Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

โรคติดเชื้อที่พบบ่อยในวัยเด็ก

Posted By Plookpedia | 10 ธ.ค. 59
1,877 Views

  Favorite

โรคติดเชื้อที่พบบ่อยในวัยเด็ก

โรคคอตีบ

      เป็นโรคติดต่อชนิดหนึ่งที่เกิดจากเชื้อบัคเตรี ชื่อ คอรีนบัคติเรียม ดิพเธรีอี (Corynebacterium diphtheriae) ทำให้เกิดแผ่นเยื่อบุของคอของกล่องเสียง หรือจมูก ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้อาจมีอาการหายใจลำบาก เนื่องจากแผ่นเยื่อที่เกิดขึ้นนี้ไปอุดหลอดลม ทำให้มีอาการคล้ายกับถูกบีบให้ตีบลง โรคนี้มักจะระบาดในฤดูฝน ระหว่างเดือนมิถุนายน - เดือนกันยายนของทุกปี และพบบ่อยในเด็กวัยก่อนเข้าโรงเรียนระยะหลังนี้ มีแนวโน้มว่า โรคคอตีบจะเป็นในเด็กโตมากขึ้น เชื้อนี้เข้าสู่ร่างกายโดยการสัมผัสโดยตรงกับเสมหะหรือน้ำมูกของผู้ป่วย ที่เป็นโรคนี้ หรือโดยทางอ้อมจากการสัมผัสกับสิ่งของเครื่องใช้ของผู้ป่วย

 

แผ่นเยื่อขาวบนต่อมทอนซิลของผู้ป่วยโรคคอตีบ

 

      อาการของโรคคนตีบดังกล่าวข้างต้น เป็นผลจากเชื้อบัคเตรีชนิดนี้ ปล่อยพิษออกมาทำลายเนื้อเยื่อบริเวณใกล้เคียงทำให้เกิดเป็นแผ่นเยื่อขาวปนเทาขึ้นบนเยื่อบุต่าง ๆ ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะมีอาการเป็นไข้ เจ็บคอ เมื่ออ้าปากดูจะพบแผ่นขาว ๆ ขุดแผ่นเนื้อนี้ออกจะพบว่า หลุดออกได้ยาก และจะมีเลือดออกอาการมักจะเกิดหลังจากผู้ป่วยได้รับเชื้อเข้าไปแล้ว ๒-๖ วัน หรืออาจจะนานกว่า ผู้ป่วยที่มาด้วยอาการหายใจลำบาก แพทย์อาจจะต้องทำการเจาะคอเพื่อให้ลมหายใจเข้าได้ นอกจากนี้พิษของเชื้อโรคคอตีบ ยังไปทำอันตรายต่อกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นผิดปกติ และมีผลต่อเส้นประสาท ทำให้พูดไม่ชัด กลืนลำบากเนื่องจากกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ในการกลืนอ่อนแรงลง เราสามารถป้องกันโรคนี้ได้โดยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ ซึ่งปกติจะฉีดร่วมกับวัคซีนป้องกันบาดทะยักและไอกรน ตั้งแต่เด็กอายุได้ ๒-๓ เดือน

ไอกรน

      เป็นโรคติดต่อที่สำคัญอันหนึ่งของระบบทางเดินหายใจเกิดจากเชื้อบัคเตรีชื่อ บอร์ดีเทลลา เปอร์ตัสซิส (Bordetella pertussis) ผู้ป่วยด้วยโรคนี้จะมีอาการน้ำมูกไหล ไอมาก คล้ายมีเสมหะติดคอ ซึ่งจะเป็นมากตอนกลางคืน และจะไอติด ๆ กันเป็นชุด ตามด้วยเสียงหายใจเข้าดังวู้บ เด็กเล็กจะมีอาการหนักมากกว่าเด็กโต หรือผู้ใหญ่ เด็กเล็กอาจจะไอมากจนหน้าเขียวบางรายไอมากจนมีเลือดออกที่เยื่อบุตา อาการไอนี้จะเป็นอยู่ประมาณ ๑-๓ เดือน

 

เด็กที่เป็นโรคไอกรนมีอาการไอมาก จนมีเลือดออกที่ตา

 

      โรคนี้มีระยะฟักตัวประมาณ ๕-๒๑ วัน คนที่เป็นโรค ถ้าไม่รักษาจะแพร่เชื้อไปได้เป็นเวลานาน ๕-๖ สัปดาห์ โดยการไอหรือจามรดผู้อื่น โรคแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยๆ คือ โรคปอดบวม หูน้ำหนวก เด็กบางคนกินอาหารไม่เนื่องจากมีอาการไอมากเกิดภาวะขาดอาหารตามมา เราสามารถป้องกันโรคไอกรนได้โดยการฉีดวัคซีนร่วมกับวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ และบาดทะยัก ตั้งแต่เด็กอายุได้ ๒-๓ เดือน

โรคบาดทะยัก 

      โรคนี้เกิดจากเชื้อบาดทะยัก ซึ่งเป็นบัคเตรี ชื่อ คลอสตริเดียวเตตานิ (Clostridium tetani)เข้าไปทางบาดแผลแล้ว ระยะเริ่มแรกจะมีอาการขากรรไกรแข็ง อ้าปากไม่ขึ้น มีการเกร็งของกล้ามเนื้อที่ใบหน้า ทำให้มีลักษณะคล้ายยิ้มแสยะ ต่อมามีการหดเกร็งของกล้ามเนื้อลำตัว และแขนขา ทำให้มีอาการชักแบบหลังแอ่น ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บปวดเวลาที่กล้ามเนื้อหดเกร็ง ถ้ามีการกระตุ้นโดยการสัมผัสโดยเสียงหรือแสงด้วยแล้ว ผู้ป่วยจะมีอาการชักแกร็งมากขึ้น ผู้ป่วยที่ชักติดต่อกันนานๆ อาจจะมีอาการเขียวเนื่องจากหายใจไม่ทัน ผู้ป่วยอาจถึงแก่กรรมได้ เนื่องจากมีโรคปอดบวมแทรกหรือชักจนหมดแรงตาย

 

ทารกแรกเกิดซึ่งป่วยเป็นโรคบาดทะยัก เนื่องจากใช้สิ่งของไม่สะอาดตัดสายสะดือ มีอาการชัก เกร็ง ตัวแอ่น อ้าปากไม่ขึ้น


      เชื้อบาดทะยักพบได้ทั่วไปในดิน และในอุจจาระของคนและสัตว์ เชื้อนี้ทนต่อความแห้งแล้งได้ดี น้ำยาฆ่าเชื้อที่ใช้ทั่วไป เช่น แอลกอฮอล์ ทิงเจอร์ไอโอดิน ไม่สามารถฆ่าเชื้อบาดทะยักได้ทั้งหมด  เนื่องจากเชื้อบาดทะยักไม่ชอบอากาศ เพราะฉะนั้นแผลที่เชื้อบาดทะยักชอบ คือ แผลที่ลึกอากาศเข้าไม่ถึง หรือแผลที่มีเนื้อตายมากๆ เช่น แผลไฟลวก ในภาวะที่พอเหมาะ เชื้อบาดทะยักจะแบ่งตัวและปล่อยพิษออกมา  การตัดสายสะดือทารกแรกเกิดโดยใช้ไม้ไผ่ มีด หรือกรรไกรที่ไม่สะอาด เชื้อบาดทะยักที่ปนอยู่ก็จะมีโอกาสเข้าไปในแผลตรงสะดือ เนื่องจากสะดือของทารกหลังคลอดจะเริ่มมีอาการเหี่ยว จึงเหมาะที่เชื้อบาดทะยักจะเจริญเติบโตได้ดี และปล่อยพิษออกมาทำให้เด็กทารกเกิดโรคบาดทะยัก  การป้องกันโรคบาดทะยักอาจทำได้โดยการฉีดวัคซีนป้องกัน พร้อมกับวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ และไอกรนตั้งแต่เด็กในรายที่ไม่เคยฉีดวัคซีนมาก่อน ถ้ามีบาดแผลเกิดขึ้นควรไปหาแพทย์เพื่อฉีดยาป้องกันให้ ส่วนในทารกแรกเกิดเราสามารถป้องกันนี้ได้ โดยฉีดวัคซีนป้องกันให้แก่หญิงที่กำลังมีครรภ์ เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันในแม่ ภูมิคุ้มกันนี้สามารถผ่านรกไปป้องกันให้แก่เด็กทารกชั่วคราวได้

โรคไขสันหลังอักเสบ (โปลิโอ) 

      เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส คนที่ได้รับเชื้อโปลิโอเข้าไปอาจจะไม่มีอาการเลย หรืออาจเป็นมากจนกระทั่งมีอาการอัมพาต อาการที่พบคือ มีไข้ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดเมื่อยตามตัวอาจมีอาการคอแข็ง และมีอาการอัมพาต เชื้อเข้าสู่ร่างกายทางปากจากอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อนี้อยู่ เมื่อเชื้อเข้าสู่ลำไส้ก็จะเข้าไปในเลือดแล้วมาอยู่ที่ระบบประสาทส่วนกลาง ทำลายเซลล์ประสาทส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดอัมพาตส่วนใหญ่เป็นที่ขา แต่อาจจะเป็นที่กล้ามเนื้อมัดใดก็ได้ ถ้าเป็นที่กล้ามเนื้อเกี่ยวข้องกับการหายใจ หรือการกลืนอาจทำให้ผู้ป่วยถึงแก่กรรมได้ อาการอัมพาตกล้ามเนื้ออ่อนแรง เมื่อปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รักษา กล้ามเนื้อบริเวณนั้นจะค่อยๆ ลีบลง เนื่องจากไม่ได้ใช้งาน  คนที่ป่วยเป็นโรคโปลิโอ จะแพร่เชื้อโปลิโอออกมาทางน้ำลาย และอุจจาระ ได้เป็นเวลานานหลายสัปดาห์ คนที่ได้รับเชื้อแต่ไม่มีอาการ ก็สามารถแพร่เชื้อออกมาทางอุจจาระได้ระยะฟักตัวของโรคจะมีตั้งแต่ ๓ วัน จนถึง ๓ สัปดาห์

    

เท้าพิการเป็นผลจากเป็นโรคโปลิโอ


      โดยทั่วไปคนที่มีอาการอัมพาตจากโรคโปลิโอนี้ มีน้อยกว่าร้อยละหนึ่งของคนที่ได้รับเชื้อ คนที่ผ่าตัดต่อมทอมซิล คนที่ได้รับการฉีดยาหรือได้รับบาดเจ็บ รวมทั้งคนที่กำลังตั้งครรภ์จะมีโอกาสเกิดอัมพาตได้มากขึ้นกว่าคนทั่วไป ในประเทศไทยโดยมากพบโรคนี้ในเด็กอ่อน ในผู้ใหญ่ก็พบแต่ก็พบได้น้อยมาก เนื่องจากคนไทยส่วนใหญ่ได้รับเชื้อตั้งแต่อายุน้อยๆ  การป้องกันโรคโปลิโอที่ดีที่สุดคือการให้รับประทานวัคซีนโปลิโอ

 

ผื่นบริเวณใบหน้า ในเด็กที่เป็นโรคหัด

โรคหัด

      เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัส ทำให้เกิดไข้ น้ำมูกไหล ไอ คอแดง เบื่ออาหาร อาจจะมีอาการตาแดง กลัวแสงสว่างและมีขี้ตาได้ ผู้ป่วยมักจะมีผื่นขึ้นประมาณวันที่ ๔ หลังจากที่เริ่มมีไข้ขึ้น ผื่นจะเริ่มขึ้นบริเวณใบหน้าและหลังหูอ่อนจากนั้นจะลามไปตามตัวลงไปถึงแขนและขา ผื่นจะขึ้นมากที่สุดบริเวณหน้าและลำตัว ส่วนที่ขาจะน้อยกว่า วันที่ผื่นเริ่มขึ้นมักจะเป็นวันที่ไข้ขึ้นสูงที่สุด ไข้มักจะลดลงหลังจากผื่นขึ้นแล้วประมาณ ๔๘ ถึง ๗๒ ชั่วโมง ผู้ป่วยบางรายจะมีอาการไอ และหอบมากขึ้น ในระยะที่ผื่นขึ้น ในกรณีที่ไข้ไม่ลดลงหลังจากผื่นขึ้นแล้วเกิน ๓ วัน มักเกิดจากการที่ผู้ป่วยมีโรคแทรกซ้อน โรคแทรกซ้อนที่พบบ่อยคือ โรคท้องร่วง โรคปอดบวม โรคหูน้ำหนวก และโรคขาดอาหาร นอกจากนี้อาจพบโรคสมองอักเสบ ในประเทศไทย โรคหัดมักพบในเด็กอ่อน และพบได้ตลอดปี แต่พบบ่อยขึ้นในฤดูหนาว โรคนี้ติดต่อได้ทางลมหายใจ ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้สามารถแพร่เชื้อออกได้โดยการไอหรือจาม ตั้งแต่ระยะที่ไม่มีไข้ขึ้นจนกระทั่งมีผื่นขึ้นแล้ว ๓-๔ วัน คนที่ไม่เคยเป็นโรคนี้มาก่อนสามารถติดโรคนี้ได้ โดยการสัมผัสกับน้ำมูก เสมหะ ของผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ ส่วนการติดเชื้อจากอาการที่พบได้น้อย อาการของโรคมักจะเกิดประมาณ ๑๐ วัน หลังจากได้รับเชื้อเข้าไปแล้ว ในคนที่เคยเป็นโรคนี้แล้วจะมีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้น ทำให้ไม่เป็นโรคนี้อีกในปัจจุบันมีวัคซีนที่ทำจากเชื้อหัดซึ่งได้เลี้ยงจนอ่อนฤทธิ์แล้ว เมื่อนำไปฉีดให้เด็กที่มีอายุเกินหนึ่งปีที่ยังไม่เคยออกหัด จะทำให้เด็กคนนั้นเกิดภูมิคุ้มกันเหมือนกับคนที่เคยออกหัดแล้ว

 

ทารกเป็นโรคหัดเยอรมันแต่กำเนิด มีจุดเลือดออกใต้ผิวหนังทั่วไป

 

โรคหัดเยอรมัน 

      เป็นโรคไข้ออกผื่นที่เกิดจากเชื้อไวรัส พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ในเด็กเล็กอาการเร่อมแรกคือผื่น แต่ในเด็กวัยรุ่น หรือผู้ใหญ่มักจะมีไข้ต่ำๆ ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร มีน้ำมูก และไอเล็กน้อยนำมาก่อน ๑-๕ วัน อาการต่างๆ จะหายไปหลังจากผื่นขึ้น ส่วนเด็กระยะเวลาที่มีผื่นเด็กอาจมีไข้ขึ้นต่ำๆ ด้วย ผื่นมักจะเริ่มขึ้นที่หน้าก่อน แล้วกระจายไปตามคอ ลำตัว แขน ขาลักษณะผื่นเป็นเม็ดแดงๆ เล็กๆ กระจัดกระจาย บางครั้งอาจรวมเป็นกลุ่ม ทำให้เห็นเป็นปื้นแดง ผื่นมักจะมีอยู่ไม่เกิน ๓ วัน ผู้ป่วยมักจะมีต่อมน้ำเหลืองบริเวณท้ายทอย และหลังหูโต โรคนี้ติดโดยทางหายใจ ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะมีเชื้อออกมาจากน้ำมูก น้ำลาย ตั้งแต่ ๗ วัน ก่อนมีผื่นขึ้นจนถึง ๕ วันหลังผื่นขึ้น อาการมักจะเกิดใน ๑๔-๒๑ วันหลังจากได้รับเชื้อ โรคนี้พบบ่อยในเด็กโต เด็กวัยรุ่นและคนหนุ่มสาว โรคแทรกซ้อนที่อาจพบได้คือข้ออักเสบและสมองอักเสบ โดยทั่วไปแล้วโรคนี้ไม่รุนแรงและไม่ทำให้เกิดการพิการหรือตาย แต่อันตรายที่สำคัญของโรคนี้ก็คือถ้าเป็นในหญิงซึ่งมีครรภ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน ๓-๔ เดือนแรกของการตั้งครรภ์ เชื้ออาจผ่านจากแม่ไปยังทารกในครรภ์ ทำให้เด็กในครรภ์แท้งหรือคลอดออกมาพิการได้ อาการที่พบในทารกที่ติดเชื้อหัดเยอรมันระหว่างอยู่ในครรภ์คือ ตัวเล็ก เจริญเติบโตช้า น้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่าปกติ อาจมีโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด หูหนวก ตาอาจะเป็นต้อกระจก หรือตาเล็กนอกจากนี้อาจมีความผิดปกติทางสมองทำให้ปัญญาทึบได้ ในปัจจุบันเรามีวัคซีนป้องกันโรคนี้สำหรับเด็กตั้งแต่อายุ ๑ ปี ขึ้นไป หรือหญิงสาวที่ยังไม่มีบุตร เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นโรคนี้ในระหว่างตั้งครรภ์ หญิงที่ตั้งครรภ์ ถ้าไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมัน หรือไม่เคยเป็นหัดเยอรมันมาก่อนควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับคนที่มีไข้ชนิดออกผื่น ถ้าหากไปสัมผัสเข้าควรรีบปรึกษาสูติแพทย์ทันที

โรคสุกใส

      เกิดจากเชื้อไวรัส (varicella-zoster virus) ทำให้เกิดเป็นผื่นและตุ่มใสๆ บนผิวหนัง เชื้อนี้ติดโดยการสัมผัสกับผื่นที่ผิวหนังของผู้ป่วยหรือโดยทางหายใจ จากการไอ หรือจาม คนที่ไม่เคยเป็นโรคนี้มาก่อน ถ้าไปสัมผัสกับคนที่เป็นโรคงูสวัดซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสชนิดเดียวกันจะกลายเป็นโรคสุกใสได้ ระยะติดต่อของโรคเริ่มตั้งแต่ ๑ วัน ก่อนที่ผู้ป่วยนะมีผื่นขึ้น จนกระทั่งตุ่มที่ผิวหนังแห้ง ระยะฟักตัวจะมีประมาณ ๒๐-๒๑ วัน

 

ผื่นที่พบในโรคสุกใส มีหลายชนิดในบริเวณเดียวกัน และพบที่ลำตัวมากกว่าที่แขนขา

 

      อาการของผู้ป่วยจะเริ่มด้วยมีผื่นขึ้นพร้อมกับไข้ ในผู้ใหญ่อาจจะมีไข้นำมาก่อน ในระยะแรกที่เป็นผื่นแดง ต่อมานูนขึ้น และกลายเป็นตุ่มน้ำตรงกลางเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๒-๓ มิลลิเมตร ผื่นจะขึ้นมากบริเวณลำตัวมากกว่าแขนขา ผื่นในกลุ่มเดียวกันมักมีหลายชนิด ตุ่มที่เกิดขึ้นจะมีรอยบุ๋มตรงกลางแล้วค่อย ๆ แห้งไป ในบางรายอาจมีแผลในปากร่วมด้วย แผลที่เกิดจากโรคสุกใส จะไม่เป็นแผลเป็น ยกเว้นในกรณีที่มีโรคแทรกซ้อน ผู้ใหญ่ที่เป็นโรคนี้มักจะมีอาการรุนแรงมากกว่าเด็ก ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคนี้ขาย

วัณโรค 

      เกิดจากเชื้อบัคเตรีชื่อ ไมโคบัคเตเรียม ทูเบอร์คูโลซีส (Mycobacterium tuberculosis) ทำให้เกิดโรคที่ปอด ต่อมน้ำเหลือง เยื่อหุ้มสมอง ลำไส้ กระดูก ข้อ ตับ ไต ผิวหนังและเยื่อหุ้มหัวใจ ส่วนใหญ่จะได้รับเชื้อมาจากเสมหะของคนที่เป็นโรค มีส่วนน้อยที่มาจากปัสสาวะของผู้ป่วยที่เป็นวัณโรคที่ไต หรือจากหนองที่มีเชื้อวัณโรคอยู่ เชื้อส่วนใหญ่เข้าสู่ร่างกาย  ระยะฟักตัวของเชื้อในร่างกายจะกินเวลา ๒-๑๒ สัปดาห์ พวกที่ได้รับเชื้ออาจจะไม่มีอาการ เชื้อจะเข้าไปอยู่ที่ปอดหรือต่อมน้ำเหลือง บางรายก็อาจจะกระจายออกไป ทำให้เกิดอาการทางปวดหรือเชื้อกระจายต่อไปในเลือดหรือน้ำเหลือง และกระจายไปทั่วตัว เกิดโรคนอกระบบทางเดินหายใจ ในเด็กอายุน้อยกว่า ๓ ปี เด็กวัยรุ่น คนหนุ่มสาว คนที่ขาดอาหารหรือคนที่มีร่างกายอ่อนเพลีย คนที่เป็นเบาหวาน คนที่กินยาที่กดภูมิคุ้มกัน คนที่เป็นมะเร็ง หรือคนที่ตัดกระเพาะออกแล้ว จะมีโอกาสเป็นวัณโรคได้ง่ายกว่าคนอื่น อาการมักจะเกิดภายใน ๑ ปีหลังจากได้รับเชื้อคนที่ได้รับเชื้อแต่ไม่ได้รับการรักษา อาจไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อยแล้วหายไปเอง แต่เชื้อยังหลบอยู่ในต่อมน้ำเหลืองต่าง ๆ ในร่างกายได้หลายสิบปี ผู้ใหญ่ที่เป็นวัณโรค ส่วน ใหญ่มักจะได้รับเชื้อมาตั้งแต่วัยเด็ก เมื่อร่างกายอ่อนแอลงจากสาเหตุใดก็ตาม เชื้อที่อยู่ในร่างกายก็จะกำเริบเกิดเป็นโรคขึ้น

 

วัณโรคต่อมน้ำเหลืองที่คอแตกเป็นแผลเรื้อรัง


      อาการของวัณโรค มักจะเหมือนโรคติดเชื้อเรื้อรังทั่วไป คือ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ผอมลง มีไข้ ส่วนอาการเฉพาะที่นั้น แล้วแต่อวัยวะใดเป็นโรค พวกที่เป็นวัณโรคปอดอาจจะมีอาการไอเรื้อรัง มีเสมหะ ซึ่งอาจจะออกมาคล้ายหนองบางครั้งอาจมีเลือดปน อาจมีอาการเจ็บหน้าอกหรือเหนื่อย ในพวกที่มีเยื้อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อวัณโรค มักจะมีอาการปวดศีรษะ มีไข้ อาเจียน ชัก ซึมลง คอแข็ง ถ้ารักษาช้ามักจะถึงแก่กรรม ถ้ารอดชีวิตได้มักจะมีปัญญาทึบ ศีรษะโตเนื่องจากมีน้ำคั่งในสมอง วัณโรคของต่อมน้ำเหลืองที่พบบ่อยคือที่ขั้วปอดซึ่งอาจไม่มีอากาศหายใจทางปอดเนื่องจากไปกดหลอดลม บางรายเป็นที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณข้างคนหลายเม็ด อาจแตกออกมาเป็นหนองเรื้อรัง ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ฝีประคำร้อยวัณโรคที่ลำไส้อาจทำให้มีอาการท้องผูกสลับท้องเดิน อาจคลำพบก้อนในท้อง และบางครั้งท้องโตเพราะมีน้ำในช่องท้อง วัณโรคกระดูกและข้อที่พบบ่อย คือ ที่กระดูกสันหลัง และข้อตะโพก

การป้องกันโรคนี้มีหลายวิธี คือ 

      ๑. หลีกเลี่ยงการได้รับเชื้อ โดยไม่อยู่ในที่แออัดหรืออยู่ใกล้คนที่เป็นโรค 

      ๒. สร้างภูมิคุ้มกันให้เกิดมีในร่างกายโดยการฉีดวัคซีน ป้องกันวัณโรค (บีซีจี) ในปัจจุบันประเทศไทยมีนโยบายฉีดวัคซีน ป้องกันวัณโรคให้แก่เด็กทุกคนตั้งแต่เกิด หรือครั้งแรกที่มีโอกาสพบเจ้าเหน้าที่สาธารณสุข ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจะป้องกันโรคได้ประมาณร้อยละ ๘๐ 

      ๓. กำจัดเชื้อที่มีอยู่ โดยมีการตรวจร่างกายและถ่ายภาพรังสีของปอดประจำปี เพื่อวินิจฉัยโรคให้ได้ตั้งแต่ระยะแรกให้ยาป้องกันในคนที่มีเชื้ออยู่ในร่างกายแต่ไม่มีอาการ 

      ๔. วินิจฉัยและรักษาคนที่เป็นโรคให้หมด จะได้ไม่มีเชื้อกระจายไปให้คนอื่นต่อไป 

ในปัจจุบันมียารักษาวัณโรคให้หายขาดได้ แต่ปัญหาที่สำคัญคือ ผู้ป่วยต้องกินยาสม่ำเสมอ ในขนาดที่เพียงพอ และเป็นเวลานานพอ

โรคคออักเสบจากเชื้อสเตร็ป 

      เชื้อโรคที่ทำให้เกิดอาการคอเจ็บมีหลายชนิดด้วยกันแต่ที่สำคัญ และมีอันตรายคือ เชื้อบัคเตรีที่เรียกว่า กลุ่ม เอเบตาฮีโมไลติค สเตร็พโตคอกคัส (group A beta hemolytic Streptococcus) หรือ สเตร็พโตคอกคัส ไพโอยีน (Streptocooccus pyogenes) อาการคออักเสบที่เกิดจากเชื้อสเตร็พนี้ มักประกอบด้วยไข้ เจ็บคอ คอแดง ต่อมทอนซิลโต มีต่อมน้ำเหลืองที่คอโตและเจ็บ บางครั้งมีจุดเลือดออกที่เพดานปาก ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาการไข้และเจ็บคอ อาจจะหายไปเองได้แต่อาจจะมีผลแทรกซ้อนตามมา ทำให้เกิดโรครูมาติคส์ ซึ่งอาจจะมีไข้ ปวดบวมตามข้อและอาจทำให้เกิดโรคลิ้นหัวใจรั่วโลหิตสูง มีเม็ดเลือดแดงออกมาในปัสสาวะ มีอาการบวม และอาจมีอาการหอบเหนื่อยจากหัวใจทำงานไม่ไหว เพราะฉะนั้นคนที่มีอาการเจ็บคอควรปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้อง จะได้ป้องกันโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดตามมาได้

 

โรคคออักเสบจากเชื้อสเตร็ป มีคอแดงจัด และมีจุดเลือดออก


โรคไข้เลือดออก 

      เกิดจากเชื้อไวรัสเด็งกี่ เชื้อเข้าสู่ร่างกายโดยถูกยุงลายชนิด แอดีส แอยิพติ (Aedes aegypti) ที่มีเชื้อเด็งกี่กัด ยุงลายที่นำโรคนี้มักจะเป็นยุงตัวเมีย และกัดเวลากลางวัน ยุงลายได้เชื้อมาจากผู้ป่วยที่มีเชื้อเด็งกี่อยู่ในเลือด เมื่อเชื้อเข้าไปฟักตัวอยู่ในยุงประมาณ ๘-๑๐ วัน ก็จะสามารถแพร่เชื้อไปยังคนที่ถูกยุงกัดนั้นกัดได้ โรคไข้เลือดออกพบได้ตลอดปี แต่พบมากในฤดูฝน เนื่องจากมียุงชุกชุม โรคไข้เลือดออกพบมากในเด็กเล็ก แต่ในระยะหลังๆ มีแนวโน้มที่จะพบมากในเด็กโต ส่วนในผู้ใหญ่พบบ้างประปราย อาการของไข้เลือดออกในระยะแรก คือ มีไข้สูง เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ในพวกที่มีอาการอาเจียนมากมักมีโอกาสเกิดการช็อค อาการไข้นี้มักจะเป็นตลอดวัน และเป็นอยู่ประมาณ ๓-๕ วัน ก็จะเข้าสู่ระยะที่สอง คือ ระยะช็อค ผู้ป่วยจะมีไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว มือเท้าเย็น อาเจียนมากขึ้น ตับโต ปวดท้อง บางรายมีอาการซึม หรือกระสับกระส่ายมาก ปัสสาวะออกน้อยลง ความดันโลหิตต่ำลง อาจมีเลือดออกตามที่ต่างๆ เช่น ผิวหนัง กระเพาะอาหาร จมูก เป็นต้น ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ผู้ป่วยอาจตายได้ ในระยะช็อคนี้ ถ้าตรวจนับเม็ดเลือดดู จะพบว่า เลือดข้นขึ้น และมีเกล็ดเลือดต่ำ ถ้าพ้นระยะที่ ๒ ไปได้ก็จะเข้าสู่ระยะที่ ๓ ซึ่งเป็นระยะพักฟื้นซึ่งอาการต่างๆ จะดีขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยจะเริ่มรับประทานได้ อาการทั่วไปดีขึ้น โรคไข้เลือดออกที่รุนแรงส่วนใหญ่เป็นผลจากการติดเชื้อเด็งกี่ครั้งที่ ๒ ส่วนการติดเชื้อครั้งแรกมักจะมีเพียงอาการไข้ปวดเมื่อยตามตัวแต่ไม่ช็อค การป้องกันไข้เลือดออกที่สำคัญคือ อย่าให้ยุงลายกัด กำจัดแหล่งวางไข่ของยุงลาย ซึ่งได้แก่ น้ำสะอาดที่อยู่นิ่ง เพราะฉะนั้นภาชนะที่ใส่น้ำควรมีฝาปิด อย่าให้มีน้ำขังในที่ต่างๆ ไม่ควรให้ยุงกัดคนที่กำลังเป็นโรค เพราะผู้ป่วยยังมีเชื้อไวรัสในเลือด ทำให้แพร่เชื้อไปให้คนอื่น

 

จุดเลือดออกใต้ผิวหนัง ในผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกที่มีอาการหนัก 

 

 

กำหนดการสร้างเสริมคุ้มกันโรค กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๒๕

การบริบาลทารกและโรคทางกุมารเวชศาสตร์

 

หมายเหตุ 

      ๑. วัคซีนป้องกันวัณโรค (BCG) ฉีดให้ได้ทุกอายุ ถ้ายังไม่เคยได้รับ หรือได้รับแต่ไม่มีแผลเป็น 

      ๒. วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน (DTP) เด็กที่มาหลังอายุ ๒-๓ เดือน ก็ให้เริ่มฉีดวัคซีนได้ โดยฉีดให้ อย่างน้อย ๒ ครั้งห่างกัน ๒ เดือน และกระตุ้นอีก ๑ ครั้ง  หลังฉีดครบชุดแล้ว  ๑ - ๑ ๑/๒ ปี 

      ๓. ในกลุ่มอายุ ๔-๗ ปี เด็กอายุต่ำกว่า ๖ ปี ให้วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน (DTP) เด็กอายุ ๖ ปีขึ้นไป ให้วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก (dT) 

      ๔. ฉีดวัคซีนป้องกันไข้ไทฟอยด์ แก่เด็กอายุ ๒ ปี ขึ้นไป ในท้องที่ที่มีโรคชุกชุม 

      ๕. เพื่อป้องกันบาดทะยักในเด็กเกิดใหม่ ให้วัคซีนป้องกันบาดทะยักแก่หญิงมีครรภ์เข้ากล้ามเนื้อครั้งละ ๐.๕ มิลลิลิตร รวม ๒ ครั้ง ห่างกันอย่างน้อยครั้งละ ๑ เดือน โดยเริ่มฉีดครั้งที่ ๑ ให้ในโอกาสแรกที่พบ จะเป็นระยะตั้งครรภ์ เดือนไหนก็ได้ แต่ครั้งที่ ๒ ควรฉีดก่อนครบกำหนดคลอด ๑ เดือน หญิงมีครรภ์ที่เคยฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักครบชุดมาแล้วเกิน ๓ ปี ให้ฉีดกระตุ้นอีก ๑ ครั้ง ขนาด ๐.๕ มิลลิลิตร แต่ถ้าเคยฉีดครบชุดมาแล้วไม่เกิน ๓ ปี ไม่ต้องฉีดกระตุ้น

 

การบริบาลทารกและโรคทางกุมารเวชศาสตร์

 

 

หมายเหตุ 

      กำหนดการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค สำหรับเด็กอายุ ๖ ปีขึ้นไปนั้น ถ้าปรากฏว่าโรคโปลิโอพบมากขึ้นในเด็กโต ในอนาคตอาจจะต้องพิจารณาให้วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ (OPV) เพิ่มเติมด้วย
วัคซีนที่อยู่ในตารางกำหนดการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ของกระทรวงสาธารณสุขนี้ ประชาชนสามารถไปรับการฉีดได้ ตามสถานีอนามัยและโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข โดยไม่ต้องเสียเงิน ยังมีวัคซีนอีกประเภทหนึ่งซึ่งยัง ไม่ได้กำหนดในตารางสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค เนื่องจากกระทรวงสาธารณะสุขยังไม่มีงบประมาณเพียงพอที่จะให้แก่ ประชาชนในปัจจุบัน โดยไม่คิดมูลค่า วัคซีนในกลุ่มนี้คือ วัคซีนป้องกัน โรคหัด วัคซีนป้องกันโรค หัด - หัดเยอรมัน และคางทูม และวัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมัน วัคซีนป้องกันโรคหัด หรือวัคซีนป้องกันโรคหัด - หัดเยอรมัน และคางทูม ควรฉีดให้แก่เด็กอายุ ๑ ปี ที่ยังไม่เคย ออกหัด วัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมัน ควรฉีดให้แก่เด็กผู้หญิงอายุ ๑๒ ปี ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนนี้มาก่อน

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow