ข้าวโพดเป็นพืชไร่ที่ค่อนข้างทนทานปลูกง่ายในสภาพดินฟ้าอากาศของเมืองไทย ถ้ามีน้ำเพียงพอจะสามารถปลูกข้าวโพดได้ตลอดปี การปลูกส่วนใหญ่อาศัยน้ำจากน้ำฝนธรรมชาติเพียงอย่างเดียว ดังนั้นฤดูปลูกข้าวโพดที่เหมาะสมขึ้นอยู่กับจำนวนน้ำฝน และการกระจายตัวของฝนในแต่ละเดือนนั่นเอง ปกติเฉลี่ยโดยทั่วๆ ไป ฝนจะเริ่มตกมากตั้งแต่เดือนมีนาคม พฤศจิกายน และระหว่างสิงหาคม-กันยายน เป็นช่วงที่ฝนตกชุกที่สุด พันธุ์ข้าวโพดที่นิยมปลูกกันอยู่ในปัจจุบันมีอายุปานกลาง คือ ประมาณ ๑๑๐-๑๒๐ วัน ดังนั้น จึงอาจเลือกปลูกข้าวโพดได้ตามความเหมาะสม ถ้าปีใดมีฝนตกสม่ำเสมอแต่ต้นปี อาจปลูกข้าวโพดได้ ๒ ครั้ง คือ ครั้งแรกปลูกในระหว่างเดือนกรกฎาคม กลางเดือนสิงหาคม พวกที่ปลูกต้นฤดูฝนโดยทั่วๆ ไป มักได้ผลิตผลสูงกว่าพวกที่ปลูกปลายฤดูฝน ทั้งนี้เนื่องจากปริมาณน้ำฝนกำลังพอเหมาะ และโรคแมลงรบกวนน้อย แต่มีข้อยุ่งยากในการเก็บเกี่ยว ไม่สะดวกแก่การตากข้าวโพด เนื่องจากฝนตกชุก
ที่ดินที่เหมาะในการปลูกข้าวโพดควรเป็นที่ดอนมีการระบายน้ำได้ดี ถ้าเป็นที่ลุ่มควรยกร่องระบายน้ำอย่าให้น้ำขัง ข้าวโพดขึ้นได้ดีในดินร่วนปนทรายที่ระบายน้ำได้ดี มีความอุดมสมบูรณ์ของดิน และปริมาณแร่ธาตุอาหารพืชสูงพอสมควร ดินมีความเป็นกรดเป็นด่างปานกลาง (pH ประมาณ ๕.๕-๘.๐) หรือค่อนข้างเป็นด่างเล็กน้อย นอกจากนี้ ข้าวโพดยังเป็นพืชที่ปลูกได้ดีบนพื้นที่ลาดเอียง หรือสูงๆ ต่ำๆ อีกด้วย
ก่อนปลูกข้าวโพดต้องมีการเตรียมดิน เพื่อกำจัดวัชพืช และทำให้สมบัติทางกายภาพของดินดี มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก นอกจากนั้นการเตรียมดินยังทำให้ดินเก็บความชื้นได้ดีอีกด้วย
การเตรียมดินครั้งแรก ควรเริ่มทันทีหลังจากการเก็บเกี่ยวแล้ว โดยการไถกลบต้นตอซังของข้าวโพด ให้เน่าเปื่อยเป็นปุ๋ยในดินต่อไป การเตรียมดินจะต้องทำอีกครั้งหนึ่ง ตอนใกล้จะปลูกข้าวโพดในฤดูต่อไป การไถ ควรทำหลังจากฝนตกแล้วประมาณ ๑-๒ ครั้ง ควรไถดะและไถแปรงอย่างละ ๑ ครั้ง และไถลึกประมาณ ๑๕ เซนติเมตร ไม่ควรเตรียมดินในขณะที่ดินเปียกเกินไป จะทำให้ดินเกิดการอัดตัว ไม่เหมาะแก่การแผ่กระจายของรากข้าวโพด ในที่ลาดเอียงมากควรไถครั้งสุดท้ายตามขวางกับแนวลาดเอียง เพื่อป้องกันการชะล้างพื้นผิวดิน
เครื่องมือที่ใช้ในการเตรียมดินมีหลายชนิด เช่น ไถพื้นเมืองที่ใช้ลากด้วยแรงสัตว์ และแทรกเตอร์ไถที่เดินด้วยเครื่องยนต์ ปัจจุบันนิยมใช้แทรกเตอร์กันแพร่หลาย เพราะสะดวกและรวดเร็ว ไถได้ลึกและกลบส่วนต่างๆ ของพืชได้ดีกว่าไถลากด้วยแรงสัตว์ อย่างไรก็ตาม ที่ดินที่จะใช้แทรกเตอร์นั้น ต้องถาง และปรับที่ให้มีตอน้อยที่สุด จึงจะไถได้สะดวก
การปลูกข้าวโพดควรปลูกเป็นแถว ทั้งนี้เพื่อสะดวกแก่การปฏิบัติรักษา เช่น การไถพรวน ระยะระหว่างแถวประมาณ ๓๕-๑๐๐ เซนติเมตร ระยะระหว่างหลุมประมาณ ๒๕ เซนติเมตร หยอดเมล็ดข้าวโพดลงไปในหลุมซึ่งลึกประมาณ ๕ เซนติเมตร จำนวน ๒-๓ เมล็ด เพื่อกันเมล็ดไม่งอก เมื่องอกแล้วควรถอนให้เหลือหลุมละต้น ถ้าปลูกโดยวิธีนี้จะได้จำนวนต้นข้าวโพดประมาณ ๖,๐๐๐-๘,๐๐๐ ต้น/ไร่ อย่างไรก็ตามระยะระหว่างหลุมอาจเปลี่ยนแปลงได้ อาจเป็น ๕๐ เซนติเมตรก็ได้ โดยเพิ่มเป็น ๒ ต้น/หลุม ซึ่งโดยทั่วๆ ไปแล้ว ชาวไร่ไม่นิยมการถอนแยก เพราะสิ้นเปลืองแรงงานค่าใช้จ่ายมาก เวลาปลูกจึงหยอด ๒-๓ เมล็ด ลงไปในหลุม และไม่ถอนแยกเลยตลอดฤดูการปลูก
การจะปลูกถี่หรือห่างเท่าใดนั้น ขึ้นอยู่กับสภาพของดิน ถ้าเป็นที่ดินป่าเปิดใหม่มีอินทรียวัตถุสูง ควรปลูกให้ถี่ขึ้น อาจปลูกได้ถึงไร่ละ ๑๒,๐๐๐ ต้น ดังนั้น อัตราปลูกหรือระยะปลูกจึงต้องปรับให้เหมาะสมกับสภาพท้องที่เฉพาะแห่ง
วิธีการหยอดเมล็ดอาจทำได้หลายวิธี เช่น ใช้ไม้สักให้เป็นหลุมแล้วหยอดเมล็ดตาม ใช้จอบขุดแล้วหยอดเมล็ดตามรอยขุด หรือใช้เครื่องมือทุ่นแรงก่อนปลูกควรทดสอบความงอกของเมล็ดพันธุ์เสียก่อน ถ้าอัตราความงอกต่ำ ควรหยอดเมล็ดเผื่อไว้ให้เพียงพอ เช่น ถ้าความงอกมีเพียงร้อยละ ๘๐ จะปลูกหลุมละ ๒ ต้น ก็ควรหยอดไว้หลุมละ ๓-๔ เมล็ด