Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ยาง

Posted By Plookpedia | 01 ธ.ค. 59
3,262 Views

  Favorite

ยาง

      ยางเป็นวัสดุที่มีประโยชน์มากอีกอย่างหนึ่ง ยางธรรมชาติได้มาจากการกรีดผิวของต้นยางพารา (hevea brasiliensis) ซึ่งมักจะเจริญงอกงามอยู่ตามบริเวณใกล้เขตเส้นศูนย์สูตรในที่ซึ่งมีอากาศร้อน ฝนตกชุก และดินดี

ยางสด 

      ยางสด (latex) ที่กรีดได้จากผิวของต้นยางพารานั้นมีลักษณะข้นขาว เมื่อสะสมยางสดไว้แล้วก็ชั่งหาน้ำหนัก แล้วให้ยางสดผ่านตะแกรงเพื่อแยกเอาเศษผง หรือสิ่งสกปรกออก จากนั้นก็เทลงถังใหญ่แล้วผสมกับกรดอะเซติก (acetic acid) หรือกรดฟอร์มิก (formic acid) อย่างอ่อนเพื่อทำให้ยางสดจับตัวเป็นก้อน จากนั้นนำไปรีดให้เป็นแผ่นบาง ๆ ด้วยลูกกลิ้ง ทั้งนี้เพื่อเป็นการกำจัดน้ำ และน้ำกรดที่จะยังหลงเหลืออยู่ออกด้วย แผ่นยางนี้จะถูกนำไปรมควัน และผึ่งแห้งประมาณ ๔-๕ วัน ที่อุณหภูมิ ๔๐-๕๐ องศาเซลเซียส โดยใช้ควันจากไม้สดๆ ควันนี้จะทำให้แผ่นยางกลายเป็นสีน้ำตาล ในขณะเดียวกัน ควันก็ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดราบนแผ่นยางได้ ยางที่ได้นี้เรียกว่า ยางดิบ (crepe rubber) หรือยางแผ่นรมควัน ซึ่งจะถูกส่งไปสู่ผู้ผลิตสินค้าประเภทยางต่อไป ยางดิบอาจใช้ทำประโยชน์ เช่น ทำพื้นรองเท้า หรือถุงมือยางได้ แต่ส่วนมากไม่นิยมใช้ยางดิบทำ เพราะยางดิบไม่คงคุณภาพที่อุณหภูมิสูง และอุณหภูมิต่ำ

การเก็บน้ำยางสดจากต้นยางพารา

 

ยางดิบ 

      ยางดิบมักจะเยิ้มเป็นยางเหนียวในฤดูร้อน และแข็งเปราะหักง่ายในฤดูหนาว เมื่ออุณหภูมิลดลง จนกระทั่งใน พ.ศ. ๒๓๘๒ นักประดิษฐ์ผู้หนึ่งชื่อ ชาลส์ กูดเยียร์ (Charles Goodyear, ค.ศ. ๑๘๐๐-๑๘๖๐ ชาวอเมริกัน) ผู้ซึ่งได้พยายามคิดค้นหาวิธีแก้ปัญหานี้อยู่ บังเอิญทำก้อนยางที่ผสมกับกำมะถันตกลงไปในเตา ขณะที่ทำการทดลองอยู่ ผลปรากฏว่า ยางก้อนนั้นเปลี่ยนคุณสมบัติเป็นยางที่ดี ไม่อ่อนเสียรูปเวลาร้อน และไม่เปราะหักง่ายเวลาเย็น วิธีการเปลี่ยนยางดิบให้มีคุณสมบัติดีขึ้นโดยผสมกับกำมะถันนี้ คือ วิธีวัลคาไนเซชัน (vulcanization มาจากคำว่า vulcan ซึ่งเป็นชื่อของเทพเจ้าแห่งไฟ ของชาวโรมันโบราณ) ยางที่ได้รับการอบแบบวัลคาไนเซชันแล้วนี้ จะยังคงความยืดหยุ่นได้ดีอยู่เสมอ

ยางเทียม 

      ความจำเป็นในการใช้ยางในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ ทำให้นักวิทยาศาสตร์ของหลายประเทศต้องคิดค้นหายางเทียม (synthetic rubber) ขึ้นใช้แทนยางธรรมชาติ ประเทศเยอรมันถูกตัดขาดจากแหล่งยางธรรมชาติ  เนื่องจากการล้อมของฝ่ายสัมพันธมิตรจึงต้องดิ้นรนขวนขวายค้นคว้าประดิษฐ์ยางเทียมขึ้นแต่ได้ยางเทียมที่ใช้ได้ไม่สู้ดีนักต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๘๒ ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ประเทศเยอรมันก็ประสบปัญหาขาดแคลนยางธรรมชาติอีกจึงได้คิดค้นทำยางเทียมที่มีคุณภาพดีได้ ๒ ชนิด คือ 

๑. บูนาเอส (buna S) ทำมาจากก๊าซบูทาเดียน (butadiene) และสไตเรน (styrene) ซึ่งเป็นของเหลวสกัดมาจากน้ำมันปิโตรเลียม

 

ผลิตภัณฑ์จากยาง


๒. บูนาเอ็น (buna N) ทำมาจากบูทาเดียนและอะไครโลนีไทรด์ (acrylonitride) ซึ่งเป็นของเหลวที่ได้มาจากก๊าซอะเซทิลีน (acetylene) และกรดไฮโดรไซยานิก (hydrocyanic acid) ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๘๕ กองทัพญี่ปุ่นได้ยึดเอเชียอาคเนย์ ซึ่งเป็นแหล่งปลูกยางพาราไว้ได้ ทำให้ยางธรรมชาติ ที่จะถูกส่งไปสหรัฐอเมริกา ถูกตัดขาดลง จึงได้มีการผลิตยางเทียมกันเป็นการใหญ่จนปัจจุบันนี้ สหรัฐอเมริกา เป็นผู้นำแนวหน้าของโลกในฐานะผู้ผลิตยางเทียม

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
ยาง 
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow