Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ผลจากการคลอด

Posted By Plookpedia | 10 ธ.ค. 59
1,391 Views

  Favorite

ผลจากการคลอด 

๑. ทางร่างกาย 

      การคลอดจะมีผลกระทบต่อร่างกายเด็ก โดยที่ช่องทางผ่านของเด็กคือ ปากมดลูก และช่องคลอด มีขนาดเล็กกว่าตัวเด็ก การคลอดโดยปกติ เด็กจะเอาศีรษะออกเป็นส่วนใหญ่และเป็นการคลอดที่ปลอดภัยที่สุดของแม่และเด็ก ศีรษะของเด็กขณะนี้สามารถจะยืดหดได้โดยที่รอยต่อของกระดูกะโหลกเป็นเพียงพังผืดเหนียว ศีรษะเด็กเมื่อคลอดใหม่จึงมักจะเบี้ยวทุยไปทางท้ายทอย และบางคราวหนังศีรษะบริเวณนั้นจะบวมบุ๋ม มีสีเขียวคล้ำ จากการกดกับขอบปากมดลูก ศีรษะที่เบี้ยวและหนังศีรษะที่บวมจะยุบหายไปเองภายใน ๓-๗ วัน ขณะที่ไหลและทรวงอกผ่านช่องคลอดที่แคบ จะช่วยบีบเอาน้ำคร่ำจากปอดออกทางปากด้วยจำนวนหนึ่งทำให้เด็กมีความสะดวกในการหายใจหลังคลอดแล้ว ส่วนน้ำคร่ำที่ตกค้างในปอดจะถูกดูซึมเข้าสู่ร่างกายทางหลอดเลือดภายใน ๒-๓ วัน แล้วปอดก็จะขยายตัวทำงานได้เต็มที่

๒. ทางสรีรวิทยา 

      ทารกเมื่อคลอดจากครรภ์แม่แล้ว จะต้องปรับตัวต่อสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป เช่น ขณะอยู่ในครรภ์ แม่จะทำหน้าที่ให้ออกซิเจน และอาหาร มดลูก น้ำคร่ำจะช่วยควบคุมอุณหภูมิ และร่างกายของแม่จะช่วยคุ้มกันโรคติดเชื้อ เมื่อทารกคลอดแล้วร่างกายของเด็กจะปรับตัวและเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เหมาะสมต่อสภาพแวดล้อมดังต่อไปนี้

 

ทารกแรกคลอด หนังศีรษะจะบวมนุ่ม เบี้ยวไปข้างหนึ่ง


      ๒.๑ การหายใจ หลังคลอดทารกต้องใช้ปอดทำการหายใจแทนรก เมื่อทารกคลอดจากครรภ์แม่ ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิภายนอก และการสัมผัสของผู้ทำคลอดจะช่วยกระตุ้นศูนย์ควบคุมการหายใจให้มีการหายใจอากาศเป็นครั้งแรก และจะตามมาด้วยเสียงร้องของทารก หน้าที่ของทารกที่เขียวคล้ำจะแดงขึ้นชัดเจน แสดงถึงปอดได้เริ่มทำหน้าที่แลกเปลี่ยนออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์อย่างมีประสิทธิภาพ

      ๒.๒ ระบบการไหลเวียนเลือด เมื่อทารกคลอดแล้วรกที่เคยทำหน้าที่นำออกซิเจนจากแม่ไปเลี้ยงร่างกายก็หมดหน้าที่ ดังนั้นจึงมีการเปลี่ยนระบบการไหลเวียนของเลือด คือ แทนที่จะนำเลือดแดงจากรก กลับเป็นการนำเลือดแดงจากปอดแทน โดยที่ขณะอยู่ในครรภ์เลือดแดงจากรกส่วนใหญ่จะเข้าสู่หัวใจห้องขวาบน และผ่านเข้าหัวใจช่องซ้ายบนทางรูเปิด ที่มีชื่อว่า ฟอราเมนโอวาเล แล้วไหลลงสู่หัวใจห้องซ้ายล่าง เพื่อสูบฉีดไปเลี้ยงร่างกายโดยเฉพาะหัวใจส่วนบนของร่างกายและศีรษะ เลือดแดงจำนวนน้อยเจาะรกก็จะผสมกับเลือดดำที่ส่วนบนของร่างกายและศีรษะไหลลงหัวใจห้องขวาล่องเพื่อสูบฉีดไปยังปอด เนื่องจากปอดยังไม่ทำงานจึงมีเลือดเลือดลัดชื่อ ดัคตัสอาเทอริโอซัส นำเข้าสู่เส้นเลือดแดง นำเลือดไปเลี้ยงส่วนล่างของร่างกาย และไปยังรกเพื่อแลกเปลี่ยนออกซิเจน หลังคลอดช่องติดต่อระหว่างหัวหัวใจขวาและซ้ายจะปิดลง และหลอดเลือดดัคตัสอาเทอริโอซัสก็จะค่อย ๆ ตีบตัน ทำให้มีการไหลเวียนของเลือดแบบผู้ใหญ่

 

การดูดน้ำคร่ำและมูกในบริเวณจมูกและปากซึ่งต้องทำทันทีที่ทารกคลอด เพื่อให้ทารกหายใจได้สะดวก


      ๒.๓ อุณหภูมิ ร่างกายทารกจำต้องปรับตัว เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศ ซึ่งมีอุณหภูมิต่ำกว่าอุณหภูมิในมดลูก การปรับตัวนี้จะกินเวลาประมาณ ๒๔ ชั่วโมง ดังนั้นทารกเมื่อแรกเกิดจะมีอุณหภูมิร่างกายประมาณ ๓๕.๕-๓๖ องศาเซลเซียส และมีอุณหภูมิ ๓๗ องศาเซลเซียสเมื่ออายุ ๒๔ ชั่วโมง อุณหภูมิต่ำหรือสูงกว่าปกติ ทารกจำต้องใช้พลังงานมากขึ้น ถ้าเป็นเวลานานอาจเกิดอันตรายได้ การที่ทารกอยู่ในบรรยากาศที่เย็นก็จะทำให้อุณหภูมิลดลง หรือหุ้มห่อมากเกินควร ก็ทำให้อุณหภูมิกายสูงขึ้น 

      ๒.๔ การย่อยอาหาร ทารกหลังคลอดจะต้องรับประทานอาหารเอง ซึ่งขณะอยู่ในครรภ์อาหารที่ได้รับทางรก จะเป็นอาหารที่ย่อยเรียบร้อยแล้ว อาหารจะถูกนำเข้าสู่ร่างกายทางระบบไหลเวียนเลือดเหมือนกับออกซิเจนร่างกายทารกพร้อมที่จะรับประทานอาหารได้โดยการดูด เมื่อหัวนมสัมผัสขอบปากทารกก็จะหันเข้าหาหัวนมแล้วอ้าปากดูดทันที อาหารที่ดีที่สุดคือ นมแม่ สำหรับข้าวและกล้วยบด ที่นิยมให้ควบไปนั้นไม่มีประโยชน์ เพราะเป็นอาหารจำพวกแป้งที่ทารกอายุต่ำกว่า ๓ เดือนจะย่อยไม่ได้ อาหารดังกล่าวเข้าแทนที่นมที่เด็กต้องการ และมีอยู่บ่อย ๆ ที่คนเลี้ยงให้รับประทานกล้วยมากเกินไปจนทารกย่อยไม่ได้และไม่สามารถผ่านกระเพาะอาหารไปได้ ทำให้ท้องอืด และกระเพาะอาหารแตก หากช่วยเหลือไม่ทันจะทำให้เด็กตายได้ 

      ๒.๕ การป้องกันและต่อสู้ของร่างกายต่อเชื้อโรค ทารกแรกเกิดมีร่างกาย และอวัยวะที่อ่อนแอ และมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรคน้อย เชื้อโรคจึงเข้าสู่ร่างกายง่าย ทางผิวหนัง ลำไส้และปอด นอกจากนี้ภูมิคุ้มกันของร่างกาย ที่ต่อต้านชื้อโรค ก็ยังมีน้อย จึงทำให้ทารกแรกเกิดติดโรค ติดเชื้อได้ง่าย และเวลาเกิดโรคมักจะมีโอกาสแพร่กระจายไปทั่วร่างกาย มีอัตราตายสูง ด้วยเหตุนี้ทารกแรกเกิดจึงจำต้องได้รับความระมัดระวังและป้องกันการติดเชื้ออย่างดี

ลักษณะของทารกแรกเกิด

ศีรษะเด็ก 

      แรกคลอดจะเห็นว่าโต เมื่อเปรียบเทียบกับลำตัว ถ้าเอามือคลำจะพบว่า ร่องรอยต่อของกระดูกกะโหลกเล็กๆ ตรงกลาง และค่อนมาทางหน้า จะมีช่องว่างกว้างและนิ่ม เรียกว่า "กระหม่อมหน้า" กระหม่อมหน้าจะมีกระดูกงอกมาคลุมแข็งเมื่ออายุประมาณ ๑(๑/๒) ปี 

เต้านม 

      ทารกบางคนเมื่ออายุ ๒-๓ วัน เต้านม จะโตเป็นไต เนื่องจาก ผลของฮอร์โมนสร้างน้ำนมของแม่ผ่านมา เกิดได้ทั้งเพศชายและหญิง บางคนโตมาก และมีน้ำนมหลั่ง ออกมาด้วย เต้านมจะค่อยๆ ยุบลงเองภายใน ๒ สัปดาห์ ไม่ควรบีบหรือพอกยา เพราะจะทำให้อักเสบเป็นฝีได้

สะดือ 

      สายสะดือที่ตัดแล้วจะค่อยๆ แห้งเหี่ยวไปและหลุดออกเองเมื่อปลายสัปดาห์แรก สายสะดือนี้เวลาถูก ต้องไม่เจ็บ ต้องรักษาความสะอาด โดยใช้แอลกอฮอล์ ๗๐ เปอร์เซ็นต์ เช็ดวันละ ๒-๓ ครั้ง หรือใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรคสีน้ำเงินที่นิยมใช้ตามโรงพยาบาล (triple dye) ทาวันละครั้ง ไม่จำเป็นต้องใช้ผ้าปิด การโรยสะดือด้วยยาผง หรือผอกยา มักจะทำให้เกิดหนองข้างในได้บ่อย เมื่อสะดือหลุดอาจมีจุดเลือดออกเล็กๆ เพียงแต่ใช้สำลีชุบแอลกอฮอล์บางๆ กดไว้สักครู่ก็จะหยุดเองหากไม่หยุด หรือสะดืออักเสบแฉะ มีหนองออกต้องรีบปรึกษาแพทย์ 

อวัยวะเพศ 

      ทารกเพศหญิงบางคนจะมีสีคล้ำบวมเล็กน้อย อาจมีมูกคล้ายตกขาว หรือเลือดคล้ายประจำเดือนออกจากอวัยวะเพศเล็กน้อยได้ เมื่ออายุ ๒-๓ วัน เป็นผลจากฮอร์โมนแม่ผ่านมาคล้ายกับเต้านม อาการดังกล่าวจะค่อยๆ หายไปเองใน ๑-๒ สัปดาห์

 

ทารกแรกเกิด

มือและเท้า 

      นิ้วมือและเท้าจะเจริญเต็มที่ เล็บมักจะยาวเลยปลายนิ้ว สามารถจะข่วนหน้าตัวได้ ควรตัดออกด้วยความระมัดระวัง ไม่ใส่ถุงมือ หรือถุงเท้า หากต้องการใส่ควรจะใส่โดยเอาด้านที่มีตะเข็บออกไว้ข้างนอก ระวังไม่ให้มีเส้นด้ายหลุดอยู่ภายใน มิฉะนั้น เส้นด้ายกะรุ่งกะริ่งจะรัดนิ้วมือเด็ก เลือดไปเลี้ยงไม่ถึงปลายนิ้ว ทำให้นิ้วตายได้
ผม 

      ทารกบางคนที่คลอดมามีผมบางสีจาง มิได้หมายความว่า ต่อไปผมจะบาง หรือมีสีจาง ผมจะมีสีเข้ม และมากขึ้น เมื่อเด็กโตขึ้น นอกจากบางรายที่เป็นการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ 

ผิวหนังเด็ก 

      ผิวหนังของทารกแรกคลอดจะมีไขสีขาวปกคลุม บางคนมีมากจนต้องเช็ดเอาออก ไขนี้ไม่จำเป็นต้องล้างฟองสบู่หลังคลอดทันที เพราะไขนี้จะช่วยป้องกันผิวเด็กจากการระคายเคือง หรืออากาศที่เปลี่ยนแปลงได้ 

อุจจาระ 

      อุจจาระครั้งแรกจะถ่ายภายใน ๒๔ ชั่วโมงหลังคลอด ลักษณะสีดำเหนียวเรียกว่า "ขี้เทา" วันต่อมาสีจะค่อยๆ จางลง เมื่อทารกดูดนมแล้ว วันที่ ๓-๔ สีอุจจาระจะเหลืองขึ้นและเหลว โดยปกติเด็กถ่ายวันละ ๓-๔ ครั้ง ถ้าอุจจาระยังเป็นก้อน หรือไม่ถึงเป็นน้ำ ถือว่า ปกติ 

ตัวเหลือง 

      ทารกเมื่ออายุ ๒-๓ วัน จะเริ่มมีตัวเหลือง เนื่องจากมีการทำงานของเม็ดเลือดแดงมากขึ้น และการขับถ่ายออกทางตับ ซึ่งยังมีประสิทธิภาพต่ำ ทำให้มีสีเหลืองคั่ง ตัวเหลืองนี้จะค่อยๆ ลดลงเมื่อเด็กอายุได้ ๖-๗ วัน และจะหายไปราวอายุได้ ๑-๓ สัปดาห์ หากตัวเป็นสีเหลืองจัด หรือเหลืองนานเกินกว่านี้ควรรีบปรึกษาแพทย์

ความผิดปกติเล็กๆ น้อยๆ

ริ้วรอย 

      ความกระทบกระเทือนจากการคลอด ผิวหนังบริเวณที่ถูกกดจากการคลอดทำให้มีรอยคล้ำบวม
ปานแดง 

      เป็นจุดแดงเล็กๆ พบได้บ่อยบริเวณดั้งจมูก หัวตา ลำตัว ปานเล็กๆ นี้ เกิดจากเส้นเลือดเล็กๆ เจริญเติบโตผิดปกติ ขนาดของปานนี้ จะโตขึ้น เมื่อเด็กโตขึ้น แต่สีจะจางลง และหายไปเอง เมื่ออายุประมาณ ๖-๑๒ เดือนโดยไม่ต้องรักษา

 

ปานแดงบริเวณด้านข้างของลำตัว


ปานน้ำเงิน 

      ปานน้ำเงินนี้พบในเด็กที่มีเชื้อชาติเอเชีย และแอฟริกา พบเป็นปื้นสีน้ำเงินดำที่ก้น หลัง บางคนมากบางคนน้อย ไม่มีความสำคัญ ปานนี้จะค่อยๆ จางลง และหายไป เมื่ออายุประมาณ ๖-๗ ปี เนื่องจากปานนี้เป็นลักษณะเฉพาะของเชื้อชาติ จึงมีชื่อเรียกว่า จุดน้ำเงินมองโกเลียน (Mongolianblue spot)

 

ปานน้ำเงินบริเวณก้น


เสี้ยน 

      มีจุดขาวๆ ขนาดหัวเข็มหมุดที่บริเวณจมูก ลักษณะคล้ายสิวเสี้ยนในผู้ใหญ่ จุดขาวๆ นี้จะหลุดหายไปเองเมื่อทารกโตขึ้น

ตาแฉะ

      ทารกอาจมีน้ำตาไหลผิดปกติ เนื่องจากท่อน้ำตาถูกอุด ไหลไม่สะดวก การใช้นิ้วมือลูบกดเบาๆ บริเวณหัวตากับจมูกอาจช่วยให้หายได้ บางคราวอาจจะเกิดจากความระคายเคืองของน้ำยาหยอดตาที่ใช้ป้องกันการติดเชื้อระหว่างคลอด พวกนี้จะหายเอง หากมีขี้ตามาก เป็นหนองจะเกิดจากการอักเสบ จำต้องปรึกษาแพทย์ด่วน เพราะเชื้อบางอย่างที่รุนแรงอาจทำให้ตาเด็กเสียได้ภายใน ๒๔-๔๘ ชั่วโมง

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow