Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ศัลยกรรมศาสตร์ และวิสัญญีวิทยา

Posted By Plookpedia | 10 ธ.ค. 59
6,725 Views

  Favorite

เวลาที่เราเจ็บป่วย บางครั้งการรับประทานยา และการฉีดยาไม่สามารถรักษาได้ ต้องทำการผ่าตัด เช่น การผ่าตัดไส้ติ่ง วิชาการรักษาโรคด้วยการผ่าตัด เรียกว่า วิชาศัลยศาสตร์ หมอที่ทำการผ่าตัด เรียกว่า ศัลยแพทย์ การผ่าตัดรักษาโรคทำมาแต่โบราณกาล ในประเทศไทย พบการเจาะกะโหลกของโครงกระดูกอายุประมาณ ๔,๐๐๐ ปี ที่จังหวัดอุดรธานี จึงคาดว่า การรักษาโรคด้วยการผ่าตัดมีมานานแล้ว
    การผ่าตัด เพื่อรักษาโรคทำได้ทุกส่วนของร่างกาย การผ่าตัดเล็ก เช่น การผ่าฝี การผ่าตัดใหญ่ เช่น การเปลี่ยนหัวใจ การผ่าตัดจะประสบผลสำเร็จต้องอาศัยการทำให้ไม่เจ็บปวด โดยการวางยาสลบ การดมยา หรือใช้ยาชาเฉพาะที่ เพื่อให้ผู้ป่วยหมดความรู้สึกขณะทำการผ่าตัด วิชาที่ทำให้ผู้ป่วยหมดความรู้สึกขณะทำการผ่าตัด เรียกว่า วิสัญญีวิทยา หมอที่ทำหน้าที่นี้ เรียกว่า วิสัญญีแพทย์ นอกจากนี้ยังต้องอาศัยการให้เลือด ให้สารน้ำทางหลอดเลือดในรายที่เสียเลือด และร่างกายอ่อนแอ รวมทั้งต้องป้องกันการติดเชื้อในขณะทำการผ่าตัด ตลอดจนต้องอาศัยการดูแลแผลผ่าตัด และสภาพร่างกายของผู้ป่วยหลังการผ่าตัด ซึ่งอาจต้องการเวลาพักฟื้นระยะหนึ่งจนกว่าร่างกายจะกลับเป็นปกติ

 

การรักษาโรคด้วยการผ่าตัด ทำกันมาทั้งในยุโรป และเอเชีย ประมาณ ๒,๐๐๐ ปี ก่อนพุทธกาล ในยุโรป การผ่าตัดเริ่มขึ้นในหมู่ช่างตัดผม เห็นจะเป็นเพราะ เครื่องมือที่ใช้ตัดผมมีคม ใช้ผ่าตัดได้โดยไม่เจ็บปวดมากนัก

บาดแผลฉีกขาด ต้องรักษาด้วยวิธีผ่าตัด

 

  การผ่าตัดทำได้ทุกส่วนของร่างกาย ซึ่งสามารถจัดประเภทการผ่าตัดได้ ๔ อย่าง ดังนี้
๑. การรักษาบาดแผล เช่น ถูกแทง กระดูกหัก ม้ามแตก ไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ฯลฯ

๒. การรักษาการอักเสบ การอักเสบอาจเกิดขึ้นที่ส่วนใดในร่างกายก็ได้เห็นได้ง่ายๆ เช่น ฝี หรืออักเสบภายใน เช่น ไส้ติ่งอักเสบ

๓. การรักษาเนื้อร้าย เนื้อร้าย คือ การที่เซลล์ของร่างกายมีความเติบโต และงอกเงยออกมาอย่างผิดปกติ ทำลายเซลล์ของอวัยวะที่ปกติให้หมดไป ทำให้หน้าที่ของอวัยวะเสียไป และยังสามารถแพร่กระจายไปงอกและทำลายที่อวัยวะส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้อีกด้วย ถ้าอวัยวะที่เสียหน้าที่เป็นอวัยวะสำคัญต่อการดำรงชีพ ผู้ป่วยมักถึงแก่ชีวิตในเวลารวดเร็ว การผ่าตัดต้องพยายามเลาะเนื้อร้ายออกให้หมดถ้าทำได้ 

๔. ศัลยศาสตร์เสริมสร้าง ได้แก่ การแก้ไขความพิการแต่กำเนิด เช่น ปากแหว่ง เพดานโหว่ แก้ไขหัวใจ ทางเดินอาหารที่ผิดปกติ การปลูกเปลี่ยนหัวใจ และอวัยวะต่างๆ
วิสัญญีแพทย์ คือ แพทย์ที่ช่วยให้ผู้ป่วยปราศจากความเจ็บปวด ขณะถูกศัลยแพทย์ผ่าตัด เพื่อรักษาโรคบางชนิด วิธีที่จะไม่ให้เจ็บปวดมีอยู่ ๒ วิธี คือ การให้ยาดมสลบ และการฉีดยาชาเฉพาะที่

บาดแผลถูกแทงด้วยฉมวก ต้องรักษาด้วยวิธีผ่าตัด


การให้ยาดมสลบ 

จะทำให้ผู้ป่วยหลับสนิทขณะถูกผ่าตัด และเย็บแผล วิธีการให้ยาดมสลบ แบ่งออกได้เป็น ๒ วิธี คือ

๑. ดมยาสลบจากหน้ากาก วิธีนี้ใช้เวลานานพอสมควรจึงจะหลับ
๒. ฉีดยาเข้าหลอดเลือดเพียง ๑ เข็ม ภายในเวลา ๑ นาทีก็หลับสบาย

 

การให้ยาดมสลบจากหน้ากาก

 

    หลังจากหลับแล้ว วิสัญญีแพทย์จะคอยตรวจดูชีพจร ความดันโลหิต การหายใจและสิ่งอื่นๆ ที่จำเป็น เป็นระยะๆ เพื่อให้แน่ใจว่า ผู้ป่วยหลับสบายและปลอดภัย ขณะเดียวกันก็จะให้อาหาร คือ น้ำตาลในน้ำ หรือน้ำตาลในน้ำเกลือ เข้าทางหลอดเลือดดำ แทนอาหารที่ผู้ป่วยอดรับประทานมา ๖ ชั่วโมง ก่อนผ่าตัด เมื่อศัลยแพทย์ทำงานเสร็จสิ้นลงแล้ว วิสัญญีแพทย์ก็จะปลุกผู้ป่วยให้ตื่น โดยหยุดให้ยาดมสลบ หรืออาจให้ยาแก้เข้าทางหลอดเลือดดำก็ได้ แล้วแต่ชนิดของยาสลบที่ผู้ป่วยได้รับ
การฉีดยาชาเฉพาะที่

เส้นประสาทที่ได้รับยาชาจะหยุดทำงานชั่วคราว ทำให้ผิวหนัง หรือเนื้อเยื่อของร่างกายที่มีเส้นประสาทนั้นเลี้ยงอยู่ เกิดการชา และหมดความรู้สึกไปด้วย ดังนั้น เวลาผ่าตัดจึงไม่รู้สึกเจ็บปวด มีวิธีทำได้หลายวิธี คือ

แผนภาพแสดงการฉีดยาชาเฉพาะที่บริเวณศีรษะก่อนทำการผ่าตัด


๑. ฉีดยาชารอบๆ บริเวณที่จะถูกผ่าตัด เช่น การผ่าตัดถุงน้ำเล็กๆ ที่แขนหรือขา

๒. ฉีดยาชาที่กลุ่มประสาท เช่น ในรายที่กระดูกแขนหัก และแพทย์จะทำการตัดกระดูก หรือต่อกระดูกให้เข้าที่ วิสัญญีแพทย์ก็จะฉีดยาที่กลุ่มประสาทใต้รักแร้ หรือบริเวณเหนือไหปลาร้าข้างเดียวกับแขนที่หัก

๓. ฉีดยาชาเข้าช่องไขสันหลังส่วนล่าง จะทำให้หน้าท้อง ตั้งแต่ส่วนเหนือสะดือลงไปตลอดขาชา และหมดความรู้สึกเจ็บปวด ขณะแพทย์ทำการผ่าตัดกระดูกขาหัก ไส้เลื่อน ไส้ติ่งอักเสบ หรือการผ่าตัดอย่างอื่นอีกหลายชนิด

ผลการชาของยาจะอยู่ได้นานตั้งแต่ ๔๕ นาทีถึง ๓ ชั่วโมง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของยาที่ได้รับ ซึ่งวิสัญญีแพทย์จะพิจารณา และเลือกใช้ให้เหมาะสมกับชนิด และระยะเวลาของการผ่าตัด เมื่อยาชาหมดฤทธิ์ ความรู้สึกก็จะกลับเป็นปกติอย่างเดิม

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow