Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ระบบการหายใจ

Posted By Plookpedia | 06 ธ.ค. 60
5,874 Views

  Favorite

ระบบการหายใจ 

แบ่งได้เป็น ๒ ส่วน คือ 

      ๑. ส่วนที่เป็นทางผ่านของลมหายใจ ได้แก่ จมูก ปาก คอหอย กล่องเสียง หลอดลมใหญ่ (trachea) หลอดลมย่อย (vronchi) และ แขนงภายในปอดทั้งสองข้าง 

      ๒. ส่วนที่ทำหน้าที่หายใจ คือทำการแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนในอากาศหายใจ กับคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือด ได้แก่ ถุงลม 

กล่องเสียง 

      โครงสร้างของกล่องเสียงประกอบด้วยกระดูกอ่อนหลายชิ้น ซึ่งบางชิ้นมีเส้นใยพังผืดยืดหยุ่นมาก กระดูกอ่อนเหล่านี้ถูกยืดกันด้วยเอ็น (ligaments) และเยื่อพังผืด และยังต่อกันเป็นข้อต่อเพื่อให้มีการเคลื่อนไหวได้ด้วย

 

กล่องเสียง แสดงช่องทางเข้าซึ่งมองจากด้านหลังเมื่อเอาผนังหลังของคอหอยออกไปแล้ว


      กล่องเสียงยาว ๔-๕ เซนติเมตร ในผู้ใหญ่เพศชายและยาว ๓.๕ เซนติเมตร ในผู้ใหญ่เพศหญิง อยู่ติดต่อกับคอหอยส่วนกล่องเสียง  กล่องเสียงจะถูกยกสูงขึ้นเมื่อหงายศีรษะ และเลื่อนต่ำลงเมื่อก้มศีรษะ และการเลื่อนขึ้นบนยังเห็นได้ในขณะกลืนกล่องเสียงคลำพบได้ทางด้านหน้าของคอในแนวกลางตัว เรียกว่า ลูกกระเดือก  ทางเข้ากล่องเสียงอยู่ในแนวเฉียงลงล่างจากหน้าไปหลังซึ่งมีกล้ามเนื้อทำให้ทางเข้ากล่องเสียงปิดได้ ป้องกันมิให้อาหารตกลงไปในกล่องเสียง 

      ภายในกล่องเสียงมีโพรงกลอ่งเสียง ซึ่งมีรอยนูนขึ้นมาสองคู่ คู่บน เรียกว่า รอยนูนเวสติบูลาร์ (vestibular fold) คู่ล่าง เรียกว่า รอยนูนโวคอล (vocal fold) ซึ่งมีเอ็นสายเสียงอยู่ภายใน  ภายในกล่องเสียงมีกล้ามเนื้อลายเล็กๆ หลายมัด เพื่อควบคุมทางเข้ากล่องเสียง และรอยนูนเวสติบูลาร์ป้องกันไม่ให้อาหาร และสิ่งแปลกปลอมตกลงไปในกล่องเสียง และควบคุมการเปิดปิดของสายเสียง ทำให้เกิดเสียง และจะปิดสนิทในขณะกลั้นหายใจ 

หลอดลมใหญ่ 

      ต่อลงมาจากกล่องเสียง ยาว ๔ เซนติเมตร ในเด็กเกิดใหม่ และยาว ๙-๑๐ เซนติเมตรในผู้ใหญ่ มีขนาดกว้าง ๕x๖ มิลลิเมตรในเด็กเกิดใหม่ และขนาด ๑๖x๑๔ มิลลิเมตรในผู้ใหญ่ อยู่หน้าหลอด อาหาร ทอดผ่านส่วนคอ มาสู่ช่องอก แล้วแยกเป็นสองง่าม เป็นหลอดลมย่อยซ้ายและขวา เข้าสู่ปอดซ้ายและขวา ผนังประกอบด้วยกระดูกอ่อนรูปเกือกม้าประมาณ ๑๕-๒๐ วง ปลายหลังของกระดูกอ่อน ซึ่งไม่ต่อกันจะถูกยึดไว้ด้วยพังผืด และกล้ามเนื้อเรียบ เพื่อให้หลอดลมใหญ่แคบลง และกว้างขึ้นได้ 

หลอดลมย่อย 

      หลอดลมย่อยซ้ายและขวา ซึ่งแยกจากหลอดลมใหญ่เข้าสู่ขั้วปอดซ้ายและขวาตามลำดับ หลอดลมย่อยข้างซ้ายยาว ๕ เซนติเมตร ข้างขาวยาว ๒.๕ เซนติเมตร  หลอดลมย่อยซ้ายขวานี้ เมื่อเข้าปอดแล้วก็ยังแกยแขนงออกไปเป็นหลอดลมเล็กๆ อีกมากมายภายในปอด 

ปอด 

      เป็นอวัยวะสำหรับการหายใจ อยู่อย่างอิสระในช่องเยื่อหุ้มปอด เว้นแต่ตรงขั้นปอด ปอดยึดติดกับหลอดลมใหญ่โดยหลอดลมย่อย ยึดติดกับหัวใจ โดยหลอดเลือดที่เข้าสู่ปอดและออกจากปอด ปอดมี ๒ ข้าง คือ ปอดขวา และปอดซ้าย

 

หลอดลมใหญ่ หลอดลมย่อยสู่ปอด และปอดทั้งสองข้าง


      รูปร่างของปอด คล้ายรูปกรวยผ่าซีก มียอดอยู่บนฐานกว้างอยู่ ข้างล่างชิดกับกะบังลม ปอดขวามีร่องแยกออกได้เป็น ๓ กลีบ ปอดซ้ายมีร่อง แยกออกเป็น ๒ กลีบ ปอดขวาหนักเฉลี่ย ๖๒๐ กรัม ปอดซ้ายหนักเฉลี่ย ๕๖๐ กรัม  ปอดเป็นอวัยวะที่ยืดหดได้มาก ในเด็กมีสีชมพูอ่อน แต่ผู้ใหญ่มักจะมีจุดสีเทา หรือสีดำ ซึ่งเกิดจากการสะสมของฝุ่นละอองจากอากาศที่หายใจเข้าไป ปอดมีน้ำหนักเบา และมีรูพรุนเต็มไปหมด ปอดจึงลอยน้ำ และเมื่อบีบจะมีเสียงกรอบแกรบ แต่ในเด็กเกิดใหม่ที่ยังไม่เคยหายใจเลย ปอดค่อนข้างแข็ง และจมน้ำ จึงใช้พิสูจน์ว่าเด็กเกิดมาหายใจหรือยัง ถ้าเด็กเคยหายใจครั้งแรก จะมีอากาศและเลือดเข้าปอดมากขึ้น ทำให้ปอดเปลี่ยนลักษณะเป็นนุ่ม คล้ายฟองน้ำ และลอยน้ำได้ 

      ลักษณะภายในของปอดประกอบด้วยหลอดลมเล็กๆ หลอดเลือด และส่วนที่ทำหน้าที่หายใจจริงๆ คือ ถุงลม ซึ่งทำหน้าที่แลกเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือด กับออกซิเจนในอากาศ ที่ผิวนอกของปอดหุ้มด้วยเยื่อหุ้มปอดบางๆ หลอดลมย่อยเมื่อเข้าปอดก็แยกแขนงไปสู่กลีบปอดแต่ละกลีบ และแยกแขนงเล็กลงๆ จำนวนมากมายภายในปอด ถัดไปเป็นถุงลม ซึ่งมีผนังบางมาก และมีหลอดเลือดฝอยต่อกันเป็นร่างแหล้อมรอบ จึงมีการแลกเปลี่ยนก๊าซได้

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow