กล้ามเนื้อมีประสาทยนต์มาทำให้กล้ามเนื้อหดตัวและมีประสาทรับความรู้สึกจากกล้ามเนื้อหรือเอ็นไปสู่สมองเพื่อให้รู้ว่ากล้ามเนื้อหดตัวมากน้อยเพียงใด
เซลล์หรือเส้นใยกล้ามเนื้อรวมกันเข้าโตขึ้นเป็นมัดกล้ามเนื้อซึ่งมีที่เกาะอย่างน้อยสองแห่งโดยทอดข้ามข้อต่อเมื่อกล้ามเนื้อหดตัวดึงกระดูกสองชิ้นนั้นเข้าหากันจึงเคลื่อนไหวได้ที่ข้อต่อ
บางแห่งกล้ามเนื้อเกาะจากกระดูกไปติดที่ผิวหนังเมื่อกล้ามเนื้อหดตัวจึงทำให้มีการเปลี่ยนแปลงรูปลักษณะของผิวหนังหรือทำให้ผิวหนังเป็นรอยย่นขึ้นได้ เช่น กล้ามเนื้อที่ใบหน้า (จึงแสดงอารมณ์ได้)
มัดกล้ามเนื้อที่ยาว ๆ มักจะเป็นเอ็นยาว (tendon) ต่อจากปลายของกล้ามเนื้อไปติดที่กระดูกเพื่อให้เคลื่อนไหวได้มากขึ้นถ้ามัดกล้ามเนื้อมีลักษณะแบนบางมักจะเป็นเอ็นแผ่ (aponeurosis) ต่อจากกล้ามเนื้อ
กล้ามเนื้อหดตัวได้เต็มที่ได้ประมาณ ๕๕% ของความยาวของส่วนกล้ามเนื้อนั้นความแรงของการหดตัวจึงขึ้นอยู่กับความยาว ขนาดและจำพวกของเส้นใยกล้ามเนื้อ
กล้ามเนื้อลายมีหน้าที่เคลื่อนไหวร่างกายที่ข้อต่อต่าง ๆ เคลื่อนไหวลูกตาช่วยในการเคี้ยวและการกลืนเคลื่อนไหวลิ้น
เคลื่อนไหวใบหน้าแสดงอารมณ์ต่าง ๆ และยังประกอบเป็นผนังอกและผนังท้องตลอดจนการควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะและอุจจาระ
๒. กล้ามเนื้อเรียบ หรือกล้ามเนื้อนอกอำนาจจิตใจส่วนใหญ่ประกอบเป็นผนังของอวัยวะภายใน หลอดเลือดและกล้ามเนื้อขนลุกมีลักษณะเป็นเซลล์รูปกระสวยมีนิวเคลียสรูปไข่อยู่ตรงกลางกล้ามเนื้อพวกนี้ควบคุมโดยระบบประสาทอัตโนมัติ
๓. กล้ามเนื้อหัวใจประกอบเป็นกล้ามเนื้อหัวใจเพียงแห่งเดียวอยู่นอกอำนาจจิตใจมีลักษณะเป็นเซลล์รูปทรงกระบอกมีลายตามขวางเป็นแถบสีทึบสลับกับสีจางเซลล์กล้ามเนื้อนี้มีแขนงไปประสานกับแขนงของเซลล์ใกล้เคียงเซลล์ทั้งหมดจึงหดตัวพร้อมกันและหดตัวเป็นจังหวะตลอดชีวิตควบคุมโดยระบบประสาทอัตโนมัติ