Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ระบบข้อต่อ

Posted By Plookpedia | 06 ธ.ค. 59
6,462 Views

  Favorite

ระบบข้อต่อ

      ร่างกายมีการเคลื่อนไหวได้โดย กระดูก ๒ ชิ้น หรือมากกว่า ที่อยู่ใกล้กันมาต่อกันด้วยเยื่อพังผืด เรียกว่า ข้อหรือข้อต่อ ส่วนของกระดูกที่ถูไถกันเรียกว่า ด้านข้อต่อ ข้อต่างๆ ในร่างกายแตกต่างกันทั้งรูปร่าง ลักษณะและ หน้าที่ รูปร่างของด้านข้อต่อและลักษณะการเรียงตัวของเอ็น ซึ่งยึดระหว่างกระดูกทีข้อต่อ เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงปริมาณการ เคลื่อนไหวที่ข้อนั้นได้ บางข้อต่อ เช่น กระดูกส่วนบนของ กะโหลกศีรษะมาต่อประสานกันแน่นด้วยเยื่อพังผืด จนไม่มี การเคลื่อนไหวเลยก็ได้

 

ข้อต่อเอ็นระหว่างกระดูกกะโหลกศีรษะ

 

ข้อต่อซินโนเวียล


ความแตกต่างกันในรูปร่าง และหน้าที่ของข้อต่อต่างๆ ในร่างกาย ทำให้แยกชนิดและประเภทของข้อต่อได้ ดังนี้ 

      ๑. ข้อต่อเอ็น (fibrous joint) ประกอบด้วยกระดูก ๒ ชิ้น ยึดกันด้วยเอ็นพังผืดขาว เช่น กระดูกกะโหลกศีรษะ ส่วนบน ยึดกันด้วยเอ็นพังพืดขาวสั้นๆ ข้อต่อพวกนี้ไม่มีการเคลื่อนไหวเลย บางข้อต่อกระดูกยึดกันด้วยเอ็นพังผืดขาว ค่อนข้างยาว ข้อต่อพวกนี้มีการเคลื่อนไหวได้เล็กน้อย 

      ๒. ข้อต่อกระดูกอ่อน (cartilaginous joint) ประกอบ ด้วยกระดูกสองชิ้นต่อกันด้วยกระดูกอ่อน มี ๒ ประเภท 

      ๒.๑ ซินคอนโดรซิส (synchondrosis) เป็นกระดูก ๒ ชิ้นยึดกันไว้ด้วยกระดูกอ่อนไฮอะลีน เช่น กระดูกซี่โครงซี่ที่ ๑ ยึดติดกับกระดูกอกด้วยกระดูกอ่อนซี่โครงซี่ที่ ๑

      ๒.๒ ซิมไฟซิส (symphysis) เป็นกระดูก ๒ ชิ้น ยึดกันไว้ด้วยกระดูกอ่อนพังผืด ปรากฏในแนวกลางตัว เช่น หมอนกระดูกสันหลัง เป็นกระดูกอ่อนพังผืดยึดระหว่างกระดูกสันหลังที่ชิดกัน ข้อต่อหัวหน่าวก็มีกระดูกอ่อนพังผืดยึดระหว่างกระดูกหัวหน่าว

      ๓. ข้อต่อซินโนเวียล (synovial joint) เป็นข้อต่อที่เจริญดีที่สุด ด้านข้อต่อของกระดูกคลุมด้วยกระดูกอ่อนไฮอะลีน
หรือกระดูกอ่อนพังผืด เพื่อให้เคลื่อนไหวได้คล่อง มีเอ็นรอบข้อ ซึ่งชั้นนอกเป็นเยื่อพังผืดสีขาว และชั้นในเป็นเยื่อบุซินโนเวียล ซึ่งเป็นที่สร้างน้ำไขข้อ ข้อต่อพวกนี้มีโพรงซึ่งอาจแบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ เช่น

ข้อต่อที่เคลื่อนไหวได้แนวทางเดียวแบบบานพับ เช่น ข้อศอก ข้อเท้า ข้อระหว่างกระดูกนิ้วมือและข้อระหว่างกระดูกนิ้วเท้า

ข้อต่อที่เคลื่อนไหวได้สองแนวทาง เช่น ข้อมือ ข้อระหว่างกระดูกฝ่ามือกับกระดูกนิ้วมืออันแรก ข้อระหว่างกระดูกฝ่าเท้ากับกระดูกนิ้วเท้าอันแรก

ข้อต่อที่เคลื่อนไหวได้หลายแนวทาง เช่น ข้อไหล่ ข้อตะโพก ข้อระหว่างกระดูกข้อมือกับกระดูกฝ่ามืออันที่ ๑

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow