Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ความหมายของการศึกษาต่อเนื่อง

Posted By Plookpedia | 21 ธ.ค. 59
3,534 Views

  Favorite

ความหมายของการศึกษาต่อเนื่อง

การศึกษาต่อเนื่องมีความหมายได้หลายประการ

ประการแรก คือ การให้ความรู้เพิ่มเติมในเรื่องที่ได้ศึกษามาแล้ว ในโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัย เมื่อบุคคลจบจากการศึกษา ไปประกอบอาชีพแล้วระยะหนึ่ง มีความจำเป็นต้องหาความรู้เฉพาะ หรือที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นเพิ่มเติม เพื่อปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ถ้าปรากฏว่า ในวิชานั้นมีผู้ค้นหาได้ความรู้ใหม่ ก็ไปสมัครเรียน การเรียนแบบนี้ เป็นลักษณะต่อเนื่องจากที่เรียนแล้วในเบื้องต้น ไม่มีที่สิ้นสุด เพราะวิชาการจะเกิดขึ้นใหม่เรื่อยๆ ต้องหาความรู้เพิ่มเติมให้ทันโลก สถานศึกษาในระดับอุดมศึกษา และอาชีวศึกษา จะจัดหลักสูตรเฉพาะในระยะสั้นบ้างยาวบ้าง สำหรับผู้ต้องการศึกษาต่อ โดยไม่ให้ปริญญาบัตร หรือประกาศนียบัตร แต่อาจให้ใบรับรอง ซึ่งเป็นคนละแบบกับการเข้าศึกษาต่อ เพื่อให้ได้ประกาศนียบัตร หรือปริญญาบัตร

    การศึกษาเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำเนินชีวิต ทุกคนจึงควรได้รับการศึกษา

ประการที่สอง คือ การศึกษาในรูปแบบที่เคยเรียกว่า การศึกษาผู้ใหญ่ ที่รัฐ หรือองค์กรเอกชน จัดให้แก่ "ผู้ใหญ่" คือ ผู้มีอายุเกินวัยเรียนตามกฎหมาย แต่ไม่มีโอกาสได้เล่าเรียนด้วยเหตุที่ยากจน ต้องใช้เวลาประกอบอาชีพ หรือต้องเร่ร่อนตามผู้ปกครอง ซึ่งอพยพย้ายถิ่นบ่อยๆ หรืออยู่ในท้องที่ห่างไกล ไม่มีโรงเรียน วิชาที่สอนมีตั้งแต่วิชาหลัก ที่เป็นทักษะพื้นฐานของการเรียนรู้ คือ ทักษะในการอ่านเขียน ทักษะในการคำนวณ นอกจากนี้ก็มีวิชาความรู้ทางอาชีพ ความรู้ทางจริยธรรม และหน้าที่ของพลเมือง สุขวิทยาอนามัย และอื่นๆ แล้วแต่ความต้องการของแต่ละท้องถิ่น แต่ละสังคม กลุ่มเป้าหมายแต่เดิม คือ ผู้มีอายุเกินวัยเรียน แต่ต่อมาได้รวมกลุ่มเด็กที่อยู่ในวัยเรียน แต่ไม่อาจเข้าเรียนในโรงเรียนที่จัดขึ้น สำหรับเด็กโดยทั่วไป เพราะอยู่ห่างไกล หรือต้องช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน

ประการที่สาม คือ กระบวนการศึกษาตลอดชีวิต ซึ่งเกิดขึ้น หรือควรจะเกิดขึ้นตามธรรมชาติของคนเรา ที่พยายามเรียนรู้ เพื่อพัฒนาตนเองอยู่เสมอ เป็นการเรียนรู้ เพื่อพัฒนา ซึ่งต้องเรียนรู้ด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการเรียนในระบบโรงเรียน หรือนอกระบบโรงเรียน มีผู้สั่งสอนตามแบบแผน หรือเรียนเอง โดยการดู ฟัง สังเกต อ่าน จดจำ ลองทำหาประสบการณ์ ได้มากหรือน้อย ช้าหรือเร็ว แล้วแต่สติปัญญา และโอกาส การจัดระบบการศึกษาอย่างมีแบบแผน คือ มีโรงเรียน มีหลักสูตร มีกระบวนการสอน มีการจัดการให้เด็กหรือประชาชนทั่วไปได้รับการศึกษานั้น เป็นกระบวนการซึ่งเกิดขึ้น หลังจากที่คนเราได้พยายามศึกษา พัฒนาตนเองมาแล้ว เป็นเวลาหลายพันปี เมื่อคนกลุ่มหนึ่งมีความรู้เรื่องราวต่างๆ มากขึ้น พัฒนาความรู้ให้เป็นกระบวนวิชาที่มีทฤษฎี กฎเกณฑ์ แบบแผน จึงค่อยๆ สร้างระบบการศึกษาขึ้นจากความเป็นจริง โดยธรรมชาติที่ว่า คนเราย่อมเรียนรู้ เพื่อพัฒนาตนเอง กลายเป็นความคิดที่ว่า ต้องจัดระบบให้คนเรียนรู้ ในบางประเทศ นอกจากจะจัดระบบการศึกษาที่มีกฎหมายบังคับ ให้ผู้ปกครองส่งเด็กในวัยเรียน เข้าศึกษาเล่าเรียนในโรงเรียนตามแบบแผนแล้ว ยังจัดให้มีโอกาสในการศึกษาเล่าเรียนนอกระบบโรงเรียนด้วย เป็นการช่วยเหลือให้ทุกคนมีโอกาสศึกษาได้ตลอดชีวิต ตามความสามารถ และความต้องการของตน

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow