Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ระบบขับปัสสาวะ

Posted By Plookpedia | 06 ธ.ค. 59
3,884 Views

  Favorite

ระบบขับปัสสาวะ 

      เกี่ยวข้องกับอวัยวะการขับถ่าย เก็บน้ำปัสสาวะและ ขับน้ำปัสสาวะ ได้แก่ ไต (kidney) ซึ่งมีหน้าที่แยกน้ำปัสสาวะ จากเลือด ท่อไต (ureter) ซึ่งนำน้ำปัสสาวะจากไตไปสู่กระเพาะ ปัสสาวะ (urinary bladder) ซึ่งเป็นที่เก็บน้ำปัสสาวะไว้ชั่วคราว และท่อปัสสาวะ (urethra) ซึ่งเป็นทางผ่านของน้ำปัสสาวะไปสู่ ภายนอก

ไต 

มีรูปร่างคล้ายเม็ดถั่วแดง มีสองข้าง เมื่อสดๆ มีสีแดง แกมน้ำตาลและเป็นเงา เนื่องจากมีเยื่อหุ้มไตบางๆ และเหนียว แต่ลอกออกได้ง่าย

 

ไตผ่าซีกตามยาว แสดงภายในของไต


      ไตยาว ๑๑ เซนติเมตร กว้าง ๕ เซนติเมตร และหนา ๓ เซนติเมตร หนักประมาณ ๑๓๐ กรัม อยู่ชิดกับผนังหลังของ ช่องท้อง สองข้างของสันหลัง ระดับกระดูกสันหลังส่วนอก อันที่ ๑๑ ถึงกระดูกสันหลังส่วนเอวอันที่ ๒ หรือ ๓ ไตขวา ต่ำกว่าไตซ้ายประมาณ ๑.๕ เซนติเมตร ไตมีโพรงอยู่ภายใน แต่ ปากทางแคบลงเรียกว่า ขั้วไต เป็นทางผ่านของหลอดเลือด เข้าสู่และออกจากไต ผนังของโพรงไตไม่เรียบ เนื่องจากมี ปุ่มเล็กๆ ยื่นเข้ามาจำนวน ๖-๑๕ ปุ่ม

 

หลอดไต และหลอดเลือดในไต


      เนื้อไตประกอบด้วยหลอดไตเล็กๆ จำนวนมากมาย ทุก หลอดเริ่มต้นด้วยผนังบาง โป่งเป็นแคปซูล เรียกว่า โกลเมอรูลาร์แคปซูล (glomerular capsule) ไปล้อมรอบกลุ่มหลอด เลือดฝอย ซึ่งเรียกว่า โกลเมอรูลัส (glomerulus) ทั้งโกลเมอรูลาร์ แคปซูล และโกลเมอรูลัส เรียกว่า คอร์ปัสเซิลของไต (renal corpuscle) หลอดไตเล็กๆ แต่ละท่อนี้มีผนังหนาบางไม่เท่ากัน โดยตลอด และการเรียงตัวแต่ละตอนก็ไม่เหมือนกัน จาก คอร์ปัสเซิล หลอดเล็กๆ ขดไปขดมาแล้วทอดตรงไปทางโพรงไต และย้อนกลับลงไปใกล้คอร์ปัสเซิลอีก แล้วก็ขดไปขดมา ในที่สุด หลอดเล็กๆ เหล่านี้รวมกับหลอดอื่นๆ ไปสู่ยอดปุ่มที่โพรงไต เข้าสู่ คาลิกซ์ขนาดเล็ก (calyx minor) 

ท่อไต 

      เป็นท่อจากไตไปสู่กระเพาะปัสสาวะ เริ่มต้นด้วยท่อผนัง บาง กว้าง เรียกว่า กรวยท่อไต (pelvis of ureter) ซึ่งบางส่วนอยู่ ในโพรงไต และบางส่วนอยู่นอกโพรงไต ส่วนที่อยู่นอก โพรงไต จะเรียวเล็กลงและชี้ลงล่างเรียกว่า ท่อไต  ภายในโพรงไต กรวยท่อไตจุประมาณ ๘ มิลลิลิตร เกิดจากท่อบางๆ ๓ ท่อ ซึ่งเรียกว่า คาลิกซ์ขนาดใหญ่ (calyx major) มารวมกัน แต่ละอันมีแขนงเล็กๆ เรียกว่า คาลิกซ์ ขนาดเล็ก สั้น แต่กว้างเป็นรูปกรวยไปติดรอบๆ ปุ่มของไต เพื่อรับน้ำปัสสาวะจากปุ่มของไต  ท่อไต มีสีซีด ผนังหนา และรูแคบ ในคนยาว ประมาณ ๒๕ เซนติเมตร ครึ่งบนอยู่ในช่องท้อง ครึ่งล่าง อยู่ในช่องเชิงกรานไปสู่มุมหลังของกระเพาะปัสสาวะ

กระเพาะปัสสาวะ 

      เป็นอวัยวะที่มีผนังเป็นกล้ามเนื้อเรียบ อยู่หลังหัวหน่าว เมื่อไม่มีน้ำปัสสาวะรูปร่างคล้ายหัวเรือบดตัด แต่ส่วนมาก กระเพาะปัสสาวะมีน้ำปัสสาวะอยู่เสมอ ดังนั้นในขณะมีชีวิต จึงมีรูปร่างค่อนข้างกลม กระเพาะปัสสาวะมีความจุประมาณ ๕๕๐ มิลลิลิตร แต่ โดยทั่วไปเมื่อมีปัสสาวะ ๑๖๐-๓๐๐ มิลลิลิตร ก็รู้สึกปวด ปัสสาวะ และถ่ายปัสสาวะออก เมื่อมีน้ำปัสสาวะ ๔๕๐ มิลลิเมตร มันจะสูงขึ้นมาอยู่หลังผนังหน้าท้อง ประมาณ ๗-๘ เซนติเมตร เหนือหัวหน่าว

ท่อปัสสาวะ

      เป็นท่อนำน้ำปัสสาวะจากกระเพาะปัสสาวะไปสู่ภายนอก ในชาย ท่อปัสสาวะยาว ๒๐ เซนติเมตร นำน้ำปัสสาวะจาก กระเพาะปัสสาวะไปสู่ภายนอกที่ปลายลึงค์ ท่อปัสสาวะในชาย ยังเป็นทางผ่านของน้ำอสุจิด้วย ท่อปัสสาวะในชายคดเคี้ยว คล้ายตัวเอส (S) และแบ่งได้เป็น ๓ ส่วนคือ

      ส่วนที่หนึ่ง ยาวประมาณ ๒.๕ เซนติเมตร จากมุมล่างสุด ของกระเพาะปัสสาวะทอดลงล่างในแนวดิ่ง ผ่านกลางต่อม ลูกหมาก จึงเรียกว่า ส่วนในต่อมลูกหมาก (prostatic part) เพราะท่อปัสสาวะส่วนนี้มีต่อมลูกหมากล้อมรอบส่วนนี้ และมีท่อจากต่อมลูกหมากจำนวนมาก มาเปิดสู่ท่อปัสสาวะส่วนนี้ และยังมีท่อฉีดอสุจิซึ่งเป็นท่อร่วมของเซมินัลเวสิเคิล และท่ออสุจิมาเปิดสู่ท่อปัสสาวะส่วนนี้ด้วย 

      ส่วนที่สอง เป็นส่วนสั้นที่สุด มีกล้ามเนื้อลายเป็น หูรูดอยู่ล้อมรอบ เรียกว่า ส่วนบาง (membrarous part) อยู่ต่ำกว่าข้อต่อหัวหน่าว ประมาณ ๒.๕ เซนติเมตร ไปสู่กระเปาะ ของลึงค์ (bulb of penis) 

      ส่วนที่สาม ยาวที่สุดและคดเคี้ยว อยู่ในเนื้อเยื่อที่ แข็งตัวได้ ส่วนคอร์ปัสสปอนยิโอซุม (corpus spongiosum) เรียกว่า ส่วนฟองน้ำหรือส่วนในลึงค์ (spongy part) ผ่านส่วน กระเปาะ (bulb) ส่วนลำ (body) และส่วนหัว (glans) ของลึงค์ แล้วเปิดสู่ภายนอกที่ปลายลึงค์ 

      ในหญิง ท่อปัสสาวะยาว ๔ มิลลิเมตร จากมุม ล่างสุดของกระเพาะปัสสาวะทอดโค้งลงล่างไปข้างหน้า เปิดสู่อวัยวะสืบพันธุ์ภายนอก หน้ารูเปิดของช่องคลอด ต่ำกว่า คลิตอริสประมาณ ๒.๕ เซนติเมตร

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow