ความสำคัญพิเศษของกล้ามเนื้ออยู่ที่การหดตัวทำให้เกิด การเคลื่อนไหว จากการกระพือปีกของแมลง ๑,๐๐๐ ครั้งใน ๑ วินาที จนถึงการหดตัวนาน ๕ นาทีของอะนีโมนทะเล (sea anemone) ทำให้เห็นความแตกต่างในอัตราความเร็วอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งขึ้นอยู่กับคุณภาพภายในของกล้ามเนื้อ และความแตกต่างกันระหว่างกล้ามเนื้อต่างๆ ภายในร่างกาย
กล้ามเนื้อภายในร่างกายแบ่งได้เป็น ๓ ชนิดคือ
๑. กล้ามเนื้อลาย หรือกล้ามเนื้อในอำนาจจิตใจ เป็นกล้ามเนื้อทั่วๆไป หรือกล้ามเนื้อแดงของร่างกาย กล้ามเนื้อนี้มีประมาณ ๔๐% ของร่างกาย และอยู่ในอำนาจจิตใจภายใต้การควบคุมของระบบประสาทส่วนกลาง เมื่อดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ ลักษณะของกล้ามเนื้อพวกนี้ประกอบด้วยเซลล์ยาว ซึ่งอาจเรียกว่า เส้นใยกล้ามเนื้อ ขนาดตั้งแต่ ๐.๑ ถึง ๐.๐๑ มิลลิเมตร และยาวตั้งแต่ ๓ มิลลิเมตร ถึง ๓๐ มิลลิเมตร มีนิวเคลียสจำนวนมากอยู่ที่ขอบของเซลล์ มีลายตามขวาง สีเข้ม และสีจาง สลับกัน ซึ่งเห็นได้ชัดเจนเมื่อย้อมด้วยสี คนที่ออกกำลังเสมอ เส้นใยกล้ามเนื้อจะโตขึ้น และหนาขึ้น แต่จำนวนไม่เพิ่มขึ้น
กล้ามเนื้อมีประสาทยนต์มาทำให้กล้ามเนื้อหดตัว และมีประสาทรับความรู้สึกจากกล้ามเนื้อหรือเอ็นไปสู่สมองเพื่อให้รู้ว่า กล้ามเนื้อหดตัวมากน้อยเพียงใด เซลล์หรือเส้นใยกล้ามเนื้อรวมกันเข้า โตขึ้นเป็นมัดกล้ามเนื้อ ซึ่งมีที่เกาะอย่างน้อยสองแห่ง โดยทอดข้ามข้อต่อ เมื่อกล้ามเนื้อหดตัวดึงกระดูกสองชิ้นนั้นเข้าหากันจึงเคลื่อนไหวได้ที่ข้อต่อ บางแห่งกล้ามเนื้อเกาะจากกระดูกไปติดที่ผิวหนัง เมื่อกล้ามเนื้อหดตัว จึงทำให้มีการเปลี่ยนแปลงรูปลักษณะของผิวหนัง หรือทำให้ผิวหนังเป็นรอยย่นขึ้นได้ เช่น กล้ามเนื้อที่ใบหน้า (จึงแสดงอารมณ์ได้)
มัดกล้ามเนื้อที่ยาวๆ มักจะเป็นเอ็นยาว (tendon) ต่อจากปลายของกล้ามเนื้อไปติดที่กระดูก เพื่อให้เคลื่อนไหวได้มากขึ้น ถ้ามัดกล้ามเนื้อมีลักษณะแบนบาง มักจะเป็นเอ็นแผ่ (aponeurosis) ต่อจากกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อหดตัวได้เต็มที่ได้ประมาณ ๕๕% ของความยาวของส่วนกล้ามเนื้อนั้น ความแรงของการหดตัวจึงขึ้นอยู่กับความยาว ขนาด และจำพวกของเส้นใยกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อลายมีหน้าที่เคลื่อนไหวร่างกายที่ข้อต่อต่างๆ เคลื่อนไหวลูกตา ช่วยในการเคี้ยวและการกลืน เคลื่อนไหวลิ้น เคลื่อนไหวใบหน้าแสดงอารมณ์ต่างๆ และยังประกอบเป็นผนังอก และผนังท้อง ตลอดจนการควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะและอุจจาระ
๒. กล้ามเนื้อเรียบ หรือกล้ามเนื้อนอกอำนาจจิตใจ ส่วนใหญ่ประกอบเป็นผนังของอวัยวะภายใน หลอดเลือด และกล้ามเนื้อขนลุก มีลักษณะเป็นเซลล์รูปกระสวย มีนิวเคลียสรูปไข่อยู่ตรงกลาง กล้ามเนื้อพวกนี้ควบคุมโดยระบบประสาทอัตโนมัติ
๓. กล้ามเนื้อหัวใจ ประกอบเป็นกล้ามเนื้อหัวใจเพียงแห่งเดียว อยู่นอกอำนาจจิตใจ มีลักษณะเป็นเซลล์รูปทรงกระบอก มีลายตามขวางเป็นแถบสีทึบสลับกับสีจาง เซลล์กล้ามเนื้อนี้มีแขนงไปประสานกับแขนงของเซลล์ใกล้เคียง เซลล์ทั้งหมดจึงหดตัวพร้อมกัน และหดตัวเป็นจังหวะตลอดชีวิต ควบคุมโดยระบบประสาทอัตโนมัติ