Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

พลาสติก

Posted By Plookpedia | 01 ธ.ค. 59
2,541 Views

  Favorite

พลาสติก

      ปัจจุบันพลาสติก (plastic) มีความสำคัญต่อชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก เครื่องมือเครื่องใช้และวัสดุก่อสร้างหลายชนิดทำด้วยพลาสติก เช่น เครื่องใช้ในครัวเรือนจำพวกจานชาม ขวดโหลต่าง ๆ ของเล่นเด็ก วัสดุก่อสร้าง สีทาบ้าน กาวติดไม้ และติดโลหะ อุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นต้น เหตุที่พลาสติกเป็นที่นิยมเพราะมีราคาถูก มีน้ำหนักเบา ทนความชื้นได้ดีไม่เป็นสนิม ทำให้เป็นรูปร่างต่าง ๆ ตามต้องการได้ง่ายกว่าโลหะ เป็นฉนวนไฟฟ้า มีทั้งชนิดโปร่งใสและมีสีต่าง ๆ กัน ด้วยเหตุนี้พลาสติกจึงใช้แทนโลหะหรือวัสดุบางชนิด เช่น แก้ว ได้เป็นอย่างดีแต่พลาสติกก็มีข้อเสียหลายอย่างด้วยกันคือ ไม่แข็งแรง (รับแรงดึง แรงบิด และแรงเฉือนได้ต่ำมาก) ไม่ทนความร้อน (มีจุดหลอมเหลวต่ำ ติดไฟง่าย และไม่คงรูป จึงทำให้ขอบเขตการใช้งานของพลาสติกยังไม่กว้างเท่าที่ควร

 

ผลิตภัณฑ์จากพลาสติก


      คำว่า "พลาสติก" มาจากรากศัพท์ภาษากรีกว่า plastikas ซึ่งหมายความว่า หล่อหรือหลอมเป็นรูปร่างได้ง่าย ทั้งนี้เพราะพลาสติกสามารถนำมาหล่อให้เป็นรูปร่างต่าง ๆ ตามแบบโดยใช้ความร้อนและแรงอัดเพียงเล็กน้อย จุดหลอมตัวของพลาสติกอยู่ระหว่าง ๘๐-๓๕๐ องศาเซลเซียส ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของพลาสติกจะเห็นได้ว่าจุดหลอมตัวของพลาสติกต่ำกว่าโลหะมาก วัตถุเครื่องใช้ที่ทำด้วยพลาสติกและเราเห็นคุ้นเคยอย่างดีได้แก่ ตู้วิทยุ ตู้โทรทัศน์ โทรศัพท์ หวี กรอบแว่นตา ถุงพลาสติกใส่ของ ของเล่นเด็ก ผ้าปูโต๊ะ เป็นต้น นอกจากนี้ พลาสติกยังใช้ประโยชน์กับโลหะหรือวัตถุบางชนิด เช่น ทำพวงมาลัยรถยนต์ใช้พลาสติกหุ้มเหล็กทำให้ไม่เป็นสนิมและกระชับมือยิ่งขึ้น พลาสติกใช้ทำไส้กลางระหว่างกระจกสองแผ่นประกบกัน เรียกว่า กระจกนิรภัยใช้เป็นกระจกรถยนต์เพราะเมื่อกระจกแตกจะไม่กระจายพลาสติกใช้หุ้มสายไฟเป็นฉนวนไฟฟ้า

 

ผลิตภัณฑ์จากพลาสติก

 

      พลาสติกที่ใช้ส่วนใหญ่ได้จากปฏิกิริยาสังเคราะห์ทางเคมี ส่วนพลาสติกที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติและใช้มากคือ เชลแล็ก (shellac) พลาสติกเป็นสารประกอบอินทรีย์ (สารอินทรีย์หมายถึงสารซึ่งในโมเลกุลมีธาตุไฮโดรเจนและคาร์บอนรวมกันอยู่อาจมีเพียงอะตอมของธาตุทั้งสองหรือมีอะตอมของธาตุอื่นรวมอยู่ด้วย เช่น มีเทน CH4 เป็นสารอินทรีย์ที่มีแต่อะตอมของไฮโดรเจนและคาร์บอน  กรดน้ำส้ม CH3COOH มีอะตอมของไฮโดรเจน คาร์บอน และออกซิเจนรวมอยู่ด้วย เป็นต้น)
เราสามารถแบ่งพลาสติกออกได้เป็น ๒ พวกใหญ่ ๆ คือ 

      ๑. เทอร์มอเซตติงพลาสติก (thermosetting plastic) เป็นพลาสติกชนิดที่จะแข็งตัวคงรูปอยู่ได้โดยอาศัยปฏิกิริยาทางเคมี ปฏิกิริยาเคมีเกิดขึ้นโดยอาศัยความร้อนและความกดดันภายหลังปฏิกิริยาเคมีมันก็จะแข็งตัวและเราจะไม่สามารถเปลี่ยนรูปของมันโดยไม่เปลี่ยนคุณสมบัติของมันได้กล่าวคือเมื่อได้รับความร้อนมากๆ มันจะสลายตัวเสียรูปไป

      ๒. เทอร์มอพลาสติกพลาสติก (thermoplastic plastic) เป็นพลาสติกที่แข็งตัวโดยไม่อาศัยปฏิกิริยาทางเคมีแต่อาศัยคุณสมบัติทางกายภาพเมื่อทำพลาสติกชนิดนี้ให้ร้อนขึ้นแล้วเทลงในเบ้าหรือแบบมันก็จะเปลี่ยนรูปร่างไปตามแบบนั้นและเมื่อเย็นลงก็จะแข็งตัวคงรูปอยู่ได้และเมื่อเป็นรูปแล้วเราสามารถที่จะหลอมและเปลี่ยนรูปเป็นอย่างอื่นได้อีกเพราะคุณสมบัติทางเคมีของมันยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง  กรรมวิธีการหล่อพลาสติกสองอย่างนี้จะต่างกันคือเทอร์มอเซตติงพลาสติกจะต้องเอาออกจากแบบเวลาร้อน ส่วนเทอร์มอพลาสติกพลาสติกจะต้องทิ้งไว้ให้เย็นในแบบก่อนนำออกมาใช้

 

แผนภาพแสดงการทำถุงพลาสติก

 

กรรมวิธีแปรรูปพลาสติก 

พลาสติกที่ผลิตจากโรงงานจะมีลักษณะเป็นเม็ดเล็ก ๆ หรือเป็นผงจากนี้จึงจะนำไปแปรรูปเป็นเครื่องใช้ต่าง ๆ เราสามารถเปลี่ยนรูปมาเป็นเครื่องใช้ไม้สอยต่าง ๆ ได้หลายวิธี เช่น

      ๑. หล่อแบบฉีดอัด (injection moulding) เม็ดหรือผงพลาสติกชนิดเทอร์มอพลาสติกจะถูกเทลงปากกรวย (feed hopper) ลงสู่กระบอกสูบที่ทำให้ร้อน พลาสติกที่อ่อนตัวลงจะถูกอัดด้วยลูกสูบให้เข้าไปในแบบที่เย็นทำให้พลาสติกเย็นลงสามารถคงรูปอยู่ได้เมื่อแกะออกจากแบบ

 

แผนภาพแสดงการหล่อพลาสติกแบบฉีดอัด


      ๒. หล่อแบบเป่า (blow moulding) วิธีนี้ใช้ในการทำขวดหรือภาชนะกลวงต่าง ๆ ที่มีปากแคบ โดยหย่อนให้หลอดพลาสติกที่อ่อนตัวลงแล้วในแบบที่แยกออกเป็น ๒ ซีกตามแนวตั้ง เมื่อประกบแบบเข้าด้วยกันจะเป็นโพรงรูปขวดอยู่ภายใน ส่วนตอนบนที่เป็นช่องสำหรับปล่อยให้อากาศอัดผ่านเข้าไปเป่าให้พลาสติกพองออกเหมือนกับลูกโป่งจนกระทั่งเกิดเป็นรูปขวดหรือภาชนะตามแบบ

 

แผนภาพแสดงลำดับการผลิตขวดด้วยวิธีหล่อพลาสติกแบบเป่า
๑. แบบขวด ๒. นำแท่งพลาสติกร้อนใส่เข้าในแบบ ๓. อัดแบบเข้าพร้อมทั้งเสียบหลอดอัดลม ๔. อัดลมเข้า ๕. แยกแบบออก


      ๓. การเข้ารูปโดยอาศัยสุญญากาศ (vacuum forming) แผ่นพลาสติกร้อน ๆ จะถูกดึงให้เข้ารูปตามแบบ จากนั้นจะทำให้เกิดสุญญากาศระหว่างแผ่นพลาสติกกับแบบเพื่อที่จะดูดแผ่นพลาสติกให้เข้าแนบแน่นกับแบบ

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow