Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

พระบรมมหาราชวัง

Posted By Plookpedia | 02 ธ.ค. 59
2,005 Views

  Favorite

พระบรมมหาราชวัง

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นต่อเนื่องด้วยพระราชพิธียกเสาหลักเมืองกรุงเทพมหานคร สถานที่สำคัญในพระบรมมหาราชวังซึ่งพึงอธิบายได้คือ

พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

๑. พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท 

แรกสร้างในรัชกาลที่ ๑ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๖ โดยโปรดให้ลอกแบบพระที่นั่งสรรเพชญปราสาทเดิมในพระราชวังกรุงศรีอยุธยา พระราชทานนามว่า "พระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาท" ครั้น พ.ศ. ๒๓๓๒ เกิดฟ้าผ่า เพลิงไหม้มุขหน้าพระที่นั่งองค์นี้ จึงโปรดให้รื้อพระที่นั่งแล้วสร้างใหม่ให้สูงใหญ่กว่าเดิม คือเท่าพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ครั้งกรุงศรีอยุธยา พระราชทานนามใหม่ว่า พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทเป็นปราสาทจตุรมุข (สี่มุข) เป็นที่เสด็จออกให้เฝ้าต่อมาสร้างพระที่นั่งอีกองค์หนึ่งทางด้านใต้หรือด้านหลัง พระราชทานนามว่า พระที่นั่งพิมานรัตยาเป็นที่ประทับ

พระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาท


๒. พระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาท 

เป็นปราสาทไม้องค์เล็กบนกำแพงแก้วพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เป็นปราสาทโถงแบบจตุรมุข ใช้เป็นพลับพลาสำหรับประทับพระราชยานรับส่งเสด็จ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตรา โปรดให้สร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๔ พระที่นั่งที่สร้าง โดยถือเอาแบบพระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาทองค์นี้ คือ พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาศน์ กลางสระน้ำในพระราชวังบางปะอิน และเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๑ กรมศิลปากรได้เคยจำลองแบบไปจัดสร้างเป็น "ศาลาไทย" ในงานมหกรรมนานาชาติ ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม และใน พ.ศ. ๒๕๐๙ เมื่อมีงานแสดงสินค้านานาชาติ ณ แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ได้สร้างศาลาไทยแบบพระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาทกลางสระน้ำ ในบริเวณงาน ซึ่งขณะนี้อยู่ในบริเวณมหาวิทยาลัยรามคำแหง

พระที่นั่งราชกรัณยสภา

 

๓. พระที่นั่งราชกรัณยสภา 

สร้างในรัชกาลที่ ๕ เป็นพระที่นั่งสองชั้นอยู่ทางด้านใต้ของพระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาท พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อให้เป็นที่ประชุมปรึกษาราชการแผ่นดินใน พ.ศ. ๒๔๔๐ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรปครั้งแรก สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ซึ่งทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ประทับเป็นประธานในการประชุมที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ณ พระที่นั่งองค์นี้

ในรัชกาลที่ ๘ และต้นรัชกาลปัจจุบัน เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังไม่ทรงบรรลุราชนิติภาวะ คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก็ประชุม และปฏิบัติหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดิน ณ พระที่นั่งองค์นี้ 

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ทรงผนวช ใน พ.ศ. ๒๔๙๙ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งทรงรับพระราชภาระ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ก็ได้เสด็จ พระราชดำเนินมาประทับเป็นประธานที่ประชุมองคมนตรี ณ พระที่นั่งราชกรัณยสภา

พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

 

๔. พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท 

เป็นพระที่นั่งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สร้างขึ้นในแบบสถาปัตยกรรมผสม คือองค์พระที่นั่งเป็นแบบสถาปัตยกรรมยุโรปสมัยสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย แห่งอังกฤษ แต่หลังคาสร้างแบบสถาปัตยกรรมไทย เป็นแบบปราสาท ๓ ยอดเรียงกันไปจากทิศตะวันออกไปสู่ทิศตะวันตก

ต่อจากพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทเข้าไปในบริเวณพระราชฐานชั้นในยังมีพระที่นั่งซึ่งติดต่อกับท้องพระโรงกลางพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท คือ พระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์ แรกสร้างเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาโปรดให้ดัดแปลงเป็นห้องพระราชทานเลี้ยง อีกองค์หนึ่งคือ พระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ สร้างขึ้นตรงสถานที่ที่เคยเป็นพระตำหนักที่เสด็จพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้นเมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๑๗ พระองค์ท่านได้ทรงประกาศกระแสพระราชดำริที่จะให้มีการเลิกทาส ท่ามกลางที่ประชุมคณะที่ปรึกษาราชการแผ่นดินบนพระที่นั่งองค์นี้

หมู่พระที่นั่งในพระมหามนเฑียร คือพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระที่นั่งไพศาลทักษิณ และพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย

 

๕. หมู่พระที่นั่งในพระมหามนเทียร 

(ก) พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย มไหสูรยพิมาณ เป็นพระที่นั่งท้องพระโรงสำหรับเสด็จพระราชดำเนินออกฝ่ายหน้า เช่น เสด็จออกขุนนางออกมหาสมาคม (ในพระราชพิธีสำคัญมากๆ เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาเป็นต้น) ออกทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ

(ข) พระที่นั่งไพศาลทักษิณ คือ พระที่นั่งที่ต่อเนื่องจากทางทิศใต้ของพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยเข้าไปภายในพระราชฐานชั้นใน มีพระทวารเทวราชมเหศวร เป็นทางเสด็จพระราชดำเนินออกสู่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย 

ปูชนียวัตถุในพระที่นั่งองค์นี้คือ ตอนกลาง พระที่นั่งเป็นพระวิมานประดิษฐาน "พระสยามเทวาธิราช" 

(ค) พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เป็นที่เข้าพระบรรทมของสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชตามพระราชประเพณี องค์พระมหากษัตริย์ที่เสด็จขึ้นทรงราชย์แล้ว แต่ยังมิได้ตั้งพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จะยังไม่เสด็จประทับในพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานนี้ ต่อเมื่อบรมราชาภิเษกตามโบราณราชประเพณีแล้วจึงจะเสด็จประทับ แต่การเสด็จประทับนั้นจะเป็นประจำหรือไม่ก็สุดแต่พระราชอัธยาศัย เมื่อเสด็จขึ้นเฉลิมพระราชมนเทียร ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว อาจเสด็จประทับแรมเพียง ๑ หรือ ๒ ราตรี ต่อจากนั้นก็เสด็จไปประทับ ณ พระราชมนเทียร หรือพระราชวังอื่นตามพระราชอัธยาศัย

พระที่นั่งมหิศรปราสาท

 

๖. พระที่นั่งบรมพิมานและบริเวณสวนศิวาลัย 

ทางด้านตะวันออกของพระที่นั่งในหมู่พระมหามนเทียรนั้น เดิมทีเป็นสวน เพื่อประพาสสำราญพระราชอิริยาบถในสมัยรัชกาลที่ ๑ ครั้นถึงรัชกาลที่ ๒ โปรดให้ตกแต่ง และสร้างสวนเดิมนั้นอย่างงดงาม และเรียกกันว่า "สวนขวา" พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างพระราชมนเทียรใหม่ในบริเวณนี้ พระราชทานนามว่า พระอภิเนาวนิเวศน์ พระที่นั่งที่ยังเหลืออยู่ ต่อมาจนปัจจุบันนี้คือ "พระที่นั่งมหิศรปราสาท" บนกำแพงที่กั้นเขตระหว่างสวน และพระราชฐานชั้นในนั้นองค์หนึ่ง อีกองค์หนึ่งคือ พระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท เป็นปราสาท ๕ ยอดใกล้พระที่นั่งศิวาลัยฯ มี "พระพุทธรัตนสถาน" เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบุษยรัตน์ (พระแก้วขาว) บริเวณที่ยังใช้เป็น สวนต่อมา เรียกว่า สวนศิวาลัย
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้สร้างพระที่นั่งภานุมาศจำรูญขึ้น ทางทิศเหนือของสวนศิวาลัย เพื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงดำรงตำแหน่ง พระบรมโอรสาธิราชฯ จะได้เสด็จประทับ แต่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ มิได้เสด็จประทับด้วย พระองค์ทรงมีข้าราชบริพารเป็นชายจำนวนมาก ทรงเกรงว่า จะไม่เรียบร้อยควรแก่การเข้าอยู่ในพระราชฐาน จึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ประทับอยู่ ณ พระราชวังสราญรมย์ (ปัจจุบัน เป็นส่วนหนึ่งของที่ทำการกระทรวงการต่างประเทศ)

พระพุทธรัตนสถาน

ครั้นถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้ประกาศเปลี่ยนนามพระที่นั่งภานุมาศจำรูญเป็น "พระที่นั่งบรมพิมาน"

พระที่นั่งบรมพิมาน

 

ในรัชกาลปัจจุบันนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะพระที่นั่งบรมพิมาน เพื่อจัดเป็นที่พักรับรองพระราชอาคันตุกะชั้นประมุขของประเทศ และที่ทรงเป็นพระราชวงศ์ชั้นสูงของนานาประเทศ ที่มีทางพระราชไมตรีกับประเทศไทย 
๗. พระที่นั่งบนกำแพงพระบรมมหาราชวังฝ่ายตะวันออก 

(ก) พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท 

อยู่บนกำแพงพระบรมมหาราชวัง ระหว่างประตูเทวาพิทักษ์และประตูศักดิไชยสิทธิ์ ในรัชกาลที่ ๑ สร้างเป็นพลับพลาสำหรับประทับทอดพระเนตรกระบวนแห่ในการพระราชพิธีสระสนามใหญ่ (คือ การเดินช้าง เดินม้า ราชพาหนะ ออกมารับประพรมน้ำมนต์ หรือ จะเรียกว่าเป็นการสวนสนามจตุรงคเสนา ซึ่งมีริ้วขบวนประกอบด้วยพลเดินเท้า กระบวนช้าง กระบวนม้า และกระบวนรถ เดินขบวนผ่านหน้าที่ประทับรับประพรมน้ำมนต์ เพื่อชัยมงคลก็ได้) และทอดพระเนตรการฝึกช้าง ในรัชกาลที่ ๓ โปรดให้รื้อพลับพลาสร้างใหม่เป็นแบบปราสาท พระราชทานนามว่า "พระที่นั่งสุทธาสวรรย์" ในรัชกาลที่ ๔ ทรงเปลี่ยนเป็น "พระที่นั่งสุทไธสวรรย์" ในรัชกาลปัจจุบันโปรดให้ต่อพระเฉลียงไม้ทางด้านตะวันออกทำเป็นสีหบัญชร เพื่อเป็นที่สำหรับเสด็จพระราชดำเนินออกให้ราษฎรเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท    

พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท


(ข) พระที่นั่งไชยชุมพล 

เป็นพลับพลาเล็กอยู่บนกำแพงประบรมมหาราชวัง ตรงกับพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๔ เคยใช้เป็นที่ประทับทอดพระเนตร กระบวนแห่พระยายืนชิงช้าในพระราชพิธีตรียัมปวาย (โล้ชิงช้า)

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow