Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ระบบน้ำเหลือง

Posted By Plookpedia | 06 ต.ค. 60
1,581 Views

  Favorite

ระบบน้ำเหลือง 


ในขณะที่หลอดเลือดแดงเป็นตัวส่งเลือดไปสู่เนื้อเยื่อต่าง ๆ และหลอดเลือดดำเป็นตัวระบายของเสียและคาร์บอนไดออกไซด์กลับยังมีหลอดน้ำเหลืองช่วยระบายอีกชุดหนึ่ง เรียกว่า ระบบน้ำเหลืองสารที่ดูดซึม เรียกว่า น้ำเหลือง (lymph) ซึ่งไม่มีสียกเว้นหลอดน้ำเหลืองจากลำไส้อาจปรากฏคล้ายน้ำนมในระหว่างที่มีการย่อยอาหารประเภทไขมัน 

ลักษณะที่สำคัญของระบบน้ำเหลืองสองประการคือ 

๑. ทางเดินของหลอดน้ำเหลืองจะมีปุ่มน้ำเหลือง (lymph node) อยู่เป็นระยะ ๆ เพื่อรับน้ำเหลือง 
๒. การระบายของน้ำเหลืองมีขอบเขตจำกัด เพราะ ไม่มีหลอดน้ำเหลืองจากระบบประสาทส่วนกลาง กระดูกอ่อนและอาจไม่มีจากกล้ามเนื้อและไขกระดูก 


หลอดน้ำเหลือง 


แยกได้เป็น ๒ พวก คือ พวกตื้นและพวกลึก 

หลอดน้ำเหลืองพวกตื้นของแต่ละข้างของร่างกายจะมี ๓ บริเวณใหญ่ ๆ คือ

๑. จากผิวหนังของขาบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอกส่วนล่างของร่างกายต่ำกว่าระดับสะดือไปสู่ปุ่มน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบ 
๒. จากผิวหนังของแขนลำตัวเหนือระดับสะดือจนถึงระดับกระดูกไหปลาร้าทางด้านหน้าและถึงกึ่งกลางทางด้านหลังของคนไปสู่ปุ่มน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ 
๓. จากหนังศีรษะหน้าและส่วนที่เหลือของคอไปสู่ปุ่มน้ำเหลืองบริเวณคอ 

หลอดน้ำเหลืองพวกลึกระบายน้ำเหลืองส่วนที่ลึกกว่าเยื่อใต้หนังมักจะทอดคู่กับหลอดเลือดบริเวณนั้น ๆ หลอดน้ำเหลืองจากอวัยวะภายในมักระบายไปสู่ปุ่มน้ำเหลืองที่อยู่ ใกล้เคียง 


ปุ่มน้ำเหลือง 


เป็นก้อนหรือเป็นเม็ดขนาดแตกต่างกัน ได้มากตั้งแต่ ๑–๒๕ มิลลิเมตร สีชมพูแกมเทาโดยมากอยู่เป็นกลุ่มแบ่งได้เป็นพวกตื้นและพวกลึก 

ปุ่มน้ำเหลืองพวกตื้น อยู่ในชั้นเยื่อใต้หนัง พบ ค่อนข้างน้อย รับน้ำเหลืองพวกตื้นจากแขน ขา และลำตัว พบได้ที่ขาหนีบ รักแร้ และคอ 

ปุ่มน้ำเหลืองพวกลึก พบมากที่บริเวณส่วนลึกของ คอและลำตัวรับหลอดน้ำเหลืองพวกลึกจากอวัยวะภายในต่าง ๆ 

ปุ่มน้ำเหลืองทำหน้าที่เป็นเครื่องกรองสิ่งแปลกปลอมและเชื้อจุลินทรีย์ที่ติดมาในหลอดน้ำเหลืองและยังเป็นแหล่งสร้างเม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์ด้วยในทางเดินของหลอดน้ำเหลืองจากเนื้อเยื่อไปสู่หลอดเลือดจะต้องผ่านปุ่มน้ำเหลืองอย่างน้อย ๑ ปุ่ม แต่โดยทั่ว ๆ ไปมากกว่า ๑ ปุ่ม 


ม้าม 


เป็นอวัยวะนุ่มและเคลื่อนไปมาได้มีสีม่วงอยู่ในส่วนบนทางซ้ายของช่องท้องขนาดเปลี่ยนแปลงได้มากในขณะมีชีวิตซึ่งขึ้นอยู่กับจำนวนเลือดที่อยู่ภายในม้ามโดยทั่วไปม้ามยาว ๑๒.๕ เซนติเมตร กว้าง ๗.๕ เซนติเมตร หนา ๓.๕ เซนติเมตร หนัก ๑๕๐ กรัม 

เมื่อม้ามขยายออกจะทำหน้าที่เป็นคลังเก็บเลือดซึ่งจะปล่อยเลือดกลับสู่กระแสเลือดได้เมื่อร่างกายต้องการนอกจากนั้นภายในมีเซลล์พิเศษทำหน้าที่ทำลายเม็ดเลือดแดงที่แก่แล้วและเชื้อโรคและยังสร้างเม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์ (lymphocyte) สร้างภูมิคุ้มกันด้วย

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow