Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

อาการของโรคที่พบในวัยเด็ก

Posted By Plookpedia | 10 ธ.ค. 59
1,371 Views

  Favorite

อาการของโรคที่พบในวัยเด็ก

      เมื่อเด็กเจ็บป่วย สิ่งสำคัญที่บิดามารดาจะทราบได้ก็คือ "อาการของโรค" ซึ่งเป็นปฏิกิริยาที่ร่างกายแสดงออกมา เพื่อแสดงว่า ร่างกายมีความผิดปกติผันแปรไป เปรียบเสมือนสัญญาณ เตือนว่า ร่างกายเจ็บป่วย หรือเกิดมีโรคขึ้นแล้วในร่างกาย อาการที่เกิดขึ้นอาจสังเกตได้ง่าย แต่บางครั้งก็สังเกตได้ยาก เด็กโต อาจบอกอาการได้ แต่เด็กเล็กไม่สามารถบอกได้ บิดามารดา หรือผู้ปกครองจะต้องสังเกตเอาเอง โดยทั่วไปเวลาเด็กเจ็บป่วย มักแสดงอาการ ๒-๓ อย่างร่วมกันไปเสมอ เช่น มีไข้ร่วมกับ เจ็บคอ ไอ หรือ อุจจาระร่วงกับอาเจียน เป็นต้น

      อาการที่ปรากฏในเด็กอย่างหนึ่งอย่างใด มีสาเหตุได้มากมาย การที่จะทราบแน่ว่า เป็นโรคอะไรนั้น แพทย์ต้องทราบอาการนั้นๆ โดยละเอียด และใช้การตรวจร่างกายผู้ป่วยร่วมด้วย นอกจากนั้น ในบางรายก็จำเป็นต้องใช้การทดสอบทางห้องปฏิบัติการด้วย จึงจะทราบสาเหตุที่แท้จริง อย่างไรก็ตาม อาการที่ผู้ป่วยมี ก็จะเป็นตัวชี้ให้แพทย์ทำการตรวจในระบบใด จึงจะขอกล่าวถึงอาการของโรค ที่พบได้บ่อยๆ ในขณะเด็กไม่สบาย พร้อมทั้งสาเหตุที่สำคัญพอสังเขป

อาการไข้

      ไข้เป็นอาการที่พบได้บ่อยในวัยเด็ก ไข้ไม่ใช่โรค หมายถึง ภาวะที่มีอุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้นกว่าระดับปกติ การที่เราจะทราบว่า เด็กเป็นไข้ อาจทราบจากการคลำตัวเด็ก โดยมากใช้หลังมืออิงบนหน้าผาก ซึ่งวิธีนี้จะใช้ได้เมื่อมีไข้สูงเท่านั้น ในรายที่มีไข้ต่ำๆ การใช้วิธีนี้อาจใช้ไม่ได้ การจะทราบแน่นอนก็คือการวัดอุณหภูมิด้วยปรอทวัดอุณหภูมิ ซึ่งอาจวัดได้ทางปาก ซึ่งปรอทวัดมีลักษณะใหญ่ แผน) หรือวัดทางทวารหนัก (ซึ่งปรอทวัดจะเล็กกว่าและกลม) ส่วนการวัดทางรักแร้จะใช้เครื่องวัดแบบใดก็ได้ เด็กปกติจะมีอุณหภูมิที่วัดทางปากอยู่ระหว่าง ๓๖.๕ - ๓๗.๕ องศาเซลเซียส อุณหภูมิที่วัดทางปากจะต่ำกว่าอุณหภูมิจะต่ำสุด และจะสูงสุดตอนบ่ายและเย็น ซึ่งอาจแตกต่างกันได้ในแต่ละช่วงเวลาของวันประมาณ ๑ องศาเซลเซียส

 

ปรอทวัดอุณหภูมิร่างกาย (บน) ชนิดที่ใช้วัดทางปาก (ล่าง) ชนิดที่ใช้วัดทางทวารหนัก


      การวัดปรอททางปาก ควรทำในเด็กโต โดยทั่วไปอายุเกิน ๖ ปีแล้ว (เด็กที่เล็กกว่านี้อาจไม่รู้เรื่อง บางครั้งอาจเคี้ยวปรอทวัดอุณหภูมิแตก ซึ่งมีอันตรายได้) การวัดทางปาก ใช้อมไว้ใต้ลิ้นประมาณ ๒ - ๓ นาที สำหรับเด็กเล็กต้องใช้วัดทางทวารหนัก ซึ่งปลายปรอทควรทาด้วยวาสลิมเพื่อหล่อลื่น ก่อนการใส่เข้าทวารหนักควรกระทำด้วยความนุ่มนวล ใส่ลึกเข้าไปประมาณ ๓ เซนติเมตร และทิ้งไว้ ๒ - ๓ นาที เช่นกัน โดยระวังอย่าให้เด็กดิ้น

สาเหตุของไข้ในเด็ก ที่สำคัญคือ 

โรคติดเชื้อ 

      เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด พบได้ตั้งแต่ไข้หวัด ทอนซิลอักเสบ หูส่วนกลางอักเสบ ปอดอักเสบ วัณโรค ไข้ออกผื่น ไข้เลือดออก ไข้รากสาดน้อย ไข้มาเลเรีย และการติดเชื้อตามอวัยวะของระบบต่างๆ ฯลฯ 

การขาดน้ำ 

      เช่น ดื่มน้ำไม่พอ หรือมีการเสียน้ำจากร่างกายมาก เช่น อุจจาระร่วง หรือเสียน้ำจากการหอบเป็นเวลานาน 

การระบายความร้อนของร่างกายไม่ดี 

      อาจพบได้แม้ในเด็กปกติ เช่น เด็กเล็กๆ ที่ใส่เสื้อหนา หรือถูกห่อหุ้มด้วยผ้าทำให้ระบายอากาศไม่ได้ ผู้ป่วยบางรายมีความผิดปกติของต่อมเหงื่อของผิวหนังทำให้ระบายความร้อนทางผิวหนังไม่ได้ก็เกิดอาการไข้ การได้รับความร้อนมาก โดยเฉพาะเด็กที่อยู่กลางแดดนาน ๆ ซึ่งจะพบเสมอในเด็กที่วิ่งเล่นตามชายหาดในฤดูร้อน ก็ทำให้เด็กมีไข้ได้ 

โรคทางสมอง 

      เช่น ความพิการของสมอง เลือดออกในสมอง ทำให้มีการรบกวน ศูนย์ควบคุมอุณหภูมิในสมอง อันเป็นสาเหตุของไข้ได้เช่นกัน 

การแพ้ยา พิษจากสารเคมี 

      ปฏิกิริยาของร่างกายต่อวัคซีนในรายที่มีไข้เรื้อรังอาจเกิดจากโรคของเนื้อเยื่อทั่วร่างกายหรือเป็นมะเร็งก็อาจทำให้ผู้ป่วยมีไข้ 

      จะเห็นได้ว่าอาการไข้มีสาเหตุได้หลายประการ ดังนั้นเมื่อเห็นเด็กมีไข้ควรต้องดูลักษณะไข้ด้วยว่า มีไข้ต่ำๆ หรือไข้สูงไข้ขึ้นแล้วลง หรือสูงลอยตลอดเวลา มีอาการอื่นร่วมด้วยหรือไม่ เช่น หนาวสั่น ปวดเมื่อย ตามตัว มีอาการหวัด ไอ ปวด ศีรษะ อาเจียน ฯลฯ ซึ่งจะทำให้การวินิจฉัยโรคถูกต้องมากขึ้น การที่มีไข้สูงมากในวัยเด็กอาจทำให้เกิดการชักได้ (ดูเรื่องชัก) ดังนั้นเมื่อเวลามีไข้ สิ่งที่บิดามารดาอาจช่วยเด็กเป็นการบริบาลเบื้องต้นที่ไม่มีอันตราย คือ การเช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นหรือน้ำประปา เช็ดคามซอกรักแร้ คอ ขาหนีบ ศีรษะ ซอกคอ จนกว่าไข้จะลด (การใช้น้ำเย็นจัดอาจทำให้เด็กหนาวสั่น) ให้เด็กดื่มน้ำมาก ๆ อย่าใส่เสื้อหนาอยู่ในห้องที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก และนำไปให้แพทย์ตรวจหาสาเหตุเพื่อรักษาอย่างถูกต้องต่อไป การใช้ยาลดไข้ ควรระมัดระวังในขนาดของยาให้ถูกต้อง หรือยาลดไข้ประเภทแอสไพรินอาจมีอันตรายในโรคไข้เลือดออก เพราะทำให้เกล็ดเลือดมีหน้าที่ผิดปกติ จะทำให้อาการเลือดออกเกิดได้ง่ายขึ้น

อาการชัก 

      ชักเป็นอาการที่พบได้ในวัยเด็ก และทำให้บิดามารดา หรือผู้พบเห็นตกใจ เด็กจะมีอาการกระตุกแขนขาน้อยๆ หรือแรงถี่กล้ามเนื้อเกร็ง ตาเหลือกค้าง กัดฟันหรือลิ้น อาจมีอาการหมดสติร่วมด้วย การชักอาจเป็นทั้งตัว หรือเป็นเฉพาะส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายแล้วแต่พยาธิสภาพ ซึ่งกลไกในการชักก็เกิดจากการกระตุ้นเปลือกสมองที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของร่างกาย การชักในวัยเด็กมีสาเหตุมากมายซึ่งขึ้นอยู่กับอายุของเด็ก

อาการชักในทารกแรกคลอด 

      (อายุภายใน ๑ เดือน) สาเหตุที่สำคัญในวัยนี้คือ ได้รับอันตรายจากการคลอด การคลอดยากการใช้เครื่องมือช่วยคลอด ทำให้มีเลือดออกในสมองหรือเด็กคลอดออกมาแล้วไม่หายใจขาดออกซิเจนไปเลี้ยงสมองเป็นสาเหตุของการชักที่สำคัญในวัยนี้ ความพิการของระบบประสาทโดยเฉพาะของสมองพบได้บ้าง  ความผันผวนในการครองธาตุที่ผิดปกติในร่างกาย เช่น ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ระดับธาตุแคลเซียม หรือแมกนีเซียมในเลือดต่ำ หรือระดับธาตุโซเดียมสูงในเลือด เป็นสาเหตุการชักในระยะนี้ได้เช่นกัน 

      การติดเชื้อของระบบประสาท เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบซึ่งมักเป็นผลจากการมีเชื้อโรคในเลือดแพร่กระจายไป นอกจากนั้นในบ้านเรา โรคบาดทะยักในเด็กอ่อนยังพบได้เสมอที่ทำให้เด็กชักแกร่ง โดยเฉพาะเวลาจับต้องเด็ก หรือมีเสียงดัง เด็กจะชักตัวแข็งอ้าปากไม่ขึ้นเพราะขากรรไกรแข็ง โรคบาดทะยักในทารกแรกเกิดนี้ สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการทำคลอดไม่สะอาด คลอดโดยหมอตำแยที่ไม่ได้รับการอบรม โดยใช้กรรไกรหรือมีดไม่สะอาด หรือใช้ไม้ไผ่ตัดสายสะดือ นอกจากนั้นยังมักใช้ก้อนดินก้อนหินวางรองสายสะดือก่อนตัด ซึ่งเชื้อบาดทะยัก พบมากในดินก็จะเข้าร่างกายทางสายสะดือ และก่อโรคบาดทะยักต่อมาในระยะเวลาประมาณ ๑-๓ สัปดาห์ โรคนี้ สามารถป้องกันได้ถ้ามารดาได้รับการทำคลอดที่สะอาดถูกอนามัย เช่น ที่โรงพยาบาลหรือสถานีอนามัย 

      ยาบางชนิดอาจเป็นสาเหตุการชักในเด็กแรกคลอดได้นอกจากนั้น มารดาที่ติดยาเสพติดประเภทมอร์ฟีน หรือเฮโรอีน บุตรที่คลอดออกมาเมื่อไม่ได้รับยาดังกล่าว ซึ่งก่อนเคยได้รับโดยผ่านทางมารดาอาจเกิดการชักซึ่งมักมีน้ำลายฟูปากร่วมด้วย 

อาการชักหลังอายุ ๑ เดือน 

      สาเหตุที่สำคัญที่สุด คือ อาการชักจากไข้สูง อาการชักที่มีสาเหตุจากไข้สูงนี้จะพบในเด็กอายุระหว่าง ๖ เดือนถึง ๖ ปี (อายุก่อนและหลังจากช่วงนี้การชักมักไม่ใช่สาเหตุจากไข้สูง) อาการชักจะมีกระตุกทั่วตัว ไม่จำกัดอยู่ส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย เกิดขึ้นเมื่อมีไข้สูงมาก และมักเกิดขึ้นในระยะไม่เกิน ๑๒ ชั่วโมงหลังจากเริ่มตัวร้อน มักมีประวัติโรคนี้ในครอบครัว การชักมักไม่เกิน ๑๕ นาที ภายหลังชักไม่มีโรคแทรกซ้อน เช่น อัมพาต หรือหมดสติ การตรวนน้ำไขสันหลัง หรือตรวจคลื่นสมองด้วยไฟฟ้าจะปกติ

โรคลมบ้าหมู (eqilepsy) 

      เป็นโรคที่ทำให้เกิดการชักได้ เกิดขึ้นเพราะมีความผิดปกติในการทำงานของเซลล์สมอง ส่วนมากมักเกิดภายหลังอายุ ๕ ปี การชักในลมบ้าหมูมีได้หลายแบบ อาจชักกระตุกทั้งตัว กระตุกางส่วน หรือหัวผงก หรือในบางแบบอาจไม่มีอาการชักกระตุกให้เห็นแต่มีอาการเหม่อ ไม่รู้เรื่องประมาณ ๒๐ วินาทีก็ได้ การชักในโรคลมบ้าหมูมักไม่มีอาการไข้ หรืออาการของโรคติดเชื้อนำ บางรายของผู้ป่วยลมบ้าหมูอาจมีอาการบางอย่างนำมาก่อน เช่น เห็นแสง หรือได้ยินเสียบางอย่างก่อนชัก 

โรคติดเชื้อของสมอง 

      พบเป็นสาเหตุได้บ่อย ที่สำคัญคือ เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อบัคเตรี (สาเหตุจากเชื้อวัณโรคยังพบได้ในบ้านเรา) สมองอักเสบจากเชื้อไวรัส ฝีในสมองเป็นสาเหตุของการชักที่พบได้ มาเลเรียขึ้นสมองพบน้อยในวัยเด็ก มักพบในผู้ป่วยที่อาศัยอยู่ในถิ่นที่มีมาเลเรียชุกชุม ผู้ป่วยที่เป็นโรคไอกรนโดยเฉพาะในเด็กเล็ก ๆ ในระยะไอมาก มีเสมหะเหนียวอุดกั้นหลอดลม ทำให้หายใจไม่สะดวก มีการขาดออกซิเจนที่ไปเลี้ยงสมองก็ทำให้ชักได้เช่นกัน

ความพิการของสมองแต่กำเนิด 

      อาจมาเริ่มชักในอายุหลัง ๑ เดือนก็ได้ ศีรษะที่ถูกกระทบกระแทก ความดันโลหิตสูง การกลั้นหายใจในเด็ก พิษจากสารบางชนิด เช่น ตะกั่วหรือยาบางชนิด ความผันผวนในการครองธาตุของร่างกาย ก็เป็นสาเหตุการชักในวัยนี้ได้

 

เด็กสมองพิการ มีอาการชักแขนขาเกร็ง เป็นผลจากบิลิรูบินไปจับสมองในระยะแรกคลอด ต้องให้อาหารทางสายยาง


      เมื่อเด็กเกิดอาการชักขึ้น บิดามารดาอย่าได้ตระหนกตกใจจนเกินเหตุจนทำอะไรไม่ถูก ควรจับเด็กนอนลงกับพื้น เช็ดหรือดูดน้ำมูกน้ำลายออกเพื่อหายใจโล่ง ขณะชัก ฟันของผู้ป่วยอาจกัดลิ้น ควรใช้ผ้าสะอาดพันด้ามช้อนใส่ไว้ในปากเหนือลิ้นเพื่อกันการกัดลิ้น ถ้าผู้ป่วยมีอาการไข้สูง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการชัก ให้เช็ดตัวเด็กด้วยผ้าชุบน้ำอุ่น หรือน้ำธรรมดาจนไข้ลง เมื่อเด็กหายจากการชักต้องพาไปหาแพทย์เพื่อหาสาเหตุต่อไป

อาการไอ

      ไอเป็นอาการที่พบได้เสมอทั้งในวัยเด็กและผู้ใหญ่ การไอบางครั้งมิได้เกิดจากโรค แต่เป็นกลไกของร่างกายที่ต้องการขับสารบางอย่างที่หายใจเข้าไป เช่น เชื้อโรค หรือสิ่งระคายการไอเช่นนี้จึงไอเป็นครั้งคราวเท่านั้น ไม่มีอาการอื่นร่วม และเป็นสิ่งมีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่การไอที่เป็นอยู่เป็นวัน ๆ นานเรื้อรังหรือมีอาการอื่นร่วมด้วยมักจะมีสาเหตุจากโรค 

ในทารกแรกคลอดมักไม่พบอาการใด แม้ว่าทารกนั้นจะมีโรคของระบบทางเดินหายใจอย่างรุนแรง เช่น ปอดอักเสบการไอที่ร่วมกับการสำลักในระยะแรกคลอด ซึ่งมักจะมีความผิดปกติของหลอดลมที่ที่ท่อต่อกับหลอดอาหาร เป็นความผิดปกติแต่กำเนิด และมักเกิดอาการดังกล่าวขึ้นในขณะดูดนม การไอในระยะหลังอายุ ๑ เดือนไปแล้ว มักเกิดจากการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัด กล่องเสียงอักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ โรคหัดจะเริ่มจากการมีไข้สูงและไอมากประมาณ ๓-๔ วัน ก่อนผื่นออก 

โรคไอกรน

      เป็นโรคที่ทำให้เกิดอาการไอได้รุนแรงและสามารพเกิดได้ตั้งแต่อายุภายใน ๑ เดือน การไอในโรคไอกรนนี้จะเริ่มไอไม่รุนแรง และมีอาการคล้ายไข้หวัดในระยะ ๑-๒ สัปดาห์แรกแต่ต่อไปจะไอรุนแรง ไอเป็นชุดๆ มีเสมหะมากและเหนียว ไอจนหน้าดำหน้าแดง ในเด็กโตเมื่อสิ้นสุดการไอมักหายใจเข้าแรงจนมีเสียง "วู้บ" ตามมาด้วย บางรายไอมากจนเลือดออกในเยื่อบุตาขาว อาการไอจะปรากฏอยู่นานประมาณ ๓ เดือน ดังนั้นบางคนจึงเรียกโรคนี้ว่า "ไอร้อยวัน" โรคนี้ป้องกันได้หากฉีดวัคซีนป้องกันโรค สิ่งแปลกปลอม (foreign body) ที่ตกเข้าหลอดลม พบได้เสมอในเด็กที่ชอบหยิบของใส่ปากใส่จมูก ซึ่งมักพบในเด็กอายุ ๒-๓ ปี ซึ่งสามารถเล่นหรือหยิบอะไรได้ แต่ยังไม่ทราบถึงอันตรายหรืออาจเกิดจากการสำลักอาหารก็ได้ ที่พบเสมอคือ เมล็ดผลไม้ ถั่วลิสง ฯลฯ ผู้ป่วยจะมีอาการไอเกิดขึ้นและอาการนี้จะเรื้อรังจนกว่าจะได้นำเอาสิ่งแปลกปลอมนั้นออกจากหลอดลม  อาการไอที่เรื้อรังนานเป็นเดือนๆ นอกจากโรคไอกรนแล้ว ในประเทศเราต้องนึกถึงวัณโรคไว้เสมอ เพราะโรคนี้ยังมีมากในบ้านเรา ผู้ป่วยมักไอแห้งๆ ไอมากเวลากลางคือ และมักมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ผอมลง มีไข้ต่ำ เรื้อรัง เบื่ออาหาร ต่อมน้ำเหลืองโตได้ สิ่งที่ช่วยในการวินิจฉัยคือ มักมีคนใกล้ชิดเป็นวัณโรคอยู่ด้วย และอาจต้องใช้การถ่ายภาพรังสีของปอดช่วย
โรคหืด 

      สามารถพบได้ในเด็กตั้งแต่อายุต่ำกว่า ๑ ปี ทำให้เด็กมีอาการไอรื้อรังได้ การไอมักมีเสมหะมาก ไอมากเวลากลางคืน อากาศเย็น หรืออากาศเปลี่ยน ภายหลังการออกกำลังหรือเมื่อหายใจเอาสารที่ตนแพ้เข้าไป อาการไอบางครั้งร่วมกับการหอบซึ่งมักเป็นๆ หายๆ ผู้ป่วยโรคหืดในวัยเด็ก มักมีประวัติโรคหืด หรือโรคภูมิแพ้อื่นๆ ในครอบครัว

      การอักเสบของต่อมน้ำเหลืองในคอ (ต่อมอะดีนอยด์) และโพรงจมูกอักเสบ ซึ่งพบได้บ่อยในผู้ป่วยที่มีอาการทางภูมิแพ้ร่วมด้วย ผู้ป่วยประเภทนี้มักมีน้ำมูกหรือเสมหะตกลงสู่ลำคอเสมอ โดยเฉพาะเวลานอนหลับจะทำให้มีอาการไอ และเป็นเรื้อรัง นอกจากสาเหตุดังกล่าว โรคหลอดลมโป่งพอง โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ฯลฯ ก็เป็นสาเหตุของการไอได้ ควรให้แพทย์ตรวจหาสาเหตุที่แท้จริง

อาการหอบ

      อาการหอบก็พบได้เสมอในวัยเด็ก ซึ่งจะดูได้จากการที่มีการหายใจเร็วขึ้นกว่าปกติ และมีลักษณะของการหายใจลำบาก เช่น มีปีกจมูกบานเข้าออก อาการกระสับกระส่วนช่องซี่โครงบุ๋ม ถ้าเป็นมากอาจมีอาการเขียวบริเวณริมฝีปาก เล็บ หรือที่หน้า ผู้ป่วยบางรายต้องอยู่ในท่านั่งจึงจะสบาย สาเหตุการหอบส่วนใหญ่เกิดจากโรคในระบบทางเดินหายใจ ในวัยแรกคลอดอาจเกิดจากความผิดปกติของอวัยวะ เช่น รูจมูกตัน มีท่อติดต่อระหว่างหลอดลมกับหลอดอาหารความพิการของกะบังลม นอกจากนั้นการสำลักนม ปอดอักเสบ ปอดแฟบ พบว่าเป็นสาเหตุของการหอบในทารกแรกคลอด สาเหตุของการหอบในเด็กโตที่เกิดขึ้นในระบบทางเดินหายใจมักเกิดจากการติดเชื้อ การอักเสบของหลอดคอ ซึ่งอาจเกิดจากเชื้อคอตีบ (ดูรายละเอียดเรื่องโรคคอตีบ) หรือเชื้ออื่นปอดอักเสบเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดซึ่งอาจเกิดจากเชื้อจุลินทรีย์หลายชนิด หรือจากการสำลักอาหาร หรือสารพวกน้ำมันก๊าด (ซึ่งเด็กมักดื่มโดยการเข้าใจผิดว่าเป็นน้ำ เพราะบิดามารดามักใส่น้ำมันก๊าดในขวดเครื่องดื่ม และตั้งไว้ในที่ที่เด็กสามารถหยิบได้) การอุดกั้นในหลอดลมเป็นสาเหตุของการหอบ เช่น วัตถุแปลกปลอดตกลงในหลอดลม โรคหืดซึ่งเกิดจากการหดเกร็งของหลอดลม การอักเสบของหลอดลมฝอยทำให้ผนังหลอดลมบวม ทำให้ทางผ่านอากาศมีน้อยลง ภาวะผิดปกติในโพรงช่องเยื่อหุ้มปอดอาจทำให้ปอดแฟบ ไม่สามารถทำหน้าที่หายใจเอาอากาศเข้าไปฟอกโลหิตดำได้ก็จะทำให้เกิดอาการหอบ ภาวะเหล่านี้ ได้แก่ การมีสารน้ำ หนองลม หรือเลือดในโพรงช่องเยื่อหุ้มปอด นอกจากโรคของระบบทางเดินหายใจที่ทำให้เกิดการหอบได้แล้ว โรคของระบบอื่นก็สามารถทำให้เด็กเกิดการหอบได้ ภาวะซีด หัวใจวาย ภาวะมีกรดในเลือด (เช่น ภายหลังท้องร่วงอย่างรุนแรง โรคเบาหวาน การได้รับพิษ เช่น ได้ยาประเภทแอสไพรินเกินขนาด โรคไตเรื้อรัง) หรือ แม้แต่ภาวะติดใจที่ผิดปกติ เด็กบางคนอาจมีอาการหอบได้

อาการตัวเหลือง

      อาการตัวเหลืองที่สำคัญ คือ ดีซ่าน ซึ่งเกิดจากโรคหรือมีความผิดปกติที่มีสีบิลิรูบิน ซึ่งเกิดจากเม็ดเลือดแดงแตกมาจับกับผิวหนัง ซึ่งจะพบว่าผิวหนังมีสีเหลืองรวมทั้งบริเวณตาขาวจะมีสีเหลืองด้วย ส่วนเด็กบางคนอาจมีตัวเหลืองจากการได้รับอาหารที่มีสีเหลืองจำนวนมาก เช่น ฟักทอง มะละกอ หัวผักกาดแดง (ซึ่งอาจผ่านทางน้ำนมมารดาก็ได้) ในรายเช่นนี้จะเหลืองแต่ผิวหนัง แต่บริเวณตาขาวจะไม่เหลืองและภาวะเช่นนี้ก็ไม่มีอันตราย เพียงหยุดอาหารดังกล่าว อาการตัวเหลืองก็จะหายไป 

      อาการตัวเหลืองที่พบบ่อยที่สุด คือการเหลืองที่พบเป็นปกติในเด็กแรกเกิดทั่วไป (Physiological jaundice) เป็นภาวะที่เกิดข้นจากการที่มีการแตกตัวของเม็ดเลือดแดงหลังคลอด ร่วมกับการทำงาของตับในเด็กแรกเกิดยังไม่ดีพอ อาการจะเริ่มเกิดในวันที่ ๒-๓ หลังคลอด และมักจะพบไม่เกินสัปดาห์แรกของชีวิต อาการเหลืองจะเหลืองไม่มาก สีอุจจาระ ปัสสาวะไม่มีการเปลี่ยนแปลง และเด็กจะไม่มีความผิดปกติอื่น ๆ พบได้ในเด็กเกือบทุกคนและไม่มีอันตราย สำหรับเด็กที่คลอดก่อนกำหนด อาการเหลืองจะมีมากและพบได้บ่อยกว่าในเด็กที่คลอดครบกำหนด มักพบหลังอายุ ๔๘ ชั่วโมงไปแล้ว รวมทั้งจะปรากฏอยู่นานกว่า อาจถึง ๒ สัปดาห์ก็ได้ สาเหตุเกิดขึ้นเนื่องจากการทำงานของตับยังไม่เจริญ เด็กที่เริ่มมีอาการเหลืองภายใน ๒๔ ชั่วโมงหลังคลอดมักเกิดจากการมีการทำลายของเม็ดเลือดแดงอย่างมากและ รวดเร็ว สาเหตุที่สำคัญคือ หมู่เลือดของมารดากับบุตรไม่เข้ากัน ภาวะนี้ในคนไทยที่พบบ่อย คือ หมู่เลือด ในระบบเอบีโอไม่เข้ากัน เช่น หมู่เลือดของมารดาเป็นโอ แต่หมู่เลือดของลูกเป็นเอ หรือ บี (สำหรับหมู่เลือดระบบอาร์เอ็ช นั้น ในคนไทยไม่เป็นปัญหาเพราะคนไทยเกือบทั้งหมดมีหมู่เลือดระบบนี้เป็นอาร์เอ็ชบวด สำหรับในชาวผิวขาวการไม่เข้ากันของหมู่เลือดในระบบอาร์เอ็ชระหว่างมารดากับบุตรเป็นปัญหาสำคัญ) การไม่เข้ากันของหมู่เลือดทำให้เม็ดเลือดแดงในตัวบุตรแตกสลายมาก สีบิลิรูบินจึงมีมากและไปจับผิวหนัง อาการมักปรากฏให้เห็นเร็ว เช่น หลังคลอดไม่กี่ชั่วโมง (บางรายอาจช้าเป็นวันได้) และจะเหลืองมากขึ้น บิลิรูบิน ชนิดนี้ไม่ละลายน้ำ ดังนั้นสีปัสสาวะจึงไม่เข้ม ถ้าผู้ป่วยเหลืองมากจะเปลี่ยนเลือด มิฉะนั้น บิลิรูบินไปจับสมอง ทำให้สมองพิการไปตลอดชีวิต 

      การคลอดลำบาก หากเกิดเลือดออกในใต้หนังศีรษะเป็นจำนวนมาก (cephalhematoma) เม็ดเลือดที่ออกจะมีการแตกตัวบิลิรูบินในเลือดสูงขึ้น ทำให้เกิดอาการเหลืองในวัยแรกคลอดนี้ได้ โรคกรรมพันธุ์ของเม็ดโลหิตแดงบางชนิด เช่น เม็ดเลือดแดงมีขนาดเล็กและกลมกว่าปกติ (congenital spherocytosis) พวกธาลัสซีเมีย (ซึ่งพบได้มากในประเทศไทย) หรือผู้ป่วยที่มีความผิดปกติจากการบกพร่องของเอนไซม์ในเม็ดเลือดแดง (G-6-PD deficiency) อาจทำให้เม็ดเลือดแดงแตกง่ายกว่าปกติทำให้เกิดอาการเหลืองตั้งแต่แรกคลอดได้เช่นกัน ยาบางชนิดมีผลทำให้เกิดอาการเหลือง ซึ่งอาจเกิดจากยาไปรบกวนการทำงานของเอนไซม์ในตับ (เช่น ยาพวกสเตอรอยด์) หรืออาจทำลายเม็ดเลือดแดงให้แตก ( เช่น วิตามิน เค ยา ประเภทซัลฟา เป็นต้น) 

      โรคติดเชื้อ เป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เด็กมีอาการเหลือง ซึ่งอาจแสดงอาการตั้งแต่แรกคลอด โดยที่เด็กเป็นโรคติดเชื้อตั้งแต่ในครรภ์มารดา เช่น ซิฟิลิส เด็กอาจคลอดออกมามีอาการเหลือง บวม หรืออาจตายตั้งแต่ในครรภ์อาการเหลืองจากการติดเชื้อนี้ อาจจะปรากฏในระยะต่อมาก็ได้ เช่น หลัง ๒-๓ สัปดาห์ไปแล้ว เชื้ออันที่สำคัญคือ การติดเชื้อหัดเยอรมันตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา เชื้อไวรัสตับอักเสบและไวรัสอื่นๆ บางชนิด 

      การอุดกั้นของท่อน้ำดี เป็นสาเหตุที่พบเด็กมีอาการเหลืองได้ และผู้ป่วยประเภทนี้เกิดจากบิลิรูบินที่ได้เปลี่ยนแปลงในตับแล้วเป็นน้ำดี แต่หลั่งสู่ลำไส้ เพื่อขับถ่ายทางอุจจาระไม่ได้จึงท้นเข้าเลือด น้ำดีชนิดนี้ละลายน้ำได้ดี ดังนั้นปัสสาวะจึงมีสีเหลืองเข้ม ฟองของปัสสาวะก็สีเหลืองด้วย สาเหตุของการเหลืองประเภทนี้ได้แก่ ท่อน้ำดีตีบตันแต่กำเนิด ส่วนมากผู้ป่วยแสดงอาการเหลืองเมื่ออายุ ๔-๖ สัปดาห์ โดยค่อยๆ เหลืองขึ้น สีอุจจาระค่อยๆ ซีดลงจนสีขาวคล้ายดินสองพอง ปัสสาวะจะเปลี่ยนเป็นสีเข้มข้น การรักษาผู้ป่วยประเภทนี้ต้องใช้การผ่าตัด 

      ในเด็กโตขึ้น โรคที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการดีซ่านได้แก่ โรคตับอักเสบจากเชื้อไวรัส (viral hepatitis) ซึ่งเป็นโรคติดต่อได้ง่ายโดยเชื้อเข้าร่างกายทางปาก หรือทางผิวหนัง เช่น การฉีดยาโดยใช้เข็มที่เคยฉีดผู้ป่วยเป็นโรคนี้มาแล้ว หรือจากการให้เลือดที่มีเชื้อไวรัสนี้เข้าไป ผู้ป่วยที่เป็นโรคตับอักเสบนี้จะมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน เจ็บท้องบริเวณใต้ชายโครงขวาซึ่งเป็นบริเวณของตับ ตับโตปัสสาวะสีเหลืองเข้ม การพักผ่อนอย่างเต็มที่จะช่วยให้โรคนี้หายเร็ว หากโรคนี้เรื้อรังจะมีโอกาสเป็นโรคตับแข็งในระยะต่อมา

อาการซีด

      อาการซีดเป็นอาการที่พบได้เสมอในวัยเด็ก การดูว่ามีซีดหรือไม่ควรดูที่ริมฝีปาก หรือด้านในของขอบตาล่าง การดูที่ผิวหนัง เช่น บริเวณหน้า อาจบอกได้ยากถ้าคนนั้นมีผิวขาวหากต้องการทราบแน่นอนต้องเจาะเลือดตรวจดูสีและจำนวนของเม็ดเลือดแดง 

สาเหตุของการซีด

มีสาเหตุใหญ่ ๒ ประการ คือ 

๑. การสร้างสีเฮโมโกลบิน และเม็ดเลือดแดงน้อยลง 

      สาเหตุที่สำคัญที่พบบ่อยที่สุดในกลุ่มนี้ คือ การขาดธาตุเหล็ก ซึ่งมีความสำคัญในการสร้างสีของเม็ดเลือดแดง ที่เรียกว่า เฮโมโกลบิน การขาดธาตุเหล็กส่วนใหญ่เกิดจากการได้รับธาตุเหล็กทางอาหารไม่เพียงพอ เพราะได้อาหารที่ไม่มีคุณประโยชน์ครบถ้วน ธาตุเหล็กนี้มีมากในไข่แดง เนื้อสัตว์ ตับ ผัก เป็นต้น หากเด็กไม่ได้อาหารเสริมดังกล่าวในวัยอันควร จะเกิดอาการซีดจากการขาดธาตุเหล็กได้ นอกจากการได้รับธาตุเหล็กที่ไม่เดียงพอแล้ว การขาดธาตุเหล็กอาจเกิดขึ้นได้จากการดูดซึมไม่ดี เช่น ลำไส้อักเสบ ท้องเดินเรื้อรัง เป็นต้น นอกจากธาตุเหล็กแล้ว สารอื่น เช่น โปรตีน กรดโฟลิค และวิตามินบี ๑๒ เป็นสารสำคัญในการสร้างเลือด การขาดสารดังกล่าวจะทำให้เด็กซีดได้ การสร้างเลือดที่น้อยลงในไขกระดูกอาจเกิดแต่กำเนิด หรือเกิดภายหลัง ซึ่งเป็นผลจากการใช้ยาหรือสารเคมีบางชนิด ทำให้ไขกระดูกไม่ทำงาน และสร้างเม็ดเลือดน้อยลง ซึ่งมักทำให้เม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือดต่ำลงด้วย ผู้ป่วยจึงมีอาการซีด ภูมิคุ้มกันโรคเสียไป และจะมีเลือดออกง่ายด้วย ยาที่เป็นสาเหตุได้ เช่น คลอแรมเฟนิคอล สาเหตุอื่นของการสร้างลดลง ก็อาจพบในรายที่มีการติดเชื้อได้รับพิษจากตะกั่ว ผู้ป่วยเป็นโรคไตเรื้อรัง และ ผู้ป่วยมีการทำงานของต่อมธัยรอยด์น้อย เป็นต้น 

๒. มีการทำงายเม็ดเลือดแดงมากขึ้น หรือมีการเสียเลือดออกไปจากร่างกาย

      โดยปกติร่างกายจะมีการทำลายเม็ดเลือดแดงเป็นประจำเมื่อเม็ดเลือดแดงมีอายุครบอายุขัยของมัน คือประมาณ ๑๒๐ วัน แต่ถ้าการทำลายเกิดขึ้นก่อน หรือมีการเสียเลือดก็จะเกิดการซีดได้ สาเหตุที่สำคัญในกลุ่มนี้ คือ การเสียเลือดจากร่างกาย เช่น ได้รับอุบัติเหตุ การผ่าตัด เป็นต้น สำหรับการทำลายเม็ดเลือดแดงที่เกิดขึ้นก่อนระยะเวลาอันควรนั้นมีสาเหตุมากมาย อาจเป็นเพราะความผิดปกติแต่กำเนิด เป็นโรคกรรมพันธุ์ที่มีการทำลายเม็ดเลือดแดงง่าย เช่น มีความผิดปกติในการสร้างเฮโมโกลบินซึ่งเป็นส่วนสำคัญของเม็ดเลือดแดง ได้แก่ ผู้ป่วยพวกโรคธาลัสซีเมีย และเฮโมโกลบินผิดปกติซึ่งมีมากมายในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคอีสาน ผู้ป่วยพวกนี้มีการทำลายเม็ดเลือดเร็วและมากกว่าปกติ ทำให้ผู้ป่วยซีด อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ลักษณะของผู้ป่วยมีหน้าแบน มีตับม้ามโต ไม่แข็งแรงเหมือนคนปกติ ความผิดปกติในลักษณะของเม็ดเลือดแดง เช่น เม็ดเลือดแดงมีขนาดเล็กและกลมกว่าปกติ หรือความผิดปกติในเอนไซม์ของเม็ดเลือดแดง เช่น พวกที่ขาดเอนไซม์กลูโคส ๖ ฟอสเฟต ดีไฮโดรเจเนส (G-6 PD Deficiency) อาจเกิดจากอาการซีดจากการทำลายเม็ดเลือดแดงเพิ่มขึ้น 

      สำหรับการเสียเลือดเรื้อรังนั้น สาเหตุที่สำคัญและพบบ่อยในเด็กไทย คือ การมีพยาธิปากขอในลำไส้ ซึ่งดูดเลือดเป็นอาหาร ทำให้ผู้ป่วยซีดได้มากๆ ไข่ของพยาธิปากขอจะปะปนออกมากับอุจจาระ ถ้าผู้ป่วยที่มีพยาธิปากขอไปถ่ายอุจจาระไว้บนดิน ไข่พยาธิจะฟักออกมาเป็นตัวอ่อนของพยาธิอยู่บนดิน ที่ชื้นแฉะ และสามารถเข้าร่างกายโดยการไชเข้าทางผิวหนัง เด็กที่ไม่ได้ใส่รองเท้าเดินไปในบริเวณที่มีตัวอ่อนของพยาธิก็จะมีโอกาสได้รับพยาธินี้ ส่วนสาเหตุการเสียเลือดเรื้อรังอื่นๆ เช่น เป็นแผลในกระเพาะอาหาร พบได้น้อยในวัยเด็ก

เด็กตัวเขียว 

      อาการตัวเขียวพบได้เป็นครั้งคราวในวัยเด็ก การจะทราบว่า เด็กมีอาการเขียวหรือไม่ ควรดูผู้ป่วยในที่ที่มีแสงสว่างเพียงพอ ซึ่งเห็นชัดในเวลากลางวัน การดูในที่แสงสว่างไม่เพียงพอ อาจผิดพลาดได้ อาการที่เขียวอาจเกิดในส่วนกลางของตัว ซึ่งควรสังเกตจากลิ้น หรือริมฝีปาก ปากที่เขียวคล้ำ การเขียวเฉพาะเล็บมือเล็บเท้า โดยเฉพาะที่พบในเด็กเล็กนั้นพบได้เสมอ เนื่องจากอากาศเย็น เส้นเลือดบริเวณปลายมือปลายเท้าหดตัว การไหลเวียนของเลือดบริเวณปลายมือปลายเท้าช้าลง ทำให้บริเวณแขนขาซีด ตัวลายๆ และเล็กเขียวได้ ซึ่งอาการดังกล่าวจะหายไป เมื่อเด็กได้รับความอบอุ่นขึ้น

      อาการเขียวที่เกิดอยู่นานในวัยเด็ก มักเกิดจากภาวะที่มีออกซิเจนในเลือดต่ำ ซึ่งมักจะพบความผิดปกติทางการหายใจร่วมด้วยเสมอ โรคทางสมอง เช่น เลือดออกในสมองในเด็กเล็กอาจกดศูนย์การหายใจในสมอง เด็กอาจหยุดหายใจหรือหายใจช้าลง ก็เป็นสาเหตะให้ขาดออกซิเจน เกิดอาการเขียวได้ โรคของปอด เช่น ปอดอักเสบอย่างมาก สิ่งแปลกปลอมตกลงในหลอดลมเสมหะอุดหลอดลม มีลมในโพรงเยื่อหุ้มปอด ปอดก็ไม่สามารถแลกเปลี่ยนก๊าซได้ตามปกติ จะมีอาการเขียวได้

 

ปลายนิ้วปุ้มซึ่งพบได้ในผู้ป่วยโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดชนิดมีตัวเขียว

 

      โรคที่เป็นสาเหตุของอาการเขียวที่พบได้บ่อย คือ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดบางโรค ที่ทำให้เลือดดำเข้าไปปนกับเลือดแดง เวลาหัวใจบีบตัวจะบีบเอาเลือดผสมทั้งดำและแดงไปเลี้ยงร่างบกาย แทนที่จะบีบเอาเฉพาะเลือดแดงไปเลี้ยงเหมือนคนปกติ ทำให้เป็นสาเหตุของอาการเขียวในเด็ก ถ้าเป็นนานๆ ผู้ป่วยจะมีเลือดข้นขึ้น ปลายนิ้วมือนิ้วเท้าจะปุ้ม
อาการเขียวอาจเกิดในเด็กที่ได้รับพิษจากสารบางอย่าง เช่น ไนเตรท สารอะนิลีน ได้เช่นกัน

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow