รูปแบบของการศึกษาต่อเนื่อง
การศึกษาต่อเนื่อง ซึ่งอาจจะเรียกว่า การ ศึกษาผู้ใหญ่ การศึกษามูลฐาน การศึกษานอกโรงเรียน การศึกษานอกระบบ การศึกษาตลอดชีวิต และอื่นๆ ที่จัดในประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทย มีอยู่หลายรูปแบบ มีหน่วยงานหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนเป็นผู้รับผิดชอบ วิชาที่สอนก็มีหลากหลาย มีหลักสูตร ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว บางหลักสูตรก็นำไปสู่วุฒิที่รับรองเป็นทางการ เช่น ประกาศนียบัตร ปริญญาบัตร บางหลักสูตรก็เป็นการให้ ความรู้เพิ่มพูน ซึ่งถือว่า มีความสำคัญในตัวเองอยู่แล้วสำหรับผู้เรียน
รูปแบบที่จัดกันทั่วไปมีดังต่อไปนี้
๑. จัดชั้นเรียนวิชาต่างๆ
ตั้งแต่วิชาทักษะทางภาษา ให้อ่านออกเขียนได้ สำหรับคนในชาติที่ไม่ได้เข้าโรงเรียนตั้งแต่เล็กๆ และคนต่างชาติ ต่างภาษา ที่ประสงค์จะแปลงสัญชาติ ไปจนถึงวิชาต่างๆ ในระดับต่างๆ สำหรับครู ชาวนา แม่บ้าน และผู้ที่มีงานทำอยู่แล้ว แต่อยากรู้วิชาเพิ่มเติม หรือรู้วิชาที่สนใจ เป็นการพัฒนาความรู้ ความคิดให้กว้างขวาง หลักสูตรมีทั้งระยะสั้น เพียงหนึ่งสัปดาห์ ไปจนถึง ๑ ปี หรือ ๒ ปี เพื่อนำไปสู่ประกาศนียบัตร หรือปริญญาบัตร ชั้นเรียนจะจัดในเวลาค่ำ หรือวันสุดสัปดาห์ เพราะผู้เรียนจะมีเวลาว่างในช่วงนี้ หน่วยงานที่จัดส่วนมาก เป็นสถานศึกษาในระดับอุดมศึกษาหรืออาชีวศึกษา ใช้สถานที่ ของสถานศึกษานั้นๆ ในระหว่างเวลาที่ไม่มีการสอนตามปกติ นอกจากนี้ผู้จัดสอน หลักสูตรระยะสั้นจะเป็นองค์กรเอกชน สมาคม บริษัท หรือสหพันธ์แรงงาน ผู้บรรยาย หรือฝึกสอนจะเป็นอาจารย์จากสถานอุดมศึกษา ผู้ประกอบการ หรือผู้เชี่ยวชาญในทางวิชานั้นๆ
๒. จัดสอนทางไปรษณีย์
หรือที่เรียกกันในสมัยปัจจุบันว่า การสอนทางไกล ซึ่งเป็นวิวัฒนาการจากการสอนทางไปรษณีย์ เพิ่มการใช้สื่อสอนทางไกล เช่น วิทยุกระจายเสียง โทรทัศน์ ประกอบกับการจัดหนังสือเรียนให้อ่านเอง การสอนทางไปรษณีย์ในสมัยแรกเริ่ม มีการจัดทำหนังสือเรียน และแบบฝึกหัดแจกแก่ผู้เรียน ผู้เรียนจะส่งแบบฝึกหัดไปให้ตรวจตามกำหนด ถ้าจะมีการสอบไล่ ก็อาจกำหนดสถานที่ อันเป็นศูนย์กลางให้เป็นสนามสอบ ผู้เรียนที่ประสงค์จะเข้าสอบก็ไปสอบในสนามสอบ การสอนทางไกลที่พัฒนาขึ้นมาภายหลังนั้น ใช้วิทยุกระจายเสียง และโทรทัศน์ ตลอดจนวีดิโอเทกซ์ (videotext) และสื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ประกอบด้วย หลักสูตรมีหลายอย่างเช่นเดียวกับการสอนในชั้นเรียน ผู้จัดสอนมีทั้งสถานศึกษา ระดับอุดมศึกษา และโรงเรียนวิชาชีพของเอกชน ซึ่งมักสอนทางไปรษณีย์เท่านั้น เพราะลงทุนน้อยกว่า สถานอุดมศึกษาของรัฐที่จัดสอนทางไกลในประเทศไทย มีตัวอย่างคือ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ซึ่งสอนทางไกลอย่างเดียว มหาวิทยาลัยรามคำแหงสอนทางไกลด้วย สอนในชั้นเรียนด้วย
๓. จัดฝึกอบรมทักษะในทางอาชีพ
เพื่อสงเคราะห์ผู้ที่มีอาชีพอยู่แล้ว ประสงค์จะพัฒนาทักษะ หรือสงเคราะห์ผู้ที่ยังไม่มีอาชีพให้รู้จักวิธีประกอบอาชีพ ที่ไม่ต้องการความรู้ และการฝึกฝนอย่างลึกซึ้ง เช่น การซ่อมเครื่องยนต์ การดัดผม การประดิษฐ์ดอกไม้ เป็นหลักสูตรระยะสั้น ไม่เกินหกเดือน จัดในสถานที่ที่กำหนดไว้ หรือจัดเป็นหน่วยเคลื่อนที่ไปตามชุมชนที่ต้องการ ผู้จัดมีทั้งองค์กรของรัฐและเอกชน ที่เกี่ยวข้องกับการจัดบริการทางการศึกษา สังคมสงเคราะห์ หรือบริการแรงงาน จะมีวิทยากรจากหน่วยงานสถานศึกษา และผู้ประกอบการที่ชำนาญงาน จัดให้แก่คนทั่วไป หรือสำหรับบุคลากรขององค์กรโดยเฉพาะเป็นเรื่องๆ ไปตามความต้องการ ขององค์กรก็ได้ องค์กรของรัฐมักจัดให้เปล่า องค์กรเอกชนจะเก็บค่าลงทะเบียน หรือค่าเล่าเรียนบ้าง หรือได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐ ให้จัดให้เปล่าแก่คนทั่วไป
๔. จัดการบรรยาย อภิปราย สาธิตวิธีการ และทัศนศึกษาเป็นครั้งคราว
เพื่อเพิ่มพูนความรู้ บางครั้งก็จะจัดหนังสือในเรื่องที่บรรยายนั้นไว้ให้อ่าน ทำบรรณานุกรมหนังสือ และบทความในวารสาร เกี่ยวกับเรื่องนั้น ให้ทราบว่า มีอะไรบ้าง ยืมอ่านได้ที่ไหน ผู้จัดอาจเป็นสมาคม สโมสร ชุมชน จัดในสถานที่ของสมาคม หรือขอใช้สถานศึกษา หรือจัดในโรงแรม โดยผู้เข้าฟังเสียเงินค่าใช้จ่ายบ้าง วิทยากรจะมาจากมหาวิทยาลัย หรือหน่วยราชการ หรือสถานประกอบการ เช่น สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จัดบรรยายเกี่ยวกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งนำมาใช้ในกิจการห้องสมุดให้มีประสิทธิภาพ สมาคมการอ่านแห่งประเทศไทย ร่วมกับวารสารเกี่ยวกับแม่และเด็ก จัดบรรยาย และอภิปรายเกี่ยวกับการสร้างนิสัยรักการอ่านแก่เด็ก สยามสมาคมจัดทัศนศึกษาโบราณสถาน และวัดที่น่าสนใจ เป็นต้น
๕. จัดพิมพ์วารสาร อนุสาร ข่าวสาร เกี่ยวกับเรื่องที่ควรรู้ และจำเป็นต้องรู้
เพื่อแจกจ่ายแก่คนทั่วไป หรือสมาชิกขององค์กร หรือกลุ่มเป้าหมาย วารสารนั้นอาจจะจำหน่ายในราคาที่ไม่เอากำไร พอให้ได้ทุนมาหมุนเวียนจัดทำต่อไป หน่วยราชการ และองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง จะเป็นผู้จัดทำ เช่น วารสารการประมง ของกรมประมง ให้ความรู้แก่ผู้ประกอบอาชีพประมง อนุสารเกี่ยวกับสุขวิทยาอนามัยของกระทรวงสาธารณสุข ให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ และอนามัยแก่ประชาชน เป็นต้น
การศึกษาวิชาชีพ ผู้เรียนจำเป็นต้องลงมือปฏิบัติจริง เพื่อให้เกิดทักษะ ในการนำไปใช้ในชีวิตจริง
๖. จัดการบรรยาย อภิปราย และสาธิตทางวิทยุกระจายเสียง และวิทยุโทรทัศน์ สำหรับผู้ฟังทั่วไป
เป็นการบรรยาย หรืออภิปรายเป็นประจำต่อเนื่องกัน แต่ละครั้งมีระยะเวลาระหว่าง ๓-๓๐ นาที ผู้จัดรายการอาจจะเป็นมหาวิทยาลัย หน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรเอกชน เช่น รายการภาษาไทยวันละคำ ของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รายการของโครงการสารานุกรมไทย สำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รายการสนทนาปัญหาบ้านเมือง ทางสถานีโทรทัศน์ เป็นต้น
๗. จัดให้มีหนังสืออ่านตามความสนใจ และความต้องการในการศึกษาของประชาชน
ได้แก่ จัดห้องสมุดประชาชนในเมือง จัดที่อ่านหนังสือในหมู่บ้าน จัดห้องสมุดเคลื่อนที่ไปตามชนบทห่างไกล ห้องสมุดประชาชนเป็นบริการของรัฐ เพื่อการศึกษาตลอดชีวิตของประชาชน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกระดับการศึกษา ให้โอกาสแก่ผู้ต้องการหาความรู้ได้มีหนังสืออ่านตามความสามารถของตน ห้องสมุดจะช่วยเหลือในการค้นหาหนังสือ ช่วยแนะนำการใช้คู่มือค้นหาหนังสือ และเรื่องราวที่ต้องการ ตอบคำถาม และจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน ให้ความรู้ ข้อมูล และข่าวสารทางวิชาการ
การศึกษาต่อเนื่องในประเทศไทย
ตั้งแต่สมัยโบราณมา ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการศึกษาให้เป็นระบบในโรงเรียน คนไทยที่ประสงค์จะหาความรู้พื้นฐาน หรือหาความรู้เพิ่มเติมจะเรียนจากผู้ใหญ่ในบ้าน ของตน และจากผู้รู้ในชุมชนของตน แหล่งความ รู้ที่สำคัญ คือ วัด ซึ่งนอกจากจะสั่งสอนความรู้ ทางพระพุทธศาสนาแล้ว ยังสอนวิชาอื่นๆ เช่น การช่าง การรักษาโรค โหราศาสตร์ ผู้ประกอบการ เช่น หมอ ช่างฝีมือ นักดนตรี จะรับเด็กหรือผู้ใหญ่ ที่ประสงค์จะเรียนรู้ เข้าไว้เป็นศิษย์ โดยไม่คิดค่าตอบแทน แต่ศิษย์จะบูชาครู หรือ สนองพระคุณของครูด้วยการรับใช้ช่วยครูทำงาน ในบ้าน หรืองานอาชีพของครู
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๓ รัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาต่อเนื่องของประชาชนทั่วไป และเห็นความสำคัญ ที่จะต้องให้ผู้ใหญ่ ที่ขาดโอกาสเล่าเรียนได้เล่าเรียนตามสมควรคือ ให้สามารถช่วยตนเอง และสามารถทำหน้าที่พลเมืองที่ดีตามระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลจึงได้จัดตั้ง กองการศึกษาผู้ใหญ่ขึ้น ในสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เน้นเรื่องการรู้หนังสือ โดยมีประกาศพระราชบัญญัติให้ผู้ใหญ่เรียนรู้หนังสือ ในการรณรงค์เพื่อให้รู้หนังสือขึ้น ขณะนั้น ได้นำเอาวิธีสอนแบบสอนคนหนึ่งให้อ่านออก แล้วให้ไปสอนอีกคนหนึ่ง ซึ่งเป็นวิธีการที่นักการศึกษาผู้ใหญ่ ที่รู้จักกันทั่วโลก คือ ดร.แฟรงค์ ซี เลาบัค (Dr. Frank C.Laubach) คิดขึ้นใช้ กองการศึกษาผู้ใหญ่ได้จัดทำหนังสือเรียนภาษาไทยสำหรับผู้ใหญ่ขึ้น เป็นครั้งแรก ร่วมมือกับโรงเรียนบางแห่งขอใช้ห้องเรียนในตอนเย็น ให้ครูของโรงเรียนนั้นๆ เป็นครูสอนผู้ใหญ่ด้วย นอกจาก สอนการรู้หนังสือแล้ว ยังมีการสอนวิชาชีพระยะสั้นๆ ในเวลา ต่อมา และได้จัดตั้งห้องสมุดประชาชนขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๙๕
การจัดการศึกษาต่อเนื่องในปัจจุบัน มี หน่วยงานของรัฐและเอกชนเป็นจำนวนมาก ช่วย บริหารและดำเนินการ ในกระทรวงศึกษาธิการ มีกรมที่รับผิดชอบคือ กรมการศึกษานอกโรงเรียน กรมอาชีวศึกษา กรมการศาสนา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน ในกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ มีกรมประมง กรมส่งเสริมการเกษตร กรมปศุสัตว์ ในกระทรวงมหาดไทย มีกรมแรงงาน กรมประชาสงเคราะห์ ในกระทรวงอุตสาหกรรม มีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ในกระทรวงสาธารณสุข มีกรมอนามัย นอกจาก นี้มหาวิทยาลัยหลายแห่งมีบริการการศึกษาแก่ประชาชน โดยจัดสอนพิเศษในระยะสั้น ในบางวิชา เช่น โครงการการศึกษาต่อเนื่องของสถาบัน บัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เป็นต้น ทางด้านองค์กรเอกชน มีสมาคมต่างๆ ที่จัดการศึกษา ต่อเนื่องให้แก่สมาชิก ที่จัดให้แก่ประชาชนทั่วไป ก็มี