Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

บทนำ

Posted By Plookpedia | 02 ธ.ค. 59
2,586 Views

  Favorite

กรุงเทพมหานคร คือ ราชธานี (เมืองหลวง) ซึ่งพระบาทสมเด็จพระยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดให้สร้างขึ้นบนฝั่งซ้าย หรือฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อทรงสถาปนาพระบรมราชจักรีวงศ์ พ.ศ. ๒๓๒๕ ได้มีพิธียกเสาหลักเมืองเมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ เวลาย่ำรุ่ง ๔๕ นาที (๐๖.๔๕ น.) เมืองใหม่นี้พระราชทานนามว่า "กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศนมหาสถานอมรพิมานอวตารสถิต สักกทัติยวิษณุกรรมประสิทธิ์" (ถึงรัชกาลที่ ๔ ทรงเปลี่ยนเป็น "กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์ ฯลฯ") 

    

ป้อมมหากาฬ ตั้งอยู่ตรงเชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ตรงข้ามกับโรงภาพยนตร์เฉลิมไทย

 

ปรากฏหลักฐานตามประวัติศาสตร์ว่า เมื่อแรกสร้างกรุงเทพฯ นี้ อาณาเขตของกรุงเทพฯ ยังมิได้กว้างขวางเหมือนทุกวันนี้ คงมีพื้นที่เพียงเฉพาะในเขตกำแพงเมืองเท่านั้น กล่าวคือ มีกำแพงเมืองยาวประมาร ๗ กิโลมตร ทางด้านทิศตะวันออกเลียบตามแนวคูเมือง แยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่บางลำพูมาทุลุออกแม่น้ำเจ้าพระยา ทางด้านทิศใต้ตรงปากคลองใกล้สะพานพระพุทธยอดฟ้า ซึ่งเรียกว่า คลองบางลำพู และคลองโอ่งอ่าง 

ส่วนทางด้านตะวันตกนั้น คงใช้แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นคูเมือง แต่มิได้สร้างกำแพงเมืองเหมือนทางด้านตะวันออก รายรอบบริเวณกำแพงเมือง และริมแม่น้ำเจ้าพระยานั้น มีป้อมอยู่ถึง ๑๔ ป้อม เพื่อป้องกันข้าศึก พร้อมทั้งมีประตูเมืองขนาดใหญ่รวม ๑๖ ประตู และประตูเมืองขนาดเล็กสำหรับเป็นทางผ่านเข้าออกของประชาชนที่เรียกกันว่า ช่องกุด อีก ๔๗ ประตู ซึ่งทุกวันนี้ป้อม และแนวกำแพงเมืองถูกรื้อไปเกือบหมดแล้ว คงเหลือแต่เฉพาะป้อมพระสุเมรุ และป้อมมหากาฬ กับแนวกำแพงเมืองอีกเล็กน้อยเท่านั้น

 

ป้อมพระสุเมรุ ตั้งอยู่ที่ถนนพระอาทิตย์ ใกล้วัดสังเวชวิศยาราม

 

กรุงเทพฯ สมัยแรก คงมีเนื้อที่เฉพาะในเขตกำแพงเมือง และริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาระหว่างปากคลองบางลำพู และปากคลองโอ่งอ่าง เพียง ๒,๑๖๓ ไร่เท่านั้น พื้นที่นอกกำแพงเมืองออกไปยังเป็นทุ่งนาสำหรับปลูกข้าวไม่ว่าจะเป็นแถวสามเสน ประตูน้ำ หรือยานนาวาก็ตาม มีแต่ไร่นาสุดสายตา

 

กรุงเทพมหานครในปัจจุบัน

 

บัดนี้ กาลเวลาล่วงมากว่าสองร้อยปีแล้ว กรุงเทพฯ ใน พ.ศ. ๒๕๒๘ มีอายุถึง ๒๐๓ ปี นับเป็นรัตนโกสินทร์ศก (ร.ศ.) ๒๐๓ โฉมหน้าของกรุงเทพฯ ปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก ทั้งนี้เพราะกรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงของไทย ที่เป็นศูนย์แห่งความเจริญต่างๆ ของชาติ พื้นที่ของกรุงเทพฯ ได้ขยายกว้างกว่าเดิมเป็นอันมาก กล่าวคือ แต่เดิมกรุงเทพฯ มีฐานะเป็นจังหวัดๆ หนึ่ง เรียกชื่อตามราชการว่า จังหวัดพระนคร ต่อมาได้รวมกับจังหวัดธนบุรีซึ่งตั้งอยู่ทางฝั่งขวาแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงข้ามกับกรุงเทพฯ ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๒๔ ลงวันที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๔ เป็นจังหวัดเดียวกันโดยเรียกชื่อใหม่ว่า นครหลวงกรุงเทพธนบุรี และต่อมาได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็นกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๕
กรุงเทพฯ ปัจจุบันจึงมีเนื้อที่กว้างถึง ๑,๕๔๙ ตารางกิโลเมตร จำนวนประชากรก็มีมากถึง ๕,๑๗๔,๖๘๒ คน ตามสถิติของกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๗ 

แต่เดิมจังหวัดพระนคร แบ่งการปกครองออกเป็น ๑๕ อำเภอ และจังหวัดธนบุรี แบ่งการปกครองออกเป็น ๙ อำเภอ เมื่อทางราชการรวมจังหวัดพระนคร และจังหวัดธนบุรี เป็นกรุงเทพมหานครแล้ว จึงแบ่งออกเป็น ๒๔ อำเภอ ได้เปลี่ยนชื่ออำเภอ มาเรียกว่า เขต ได้แก่ เขตพระนคร ป้อมปราบ ปทุมวัน สัมพันธวงศ์ บางรัก ยานนาวา ดุสิต พญาไท ห้วยขวาง พระโขนง บางเขน บางกะปิ หนองจอก มีนบุรี ลาดกระบัง ธนบุรี คลองสาน บางกอกน้อย บางกอกใหญ่ ภาษีเจริญ บางขุนเทียน ตลิ่งชัน ราษฎร์บูรณะ และหนองแขม

 

แผนที่แบ่งเขตกรุงเทพมหานคร

 

การติดต่อระหว่างสองฟากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา อันเป็นที่ตั้งของกรุงเทพฯ และธนบุรีนั้น มีสะพาน ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ๖ แห่งด้วยกัน คือ ด้านเหนือ สุดมีสะพานกรุงธน หรือที่นิยมเรียกกันเป็นสามัญว่า สะพานซังฮี้ ถัดมามีสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า เปิดใช้เมื่อปลาย พ.ศ. ๒๕๑๖ ถัดมาคือ สะพาน พระพุทธยอดฟ้า หรือที่นิยมเรียกกันสั้นๆ ว่า สะพานพุทธ อันเป็นสะพานเก่าแก่ที่สุด ที่เชื่อมฝั่งกรุงเทพฯ และฝั่งธนบุรีเข้าด้วยกัน สร้างมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๕ เพื่อเป็นที่ระลึกเนื่องในโอกาสที่กรุงเทพฯ มีอายุ ครบ ๑๕๐ ปี และสาเหตุที่ชาวบ้านเรียกสะพานนี้ว่า สะพานพุทธ ก็เพราะว่า ตรงเชิงสะพานด้านฝั่งกรุงเทพฯ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ต่อมา มีการสร้างสะพานคู่ขนานกับสะพานพุทธ คือ สะพานพระปกเกล้า สะพานสุดท้ายที่สร้างข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา และอยู่ทางใต้สุดคือ สะพานกรุงเทพ สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาทั้ง ๔ แห่ง นี้ ยังไม่เพียงพอกับการจราจร จึงมีการดำริ ที่จะสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นอีก

 

สะพานพระพุทธยอดฟ้า เปิดใช้เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๕

 

พื้นที่ในเขตต่างๆ ของกรุงเทพมหานครนั้น ส่วนใหญ่เป็นตึกรามหนาแน่น นับตั้งแต่สถานที่ราชการ มหาวิทยาลัย โรงเรียน บริษัทร้านค้า โรงแรม ฯลฯ แต่ทางเขตด้านนอกๆ อาทิ มีนบุรี หนองจอก ลาดกระบัง หรือพระโขนงยังมีการทำนา ทำสวน โดยเฉพาะทางฝั่งธนบุรีเดิม มีเรือกสวนหนาแน่น ส่วนใหญ่เป็นสวนผลไม้
นอกจากกรุงเทพมหานครจะเป็นเมืองหลวงของไทยแล้ว ในทุกวันนี้กรุงเทพฯ ยังเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางอากาศ ของภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย เพราะปรากฏว่า ในปัจจุบันมีสายการบินนานาชาติถึง ๓๒ สาย บินมาแวะลงท่าอากาศยานกรุงเทพ หรือที่เรียกกันเป็นสามัญว่า สนามบินดอนเมือง ซึ่งเป็นสนามบินที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในเอเซีย เครื่องบินโดยสารพาณิชย์ขนาดใหญ่ เช่น โบอิ้ง ๗๔๗ จัมโบเจ็ต ซึ่งบรรทุกผู้โดยสารได้ ถึงสามร้อยกว่าคน หรือ ดีซี ๘ ดีซี ๑๐ และแอร์บัส ซึ่งแต่ละแบบบรรทุกผู้โดยสารได้เกินกว่า ๒๐๐ คน สามารถลงสู่ท่าอากาศยานกรุงเทพได้

 

สะพานพระปกเกล้า เปิดใช้เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๗

 

การที่กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางอากาศ ในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้นี้ ทำให้ประเทศของเราได้เปรียบประเทศเพื่อนบ้าน เพราะมีนักท่องเที่ยวจากนานาชาติพากันเดินทางมายังกรุงเทพฯ เป็นจำนวนมาก ดังปรากฏว่าเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๗ มี นักท่องเที่ยวนานาชาติเดินทางมาเที่ยวประเทศไทยถึง ๒,๓๔๖,๗๐๙ ทำรายได้ให้แก่ประเทศเป็นจำนวน เงินถึง ๒๗,๓๑๙ ล้านบาท การที่มีนักท่องเที่ยวนานาชาติเดินทางมาเที่ยวกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่นๆ เป็นจำนวนมาก ก็เพราะว่า กรุงเทพฯ และจังหวัดเหล่านั้นเต็มไปด้วยวัดวาอารามอันงดงาม และสถานที่น่าเที่ยวชมต่างๆ ผู้คนชาวไทยก็ยิ้มแย้มแจ่มใสเป็นมิตรกับชาวต่างชาติ จนกระทั่งประเทศไทยได้รับสมญาจากนานาชาติว่า เป็นดินแดนแห่งรอยยิ้ม อันนับว่า เป็นคำชมที่น่าภาคภูมิใจ สำหรับชาวไทยทุกคน

 

ท่าอากาศยานกรุงเทพฯ

 

โฉมหน้าของกรุงเทพฯ ในปัจจุบันก็เหมือนกับนครหลวงใหญ่ๆ ของโลกทั่วไป คือมีตึกสูงๆ เป็น อันมาก เช่น ตึกโชคชัย ที่ถนนสุขุมวิท สูง ๒๕ ชั้น รองลงมาได้แก่ ตึกโรงแรมดุสิตธานี ซึ่งสูง ๒๓ ชั้น นอกจากนี้ ยังมีอาคารสร้างใหม่หลายแห่ง สูงกว่า ๓๐ ชั้น การที่มีตึกระฟ้าต่ำกว่าในต่างประเทศ ก็เพราะว่า พื้นที่ของกรุงเทพฯ นั้น เป็นที่ลุ่ม โดยทั่วไปไม่มีภูเขา หรือพื้นหินแข็งอยู่ใต้ดิน จึงไม่ปลอดภัยที่จะสร้างตึกระฟ้าที่สูงมากๆ แต่กรุงเทพฯ เต็มไปด้วยศูนย์การค้าต่างๆ มากมาย เช่น เซ็นทรัล มาบุญครองเซ็นเตอร์ สยามสแควร์ ศูนย์การค้าสยาม ราชดำริอาเขต เพลินจิตอาเขต เป็นต้น ศูนย์การค้าต่างๆ เหล่านี้ มีโรงภาพยนตร์ สถานโบว์ลิ่ง ห้าง สรรพสินค้า ภัตตาคาร ซึ่งล้วนแต่ทันสมัย เหมือนในต่างประเทศทั้งสิ้น

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow