เป็นวิชาความรู้ที่เกี่ยวข้องกับร่างกายและอวัยวะต่าง ๆ ของมนุษย์หรือสัตว์ทั้งในด้านโครงสร้างลักษณะ รูปร่างและตำแหน่งที่อยู่ตลอดจนความสัมพันธ์กับอวัยวะใกล้เคียง ในสภาพปกติ การศึกษาวิชากายวิภาคศาสตร์นั้นอาจจะศึกษาได้โดยการชำแหละมนุษย์หรือสัตว์เพื่อศึกษาผิวหนัง กล้ามเนื้อ หลอดเลือด เส้นประสาท กระดูกและอวัยวะต่าง ๆ เท่าที่เห็นได้ด้วยตาเปล่าและศึกษาได้โดยตัดชิ้นส่วนของอวัยวะต่าง ๆ ให้บางประมาณ ๗–๑๐ ไมครอน ย้อมสีให้เห็นชัดเจนขึ้นแล้วดูรายละเอียดของอวัยวะนั้น ๆ ด้วยกล้องจุลทรรศน์ วิชากายวิภาคศาสตร์จึงแบ่งได้เป็น ๕ สาขาวิชาใหญ่ คือ ๑. มหกายวิภาคศาสตร์เป็นการศึกษาให้รู้และเข้าใจถึงรูปร่างลักษณะ โครงสร้าง ตำแหน่งที่อยู่ ความสัมพันธ์และหน้าที่สำคัญของส่วนประกอบและอวัยวะต่าง ๆ ของมนุษย์และสัตว์ เช่น ศึกษาผิวหนัง กล้ามเนื้อ หลอดเลือด เส้นประสาท กระดูก และอวัยวะภายในต่าง ๆ ของมนุษย์หรือสัตว์ที่จะใช้ชำแหละนี้ต้องฉีดยากันเน่า เช่น น้ำยาฟอร์มาลิน 10 เปอร์ซ็นต์ เพื่อให้อวัยวะต่าง ๆ คงสภาพเดิมไว้ไม่เน่าเปื่อยไปและยังต้องแช่ในน้ำยาป้องกันเชื้อจุลินทรีย์และเชื้อราต่อไปอีกประมาณ ๖ เดือนถึง ๑ ปี จึงจะนำมาชำแหละศึกษาได้ ๒. จุลกายวิภาคศาสตร์เป็นการศึกษาให้รู้และเข้าใจถึงลักษณะโครงสร้างและส่วนประกอบของอวัยวะต่าง ๆ ถึงระดับเซลล์ของร่างกายอย่างละเอียดโดยอาศัยกล้องจุลทรรศน์การศึกษาเช่นนี้จำเป็นต้องเอาชิ้นส่วนของแต่ละอวัยวะมาแช่ในน้ำยาเพื่อให้คงสภาพเดิมมากที่สุดแล้วตัดชิ้นส่วนของอวัยวะนี้ให้บางประมาณ ๗–๑๐ ไมโครมิเตอร์ มาติดที่กระจกใสแล้วย้อมสีเพื่อให้ชัดเจนขึ้นแล้วศึกษารายละเอียดด้วยกล้องจุลทรรศน์ซึ่งช่วยขยายสิ่งที่เห็นได้ประมาณ ๕๐–๑,๐๐๐ เท่า ๓. เอมบรีโอวิทยาเป็นการศึกษาให้รู้และเข้าใจถึงกำเนิดการเจริญเติบโตและการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและอวัยวะต่าง ๆ จนถึงขั้นอนุชนพร้อมทั้งการเกิดรูปวิปริตของทารกแต่กำเนิดการศึกษาสาขาวิชานี้โดยมากศึกษาจากแอมบรีโอของไก่อายุต่าง ๆ ตั้งแต่การเริ่มฟักไข่จนถึง ๗๒ ชั่วโมง และจากเอมบรีโอของหมูอายุต่าง ๆ กันขณะอยู่ในมดลูกของแม่หมูเริ่มตั้งแต่ไข่ผสมกับเชื้ออสุจิของตัวผู้จนถึงอายุประมาณ ๒๔ วัน นำเอาเอ็มบริโอของไก่และหมูมาตัดให้บางแล้วศึกษาด้วยกล้องจุลทรรศน์นอกจากนั้นก็ศึกษาด้วยเอ็มบริโอของมนุษย์อายุตั้งแต่ไข่ผสมกับเชื้ออสุจิถึงอายุ ๘ สัปดาห์ในครรภ์ ต่อไปก็ศึกษาได้จากทารกในครรภ์อายุต่าง ๆ กันและศึกษาในทารกที่มีความพิการ ต่างๆ แต่กำเนิด ๔. ประสาทกายวิภาคศาสตร์เป็นการศึกษาให้รู้และเข้าใจถึงรูปพรรณโครงสร้างส่วนประกอบและหน้าที่ของระบบประสาทส่วนกลาง ได้แก่ สมองและไขสันหลัง โดยอาศัยทั้งการศึกษาด้วยตาเปล่าและด้วยกล้องจุลทรรศน์ศึกษาส่วนต่าง ๆ ของสมองและไขสันหลังซึ่งตัดให้บาง ประมาณ ๑๐–๒๐ ไมครอน ๕. กายวิภาคศาสตร์ประยุกต์เป็นการนำความรู้ทางกายวิภาคศาสตร์ทุกสาขาวิชาไปประยุกต์ใช้ในการวินิจฉัยการวิเคราะห์ การรักษาและการป้องกันโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ในผู้ป่วยหรือในชุมชนต่อไปได้ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าวิชากายวิภาคศาสตร์เป็นวิชาพื้นฐานที่สำคัญวิชาหนึ่งสำหรับการศึกษาของแพทย์ ทันตแพทย์ สัตวแพทย์ พยาบาลและนักกายภาพบำบัด
NEXT
ระบบผิวหนัง