น ศูนย์เอกสารการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ศูนย์ข่าวสารการประมง เป็นต้น ศูนย์เหล่านี้บางศูนย์เป็นเอกเทศ บางศูนย์ก็เป็นส่วนหนึ่งของห้องสมุด บางศูนย์ก็เป็นส่วนหนึ่งของหน่วยงาน เช่นเดียวกับห้องสมุดเฉพาะ