Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

โรคระบบประสาท

Posted By Plookpedia | 15 ธ.ค. 59
4,363 Views

  Favorite

โรคระบบประสาท

ระบบประสาทประกอบด้วยสมอง ไขสันหลัง และกล้ามเนื้อ ระบบประสาทมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว การพูด ความนึกคิด ความรู้สึก (เช่น เจ็บ สัมผัส) ความรู้สึกพิเศษ (เช่น การเห็น การ ได้กลิ่น การได้รส การได้ยิน) การขับถ่ายต่างๆ (อุจจาระ ปัสสาวะ เหงื่อ สิ่งขับหลั่งต่างๆ) รวมทั้ง เกี่ยวข้องกับรีเฟล็กซ์ (reflex) ต่างๆ (เช่น การไอ การกลืน) เป็นต้น

โรคลมบ้าหมู

โรคลมบ้าหมู หรือโรคชัก คือ ภาวะที่มีการทำงานของสมองผิดปกติชั่วคราว และเป็นพักๆ ทำให้เกิดอาการทันที อาการดังกล่าวนั้นหยุดได้เอง แต่มีความโน้มเอียงที่จะเกิดซ้ำอีก อาการที่เห็นได้ชัดคือ อาการชัก และหมดสติ หรืออาการกระตุกของแขนขา หรือของกล้ามเนื้อส่วนใดหนึ่งของร่างกายเป็นพักๆ 

สาเหตุของลมบ้าหมูแบ่งออกเป็น ๔ ประเภทคือ 

๑. สาเหตุเฉพาะที่ 

ก. โรคซึ่งเกิดร่วมกับความดันภายใน กะโหลกศีรษะสูงผิดปกติ เช่น เนื้องอกในสมองเลือดออกในสมองชั้นใต้อะแร็คนอยด์ (arachnoid)

พยาธิตัวตืดที่เปลือกสมอง

  ข. โรคซึ่งมีการอักเสบหรือติดเชื้อ เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ สมองอักเสบ ไม่ว่าจะโดยจุลินทรีย์ใดๆ ก็ตาม สาเหตุที่พบบ่อยในประเทศไทย คือ พยาธิตืดหมูขึ้นสมอง สมองอักเสบจากไวรัสจาแพนีสบีมาลาเรียขึ้นสมอง เป็นต้น
ค. ภยันตรายต่อสมอง เช่น จากอุบัติเหตุรถชน จากการคลอด เป็นต้น 
ง. โรคพิการแต่กำเนิด เช่น ทูเบอรัส สเคลอโรซิส (tuberous sclerosis) 
จ. โรคซึ่งทำให้มีการเสื่อมของเนื้อสมอง เช่น ลิพิโดซิสของสมอง (cerebral lipidosis) โรคพิกส์ (Pick's disease) เป็นต้น 
ฉ. โรคซึ่งเกี่ยวกับการไหลเวียนของเลือดในสมอง เช่น หลอดเลือดสมองอุดกั้น เลือดออกในเนื้อสมอง ความดันเลือดสูงร้ายแรง เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอเพียงโดยสาเหตุต่างๆ เป็นต้น 

๒. สาเหตุทั่วๆ ไป 

ก. พิษจากภายนอก เช่น สุรา ตะกั่ว อินซูลิน ยาฆ่าแมลง รวมทั้งการหยุดสุราหรือยาบางอย่างโดยทันที เช่น บาร์บิทุเรต (barbiturate) เป็นต้น 
ข. ภาวะขาดออกซิเจน เช่น การแก้พิษคาร์บอนมอนอกไซด์ อาการซีดอย่างมาก เป็นต้น 
ค. ภาวะที่มีความผิดปกติในเมแทบอลิซึม (metabolism) เช่น ในภาวะยูรีเมีย ภาวะการทำงานของตับวาย ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ และภาวะที่มีไข้สูง เป็นต้น 
ง. โรคต่อมไร้ท่อ เช่น เททานี (tetany) เป็นต้น 
จ. อื่น ๆ เช่น การชักซึ่งพบร่วมกับโรคหืด และการติดเชื้อ เป็นต้น 

๓. สาเหตุทางจิตใจ 

จิตใจมีส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วย ซึ่งจะชักอยู่แล้วมีโอกาสชักได้ง่ายขึ้น และทำให้การชักถี่ขึ้น สาเหตุทางจิตใจอย่างเดียวเชื่อว่า มีความสำคัญน้อย ที่จะทำให้เกิดอาการชักโดยตรง 

๔. ไม่ทราบสาเหตุแน่นอน 

เป็นพวกที่พบมากที่สุดเชื่อว่า กรรมพันธุ์มีส่วนสำคัญเกี่ยวกับสาเหตุของโรคลมชักประเภทนี้ เพราะอาจมีประวัติโรคลมชักในครอบครัวของผู้ป่วยได้ถึงร้อยละ ๒๘ 

อาการโรคลมบ้าหมูที่พบได้มีหลายชนิด ดังนี้ 

ก. อาการแบบกรังด์มาล (grand mal) 

การชักแบบรังด์มาล อาจแบ่งได้เป็นหลายระยะ คือ 

๑. อาการนำ

อาจมีอาการนำมาก่อนหลายชั่วโมง หรือ ๒-๓ วัน ก่อนชัก เช่น รู้สึกหงุดหงิดซึมเศร้า ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ และแขนขากระตุก เป็นต้น 

๒. ออรา (aura) 

คือ อาการเตือน จะเกิดขึ้นก่อนการชักจริงเพียงชั่วระยะเวลาอันสั้นไม่กี่วินาที อาการเตือนนี้มีได้หลายอย่าง เช่น มีความรู้สึกทางจิตที่ผิดปกติ ได้แก่ ความรู้สึกซึ่งคุ้นเคยกับสิ่งนั้นๆ ความรู้สึก ซึ่งไม่สมจริง การมีจิตหรือประสาทหลอนในรูปต่างๆ อาการเวียนศีรษะ และความรู้สึกของร่างกายผิดปกติไป เป็นต้น 

๓. ระยะชัก 

การชักอาจเริ่มต้นโดยผู้ป่วยร้องเสียงดัง แล้วผู้ป่วยก็หมดสติไปทันที ระยะแรกผู้ป่วยอาจมีการเกร็งของกล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกาย ผู้ป่วยจะหยุดหายใจ แขนขาทั้ง ๒ ข้างจะอยู่ชิดลำตัว ข้อมือ และข้อศอกอาจงอ และกำมือแน่น ศีรษะอาจหันไปด้านหนึ่งด้านใด และปากอาจเบี้ยว เท้าทั้ง ๒ ข้างเหยียดตรง การเกร็งตัวของกล้ามเนื้อนี้อาจรุนแรง ทำให้กระดูกหักได้ ต่อจากนั้นจะมีการกระตุกของกล้ามเนื้อของร่างกายเป็นจังหวะๆ แต่เป็นอยู่ชั่วระยะเวลาอันสั้น ในขณะชักผู้ป่วยอาจกัดลิ้นเป็นแผล ปัสสาวะรด และอุจจาระราด เนื่องจากมีระยะหยุดการหายใจ ผู้ป่วยอาจเกิดอาการเขียวคล้ำ รวมทั้งอาจมีเลือดออกที่ตาขาว และตามผิวหนัง การกระตุกของกล้ามเนื้อดังกล่าวจะค่อยๆ ห่างขึ้นๆ จนหยุดในที่สุด 

๔. ระยะหลังชัก 

เมื่อระยะกระตุกสิ้นสุดลงแล้ว ผู้ป่วยมักจะยังหมดสติอยู่ ระยะนี้อาจนานเพียง ๒-๓ นาที จนถึงประมาณครึ่งชั่วโมง เมื่อพ้นระยะหมดสติ ผู้ป่วยมักจะยังคงนอนหลับต่ออีกเป็นเวลาหลายชั่วโมง เมื่อตื่นขึ้นมา ผู้ป่วยมักมีอาการปวดศีรษะอ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ และมักมีอาการแสดงต่างๆ ซึ่งบ่งว่า มีการชักเกิดขึ้น เช่น แผลที่ลิ้น ปัสสาวะเปียก เป็นต้น 

ข. อาการแบบเปอทิต์มาล (petit mal) 

คือ ภาวะ ซึ่งผู้ป่วยมีอาการหมดสติชั่วระยะเวลาอันสั้นเพียง ๑-๒ วินาที เพียงอย่างเดียว โดยไม่มีการเกร็งหรือกระตุก อาการที่มักแสดงให้เห็นได้แก่ การหยุดชะงักในขณะที่กำลังพูดอยู่ การทำของ ซึ่งกำลังถืออยู่ ตกหล่น อาการของเปอทิต์มาลมักจะเริ่มในเด็ก และหายไปได้เอง เมื่ออายุมากขึ้น 

ค. อาการแบบเทมโพรับโลบ (psychomotor, temporal lobe epilepsy) 

มีอาการหลายอย่าง เช่น มีอารมณ์ผิดปกติไป กลัว ซึมเศร้า กระวนกระวาย รู้สึกไม่เป็นตัวของตัวเอง รู้สึกคุ้นเคยกับสิ่งนั้น มีอาการประสาทหลอน (ได้กลิ่นหรือรสผิดปกติ) มีอาการทางเวโซมอเตอร์ (vasomotor) เหงื่อออก ใจสั่น น้ำลายมากแน่นยอดอก) เวียนศีรษะ และมีความประพฤติผิดปกติไป (มีอารมณ์รุนแรงหรือดุร้าย) เป็นต้น 

อาการดังกล่าวอาจเกิดขึ้นเพียงอย่างเดียวหรือเกิดร่วมกับอาการชักชนิดกรังด์มาลก็ได้ 

ง. การชักแบบเฉพาะที่ 

มีอาการกระตุกที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เช่น บริเวณมุมปาก นิ้วหัวแม่มือ นิ้วหัวแม่เท้า โดยผู้ป่วยไม่สูญเสียความรู้สติ การชักดังกล่าวอาจเกิดร่วมกับการชักชนิดกรังด์มาลได้เช่นเดียวกัน การชักกระตุกเฉพาะที่อาจมีติดต่ออยู่นานๆ ก็ได้ 

จ. การชักชนิดอื่นๆ 

อาจมีได้อีกหลายชนิด แต่พบได้น้อย เช่น การชักที่เกิดขึ้นเมื่ออ่านหนังสือ เมื่อได้ฟังเพลง การชักแบบซาลาม มีการกระตุกของกล้ามเนื้อบางกลุ่ม เป็นต้น 
การวินิจฉัยโรคอาศัยประวัติ และการตรวจร่างกาย การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองช่วยบอกว่า ผู้ป่วยเป็นโรคลมบ้าหมูหรือไม่ ถ้าเป็น เป็นชนิดใด และอาจเกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง ผู้ป่วยที่เป็นโรคลมบ้าหมูอย่างแน่นอนไม่จำเป็นต้องมีคลื่นไฟฟ้าสมองที่ผิดปกติเสมอไป การตรวจพิเศษอื่นๆ เช่น การถ่ายภาพรังสี การตรวจสารน้ำหล่อสมองไขสันหลัง การตรวจโดยฉีดสารทึบรังสีเพื่อดูหลอดเลือดของสมอง การตรวจโดยวิธีคอมพิวเทคโทโมกราฟี (computed tomography) อาจช่วยบอกสาเหตุของการชักนั้น    

การใช้คลื่นไฟฟ้าสมองในการวินิจฉัยโรค


การรักษากระทำได้ดังนี้ 

๑. การรักษาในขณะที่ผู้ป่วยชัก 

มีจุดมุ่งหมายที่จะป้องกันอันตรายจากการชัก เช่น ใช้ไม้กดลิ้นเพื่อไม่ให้ฟันกัดลิ้น ป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยตกเตียงขณะชัก เนื่องจากขณะชักมักมีระยะเวลาสั้น จึงไม่ต้องใช้ยา เพื่อให้หยุดชักทันที แต่อาจต้องให้ยา เพื่อป้องกันมิให้มีการชักซ้ำ

๒. การรักษาเพื่อมิให้เกิดการชักซ้ำ 

กระทำโดยการรักษาสาเหตุ เช่น ผ่าเนื้องอกในสมอง แก้ไขภาวะน้ำตาลในเลือดดำ และรักษาการอักเสบของสมอง เป็นต้น การรักษาสาเหตุจะช่วยขจัดการชักมิให้เกิดขึ้นโดยสิ้นเชิง หรือทำให้มีการชักซ้ำน้อยครั้งลง 

การรักษาทางยา โดยให้ยาต้านการชัก (anticonvulsants) การให้ยาต้านการชักหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ และจะให้ยาต้านการชักชนิดใด ขึ้นอยู่กับชนิดของการชัก

ภาพตัดขวางของสมอง


อาการปวดศีรษะและโรคที่เกี่ยวข้องกับการปวดศีรษะ

อาการปวดศีรษะเป็นอาการที่พบได้บ่อยที่สุดอาการหนึ่ง และเป็นอาการ ซึ่งอาจชี้บ่งสาเหตุที่ร้ายแรงได้ แม้ว่าอาการปวดศีรษะ จะมีความรุนแรงเพียงเล็กน้อยก็ตาม อาการปวดศีรษะเกิดขึ้น เนื่องจากมีการกระตุ้นต่ออวัยวะของศีรษะที่อาจเจ็บปวดได้ อวัยวะดังกล่าวที่สำคัญ ได้แก่ ผิวหนังของศีรษะเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง กลุ่มกล้ามเนื้อท้ายทอย ขมับ และหน้าผากหลอดเลือดแดง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลอดเลือดแดงใหญ่ๆ ทั้งที่อยู่ภายในและนอกกะโหลกศีรษะ เยื่อหุ้มกะโหลกศีรษะ เยื่อหุ้มสมอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยื่อหุ้มบริเวณฐานสมอง และเยื่อหุ้มสมองที่เป็นผนังของวีนัสไซนัสใหญ่ๆ ภายในกะโหลกศีรษะ ประสาทสมอง และแขนงรากประสาท ซึ่งมีใยประสาทรับความรู้สึกเส้นประสาทสมองคู่ที่ ๕, ๙, ๑๐ และรากประสาทคอที่ ๑, ๒, ๓ เป็นต้น เป็นที่น่าสังเกตว่า ตัวกระดูกของกะโหลกศีรษะ เนื้อสมอง และอวัยวะอื่นๆ ไม่มีการเจ็บปวด เมื่อได้รับการกระตุ้นโดยตรง กลไกของการกระตุ้นอวัยวะ ที่อาจรับความรู้สึกเจ็บปวดได้ดังกล่าว มีหลายสาเหตุ เช่น การอักเสบ การกดโดยตรง การดึง หรือการทำให้บิดเบี้ยว การเปลี่ยนแปลงของขนาดของหลอดเลือดแดง และการระคายเคือง เป็นต้น

อาการปวดศีรษะข้างเดียว

อาการนี้บางทีเรียกว่า โรคไมเกรน (migraine,hemicrania) เป็นโรคปวดศีรษะที่มีอาการเป็นพักๆ และมีสาเหตุจากความผิดปกติ ของหลอดเลือดแดง ในผู้ป่วยที่มีอาการแสดงครบชุดจะปรากฏว่า มีอาการแสดงทางตาและอาการแสดงอื่นๆ ซึ่งแสดงว่า มีอาการผิดปกติในหน้าที่ของสมองร่วมกับอาการปวดศีรษะซีกเดียว และมีอาเจียนร่วมด้วย โรคนี้เป็นโรคซึ่งพบได้บ่อยมาก โดยมากจะมีอาการเริ่มขึ้นในวัยหนุ่มสาว และมีอุบัติการณ์สูงสุดในระหว่างอายุ ๓๐-๕๐ ปี

ระบบการสั่งงานจากสมองไปยังอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย

   ไมเกรนเป็นโรคซึ่งพบได้ทั้งในหญิงและชาย แต่กล่าวกันว่า พบได้บ่อยในหญิงมากกว่าชาย นอกจากนี้ยังอาจมีประวัติของไมเกรนในครอบครัวได้ อาการของโรคนี้มีได้หลายระยะ คือ
อาการนำที่พบได้บ่อยที่สุด ได้แก่ อาการอ่อนเพลีย ง่วงนอน หรือมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับลำไส้ เช่น ท้องร่วง หรือมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับกับลำไส้ เช่น ท้องร่วง ท้องอืด ท้องผูก อาการดังกล่าวเกิดขึ้นในวันที่ผู้ป่วยเริ่มมีอาการปวดศีรษะ หรือก่อนมีอาการปวดศีรษะก็ได้ ผู้ป่วยอาจจะมีอาการที่มองเห็นเสมือนหนึ่งว่า มีใบไม้ไหว หรือแสงสว่างกะพริบ มีสีสว่าง หรือสีอื่นๆ บางคนอาจให้ประวัติว่า มองเห็นจุดดำๆ อยู่ที่นัยน์ตาทั้งสองข้าง นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจมีอาการอื่นๆ เช่น อาการแสบ อาการชา อาการอ่อนแรงของแขนขา และอาการผิดปกติเกี่ยวกับการพูด เป็นต้น 

อาการปวดศีรษะเป็นอาการที่เด่นชัดที่สุดของโรคไมเกรน และมักเป็นอาการที่ทำให้ผู้ป่วยมาหาแพทย์ อาการปวดศีรษะมักจะเริ่มที่ข้างใดข้างหนึ่งของกะโหลกศีรษะ เช่น ที่บริเวณขมับแล้วค่อยๆ กระจายไปปวดที่บริเวณของศีรษะซีกนั้นทั้งหมด บางครั้งบางคราวอาจจะมีอาการปวดทั่วศีรษะได้ ผู้ป่วยมักจะมีอาการกลัวแสงร่วมด้วย และมีอาการทางเวโซมอเตอร์ เช่น หน้าซีด ตัวเย็น หน้าแดง ตาแดง คัดจมูก เมื่อหายจากอาการปวด ผู้ป่วยอาจมีอาการอ่อนเพลียไม่อยากทำงาน อาการดังกล่าวอาจเป็นอยู่นานหลายนาที จนถึงสองหรือสามวันได้ 

การวินิจฉัยโรคอาศัยลักษณะของอาการที่ค่อนข้างเฉพาะของโรคนี้ อย่างไรก็ดี แพทย์จำเป็นต้องแยกโรคนี้จากผู้ป่วยที่มีอาการเหมือนไมเกรน ซึ่งอาจจะมีสาเหตุอย่างอื่นก็ได้ 

การรักษาผู้ป่วยที่มีอาการปวดแต่เพียงเล็กน้อยให้ยาแก้ปวดธรรมดา เช่น แอสไพริน ในรายที่มีอาการรุนแรง อาจให้ยาเออร์โกทามีนทาร์เทรต (ergotamine tartrate) ซึ่งเป็นยาที่มีฤทธิ์ลดการขยายตัวของหลอดเลือดแดง นอกจากนี้เป็นการรักษาปัจจัย ซึ่งอาจกระตุ้นให้มีอาการปวดได้ 

ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการปวดรุนแรง และปวดถี่ แพทย์อาจให้ยาป้องกันอาการปวด เช่น พิโซทิเฟน (pizotifen) โพรพาโนลอล (propanolol) เป็นต้น

อาการปวดศีรษะจากความเครียด

อาการปวดศีรษะจากความเครียดเกิดขึ้นเนื่องจาก มีการหดตัวเกินปกติของกล้ามเนื้อรอบศีรษะ และกล้ามเนื้อบริเวณคอ โรคนี้เป็นโรคที่พบได้บ่อยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย 

อาการปวดศีรษะชนิดนี้มีลักษณะการปวดตื้อๆ รอบๆ ศีรษะเสมือนหนึ่ง มีผ้ามาบีบรัด โดยที่บางครั้งอาจจะมีอาการมากที่บริเวณท้ายทอย หรือขมับทั้งสองข้างได้ การปวดมักจะเป็นมากในเวลาบ่ายหรือหลังจากได้ทำงานมาเป็นเวลานาน ผู้ป่วยอาจมีอาการแสดงของความเคร่งเครียดร่วมด้วย เช่น มีอาการคิ้วขมวด หน้าผากย่น หรือกัดฟันตลอดเวลา 

การวินิจฉัยโรคส่วนใหญ่อาศัยลักษณะประวัติของผู้ป่วย และการตรวจร่างกาย ซึ่งนอกจากอาการกดเจ็บข้างต้น ผู้ป่วยมักไม่มีอาการผิดปกติในการตรวจร่างกายแต่อย่างใด 

การรักษาสำคัญประกอบด้วยการให้ยาระงับปวดในกรณีที่มีอาการปวดมากร่วมกับการให้ยาระงับประสาท

อาการปวดศีรษะจากภาวะความดันภายในกะโหลกศีรษะสูงเกินปกติ

อาการปวดศีรษะชนิดนี้เกิดขึ้นเนื่องจาก มีความดันภายในกะโหลกศีรษะสูงเกินปกติ ทำให้มีการดึงการดัน หรือทำให้มีการเปลี่ยนที่ ของอวัยวะ ที่อาจจะเจ็บปวดได้ สาเหตุของการเจ็บปวดชนิดนี้มีได้หลายประการ เช่น เป็นเนื้องอกสมอง เนื่องจากไฮโดรซีฟาลัสอุดกั้น (obstructive hydrocephalus) ผู้ป่วยมักมีอาการปวดตลอดศีรษะ แต่อาจจะปวดมาก ที่บริเวณใดบริเวณหนึ่ง อาการปวดมักจะเป็นชนิดตื้อๆ และมักจะรุนแรงในเวลากลางคืนดึกๆ หรือเช้ามืด โดยที่ในเวลากลางวัน การปวดศีรษะอาจทุเลาลง การปวดจะมีมากขึ้น เมื่อมีอาการไอ จาม หรือเบ่งอุจจาระ และอาจจะมีอาการปวดตุบๆ ร่วมด้วยได้ นอกจากนี้ยังอาจจะมีอาการอาเจียนถ้าอาการปวดศีรษะมีอาการรุนแรงมาก

ภาพเอกซเรย์ลักษณะสมองมีเนื้องอกบริเวณมุม

 

   การรักษาที่สำคัญคือ การรักษาตามสาเหตุ ที่ทำให้เกิดภาวะความดันภายในกะโหลกศีรษะสูงขึ้น นอกจากนี้ ในรายจำเป็นรีบด่วน หรือหาสาเหตุไม่ได้ ก็มีการรักษาชั่วคราว เพื่อช่วยลดความดันภายในกะโหลกศีรษะสูงเกินปกติดังกล่าวได้หลายวิธี เช่น โดยการผ่าตัด เป็นต้น
อาการปวดศีรษะที่มีสาเหตุทางจิตใจ 

มักพบในผู้ป่วยซึ่งมีลักษณะของโรคทางจิตเวชชนิดนิวโรซิส (neurosis) ฮิสทีเรีย (hysteria) และโรคจิตซึมเศร้าเป็นต้น ผู้ป่วยมักให้ประวัติการปวดศีรษะได้ละเอียดลออมากเกินความจริง และถ้าแพทย์ซักประวัติโดยการแนะอาการ ผู้ป่วยมักจะมีอาการนั้นๆ ทุกชนิด การรักษาอาการปวดชนิดนี้ จำเป็นต้องรักษาโรคทางจิตเวช ซึ่งเกิดร่วมกับการปวดศีรษะนั้น

นอกจากการปวดศีรษะดังกล่าวแล้ว ยังมีการปวดศีรษะเนื่องจากสาเหตุอื่นๆ อีก ดังนี้

อาการปวดศีรษะจากโรคของอวัยวะเฉพาะที่

โรคที่เกิดขึ้นกับอวัยวะเฉพาะที่ของกะโหลกศีรษะ อาจทำให้มีอาการปวดศีรษะได้ง่าย เช่น การปวดศีรษะจากนัยน์ตา ดังจะเห็นได้ชัดจากผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของสายตา (สายตาสั้น สายตายาว สายตาพร่าต่างแนว) ต้อหิน การปวดศีรษะจากจมูกและโพรงจมูก เช่น ในผู้ป่วยที่เป็นโรคโพรงจมูกอักเสบจากโรคกระดูกของกะโหลกศีรษะ เช่นการอักเสบของกระดูกของกะโหลกศีรษะ และจากโรคของหู เช่น หูชั้นกลางอักเสบ โพรงอากาศมาสทอยด์ (mastoid) อักเสบ เป็นต้น

อาการปวดศีรษะจากประสาทสมองหรือรากประสาท

ในกรณีที่ประสาทสมอง หรือรากประสาทถูกกดทับ หรืออักเสบ อาจทำให้มีอาการปวดไปตามบริเวณของผิวหนังที่เลี้ยงด้วยประสาทนั้นๆ ได้ เช่น ถ้ามีการอักเสบ หรือมีการกดทับของประสาทสมองคู่ที่ ๕ ไทรเจมินัส (trigeminus) จะทำให้มีอาการแสบหรือปวดหรือชาของบริเวณศีรษะ ซึ่งถูกเลี้ยงโดยประสาทสมองคู่ที่ ๕ นี้

อาการปวดศีรษะเนื่องจากการระคายเคืองต่อเยื่อหุ้มสมอง

การปวดศีรษะชนิดนี้ ในภาวะที่มีการอักเสบของเยื่อหุ้มสมอง มักมีการปวดศีรษะเป็นอาการสำคัญ อาการปวดนั้นมักจะปวดทั่วศีรษะรวมทั้งท้ายทอย และบริเวณคอ และมักจะเป็นการปวดตื้อๆ ตลอดเวลา โดยที่อาการปวดจะมีมากขึ้น ถ้ามีอาการไอ จาม ผู้ป่วยอาจจะมีอาการกลัวแสงร่วมกับมีอาการคอแข็ง ทำให้ก้มศีรษะลำบาก

อาการปวดศีรษะภายหลังภยันตรายต่อกะโหลกศีรษะ

การปวดศีรษะชนิดนี้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นภายหลังภยันตรายต่อกะโหลกศีรษะ ซึ่งประกอบด้วยอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ อาการไวต่อการกระตุ้น และความตั้งใจทำงานเสียไป อาการปวดศีรษะชนิดนี้มีลักษณะไม่แน่นอน แต่มักมีความสัมพันธ์กับท่าทางของร่างกาย 

การรักษาอาการปวดศีรษะจากสาเหตุต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น อาศัยหลักการรักษาทั่วไป ได้แก่การรักษาสาเหตุ และในรายที่จำเป็นยังไม่ทราบสาเหตุ อาจต้องให้การรักษาตามอาการก่อน เช่น การให้ยาระงับปวด เป็นต้น

อาการหมดสติหรือโคม่า

อาการหมดสติ หรือหมดความรู้สติ หรือโคม่า (coma) คือ อาการที่ผู้ป่วยไม่สามารถจะตอบสนองต่อการกระตุ้นใดๆ ไม่ว่าการกระตุ้นนั้นจะมีความรุนแรง หรือเจ็บปวดมากเพียงใดก็ตาม ผู้ป่วยที่มีอาการในลักษณะนี้จะปรากฏว่า รีเฟล็กซ์ต่างๆ หายไป เช่น รีเฟล็กซ์เทนดอน (tendon reflex) รีเฟล็กซ์แสงของรูม่านตา และอาจจะมีอาการแสดงแบบบาบินสกี (Babinski's sign) ร่วมด้วยได้ ผู้ป่วยที่มีอาการสูญเสียความรู้สติยังไม่ถึงระดับหมดสติ ซึ่งอาจเรียกว่า อาการครึ่งรู้สติ หมายถึง อาการที่ผู้ป่วยหมดความรู้สติชนิดไม่สมบูรณ์ กล่าวคือ ยังสามารถที่จะดึงแขนหรือขาออกไป เมื่อถูกหยิกหรือกระตุ้นให้เจ็บปวดอย่างรุนแรงได้ รีเฟล็กซ์ต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นก็ยังอาจจะมีอยู่
สาเหตุของอาการหมดสติ หรืออาการครึ่งรู้สติมีได้หลายสาเหตุ คือ ภยันตรายต่อกะโหลกศีรษะ โรคลมบ้าหมู โรคของหลอดเลือดของสมองพิษยา เยื่อหุ้มสมอง และสมองอักเสบ รอยโรคกินที่ภายในกะโหลกศีรษะ ความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ และเมแทบอลิซึม และฮิสทีเรีย    
ผู้ป่วยหมดสติหรือโคม่า
อาศัยประวัติ และลักษณะทางคลินิก รวมทั้งการตรวจอาการแสดงของผู้ป่วย ผู้ป่วยที่มีอาการหมดสติจากเบาหวานมักมีประวัติว่า เป็นเบาหวาน หรือมีร่องรอยว่า ผู้ป่วยเป็นเบาหวาน เช่น มียารักษาโรคเบาหวานติดตัว ผู้ป่วยที่มีอาการหมดสติ เนื่องจากกินยาเกินขนาด อาจมีร่องรอยของยานั้น หรือมียานั้นติดตัว หรือมีจดหมาย ซึ่งแสดงว่า ผู้ป่วยกินยานั้น เพื่ออัตวินิบาตกรรม เป็นต้น 

การพยาบาลนับว่า เป็นส่วนสำคัญที่สุดในการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการหมดสติ ผู้ป่วยควรได้รับการพลิกตัวทุก ๒ ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้เกิดมีแผลนอนทับเกิดขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันมิให้เกิดมีโรคปอดบวม เนื่องจากนอนท่าเดียว

อาการเป็นลม 

อาการเป็นลมเป็นอาการหมดสติเพียงชั่วครู่ ที่ เกิดขึ้น เนื่องจากความผิดปกติในการทำงานของสมองชนิดที่กลับคืนได้ (reversible cerebral dysfunction) การที่เป็นเช่นนี้ เพราะสมองขาดเลือดไปเลี้ยงเพียงชั่วคราว หรือเพราะมีการเปลี่ยนแปลงในส่วนประกอบของเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง หรือมีการเปลี่ยนแปลงในหน้าที่ ของระบบประสาทกลาง เนื่องจากการกระตุ้นบางประการ

หลักของการรักษาอาการเป็นลม คือ รักษา สาเหตุของอาการเป็นลมนั้น ในผู้ป่วยส่วนมากอาการ เป็นลมมักจะดีขึ้น ถ้าให้ผู้ป่วยอยู่ในท่านอน และยกเท้าทั้งสองข้างขึ้น เพื่อให้เลือดไปสู่สมองเพิ่มขึ้น 

 ภาวะสมองขาดเลือดมาเลี้ยงชั่วคราว 

ภาวะสมองขาดเลือดมาเลี้ยงชั่วคราว เป็นภาวะซึ่งทำให้มีการสูญเสียการทำงานของหน้าที่ของสมองชั่วคราว สาเหตุมีหลายประการ เช่น มีเอ็มบอไลเล็กๆ (micro-emboli) หลุดจากหลอดเลือดแดงใหญ่บริเวณ คอ ไปอุดกั้นที่ส่วนของสมอง ทำให้ขาดเลือดมาเลี้ยงสมองส่วนนั้นเพียงชั่วคราว ความดันเลือดต่ำถึงขีดชั่วระยะเวลาอันสั้น มีความผิดปกติของส่วนประกอบของเลือด ได้แก่ ภาวะเลือดเกิน ภาวะเลือดจาง เป็นต้น และมีความดันเลือดสูงอย่างร้ายแรง

อาการของผู้ป่วย ที่เกิดจากการสูญเสียการทำงานของสมองเพียงชั่วคราว ได้แก่ มีการอ่อนแรงครึ่งซีก มีความผิดปกติของการพูด มีการชาของแขน ขา มีอาการเวียนศีรษะ และมีอาการหูอื้อ เป็นต้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่า บริเวณใดของสมองขาดเลือดมาเลี้ยง อาการดังกล่าวจะมีอยู่เพียงชั่วคราว 

การรักษาส่วนใหญ่เป็นการรักษาสาเหตุถ้ากระทำได้ ในผู้ป่วยที่ปรากฏว่าการสูญเสียหน้าที่ของสมองเกิด ขึ้นจากมีเอ็มบอไลเล็กๆ ควรได้รับการรักษาโดยการให้ ยาป้องกันเลือดกลายเป็นลิ่ม 

โรคหลอดเลือดของสมอง

โรคหลอดเลือดของสมองนับว่า เป็นโรคที่สำคัญโรคหนึ่งในโรคของระบบประสาท นอกจากนี้ ยังนับว่าเป็นโรค ซึ่งเป็นสาเหตุของการตายที่พบได้บ่อยในโรงพยาบาลโดยทั่วไป และเป็นสาเหตุสำคัญของการตายในต่างประเทศ 

โรคหลอดเลือดของสมองอาจแบ่งได้เป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ โรคหลอดเลือดของสมองที่เป็นสาเหตุของการตกเลือด ภายในกะโหลกศีรษะ และโรค หลอดเลือดของสมองที่ทำให้มีเลือดไปเลี้ยงสมองไม่ เพียงพอ หรือทำให้เนื้อสมองตาย (cerebral infraction) 

การตกเลือดนอกดูรา 

การตกเลือดนอกดูรา มักเป็นผลของอันตรายต่อกะโหลกศีรษะ เช่น จากอุบัติเหตุรถยนต์ เป็นต้น การตกเลือดนอกดูรา มักเกิดขึ้น เนื่องจากมีการฉีกขาดของหลอดเลือดแดง ทำให้เลือดแดงไหลออกมานอกดูราอย่างรวดเร็ว และมักจะมีการแตกของกะโหลก ศีรษะที่บริเวณหลอดเลือดแดงนี้ผ่านร่วมด้วย 

การตกเลือดใต้ดูรา 

การตกเลือดใต้ดูรามักเกิดขึ้น เนื่องจากมีการฉีกขาดของหลอดเลือดดำใต้ดูรา ทำให้มีเลือดออกในช่องใต้ดูราทีละน้อยๆ เลือดดำที่ออกมาดังกล่าวมักจะแข็งตัว จึงมักเรียกว่า ก้อนเลือดแข็งใต้ดูรา โรคนี้มักพบบ่อยในคนสูงอายุ และทารก มักจะเป็นผลเนื่องจาก การมีภยันตรายต่อกะโหลกศีรษะ โดยที่ภยันตรายดังกล่าว อาจไม่รุนแรงมากนัก หรือมีแต่เพียงเล็กน้อย และไม่เกิดร่วมกะโหลกศีรษะแตกเช่นในการตกเลือดนอกดูรา โรคนี้พบได้บ่อยในผู้ป่วย ซึ่งเป็นโรคพิษสุรา เรื้อรัง และผู้ป่วยสูงอายุ 

การตกเลือดในห้วงใต้อะแร็กนอยด์ 

การตกเลือดในห้วงใต้อะแร็กนอยด์ อาจเกิดขึ้น เนื่องจากมีภยันตรายต่อกะโหลกศีรษะ หรืออาจเกิดขึ้นได้เอง (spontaneous) โดยไม่เกี่ยวข้องกับภยันตราย ดังกล่าว นอกจากนี้การตกเลือดในห้วงใต้อะแร็กนอยด์ยังอาจเกิดขึ้น เพราะมีหลอดเลือดแตกในสมอง แล้วเลือดนั้นซึมผ่านเนื้อสมองเข้าสู่ห้วงใต้อะแร็กนอยด์ แต่การตกเลือดในห้วงใต้อะแร็กนอยด์ที่สำคัญมักเกิดขึ้น เนื่องจากมีการแตกของหลอดเลือดแดงที่ผิดปกติ เช่น หลอดเลือดแดงโป่งพอง (aneurysm) ความผิดปกติของหลอดเลือดแดงและดำที่เป็นมาแต่กำเนิด เป็นต้น

เซลล์ประสาทในสมอง


หลอดเลือดแตกในสมองหรือการตกเลือดในเนื้อสมอง 

หลอดเลือดแตกในสมองมักเกิดขึ้นในผู้ป่วยสูงอายุ หรือในผู้ที่มีความดันเลือดสูงอย่างรุนแรงไม่ว่าจะมีอายุเท่าใดก็ตาม การตกเลือดดังกล่าวมักเกิดขึ้นที่บริเวณพูทาเมนต์ (putament) และอินเทอร์นัลแคปซูล (internal capsule) ของสมองใหญ่ หรือในบริเวณพอนส์ (pons) เนื่องจากมีการแตกของหลอดเลือดแดงฝอยเล็กๆ ณ บริเวณนี้ จากลักษณะทางกายวิภาคศาสตร์ของระบบประสาท ซึ่งปรากฏว่า ใยประสาททดแทนส่วนต่างๆ ของร่างกาย จะมารวมกันที่บริเวณเล็กๆ ดังกล่าว ดังนั้น การที่มีการตกเลือด ณ บริเวณนี้ จะทำให้มีอาการแสดงเกิดขึ้นอย่างมากมาย แม้ว่าบริเวณของพยาธิสภาพจะมีเพียงเล็กน้อยก็ตาม
ผู้ป่วยมักมีอาการทันที โดยเริ่มต้นมีอาการปวด ศีรษะ หรือมีอาการหนักในศีรษะ อาเจียน และ ร่างกายครึ่งซีกจะมีอาการอ่อนแรงลง แล้วหลังจากนั้น ผู้ป่วยจะสูญเสียความรู้สติอย่างรวดเร็ว จนอาจจะถึงกับ หมดสติภายในเวลา ๑/๒ - ๑ ชั่วโมงหลังจากเริ่มมีอาการ เมื่อผู้ป่วยมาพบแพทย์ มักปรากฏว่า อยู่ในภาวะที่หมดสติ มีอาการหายใจลึกหรือหายใจครอกๆ ตาและศีรษะผู้ป่วย อาจจะหันไปทางซีกของสมองที่มีหลอดเลือดแตก  หรืออีกนัยหนึ่ง ทางด้านตรงกันข้ามกับซีกของร่างกายที่เป็นอัมพาต อาการอื่นๆ ที่พบได้คือ ปัสสาวะอุจจาระรด ชักกระตุกเฉพาะที่หรือทั่วๆไปก็ได้ ถ้าการตกเลือด เกิดในบริเวณพอนส์จะปรากฏว่า ผู้ป่วยจะมีอาการหมดสติอย่างรวดเร็ว รูม่านตาทั้งสองมีขนาดเล็กเท่าเข็มหมุด หรือบางครั้งไม่เท่ากัน มีไข้ และอาจจะมีอัมพาตของแขนขาทั้งสองซีกของร่างกาย    

ภาพเอกซเรย์ลักษณะการตกเลือดในเนื้อสมอง


การรักษาในผู้ป่วยที่มีอาการหมดสติลึกเมื่อมา พบแพทย์ การรักษาที่สำคัญมีหลักการเช่นเดียวกับการ รักษาผู้ป่วยที่มีอาการหมดสติ (ดูเรื่องอาการหมดสติ) ผู้ป่วยที่มีความดันเลือดสูงอย่างร้ายแรง (malignant hypertension) จำเป็นต้องให้ยาลดความดันเลือด ชนิดออกฤทธิ์เร็ว เพื่อให้ความดันเลือดกลับลงมาอยู่ใน ระดับที่ไม่สูงมากนัก ในผู้ป่วยบางรายที่เหมาะ เช่น มีการตกเลือดในสมองน้อย หรือมีการตกเลือดในสมอง ใหญ่แต่มีอาการไม่มากนัก และการตกเลือดดังกล่าวอยู่ ไม่ลึกนัก อาจทำการผ่าตัดเพื่อเอาการตกเลือดหรือ ก้อนเลือดที่แข็งตัวนั้นออก ซึ่งจะทำให้อาการของผู้ป่วย ฟื้นคืนตัวเป็นปกติได้ดีเร็วขึ้น ถ้าผู้ป่วยฟื้นคืนสติขึ้นมา แล้วจะยังมีอาการแสดงต่างๆ เช่นมีความผิดปกติ ของการพูด มีอัมพาตครึ่งซีกชนิดหดเกร็ง จำเป็นต้องได้รับการรักษาฟื้นฟูสมรรถภาพทางกายภาพบำบัด หรือสรีรบำบัด เพื่อสอนให้ผู้ป่วยช่วยตัวเองได้

การตกเลือดภายในเนื้อสมองมีการพยากรณ์โรค ที่เลวมาก เชื่อกันว่าประมาณร้อยละ ๘๐ ของผู้ป่วยจะ ถึงแก่กรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใน ๒-๓ วันแรก ผู้ ป่วยที่ยังมีชีวิตรอดอยู่ก็มักจะมีความพิการอย่างมาก เช่น มีอัมพาตครึ่งซีกชนิดหดเกร็ง ความผิดปกติของคำพูด เช่น ไม่สามารถพูดให้เข้าใจได้ หรือไม่สามารถเข้าใจคำพูดที่พูดให้ฟังได้ ไม่สามารถจะถ่ายและกลั้นอุจจาระปัสสาวะเองได้ และไม่สามารถจะกินอาหารเองได้ เป็นต้น

ภาพเอกซเรย์ลักษณะเนื้อสมองตายเนื่องจากขาดเลือด

 

โรคเนื้อสมองตาย 

โรคเนื้อสมองตายเป็นโรคที่พบได้บ่อยโรคหนึ่ง ในบรรดาโรคของระบบประสาท และเกิดขึ้น เนื่องจาก เนื้อสมองขาดเลือดมาเลี้ยง การที่เป็นเช่นนี้อาจเกิดขึ้น เนื่องจาก มีการแข็งตัวของเลือดภายในหลอดเลือดแดงที่มาเลี้ยงสมอง (cerebral thrombosis) หรือเกิดขึ้นเนื่องจาก มีก้อนเอ็มบอไลที่หลุดมาจากที่อื่น อุดกั้นภายในหลอดเลือดแดงที่เลี้ยงสมอง (cerebral embolism) หรือเกิดเนื่องจาก หลอดเลือดแดงที่เลี้ยงสมองตีบลงร่วมกับปัจจัยอื่นๆ ที่อาจทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองลดลงเกินปกติ 
โรคเนื้อสมองตายเนื่องจากเอ็มบอลิซึม 

โรคเนื้อสมองตายประเภทนี้เกิดขึ้นเนื่องจาก มีเอ็มบอไลหลุดมาอุดกั้นหลอดเลือดแดงที่มาเลี้ยงสมอง ต้นตอของเอ็มบอไลดังกล่าว มักอยู่ที่หัวใจ หรือหลอดเลือดแดงใหญ่อื่นๆ ดังนั้น ผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคลิ้นหัวใจ เช่น ลิ้นไมทรัลตีบ (mitral stenosis) เยื่อบุภายในหัวใจอักเสบ (subacute bacterial endocarditis) จึงเป็นสาเหตุ หรือต้นตอที่สำคัญของเอ็มบอไล นอกจากนี้ เอ็มบอไลดังกล่าว ยังอาจจะหลุดมาจากอะเทอโรมา (atheroma) ซึ่งอยู่ในเอออร์ตา (aorta) และหลอดเลือดแดงคาโรติด (carotid) อีกด้วย 

ผู้ป่วยมักมีอาการเริ่มต้นทันทีถ้าหากหลอดเลือดแดงใหญ่ถูกอุดกั้นโดยเอ็มบอไล ผู้ป่วยมีอาการหมด สติทันทีหรือภายในเวลาอันสั้น และอาจจะถึงแก่กรรม อย่างรวดเร็ว ในผู้ป่วยที่มีการอุดกั้นในหลอดเลือด เล็กๆ ที่ไปเลี้ยงเนื้อสมอง จะปรากฏว่า ผู้ป่วยมีอาการชาทีละน้อย และอาจจะไม่มีการสูญเสียความรู้สติ อาการ สำคัญที่เกิดขึ้น ได้แก่ อัมพาตครึ่งซีก ความผิดปกติ ของการพูดและอาการอื่นๆ ซึ่งแสดงว่า ส่วนของสมองถูกทำลาย เนื่องจากการอุดกั้นนั้นๆ เป็นต้น 

การวินิจฉัยโรคอาศัยประวัติและการตรวจร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจร่างกายพบความผิดปกติซึ่งแสดงว่า น่าจะเป็นต้นเหตุ ของเอ็มบอไล เช่น ลิ้นไมทรัลตีบ เป็นต้น

ผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกชนิดเบลล์ของกล้ามเนื้อหน้า

 

   การรักษาโดยทั่วไปเป็นการรักษาแบบบรรเทาอาการ ผู้ป่วยที่มีความพิการดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งอัมพาตครึ่งซีก จำเป็นต้องได้รับการรักษาทางกายภาพบำบัด แต่ต้องคำนึงถึงสภาพโดยทั่วไปของผู้ป่วยด้วย นอกจากนี้ ในผู้ป่วยที่มีสาเหตุเอ็มบอไล จากโรคหัวใจ ควรได้รับยาต้านการกลายเป็นลิ่มของเลือด เพื่อป้องกัน มิให้มีเอ็มบอไลอันใหม่หลุดไปอุดกั้น ที่หลอดเลือดของสมองซ้ำอีก ถ้าหากเป็นไปได้จำเป็นจะต้องรักษาสาเหตุ หรือต้นตอของเอ็มบอไลนั้น เช่น โดยการผ่าตัดแก้ไขภาวะลิ้นหัวใจตีบ เป็นต้น
การพยากรณ์โรคขึ้นอยู่กับหลอดเลือดที่อุดกั้น โดยเอ็มบอไล ถ้าหากเป็นหลอดเลือดแดงใหญ่ถูกอุดกั้น ผู้ป่วยอาจถึงแก่กรรมอย่างรวดเร็ว ในผู้ป่วยที่มี อาการน้อยและเอ็มบอไลเกิดจากโรคหัวใจ อาจมี การอุดกั้นซ้ำ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเพิ่มขึ้นไปจากเดิมอีก ถ้ามิได้มีการป้องกันดังกล่าวข้างต้น 

โรคเนื้อสมองตายเนื่องจากการแข็งตัวของ เลือดภายในหลอดเลือดแดงของสมอง

 โรคเนื้อสมองตายในกลุ่มนี้เกิดขึ้นเนื่องจาก มีการกลายเป็นลิ่มของเลือดภายในหลอดเลือดแดงของสมอง

โรคนี้พบได้บ่อยในคนสูงอายุและมีอาการซึ่งแสดงว่า หน้าที่บางส่วนของสมองสูญเสียไป โดยทั่วไปอาการดังกล่าวมักเป็นช้าๆ ที่พบได้บ่อยได้แก่การที่ผู้ป่วยเข้านอนในเวลากลางคืนด้วยลักษณะปกติทุกอย่าง แต่เมื่อตื่นนอนขึ้นในเวลาเช้าปรากฏว่า มีอัมพาตครึ่งซีก โดยอาจเกิดร่วมกับอาการที่ผู้ป่วยพูดไม่ได้ ผู้ป่วยอาจ จะไม่มีอาการปวดศีรษะและอาจจะไม่มีการสูญเสีย ความรู้สติ หรือถ้ามีก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ผู้ป่วยมักมี แต่เพียงอาการสับสน บางรายอาจมีอาการปวดศีรษะร่วมด้วย ถ้าการอุดกั้นของหลอดเลือดสมองนั้น ทำให้เกิดการตายของเนื้อสมองในบริเวณกว้าง ผู้ป่วยจะมีอาการมากขึ้น เช่น สูญเสียความรู้สติ จนถึงหมดสติ อัมพาตครึ่งซีกได้ เป็นต้น 

โรคสมองจากความดันเลือดสูง 

โรคสมองจากความดันเลือดสูง เป็นโรคซึ่งมีอาการเกิดขึ้นทันที เนื่องจากมีความดันเลือดสูงมากและร้ายแรง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน สับสน ชัก และอาจมีการสูญเสียความรู้สติ จนกระทั่งถึงหมดสติได้ นอกจากมีอาการ และอาการแสดงดังกล่าวยังปรากฏว่า มีอาการแสดงอื่นๆ ที่บ่งว่า ผู้ป่วยเป็นโรคความดันเลือดสูงอย่างร้ายแรงด้วย เช่น มีการบวมของหัวประสาทจานออปติก (optic disc) หัวใจโต ไตไม่อาจทำหน้าที่ได้ การรักษาที่สำคัญ ได้แก่ การลดความดันเลือดโดยเร็วร่วมกับการรักษาบรรเทาอาการอื่นๆ

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow